คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 สถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และ เครือข่ายภาคประชาชน ยื่นเรื่องต่อประธาน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต แห่งชาติ (ป.ป.ช.)

เพื่อขอให้ไต่สวน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี เนื่องจากมีพฤติการณ์ฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ จากกรณีออก พ.ร.ก.เลื่อนบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย

โดยขอเลื่อนบังคับใช้ 4 มาตรา ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญเกี่ยวกับการควบคุมตัวผู้ต้องหา จากเดิมวันที่ 22 ก.พ.2566 เป็นวันที่ 1 ต.ค.2566 ด้วยเหตุผลความไม่พร้อมของเจ้าหน้าที่ และอุปกรณ์บันทึกภาพ

จนกระทั่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การออก พ.ร.ก.ขัดรัฐธรรมนูญ ไม่สามารถบังคับใช้ได้ ส่งผลให้ พ.ร.บ.มีผลตั้งแต่วันที่ 22 ก.พ. 2566

เครือข่ายภาคประชาชนเห็นว่าการกระทำของ พล.อ.ประยุทธ์ กับพวกครม.เป็นพฤติการณ์จงใจฝ่าฝืนบทบัญญัติรัฐธรรมนูญก่อให้เกิดความเสียหายต่อกฎหมายสำคัญและหลักนิติธรรมอย่างร้ายแรง

เนื่องจากการออก พ.ร.ก.ต้องเพื่อประโยชน์ที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ และเป็นกรณีฉุกเฉินจำเป็นรีบด่วนมิอาจหลีกเลี่ยงได้เท่านั้น

จึงนำมาสู่การยื่นเรื่องให้ ป.ป.ช.ไต่สวน เพื่อส่งให้ศาลฎีกาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองสั่งให้พ้นจากตำแหน่ง และตัดสิทธิ์ทางการเมือง รวมทั้งสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ระหว่างการพิจารณา

จากนี้ต้องติดตามต่อไปว่าเมื่อ ป.ป.ช. ไต่สวนแล้วจะมีความเห็นอย่างไร และส่งให้ศาลวินิจฉัยหรือไม่








Advertisement

การไต่สวนของ ป.ป.ช.อาจต้องใช้เวลาสักระยะ แต่ประการสำคัญคือในห้วงวันที่ 22 ก.พ.2566 ถึงวันที่ 18 พ.ค.2566 ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พ.ร.ก.ขัดรัฐธรรมนูญนั้น

ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติไม่ได้ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ป้องกันปราบปรามการทรมานและการ กระทำให้บุคคลสูญหาย ยังคงจับกุมควบคุมตัว ผู้ต้องหา หรือผู้ต้องสงสัยด้วยวิธีการเดิม

โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เจ้าหน้าที่ใช้กฎอัยการศึก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งให้อำนาจเป็นพิเศษนำตัวผู้ต้องสงสัยไปสอบสวน ซักถามในค่ายปฏิบัติการ มีจำนวนหลายสิบคน

การละเมิด และความเสียหายจากการ ไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.เกิดขึ้นสำเร็จแล้ว คำถามคือนายกฯ และ ครม.ผู้ออก พ.ร.ก. ต้องร่วมกันรับผิดชอบด้วย

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน