ทะลุคนทะลวงข่าว : มองทะลุเศรษฐกิจประเทศ‘ดนุชา-เศรษฐพุฒิ-สมเกียรติ’สภาพัฒน์-ธปท.-ทีดีอาร์ไอ

มองทะลุเศรษฐกิจประเทศ‘ดนุชา-เศรษฐพุฒิ-สมเกียรติ’สภาพัฒน์-ธปท.-ทีดีอาร์ไอ : จากสถานการณ์การแพร่ระบาด ของโควิด-19 ในประเทศยาวนานตลอดปี

โฟกัสจึงจับจ้องไปที่การพลิกฟื้นเศรษฐกิจในปี 2565

ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ วิเคราะห์ 5 ปัจจัยผลักดัน เศรษฐกิจปี 2565 จะขยายตัว 3.5-4.5%

ทั้งการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศและภาคการผลิต, การฟื้นตัวอย่างช้าๆ ของภาคท่องเที่ยวระหว่างประเทศภายใต้นโยบายการเปิดประเทศของภาครัฐ

การขยายตัวในเกณฑ์ดีของการส่งออกสินค้า, การขับเคลื่อนจากการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ และฐานการขยายตัวที่ยังอยู่ในระดับต่ำ

ดังนั้น ต้องให้ความสำคัญกับการป้องกันและควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดภายในประเทศให้อยู่ในวงจำกัด

รวมถึงสนับสนุนการฟื้นตัวของภาคธุรกิจ ควบคู่ไปกับการดูแลภาคเศรษฐกิจที่ยังมีข้อจำกัดในการฟื้นตัว

เช่นเดียวกับ เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานสัมมนา “Thailand 2022 Unlock value ก้าวสู่เส้นทางใหม่ไร้ขีดจำกัด” จัดโดยหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ

ยอมรับว่าห่วงเศรษฐกิจฟื้นแค่ตัวเลข จีดีพี แต่คนยังบาดเจ็บ เนื่องจากการจ้างงานลด-รายได้หด-หนี้ครัวเรือนสูง

ระบุด้วยว่าช่วงโควิดที่ผ่านมาถือว่าโอเค แม้จีดีพีประเทศไทยจะติดลบเกือบมากที่สุดในภูมิภาค แต่สินเชื่อในระบบโตกว่า 4-5%

สะท้อนว่าระบบการเงินยังทำงานอยู่ แต่มีบางกลุ่มที่เข้าไม่ถึงสินเชื่อตรงนี้โดยเฉพาะเอสเอ็มอี

ธปท.จึงออกมาตรการเสริมให้ระบบการเงินทำงาน อย่างสินเชื่อซอฟต์โลนไปจนถึงการออกสินเชื่อฟื้นฟู

หากมาตรการทางการคลังออกฤทธิ์ จะช่วยดันจีดีพีบวก

ทั้งนี้ คาดการณ์ในช่วง 3 ปี (2563-2565) นโยบายการคลังจะช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจโตเพิ่มได้ 10.8%

ขณะที่ สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ระบุมี 7 ประเด็นท้าทายจินตนาการโลกใหม่หลังโควิด

ต้องทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่ก้าวกระโดด ลดความเหลื่อมล้ำ

รัฐต้องสนับสนุนการสร้างเศรษฐกิจใหม่ ต้องพัฒนาระบบการศึกษา จัดสวัสดิการถ้วนหน้า

ให้อิสระสนับสนุนให้คนรุ่นใหม่ เว้นแต่กรณีที่เห็นว่าเกิดอันตราย

พร้อมทั้งสร้างภาครัฐที่ทำงานเน้นผลลัพธ์ให้ตกกับประชาชน ไม่ใช่ไป เน้นกระบวนการเป็นกฎระเบียบและ ต้องปรับตัวให้ตัวเองมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ดนุชา พิชยนันท์ เกิด 5 ส.ค. 2513 อายุ 51 ปี

วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

M.S. Engineering Management, George Washington University, USA

ลูกหม้อกระทรวงการคลัง และ สภาพัฒน์

ผ่านตำแหน่งเจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ, ผอ.สำนักวิเคราะห์โครงการลงทุนภาครัฐ

ต.ค. 2556 รักษาการที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน สภาพัฒน์

ธ.ค. 2556 ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน (นักวิเคราะห์นโยบาย และแผนทรงคุณวุฒิ)

ต.ค. 2559 รองเลขาธิการสภาพัฒน์

1 ต.ค. 2563 เลขาธิการสภาพัฒน์ ลำดับที่ 16

ด้วยภาระหน้าที่ความรับผิดชอบพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมในช่วงเวลาที่ยากลำบาก

เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ชื่อเล่น นก หรือดร.นก อายุ 56 ปี

ปริญญาตรีเศรษฐศาสตร์ Swarthmore College สหรัฐอเมริกา

ปริญญาโท และปริญญาเอก มหาวิทยาลัยเยล สหรัฐอเมริกา

ทำงานอยู่ที่ประเทศสหรัฐ ช่วงปี 2529-2531 เป็นที่ปรึกษาธุรกิจเชิงกลยุทธ์ในแมคคินเซย์

ปี 2535 นักเศรษฐศาสตร์ ประจำธนาคารโลก

ปี 2541 ถูกดึงตัวกลับมาประเทศไทย ทำหน้าที่ผู้อำนวยการร่วม สถาบันวิจัยนโยบายการคลัง (สวค.)

ปี 2544 กลับไปทำงานธนาคารโลก อีกครั้ง

ปี 2548 กลับเมืองไทยมาดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)

ปี 2550 กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ จำกัด, กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนไทยพาณิชย์ จำกัด

ปี 2552 ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ และ Chief Economist ธนาคารไทยพาณิชย์

ปี 2554 กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดิแอดไวเซอร์ จำกัด และกรรมการ ธนาคารทหารไทย

ปี 2555-2560 ร่วมงานกับ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ จัดตั้งสถาบันอนาคตไทยศึกษา รับตำแหน่งประธานกรรมการบริหารสถาบัน

ก่อนเลือกตั้ง 24 มี.ค. 2562 ได้รับแต่งตั้งเป็น 1 ใน 6 ที่ปรึกษานายกฯ

1 ต.ค.2563 เป็นผู้ว่าการ ธปท. คนที่ 21

สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ เกิด 18 พ.ย. 2508 อายุ 56 ปี

สอบได้ที่ 1 ของประเทศได้สิทธิเข้าศึกษาคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่ติดปัญหาด้านวุฒิการสมัคร จึงไปเรียนที่ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ

ปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต เกียรตินิยมอันดับ 1 รางวัลเหรียญทองพระราชทาน

ได้รับทุนกระทรวงศึกษาธิการ ประเทศญี่ปุ่น ไปศึกษาต่อปริญญาโทและเอก ด้านปัญญาประดิษฐ์ สาขาวิศวกรรมคอมพิว เตอร์ สถาบันเทคโนโลยีแห่งโตเกียว

เคยได้รับรางวัลผลการวิจัยดีเด่น สกว. ประจำปี 2549

ทำงานวิจัยเชิงนโยบายในสาขาต่างๆ ที่ทีดีอาร์ไอมาโดยตลอด

เชี่ยวชาญด้านนโยบายสื่อและโทรคมนาคม นโยบายการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ

ทำกิจกรรมสาธารณประโยชน์ต่างๆ อาทิ กรรมการสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย กรรมการสภาการหนังสือพิมพ์ แห่งชาติ กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ มหาวิทยาลัยมหิดล และกรรมการวิชาการ สถาบันพระปกเกล้า

ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธาน ทีดีอาร์ไอ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน