พุทธวิธีในการสอน(18)

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)

ในพระสูตรนี้ พระพุทธเจ้าทรงแสดงไฟ 7 อย่าง ที่ควรได้รับการปฏิบัติเอาใจใส่ต่างๆ กัน โดยยึดเอาความรู้สึกและถ้อยคำต่างๆ ของพราหมณ์มา ทรงแสดงในแนวใหม่ ไฟ 7 อย่างนั้น แบ่งเป็น 3 ประเภท ดังนี้

1.ไฟที่ควรดับ หรือควรหลีกเว้น 3 อย่าง คือ

1) ไฟราคะ

2) ไฟโทสะ

3) ไฟโมหะ

เหตุที่ควรดับควรเว้น เพราะคนถูกราคะ โทสะ โมหะ ครอบงำยํ่ายีจิตใจแล้ว ย่อมประพฤติทุจริตทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจได้ เมื่อประพฤติทุจริตแล้วก็เป็นเหตุให้ได้รับความทุกข์ ไปเกิดในอบายทุคติ

พึงสังเกตว่า ในอาทิตตปริยายสูตร ก็มีไฟ 3 อย่างนี้เหมือนกัน แต่ในอัคคิสูตร พระพุทธเจ้าทรงแสดงในแบบง่ายๆ เท่าที่เกี่ยวกับความประพฤติของคนในโลกทั่วๆ ไป มิให้ประพฤติการทุจริตเท่านั้น ส่วนในอาทิตตปริยายสูตร ทรงแสดงในแง่ที่ต้องพิจารณาลึกซึ้ง ซึ่งเหมาะแก่การศึกษาของนักปรัชญาและนักจิตวิทยา

2.ไฟที่ควรบำรุง 3 อย่าง สำหรับไฟหมวดนี้ พระพุทธเจ้าทรงนำเอาชื่อไฟศักดิ์สิทธิ์ที่มีอยู่เดิมในศาสนาพราหมณ์ มาทรงใช้ในความหมายใหม่ และเรียงลำดับใหม่ (ต่างแต่ของพราหมณ์เป็นภาษาสันสกฤต ของพุทธเป็นภาษาบาลีเท่านั้น) ซึ่งเท่ากับเป็นการล้มเลิกคำสอนเดิมของศาสนาพราหมณ์ และทรงประทานคำสอนใหม่ไปด้วยพร้อมกัน จะให้ไว้ทั้งความหมายเดิมของพราหมณ์และความหมายใหม่ของพุทธศาสนาเพื่อเทียบกัน ดังนี้

1) คารหปัตยัคนี (ไฟเจ้าบ้าน) คือไฟที่เจ้าบ้านรับสืบทอดต่อจากบิดาของตน และส่งทอดต่อไปยังบุตรหลาน ไฟนี้เจ้าบ้านต้องบำรุงไว้ให้ติดไม่ขาดสาย และสังเวยเป็นประจำ เมื่อจะประกอบพิธีบูชายัญ ก็จุดไฟบูชายัญไปจากไฟนี้ พระพุทธเจ้าทรงประทานความหมายใหม่ในชื่อภาษาบาลีและจัดเป็นลำดับที่สองว่า

2) คหปตัคคิ (ไฟเจ้าบ้าน) หมายถึง บุตร ภรรยา คนรับใช้และคนงาน

2) อาหวนียัคนี (ไฟอันควรแก่ของเซ่นสรวง) คือ ไฟสำหรับรับเครื่องสังเวยในยัญพิธีซึ่งจุดต่อออกมาจากคารหปัตยัคนี เมื่อจะประกอบพิธีบูชายัญ และตั้งไว้ทางขวาของ คารหปัตยัคนี พระพุทธเจ้าทรงประทานความหมายใหม่ในภาษาบาลี และจัดเป็นลำดับที่ 1 ว่า

1) อาหุไนยัคคิ (ไฟอันควรแก่ของคำ นับ) หมายถึงมารดาบิดา

3) ทักษิณาคนี (ไฟด้านใต้) คือ ไฟที่จุดต่อจากคารหปัตยัคนี และจัดตั้งไว้ทางทิศใต้ของแท่นบูชายัญ ใช้สำหรับรับเครื่องสังเวยที่อุทิศให้แก่ผีปีศาจและบุรพบิดา ในยัญพิธี พระพุทธเจ้าทรงประทานความหมายใหม่ในภาษาบาลีว่า

3) ทักขิไณยัคคิ (ไฟที่ควรแก่ทักษิณา) หมายถึง สมณพราหมณ์ ผู้ประพฤติดีประพฤติชอบไฟ 3 อย่างนี้ พระพุทธเจ้าตรัสว่า ควรสักการะ เคารพ นับถือ บูชา จัดการบำรุงให้เป็นสุขด้วยดี

ข้อสังเกตสำหรับไฟหมวดที่สองนี้ คือ พระพุทธเจ้าทรงสอนให้เลิกการเซ่นสรวงบูชายัญ อันเหลวไหลเสีย หันมาเอาใจใส่กับพันธะทางสังคม ให้ปฏิบัติหน้าที่ดูแลทำนุบำรุงบุคคลที่เกี่ยวข้องกับตนให้ดี เพราะบุคคลเหล่านี้ก็เทียบได้กับไฟ ซึ่งต้องคอยเอาใจใส่เติมเชื้อ บำรุงให้ดี จึงจะเกิดคุณประโยชน์ดีงาม แต่หากปฏิบัติไม่ดี ก็ให้โทษ เป็นไฟเผาผลาญได้มากเช่นเดียวกัน

3.ไฟที่ควรจุดควรดับควรระวังตามสมควร ได้แก่ กัฏฐัคคิ (ไฟเกิดแต่ไม้ หรือไฟที่ก่อขึ้นจากเชื้อสำหรับใช้หุงต้ม เป็นต้น) ไฟอย่างนี้ควรก่อขึ้น ก่อแล้วควรเอาใจใส่ระมัดระวัง เสร็จแล้วควรดับแล้วควรเก็บไว้ตามกาละที่สมควร

จะเห็นได้ว่า ในอัคคิสูตรนี้ พระพุทธเจ้าทรงสอนเรื่องไฟในแง่คำแนะนำสั่งสอนสำหรับผู้ครองชีวิตมีเหย้ามีเรือนอยู่ในฆราวาสวิสัย

ในกรณีอื่นอีก เมื่อตรัสถึงการบูชาไฟ พระพุทธเจ้าตรัสสอนคติที่ควรยึดถือปฏิบัติสำหรับสังคมทั่วไปว่า

“ถึงหากบุคคลผู้ใดจะไปบูชาไฟอยู่ในป่าเป็นเวลาตั้งร้อยปี การบูชาคนที่ฝึกอบรมตนแล้วชั่วขณะเดียว ก็ยังประเสริฐกว่าการบูชาไฟนั้น การบูชาไฟตั้งร้อยปีจะมีประโยชน์อะไร”

ข้อนี้ หมายความว่า พระพุทธองค์ทรงแนะนำให้สังคมหันมาช่วยกันยกย่องให้เกียรติคนดี เพราะเป็นสิ่งที่ให้คุณประโยชน์รักษาคุณธรรมของสังคมไว้ ดีกว่าจะมัวไปหลงใหลในการเซ่นสรวงสังเวย อันเป็นเรื่องไร้เหตุผล อันเป็นการกระทำ ที่มุ่งผลประโยชน์ส่วนตัวเป็นสำคัญ ทั้งยังเป็นทางให้เกิดความเสื่อมเสียขึ้นในสังคมได้ ในเมื่อผู้คนมุ่งประโยชน์ส่วนตน คอยพะเน้าพะนอเอาใจเทวดาที่ชอบเครื่องเซ่น เป็นเหตุให้มีแต่เทวดาประเภทนี้มาคอยคุ้มครองและแสดงอิทธิพลในหมู่มนุษย์

เมื่อมนุษย์คบหาให้กำลังแก่เทวดาประเภทนักเลง ประเภทชอบลาภสักการะ ก็เป็นธรรมดาอยู่เอง ที่เทวดาผู้ตั้งอยู่ในคุณธรรม ผู้ให้ความคุ้มครองโดยธรรมโดยสงบย่อมจะเสื่อมถอยกำลังและปลีกตนหลบลี้ออกไปอยู่โดยสงบ ไม่เป็นที่ปรากฏ ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาในสังคมมนุษย์ มองเห็นได้ไม่ยาก

เมื่อเข้าใจวิธีสอนธรรมของพระพุทธเจ้า ที่แตกต่างกันได้แม้ในเรื่องคล้ายกัน โดยสัมพันธ์กับสติปัญญาและการดำรงชีวิตของผู้ฟังเช่นนี้แล้ว จะได้ข้อเตือนใจว่า ในขณะที่อ่านหรือกล่าวถึงอาทิตตปริยายสูตร จะต้องรำลึกถึงเหตุผลในแง่การสอนให้เหมาะสมกับระดับสติปัญญาและการศึกษาอบรมไว้ด้วย และจะต้องตระหนักในใจเสมอว่า ตนกำลังอ่านหรือกล่าวถึงหลักธรรมที่โดยปกติเป็นข้อสำหรับถกเถียงและพิจารณาศึกษา ของนักปรัชญาและนักจิตวิทยาทั้งหลาย

นอกจากนี้ เมื่อว่าตามเป็นจริง ในปัจจุบันนี้ นักปรัชญาและนักจิตวิทยาทั้งหลาย ก็กำลังศึกษาค้นคว้าถกเถียงวุ่นวายอยู่กับเรื่องเหล่านี้นี่เอง หาพ้นไปได้ไม่

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน