วันเลือกตั้งใกล้เข้ามาทุกขณะ ใกล้สุดก็วันเลือกตั้งล่วงหน้าวันที่ 7 พฤษภาคม

การหาเสียงของผู้สมัครเป็นไปอย่างเข้มข้น พรรคการเมืองแข่งขันกันเสนอนโยบายในการบริหารประเทศ และสิ่งที่จะทำให้ประชาชน ถ้าหากได้รับเลือกตั้งเป็นรัฐบาล

บางพรรคเสนอนโยบายที่ล้ำก้าวหน้า จนผู้คนคิดไม่ถึง นำมาสู่การวิพากษ์วิจารณ์ หรือไม่ก็ร้องเรียนแบบตั้งใจเตะตัดขาก็มี

ขณะนี้มีกระแสเรียกร้องให้คณะกรรมการการเลือกตั้งวินิจฉัยนโยบายประชานิยมของพรรคการเมืองหลายพรรคว่าทำได้หรือไม่

รวมทั้งเรียกร้องให้พิจารณาขยายระยะเวลาการลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าเพิ่มเติม เนื่องจากวันสุดท้ายของการลงทะเบียนเกิดปัญหาระบบล่ม

แต่ขณะนี้ปรากฏว่ากกต.ทั้ง 6 คน ไม่ได้อยู่ปฏิบัติหน้าที่ในประเทศไทย แต่พากันทยอยเดินทางไปดูการเตรียมการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร ตั้งแต่ช่วงวันที่ 4 เม.ย.

นายสันทัด ศิริอนันต์ไพบูลย์ และนายฉัตรไชย จันทร์พรายศรี เดินทางไปประเทศฮังการีและสโลวะเกีย

นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. เดินทางไปประเทศแอฟริกา

นายปกรณ์ มหรรณพ เดินทางไปประเทศเยอรมนีและสวิตเซอร์แลนด์

นายฐิติเชฏฐ์ นุชนาฏ เดินทางไปสหรัฐอเมริกา และนายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ เดินทางไปนิวซีแลนด์และออสเตรเลีย

ทั้ง 6 คนจะเริ่มทยอยเดินทางกลับมาประเทศไทยวันที่ 14 เม.ย.เป็นต้นไป

โดยมีกำหนดนัดประชุม กกต.ครั้งต่อไปในวันที่ 25 เม.ย. ซึ่งก็จะเหลือเวลาอีก 19 วันก็จะถึงวันเลือกตั้ง

ดังนั้นการดำเนินการเรื่องขยายเวลาลงทะเบียนคงทำได้ลำบาก เพราะไม่มีเวลาเพียงพอ หรือการวินิจฉัยปัญหานโยบาย พรรคการเมืองที่หาเสียงไปแล้ว แม้ กกต.จะมองว่าหากมีเรื่องเร่งด่วน ก็สามารถจะใช้วิธีการประชุมผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ได้ก็ตาม

อย่างไรก็ตามการเดินทางดังกล่าว เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าเหมาะสมหรือไม่

เพราะอดีตจะมอบให้กกต.เพียง 2-3 คนเท่านั้นให้เดินทางไป เนื่องจากการไปแต่ละครั้งใช้งบประมาณสูง แต่ครั้งนี้ กกต.ทั้ง 6 คน กลับเดินทางไปกันหมด

อีกทั้งมองว่าช่วงเวลาที่เดินทางไปต่างประเทศทั้งยังอยู่ในขั้นตอนการลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร หรือการลงทะเบียนเพิ่งเสร็จสิ้น หากจะเดินทางไปควรไปช่วงที่มีการส่งบัตรเลือกตั้งไปยังประเทศต่างๆ และกระจายบัตรไปยังผู้ที่ลงทะเบียนขอใช้สิทธิ์ไว้ หรือช่วงเวลาที่สถานทูตกำหนดให้มาใช้สิทธิ์

น่าจะเป็นประโยชน์มากกว่า และคงไม่ถูกวิจารณ์ทั้งประเทศ!!

เภรี กุลาธรรม

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน