ทะลุคนทะลวงข่าว

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกใบรับรองการทำหน้าที่รักษาการอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ของ พล.ต. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โดยมาแทน อภินันท์ จันทรังษี อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ที่เกษียณอายุราชการ

หัวหน้า คสช.ใช้อำนาจมาตรา 44 ลงนามคำสั่งแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งควบคู่ไปกับงานโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

คำสั่งระบุ เพื่อประโยชน์ในการขับเคลื่อนงานประชาสัมพันธ์ของรัฐให้มีลักษณะสอดคล้องกันระหว่างการประชาสัมพันธ์ของทางราชการ การประชาสัมพันธ์ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กับการประชาสัมพันธ์ของรัฐบาล โดยเฉพาะการบริหารแผนการประชาสัมพันธ์แห่งชาติในช่วงเปลี่ยนผ่านเพื่อการปฏิรูป

หัวหน้าคสช. ยังบอกด้วยว่า ระหว่างนี้จะได้บูรณาการงานด้านประชาสัมพันธ์ให้เป็นเนื้อเดียวกันให้ได้เสียก่อน หมายความว่าให้สามารถรวบรวมงานจากทุกหน่วยงานให้ได้ ที่ผ่านมาอาจบูรณาการงานได้ไม่มากนัก

ว่าด้วย ต้องการงานบูรณาการคิดใหม่ ทำใหม่ พล.ต.สรรเสริญเองก็รู้ทั้งงาน คสช. งานในส่วนของรัฐบาล กรมประชาสัมพันธ์ก็มีหน้าที่เป็นโฆษกประชาสัมพันธ์งานของรัฐอยู่แล้ว งานทุกอย่างจะได้เป็นในแนวทางเดียวกัน

“รับรองว่า พล.ต.สรรเสริญรู้ในบทบาทของเขา ทาง คสช.ก็พูดไปในส่วนของงานด้านความมั่นคง ด้านงานของรัฐบาล โฆษกรัฐบาลก็มีหน้าที่พูดไป พยายามไม่ให้เกิดความขัดแย้ง”

ด้านเจ้าตัวว่า อยากให้มีการเชื่อมโยงงานระหว่าง คสช. กับรัฐบาล โดยกรมประชาสัมพันธ์เป็นสถานีโทรทัศน์ที่สนับสนุนการพัฒนาประเทศ ซึ่งนายอภินันท์ทำไว้ดีแล้ว คงจะเข้ามาทำเพิ่มเติม โดยใช้องคาพยพที่มีอยู่ทั้งหมดของหน่วยงานขับเคลื่อนงานประชาสัมพันธ์ของประเทศไทยสู่ประชาชน

ไม่ใช่แค่ให้รู้ว่ารัฐบาลทำอะไร จุดมุ่งหมายคือให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมพัฒนาประเทศไปข้างหน้า เพราะภาครัฐอย่างเดียวคงทำไม่ได้

รักษาการอธิบดีบอกอีกว่า อยากให้ข้อมูลการทำงานทั้งหลายของรัฐบาลลงไปสู่ภาคประชาชนอย่างแท้จริง ต้องพยายามหาอะไรที่จะทำให้ประชาชนรับทราบอย่างทั่วถึง และเข้าใจประเด็น

สำคัญ ต้องการให้ช่อง 11 เป็นสถานีโทรทัศน์เพื่อการพัฒนาประเทศ

โฆษกรัฐบาล คสช.

อดีตโฆษกกองทัพบก อดีตโฆษกศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย(ศอ.รส.)

และอดีตโฆษก ศอฉ. ระหว่างการชุมนุมของกลุ่ม นปช. 2553

เปิดใจเกี่ยวกับคำสั่งล่าสุดด้วยว่า เป็นทหารทำตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา

สําหรับกรมประชาสัมพันธ์ วิวัฒนาการมาจากกองโฆษณาการ ก่อตั้งเมื่อวันที่ 3 พ.ค.2476 หลังการปฏิวัติสยาม 2475 ต่อมาพัฒนาเป็นกรมโฆษณาการ เมื่อวันที่ 5 ก.ค.2483 และพัฒนามาเป็นกรมประชาสัมพันธ์เมื่อวันที่ 8 ม.ค.2495

ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการเสริมสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐบาลกับประชาชน และระหว่างประชาชนด้วยกันเอง โดยให้ข่าวสาร ความรู้ ข้อเท็จจริง และรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เพื่อเสนอต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งยังทำหน้าที่โน้มน้าว ชักจูงประชาชนเพื่อก่อให้เกิดความร่วมมือแก่รัฐบาลและหน่วยราชการด้วย

แต่บางยุคสมัยกลับเป็นกระบอกเสียงให้รัฐบาลอย่างสุดโต่ง ด้วยข่าวสารที่บิดเบือน สร้างความเกลียดชังในหมู่ประชาชน จนได้สมญาว่า “กรมกร๊วก” มาแล้ว

กรมประชาสัมพันธ์เป็นเจ้าของสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย รวมทั้งสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยในส่วนภูมิภาคอีก 8 แห่ง มีสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จำนวน 147 สถานี ความถี่ในระบบเอเอ็ม จำนวน 60 สถานี และระบบเอฟเอ็ม จำนวน 87 สถานี อยู่ในกรุงเทพมหานคร 11 สถานี และในภูมิภาค 136 สถานี

นอกจากนี้ สนับสนุนเป็นเครือข่ายวิทยุโรงเรียนและวิทยุนอกโรงเรียน รายการเพื่อการศึกษาของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และมหาวิทยาลัยรามคำแหงอีก 11 สถานี

เป็นอีกกลไกของรัฐที่ใช้งบประมาณแผ่นดิน เงินภาษีประชาชน

ด้านคนจะลาเกษียณ อภินันท์ จันทรังษี ระบุว่า งานของกรมประชาสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับการสร้างความเข้าใจทั้งเรื่องนโยบายและผลงานของรัฐบาลที่มีความสำคัญ ผู้ที่จะมาดูแลงานตรงนี้จะต้องมีความเข้าใจในงานของรัฐอย่างถูกต้อง เพื่อสามารถอธิบายให้ประชาชนเข้าใจได้

เชื่อว่าพล.ต.สรรเสริญจะสามารถทำงานได้ เพราะเป็นผู้ที่มีศักยภาพ มีความรู้ความสามารถ เข้าใจงานของรัฐบาลเป็นอย่างดี อีกทั้งที่ผ่านมาก็ทำหน้าที่ในฐานะโฆษกรัฐบาลได้เป็นอย่างดี

ส่วนการแต่งตั้งบุคคลภายนอกเข้ามารักษาการแทน เห็นว่า ตำแหน่งนี้คือตำแหน่งบริหาร เชื่อว่าไม่ว่าจะเอาคนนอกมารับตำแหน่งก็จะไม่มีปัญหาในการทำงาน

และการให้ทหารเข้ามารักษาการตำแหน่งดังกล่าว คงไม่ทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่นในองค์กร ซึ่งตนคิดว่าการที่พล.ต.สรรเสริญได้รับเลือกให้มารักษาการนั้นเป็นเพราะมีความเข้าใจในการทำงานของรัฐบาลเป็นอย่างดี

ส่วนการเสนอชื่อรองอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ให้รับตำแหน่งอธิบดีนั้น รองอธิบดีอีก 2 คน จะเกษียณอายุพร้อมตน

ศิลปศาสตรบัณฑิต (รัฐศาสตร์) มหาวิทยาลัยรามคำแหง และพัฒนาบริหารศาสตรมหาบัณฑิต สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

เติบโตบนเส้นทางสายปกครองนับแต่เป็นปลัดอำเภอคง จ.นครราชสีมา

ก้าวหน้าเป็นรองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี รองผู้ว่าฯราชบุรี รองผู้ว่าฯ ประจวบคีรีขันธ์ รองผู้ว่าฯ นครปฐม

พ.ย.2555 เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์

มิ.ย. 2556 ข้ามห้วยครั้งใหญ่มาเป็นอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ และอยู่ยงจนเกษียณปีนี้

ส่วนรองอธิบดีที่จะเกษียณพร้อมอธิบดีมี 2 คน คือ ประวิน พัฒนะพงษ์ และ จำลอง สิงห์โตงาม

คงเหลือ 1 เดียวคนนี้ จรูญ ไชยศร ดีกรีด๊อกเตอร์

อดีตประชาสัมพันธ์จังหวัดนครราชสีมา และลพบุรี

ผู้อำนวยการสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย

ทั้งนี้ อธิบดีอภินันท์ก็เปิดเผยว่ายังไม่มีการเสนอชื่อผู้ใดขึ้นเป็นอธิบดี ต้องรออีกสักระยะ

แต่มั่นใจ ไม่ว่าใครจะเข้ามาทำงานในกรมประชาสัมพันธ์ จะไม่ก่อคลื่นใต้น้ำในองค์กรขึ้นอย่างแน่นอน

ต้องรอดูฝีมือคนสวมหมวกสองใบ-ข้ามห้วยมาคุมกระบอกเสียงรัฐบาล

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน