คอลัมน์ ทิ้งหมัดเข้ามุม

รุก กลางกระดาน

กลายเป็นประเด็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก สำหรับปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ทหาร ในการบุกเข้าติดตามจับกุม นายลุกมาน มะดิง ผู้ต้องหาคดีความมั่นคง ภาคใต้ ที่บ้านพักในอ.รามัน จ.ยะลา

ซึ่งเริ่มต้นด้วยการยกกำลังเข้าปิดล้อมบ้านพักในช่วงค่ำวันที่ 30 มิ.ย.ที่ผ่านมา

ก่อนจะจบลงด้วยการวิสามัญฆาตกรรม

ทั้งนี้กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า แถลงถึงเหตุดังกล่าวว่า เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการจากเบาไปหาหนัก

ตั้งแต่ยกกำลังปิดล้อมบ้าน เรียกตัวให้ผู้ต้องหาตามหมายจับแสดงตัว แต่ผู้ต้องหากลับต่อสู้ พร้อมขว้างระเบิดมือใส่เจ้าหน้าที่

ทำให้ต้องมีการยิงปะทะ กินเวลายาวนาน กว่า 9 ชั่วโมง!!?

หากฟังจากถ้อยแถลง ก็ดูเหมือนเป็นปฏิบัติการปกติธรรมดา

แต่เมื่อดูภาพความเสียหายจากการเข้าปฏิบัติการ ไม่ว่าจะเป็นรอยกระสุนหลายร้อยนัดบนฝาผนังบ้าน กำแพงที่พังยับเยินด้วยการใช้รถหุ้มเกราะวิ่งเข้าชน

รวมทั้งรอยกระสุนนับไม่ถ้วนบนร่างกาย ของผู้ต้องหา

จึงไม่แปลกที่กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จะออกมาตั้งคำถามถึงความเหมาะสมในปริมาณการใช้อาวุธ

เพราะหากเป็นการกระทำที่รุนแรงเกิน กว่าเหตุ ย่อมส่งผลถึงความเชื่อถือในตัว เจ้าหน้าที่ และกระทบต่อการแก้ปัญหาภาคใต้ในภาพรวม

แน่นอนว่าย่อมเกิดคำถามว่า เมื่อกลุ่ม ผู้ก่อความไม่สงบสร้างความรุนแรง เหตุใดเจ้าหน้าที่จึงไม่สามารถใช้แนวทางตาต่อตาฟันต่อฟันได้

ทำไมเจ้าหน้าที่ต้องอดทนอดกลั้นอยู่เพียงฝ่ายเดียว?

ซึ่งคำตอบก็เพราะความรุนแรงที่ตอบโต้กันไปมาไม่สามารถแก้ปัญหาได้

ไม่เช่นนั้นก็คงสงบไปตั้งแต่การใช้นโยบายกำปั้นเหล็ก ปราบปรามด้วยความรุนแรงแล้ว

แต่ก็ไม่เป็นเช่นนั้น จนกระทั่งรัฐบาลพยายามใช้การเจรจาเพื่อให้เกิดความสงบ ซึ่งการก่อเหตุก็ลดลงอย่างเห็นได้ชัดเจน

จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรักษาบรรยากาศ ยึดมั่นในหลักการ เพื่อสร้างความเชื่อมั่น

ไม่เช่นนั้นกองกำลังติดอาวุธของเจ้าหน้าที่ ก็ไม่ได้แตกต่างไปจากฝ่ายที่ใช้ความรุนแรง

แล้วจะเอาความชอบธรรมที่ไหนไปสร้างสันติสุข

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน