ต้องจับตารัฐบาลจะแก้เกมอย่างไร

ในการเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ 7-8 เม.ย. เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประชามติ

ที่ค้างเติ่งมาหลังจากที่ประชุมร่วมรัฐสภา 18 มี.ค. ได้พิจารณามาตรา 9 และลงมติแพ้โหวตให้กับกมธ.เสียงข้างน้อย

จนทำให้กมธ.เสียงข้างมาก รัฐบาลและส.ว.เสียหน้า พยายามจะขอโหวตใหม่แต่ไม่สำเร็จ ทำให้การพิจารณาร่างกฎหมายนี้ต้องเดินหน้าต่อ

เนื้อหาที่เสนอแก้ไขโดยกมธ.เสียงข้างน้อย แล้วเสียงส่วนใหญ่เห็นด้วย

โดยสรุปคือ ให้เพิ่มอำนาจรัฐสภาและประชาชนสามารถส่งเรื่องให้ครม.จัดทำประชามติได้ แทนที่จะขึ้นอยู่กับรัฐบาลอย่างเดียว

แน่นอนว่าส.ส.พรรคแกนนำรัฐบาล และส.ว.ต้องหาทางตัดไฟแต่ต้นลม ไม่เช่นนั้นจะส่งผลต่อการทำงานของรัฐบาล รวมถึงเรื่องสำคัญอย่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

 

มีการวิเคราะห์ทางออกรัฐบาลไว้ 3 แนวทาง 1.โหวตคว่ำวาระ 3 2.ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าร่างพ.ร.บ.ขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ และ 3.ปล่อยผีไปก่อน แล้วรัฐบาลเสนอร่างฉบับแก้ไขทันที

แนวทางแรก เป็นไปได้น้อย เพราะร่างพ.ร.บ.ประชามติเป็นกฎหมายสำคัญเสนอโดยรัฐบาล หากถูกคว่ำ รัฐบาลจะถูกกดดันให้รับผิดชอบด้วยการยุบสภาหรือลาออก

แนวทางที่สอง ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ แต่ถ้าหากศาลฯ ตีความว่าขัดกับรัฐธรรมนูญ ทำให้ร่างกฎหมายตกไป ซึ่งจะมีผลต่อการทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องล่าช้า รัฐบาลก็จะถูกสังคมตราหน้าว่ายื้อ ไม่เลิก

ส่วนแนวทางที่สาม รัฐบาลมีสิทธิ์ทำได้ แต่ก็จะถูกวิพากษ์วิจารณ์จากสังคม เพราะเป็นการแก้เกมแบบ ศรีธนญชัยรอดช่อง

มีอีกข้อเสนอแยกย่อยออกมาจากแนวทางที่สองคือ ยื่นให้ศาลฯ วินิจฉัยเฉพาะมาตรา 9 ตามที่กมธ.เสียงข้างน้อยเสนอ ว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่

รัฐบาลจะเลือกแนวทางใด 1 2 3 4 ต้องรอดู

แต่สิ่งหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นเป็นภาพเดียวก็คือ

รัฐบาลชุดนี้ต่อให้ต้องหัวเด็ดตีนขาดอย่างไร

ก็จะไม่ยอมปล่อยให้อำนาจตกอยู่ในมือประชาชน

มันฯ มือเสือ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน