คอลัมน์ ทะลุคนทะลวงข่าว

หัวขบวนแหกมติพรรค – หนึ่งในประเด็นดราม่า หลังจบศึกซักฟอก 10 รัฐมนตรีของพรรคร่วมฝ่ายค้าน

หนีไม่พ้นกรณีมี ส.ส.บางราย โหวตสวนมติพรรคตัวเอง

ทั้งไว้วางใจรัฐมนตรีฝ่ายตรงข้าม บางรายงดออกเสียงรัฐมนตรีจากพรรคร่วมรัฐบาล รวมถึงงดออกเสียงหัวหน้าพรรคที่ตัวเองสังกัด

ฮือฮาเมื่อ 4 ส.ส.พรรคก้าวไกล ได้แก่ คารม พลพรกลาง ส.ส.บัญชีรายชื่อ, ขวัญเลิศ พานิชมาท ส.ส.เขต 5 ชลบุรี, พีรเดช คำสมุทร ส.ส.เขต 6 เชียงราย และ นพ.เอกภพ เพียรพิเศษ ส.ส.เขต 1 เชียงราย

โหวตสวนมติพรรค ลงคะแนนไว้วางใจให้ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข

ทั้งที่เป็นรัฐมนตรี ที่ถูก ส.ส.พรรคก้าวไกล อภิปรายอย่างเผ็ดร้อน กรณีจัดซื้อวัคซีนโควิด-19 ล่าช้า

ส่งผลให้ อนุทิน ชาญวีรกูล ได้รับคะแนนไว้วางใจมากที่สุดถึง 275 เสียง

 

เหนือกว่า บิ๊กป้อม-พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ที่ได้ 274 เสียง และเหนือกว่า บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ที่ได้ 272 เสียง

ตามมาด้วยบทลงโทษจากพรรคก้าวไกล สั่งงดการเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองของพรรค รวมทั้งริบเก้าอี้รองเลขาธิการพรรค

ที่สำคัญ จะไม่ส่งลงสมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งครั้งหน้า

ขณะที่ พลังประชารัฐ พรรคแกนนำรัฐบาลก็เกิดปัญหาเช่นกัน

6 ส.ส.ที่เรียกตัวเองว่า กลุ่มดาวฤกษ์ นำโดย น.ส.วทันยา วงษ์โอภาสี ส.ส.บัญชีรายชื่อ และ 5 ส.ส.กทม. ประกอบด้วย กรณิศ งามสุคนรัตนา, ฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์, ธณิกานต์ พรพงษาโรจน์, ภาดาท์ วรกานนท์ และ ศิริพงษ์ รัสมี

 

ร่วม ‘งดออกเสียง’ ให้ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม และเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย พรรคที่มีเสียงเป็นอันดับ 2 ในรัฐบาล

จนถูก หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย เรียกร้องความรับผิดชอบ

ส่งผลให้ที่ประชุมกรรมการบริหารพรรค ที่มี บิ๊กป้อม นั่งหัวโต๊ะ ตั้งคณะกรรมการสอบสวนหาบทลงโทษภายใน 15 วัน

แต่ที่เหนือความคาดหมาย คือ 3 ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ‘งดออกเสียง’ ให้ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ หัวหน้าพรรคของตัวเอง

3 ส.ส.ประกอบด้วย อันวาร์ สาและ ส.ส.ปัตตานี, พนิต วิกิตเศรษฐ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และ อภิชัย เตชะอุบล ส.ส.บัญชีรายชื่อ

แม้ในพรรคจะยังสงวนท่าทีในการลงโทษ เพียงแต่ให้ทำหนังสือชี้แจงเหตุผล

ทั้งที่ถูก 23 ส.ส.ของพรรค ทำหนังสือจี้ให้ตั้งกรรมการสอบสวน

อ้างเกรงจะกระทบต่อการเลือกตั้งซ่อมส.ส.เขต 3 นครศรีธรรมราช

 

คารม พลพรกลาง เกิด 7 ก.ย. 2506

นิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง

อาชีพทนายความ

มีชื่อเสียงเป็นหนึ่งในทนายความ ว่าความให้คนเสื้อแดง รวมถึงนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข เมื่อครั้งโดนกล่าวหาทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ช่วงปี 2554

นักกฎหมายร่วมกล่าวหาผู้ที่เกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุมในปี 2553 ต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ (I.C.C) กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์

เป็นทนายให้ ยงยุทธ ติยะไพรัช ฟ้องร้อง นายศิริโชค โสภา ข้อหาหมิ่นประมาท กรณีการเสียชีวิตของชิปปิ้งหมู

เป็นหนึ่งในคณะทำงานด้านกฎหมายของพรรคเพื่อไทย

ก.ค. 2561 ตัดสินใจร่วมงานกับพรรคอนาคตใหม่ เพื่อลงสมัครส.ส. เนื่องจากพรรคเพื่อไทยมีผู้สมัครลงเลือกตั้งใน จ.ร้อยเอ็ดแล้ว

 

24 มี.ค. 2562 เป็นส.ส.บัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 26 ของพรรคอนาคตใหม่

21 ก.พ. 2563 พรรคถูกยุบ มีข่าวย้ายไปสังกัดพรรคอื่น

กระทั่ง 14 มี.ค.2563 ย้ายตามอดีตอนาคตใหม่ไปพรรคก้าวไกล

พร้อมระบุเหตุผลที่ลังเล ไม่มาสมัคร พร้อมส.ส.คนอื่น ไม่ใช่เพราะเงิน แต่เป็นเหตุผลด้านนโยบาย

แต่ด้วยสำนึกบุญคุณเลยกลับมา

 

เป็น 1 ใน 9 ส.ส.ไม่ยอมเซ็นชื่อร่วมกับส.ส.พรรคก้าวไกล เสนอแก้ มาตรา 112

นำทีมแหกมติพรรค โหวตไว้วางใจ อนุทิน ชาญวีรกูล

ท่ามกลางกระแสข่าวอยากย้ายไปอยู่พรรคภูมิใจไทย

 

วทันยา วงษ์โอภาสี หรือ ‘เดียร์’

เกิด 13 พ.ย. 2527 ภรรยาของ ฉาย บุนนาค มีบุตรธิดาด้วยกัน 2 คน ได้แก่ พอใจ และ พอเพียง บุนนาค

จบการศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ เอกภาษาอังกฤษและวรรณคดีภาษาอังกฤษ

เคยเป็นเชียร์ลีดเดอร์งานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ เคยถ่ายโฆษณาผลิตภัณฑ์การ์นิเย่

เคยเป็นกรรมการผู้จัดการ บริษัท สปริงนิวส์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด และกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัทนิวส์ เน็ตเวิร์ค คอร์ปอร์เรชั่น จำกัด (มหาชน)

อดีตผู้จัดการทีมฟุตบอลทีมชาติไทยชุดซีเกมส์

16 พ.ย. 2561 สมัครเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ

 

ได้เข้าสภาครั้งแรก ในฐานะส.ส.บัญชีรายชื่อ นำ 5 ส.ส.กทม. แตกออกมาจาก กลุ่มกทม.ของ พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์

เป็นแกนนำกลุ่มดาวฤกษ์ เคลื่อนไหวในพลังประชารัฐ

นำทีม ‘งดออกเสียง’ นำมาซึ่งรอยร้าวระหว่างพลังประชารัฐกับภูมิใจไทย

 

อันวาร์ สาและ เกิด 4 ธ.ค.2513

บุตรของ เอกชัย และ เจะลีเมาะ สาและ

จบบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาการตลาด มหาวิทยาลัยรามคำแหง สมรสกับนางอนิศา สาและ มีบุตร 3 คน

ทำงานลูกจ้างด้านการตลาดให้กับธุรกิจด้านพัฒนาที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ในกรุงเทพมหานคร

กลับมาทำธุรกิจส่วนตัวด้านธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ที่บ้านเกิด จ.ปัตตานี

สวมเสื้อพรรคประชาธิปัตย์ ลงเลือกตั้งส.ส.ปัตตานี ได้เป็นส.ส.สมัยแรก ปี 2548

ได้รับเลือกตั้งเป็นส.ส.ติดต่อกัน 4 สมัย ปี 2548, 2550, 2554 และ 2562

 

ปัจจุบันมีตำแหน่ง รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์

ออกมาเคลื่อนไหววิพากษ์วิจารณ์การทำงานของพรรค ตั้งแต่เข้าร่วมรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ทั้งการบริหารงานของจุรินทร์ ลักษณ วิศิษฏ์ หัวหน้าพรรค ทั้งเรื่องหน้ากากอนามัยขาดแคลนช่วงโควิด-19 ระบาด และการทำงานของพรรคที่ไม่ตอบโจทย์ประชาชน

เรียกร้องให้ ‘ยกเครื่อง’พรรค

 

ลงมติ ‘งดออกเสียง’ ให้ 9 รมต. รวมถึงหัวหน้าพรรคตัวเอง โดยลงมติ ไว้วางใจให้ นิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย เพื่อนร่วมพรรค เพียงคนเดียว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน