พระพุทธเจ้าทรงป้องกันความเข้าใจผิดนี้ จึงได้ตรัสพุทธพจน์ไว้หลายแห่ง อย่างที่เราเคยได้ยินกัน เช่นที่ตรัสว่า ตุมฺเหหิ กิจฺจํ อาตปฺปํ อกฺขาตาโร ตถาคตา ที่แปลว่า ความเพียรเป็นสิ่งที่ท่านทั้งหลายจะต้องทำ ตถาคตเป็นแต่ผู้บอก อันนี้เป็นเครื่องเตือนให้มองขอบเขตให้ชัดเจนว่า กัลยาณมิตรมาช่วยอะไรเรา ทำอะไรให้เราได้แค่ไหน และในส่วนไหนแค่ใดเราจะต้องทำเอง

หน้าที่ของกัลยาณมิตรก็คือ เป็นผู้บอก เป็นผู้แนะนำเป็นผู้ให้คำสอน เป็น ผู้ชี้ทางให้ แต่ตัวความเพียร ตัวเหตุปัจจัยที่จะให้ผลที่ต้องการสำเร็จนั้น เราจะต้องทำด้วยตนเอง เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าทั้งๆ ที่เป็นกัลยาณมิตร พระองค์ก็ตรัสสอนพุทธพจน์มากมายเตือนเรา แม้ตอนใกล้ปรินิพพาน ก็ตรัสเตือนไว้บ่อยว่า อตฺตทีปา วิหรถ อตฺตสรณา ธมฺมทีปา วิหรถ ธมฺมสรณา แปลว่า เธอทั้งหลายจงอยู่โดยมีตนเป็นที่พึ่ง โดยมีตนเป็นสรณะ เธอทั้งหลายจงอยู่โดยมีธรรมเป็นที่พึ่ง โดยมีธรรมเป็นสรณะ อันนี้เป็นหลักเตือนใจที่สำคัญ

ในที่สุด ที่ว่ากัลยาณมิตรมาช่วยมาบอกมาสั่งสอนนั้น ท่านสั่งสอนให้เราช่วยตัวเอง แต่ที่สำคัญก็คือ แต่ก่อนเราช่วยตัวเองไม่เป็น ท่านมาสอนมาช่วยแนะนำให้เราช่วยตัวเองเป็น แต่ไม่ใช่ว่าท่านมาทำอะไรให้เราไปเสียหมด อันนี้จะต้องเข้าใจให้ถูกต้อง

ท่านช่วยแล้ว ทำไมเราต้องทำเองด้วย

บางทีอาจคิดว่า โอ! คำสอนในพระพุทธศาสนานี้ ดูแห้งแล้ง แม้แต่พระพุทธเจ้าก็ไม่ช่วยเราเลย เราจะต้องทำความเพียรด้วยตนเอง ไม่เหมือนอย่างบางลัทธิ บางศาสนาบางคำสอนให้อ้อนวอนเอาได้ อะไรๆ เทพเจ้าก็ช่วยหมดอย่างนี้ดีเหลือเกิน หลายคนก็คงจะชอบ ถ้าเป็นอย่างนั้นได้จริงก็น่าชอบใจสิ ได้มาง่ายๆ ไม่ต้องทำอะไร ก็น่าเอา เพราะฉะนั้นใครๆ ก็อยากจะได้อย่างนั้น แต่มันเป็นจริงหรือเปล่าความจริงของธรรม คือ ความจริงแท้นั้น หาได้เป็นอย่างนั้นไม่ ความจริงของธรรมเป็นอย่างไร ความจริงของธรรม คือ ความเป็นไปตามเหตุปัจจัย

สิ่งทั้งหลายนั้น จะสำเร็จเพียงด้วยความปรารถนาได้หรือเปล่า การอ้อนวอนขอเอานั้นเป็นเพียงเครื่องปลอบใจเท่านั้นเอง บางทีไปเหมาะจังหวะเข้า โดยบังเอิญ โดยเหตุประจวบเหมาะ ก็เลยสำเร็จผลตามที่ต้องการ แต่ถ้าหากว่าไม่เกิดเหตุบังเอิญขึ้นมา ก็ไม่สำเร็จผลตามประสงค์ กลายเป็นอยู่อย่างเลื่อนลอยมัวแต่รอให้เขาทำให้เวลาก็ผ่านไปตัวเองก็อยู่กับที่เท่าเดิม สิ่งที่แน่นอนก็คือ ความเป็นจริงของธรรม และความเป็นไปตามเหตุและปัจจัย ซึ่งพระพุทธเจ้า ได้ทรงสั่งสอนว่า ให้เราพึ่งตนเอง รู้จักฝึกตนเอง เอาตนเป็นสรณะ

พึ่งตนคือพึ่งธรรม

และการที่ว่าเอาตนเองเป็นสรณะคืออย่างไร ก็คือเอาธรรมเป็นที่พึ่ง พึ่งตนคือพึ่งธรรม หรือเอาตนเป็นที่พึ่ง เอาตนเป็นสรณะก็คือเอาธรรมเป็นสรณะ หมายความว่าให้เอาธรรมเข้ามาใส่ไว้ในตน เอาธรรมมาใส่ตนแล้วตนก็เป็นที่พึ่งได้ ความหมายอย่างง่ายๆ ที่สุด ก็คือเอาธรรมคำสอนที่พระพุทธเจ้า และครูอาจารย์ที่สืบๆ กันมานี้ ท่านสอนเรา ท่านบอกแนะนำวิธีแก้ปัญหา แนะนำวิธีปฏิบัติ วิธีดำเนินชีวิตให้เราแล้ว เราก็เอาคำสอนเหล่านั้นมาปฏิบัติตาม นี่คือเอาธรรมมาใส่ตัว เมื่อเราทำตามคำสอนของท่านก็สำเร็จผล เราก็พึ่งตนเองได้ อันนี้ก็คือการที่ว่าพึ่งตน ก็คือพึ่งธรรม เมื่อเอาคำสอนของพระพุทธเจ้า มาใช้เป็นหลักในการครองชีวิต เราก็พึ่งตนได้ อันนี้เป็นความหมายอย่างหนึ่งเป็นความหมายอย่างง่ายๆ

ทีนี้ลึกเข้าไปอีกจะเห็นว่า ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า ให้พึ่งตนเองและพึ่งธรรมนั้น ความหมายว่าพึ่งธรรมของพระองค์ ลึกลงไปจนกระทั่งหมายถึงการที่ว่ามีสติครองใจ มีสติกำกับความคิดความเคลื่อนไหวของชีวิตจิตใจทุกขณะตลอดเวลา ไม่ให้จิตใจของเรานี้ ถูกความยินดียินร้าย อารมณ์ต่างๆ เข้ามาครอบงำ ไม่ตกเป็นทาสของความเป็นไปภายนอก ถ้าทำได้อย่างนี้ โดยมีสติครองใจอยู่ตลอดเวลา ก็เรียกว่าพึ่งตนได้ หลักการนี้ก็คือสติปัฏฐาน 4 นั่นเอง

พระพุทธเจ้าทรงยกตัวอย่างมาเป็นอรรถาธิบายของการที่มีตนเป็นที่พึ่ง ได้แก่มีธรรมเป็นที่พึ่ง ถ้าเราปฏิบัติดำเนินชีวิตได้ตามหลักสติปัฏฐาน 4 มีสติกำกับครองจิตครองใจได้ทุกขณะทุกเวลา เราก็พึ่งตนเองได้ ชีวิตก็จะมีความผาสุก ปลอดภัยไร้อันตราย อันนี้เป็นความหมายอย่างหนึ่ง แต่ในที่นี้ไม่มีเวลาที่จะอธิบายความหมายของการปฏิบัติตามหลักสติปัฏฐานให้ละเอียดพิสดาร แต่ให้เราเข้าใจความหมายทั่วๆ ไปว่า การเอาสติมาเป็นหลักครองชีวิต มากำกับความคิด ความเคลื่อนไหว ความเป็นไปของชีวิตจิตใจได้ทุกขณะทุกเวลา ถ้าทำได้อย่างนี้ก็เรียกว่าเป็นการพึ่งตน

ความหมายที่จะใช้ทั่วไปอีกอย่างหนึ่งก็คือ ดังที่กล่าวแล้วว่า ธรรมนั้น ก็คือความจริงของธรรมดา ความจริงของธรรมดาก็คือ ความเป็นไปตามเหตุปัจจัย สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัย

 

ความเป็นกัลยาณมิตรของหลวงปู่ชา (4)
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน