ใช้ ‘ไม้นวม-น้ำเย็น’ไกล่เกลี่ยคลังชงครม.ยกหนี้เน่าโควิด‘กสทช.’ถกค่ายมือถือ-แก้กม. สกัดเบอร์เดียวโทร.100ครั้ง

‘เศรษฐา’ประชุมติวเข้ม ผู้ว่าฯ ผบก.ทุกจังหวัด และผกก.โรงพักทั่วประเทศ กำชับ ตร.เร่งแก้หนี้นอกระบบ ชี้เป็นสารตั้งต้นอาชญากรรม ประกาศร่วมแก้ปัญหาค้าทาสยุคใหม่ให้หมดไป จี้สตช.กำหนดกรอบเวลาดำเนินคดีให้เร็วที่สุด ย้ำอย่าท้อ อย่ายอมแพ้ ‘อนุทิน’ สั่งทุกหน่วยร่วมแก้หนี้จริงจัง แนะใช้ไม้อ่อน น้ำเย็นเข้าลูบให้ลูกหนี้-เจ้าหนี้เจรจาไกล่เกลี่ยกันให้ลงตัว ขณะเดียวกันใช้กฎหมายเข้มแก๊งข่มขู่และใช้กำลังกับลูกหนี้ ปลัดมท.คาดสิ้นมี.ค.67 มีลูกหนี้นอกระบบแห่ลงทะเบียนพุ่ง 1 ล้านคน เผยแค่ 7 วันลงทะเบียนเกิน 8 หมื่น ยอดหนี้ 4 พันล้าน ลุงวัย 65 ร้องเจ้าหนี้โหด ไปขอกู้ 3 หมื่น ต้องจ่ายดอกเบี้ย 3 ล้าน คลังชงครม.ยกให้ฟรี หนี้เน่าโควิดกว่าล้านราย

‘เศรษฐา’คิกออฟแก้หนี้นอกระบบ

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 8 ธ.ค. ที่ห้องรอยัลจูบิลี บอลรูม อาคารชาเลนเจอร์ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง เป็นประธานการประชุมมอบนโยบายและแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย นายชาดา ไทยเศรษฐ์ รมช.มหาดไทย นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รมช.คลัง พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย ผู้บริหารสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้ว่าฯ ทุกจังหวัด ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดทุกจังหวัด ปลัดกรุงเทพฯ ปลัดจังหวัดทุกจังหวัด นายอำเภอทุกอำเภอ ผู้อำนวยการเขต ทุกเขต ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธร ผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลทุกแห่ง รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ

โดยนายกฯ รับฟังบรรยายสรุปการการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบจากหน่วยงานต่างๆ เมื่อมาถึงบูธของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ นายกฯกำชับเร่งรัดการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบเพราะถือเป็นสาร ตั้งต้นอาชญากรรม

จากนั้นนายกฯกล่าวมอบนโยบายว่า วันนี้ตนไม่ได้เชิญทุกท่านมากระชับอำนาจให้ตน ตนมาขอแรงจากทุกท่านทำประโยชน์ให้พี่น้องประชาชน มาช่วยกันทำให้การค้าทาสในยุคใหม่หมดไปจากประเทศไทย ด้วยกัน พี่น้องเพื่อนร่วมชาติเราจำนวนมากมีความทุกข์ ถูกพรากอิสรภาพในการใช้ชีวิต เพราะมีหนี้สินจองจำพวกเขาอยู่ พวกท่านในฐานะข้าราชการฝ่ายปกครองที่ทำหน้าที่บำบัดทุกข์บำรุงสุข และเจ้าหน้าที่ตำรวจในฐานะผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ ตน เชื่อมั่นว่าพวกท่าน สามารถช่วยพี่น้องประชาชนให้มีอิสรภาพต่อชีวิต สร้างขวัญและกำลังใจให้กับพวกเขาได้

นายกฯ กล่าวต่อว่า ตนในฐานะนายกรัฐมนตรีจำเป็นต้องขอพึ่งพาความรู้ความสามารถของพวกท่าน ช่วยให้พี่น้องประชาชนของเราเป็นอิสระ หลุดพ้นพันธนาการจากหนี้นอกระบบ รัฐบาลกำหนดให้การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบเป็นวาระแห่งชาติ ที่พวกเราทุกคนจะต้องมาร่วมแรงร่วมใจกัน แก้ไขปัญหานี้ให้กับพี่น้องประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินที่สูงอย่าง ไม่เป็นธรรม การทวงถามหนี้ที่มีลักษณะคุกคามขู่เข็ญหรือใช้กำลังประทุษร้าย ส่งผลต่อการใช้ชีวิตและความสงบเรียบร้อย ของสังคม เรื่องนี้ตนแถลงนโยบายที่ทำเนียบรัฐบาลไปแล้วเมื่อวันที่ 28 พ.ย. 2566 และครม.ก็มีคำสั่งเมื่อวันที่ 4 ธ.ค. ระหว่างที่เราไปครม.สัญจร ให้กระทรวงมหาดไทยเป็นเจ้าภาพร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บูรณาการ ขับเคลื่อน และประสานงานร่วมกัน เพื่อให้การแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

นายเศรษฐากล่าวว่า วันนี้มีผู้บริหารระดับสูงและผู้นำหน่วยงานที่มีความ ใกล้ชิดกับประชาชนทั่วประเทศมารวมกัน ณ ที่แห่งนี้ ตนจึงอยากให้ทุกท่านได้รับรู้และทำความเข้าใจที่ตรงกันว่าการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบนั้นเป็นวาระสำคัญของชาติจริงๆ นี่ไม่ใช่การแก้ไขปัญหาเพื่อภาพลักษณ์ของรัฐบาล ของตน หรือของหน่วยงานท่าน แต่นี่คือการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชน ให้สามารถฟื้นกลับมาใช้ชีวิตโดยไม่ต้องหวาดระแวง และมีรอยยิ้มได้โดยทั่วกัน








Advertisement

แก้หนี้ – นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง เป็นประธานการประชุมมอบนโยบายแก่ผู้ว่าฯ, นายอำเภอ, ผบก.ตำรวจและผกก.โรงพักทั่วประเทศ ในการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี จ.นนทบุรี เมื่อวันที่ 8 ธ.ค.

ย้ำปชช.ไม่ต้องกลัวผู้มีอิทธิพล

นายเศรษฐากล่าวด้วยว่า สำหรับกระบวนการเกี่ยวกับการร้องเรียน เราได้บูรณาการช่องทางให้หลากหลาย เพื่อให้ พี่น้องประชาชนเลือกเข้าไปในช่องทาง ที่พวกเขารู้สึกสะดวก ปลอดภัย ช่องทางแรก กระทรวงมหาดไทยเปิดให้มีการ ลงทะเบียนลูกหนี้นอกระบบผ่านศูนย์ ดำรงธรรม ทั้งในระดับจังหวัดและระดับอำเภอ รวมถึงเบอร์ติดต่อ 1567 ตั้งแต่ วันที่ 1 ธ.ค.ที่ผ่านมา ถึงวันนี้ มีลูกหนี้ที่มาลงทะเบียนแล้วกว่า 71,000 คน รวมยอดมูลหนี้นอกระบบกว่า 3,500 ล้านบาท

นายกฯ กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก็มีศูนย์ป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ สายด่วน 1599 และประชาชนสามารถเข้าไปที่โรงพักใกล้บ้านเพื่อแจ้งเหตุได้ ส่วนสำนักนายกรัฐมนตรีก็มีศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ สายด่วน 1111 ที่ประชาชนทั่วประเทศสามารถร้องเรียนความเดือดร้อนปัญหาหนี้นอกระบบได้ เมื่อรับเรื่องร้องเรียนแล้ว ข้อมูลของประชาชนจะประสานเชื่อมโยงฐานข้อมูลจากทุกช่องทางเข้ามาด้วยกัน เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน ได้รับการดูแลไม่ให้ตกหล่น และเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง ไม่มีการบิดเบือน ประชาชนที่ลงทะเบียนก็จะได้รับเลข Reference Number ในทุกๆ กรณีเพื่อ ตรวจสอบความถูกต้อง ประชาชนสามารถติดตามความคืบหน้า หรือสถานการณ์การดำเนินการที่ได้ร้องเรียนไว้บนเว็บไซต์ของภาครัฐได้ตลอดเวลา

ฮึ่มตร.ต้องไม่มีการละเว้น

“ผมขอให้ทุกท่านร่วมกันเป็นกระบอกเสียง ช่วยกันสื่อสาร เชื้อเชิญให้ประชาชนที่มีความเดือดร้อนเข้ามาลงทะเบียน ไม่ว่าจะเป็นการทวงหนี้จากแก๊งหมวกกันน็อก เว็บไซต์ให้กู้ยืมออนไลน์ หรือเจ้าหนี้นอกระบบในรูปแบบอื่นๆ ทุกการสื่อสารของพวกท่านล้วนเป็นกำลังสำคัญที่จะทำให้การแก้ไขหนี้นอกระบบประสบผลสำเร็จ หลังจากที่เรื่องร้องเรียนเข้ามาในระบบแล้ว ส่วนกลางจะวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อจัดประเภทเรื่องที่ร้องเรียน ก่อนส่งไปให้ในแต่ละพื้นที่ดำเนินการต่อ ถ้าพบว่ามีกรณีที่องค์ประกอบความผิดครบ ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าพนักงานอัยการสามารถดำเนินการจับกุมและดำเนินคดีได้ทันที ย้ำนะครับ ถ้าองค์ประกอบความผิดครบ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด ไม่ได้มีการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่แต่อย่างใด” นายเศรษฐากล่าว

นายเศรษฐากล่าวอีกว่า ตนเชื่อว่าในหลายๆ ครั้ง เจ้าหนี้และลูกหนี้ก็ยังพร้อมที่จะประนีประนอมกันได้ ก็ขอให้เชิญ เข้ามาไกล่เกลี่ยกัน ให้เข้ามาร่วมกันหาทางออกอย่างสันติวิธี และถูกต้องตามกฎหมาย จัดทำเป็นสัญญาประนีประนอมต่อกัน ตามแบบฟอร์มที่ทางกระทรวงมหาดไทยจัดเตรียมไว้ และกำหนดอัตราดอกเบี้ย ระยะเวลา และงวดผ่อนชำระหนี้ ที่เหมาะสมกับศักยภาพการชำระหนี้ของลูกหนี้แต่ละราย ซึ่งตนเชื่อว่าจะเป็นทางออกที่ดีทั้งกับเจ้าหนี้และลูกหนี้ การดำเนินการทั้งหมดตั้งแต่รับเรื่อง รัฐบาลจะมีการติดตามผล โดยสำนักนายกรัฐมนตรี 1111 จะติดต่อติดตามผล เพื่อดูว่าทั้ง ลูกหนี้และเจ้าหนี้สามารถดำเนินการตามข้อตกลงที่ทำไว้ได้หรือไม่ หากยังพบปัญหา ไม่สามารถดำเนินการตามสัญญาฉบับใหม่ได้ จะขอเชิญเจ้าหนี้และลูกหนี้เข้ามาร่วมกันแก้ไขข้อตกลงให้เหมาะสมกันอีกครั้ง หรือถ้าในภายหลังพบว่ายังมีการข่มขู่ หรือเจ้าหนี้ไม่ยอมปฏิบัติตามสัญญาไกล่เกลี่ย จนเป็นเหตุให้ลูกหนี้เดือดร้อน พนักงานฝ่ายปกครองและเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องร่วมกันบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดต่อไป

นายเศรษฐากล่าวว่า ประชาชนสามารถติดตามผลการดำเนินการไกล่เกลี่ยได้จาก 5 ช่องทาง ตั้งแต่ศูนย์ดำรงธรรม หรือเบอร์ 1567 หรือเว็บไซต์ debt.dopa.go.th หรือเบอร์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 1599 หรือเบอร์สำนักนายกฯ 1111

ให้บูรณาการไม่ทำงานซ้ำซ้อน

นายเศรษฐากล่าวว่า ขอให้ทุกท่านศึกษาและทำความเข้าใจกระบวนการปฏิบัติงาน ซึ่งจะเป็นมาตรฐานในการทำงาน (SOP) ให้ถ่องแท้ ประกอบด้วย ขั้นตอนตั้งแต่การรับเรื่อง การช่วยเหลือ การไกล่เกลี่ย การบังคับทางกฎหมาย และอื่นๆ ขอให้ทั้งเจ้าหน้าที่มหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงการคลัง ร่วมกันศึกษาในรายละเอียดของกัน และกัน ให้เข้าใจถึงความรับผิดชอบของทุกภาคส่วน เพื่อให้การทำงานไม่ซ้ำซ้อน บูรณาการได้จากทุกฝ่าย

ตั้ง‘เคพีไอ’วัดผลแก้หนี้

“ปัญหาที่ท่านอาจจะพบคือการที่ เจ้าหนี้หรือลูกหนี้ไม่ยอมเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย ท่านอาจจะต้องออกไปพบ ไปพูดคุย เชิญชวน ซึ่งเป็นมาตรการที่ผมเรียกว่าไม้อ่อน เพื่อให้พวกเขาสมัครใจเข้ามาสู่กระบวนการและในหลายๆ ครั้ง ท่านอาจจะต้องเป็นผู้ใช้อำนาจตามกฎหมายในการบังคับซึ่งเป็นไม้แข็งในการนำเจ้าหนี้หรือลูกหนี้เข้าสู่ระบบ ตนขอให้ทุกท่าน ไม่ยอมแพ้ ไม่ท้อถอย ไม่หยุดช่วยเหลือประชาชน โดยเฉพาะในกรณีที่พวกเขา ไม่ยอมสมัครใจเข้าสู่กระบวนการ ซึ่งตนขอมุ่งเป้าไปที่กลุ่มเจ้าหนี้หรือลูกหนี้ที่มีพฤติการณ์กระทำผิดกฎหมาย สร้างความเดือดร้อนนานาชนิด ต้องแก้ปัญหาให้ได้ อย่าปล่อยผ่านท่านต้องนำความรู้ด้านการทำสัญญาประนีประนอม ที่ต้องระบุ รายละเอียดเจ้าหนี้และลูกหนี้ให้ชัดเจน กำหนดมูลหนี้ การคิดอัตราดอกเบี้ย การยกเลิกเพิกถอนสัญญาที่ไม่เป็นธรรม และเงื่อนไขอื่นๆ ในการบังคับคดีหรือสิทธิในทางศาลได้โดยถูกต้องตามกฎหมาย ผมขอฝากให้ท่านใช้ศาสตร์และศิลป์ อย่างตรงไปตรงมาในการดำเนินงานนี้” นายเศรษฐากล่าว

นายกฯ กล่าวด้วยว่า เรื่องถัดไปที่สำคัญคือการทำงานเราจะต้องมีเป้าหมาย ตนขอประกาศเป้าหมายว่าหนี้นอกระบบจะต้องได้รับการโดยเด็ดขาด ทั้งฝ่ายปกครองและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะต้องมีการกำหนดตัวชี้วัด (KPI) ที่เหมาะสม และกรอบเวลาที่ชัดเจน ซึ่งตนขอหลักการ กว้างๆ ให้ท่านดังนี้ ท่านจะต้องไม่ตั้ง เป้าหมายที่ง่ายเกินไปจนไม่สามารถวัดผลอะไรได้ และไม่ยากเกินไปจนเป็นเหตุ ให้ผู้ปฏิบัติงานรู้สึกไม่อยากเริ่มทำ ทางสำนักงานตำรวจควรจะต้องกำหนดระยะเวลาดำเนินการในการจับกุมเพื่อดำเนินการให้เร็วที่สุด และระยะเวลาการทำสำนวนการสอบสวน ทางกระทรวงมหาดไทย ฝ่ายปกครอง ก็ควรกำหนดสัดส่วนเรื่องที่เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย และเรื่องที่ เจ้าหนี้ลูกหนี้ร่วมกันทำสัญญาประนี ประนอมได้สำเร็จ กำหนดระยะเวลาในการดำเนินการแต่ละขั้นตอน ทั้งในชั้น รับเรื่องร้องเรียนถึงการเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย และชั้นการทำสัญญาประนี ประนอมไว้ให้ชัด และไม่นานจนเกินไป

“ผมตระหนักดีว่าภารกิจครั้งนี้แม้จะเป็นเรื่องที่หนักและเหนื่อยในบางเหตุการณ์ อาจจะต้องมีการเสี่ยงภัยเกิดอันตรายขึ้นได้กับทั้งผู้ปฏิบัติงานหรือ ผู้ได้รับความผิด แต่หากทุกท่านได้เข้า ช่วยเหลือประชาชนแม้เพียงคนเดียวได้ ให้เขาได้พ้นจากทุกข์ มีความปลอดภัย ในชีวิตและทรัพย์สิน รวมทั้งญาติลูกหลานของเขาให้หลุดพ้นจากพันธนาการหนี้สินที่ไม่มีวันสิ้นสุดนี้ได้ ท่านควรจะมีความสุขเป็น change for good หรือเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี สร้างความสุขสร้างรอยยิ้มให้กับประชาชน สำหรับผมนั้นคือความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่สมเกียรติและศักดิ์ศรีของท่านในฐานะข้าราชการ ผู้บำบัดทุกข์บำรุงสุข และผู้พิทักษ์สันติราษฎร์” นายกฯ กล่าว

มท.1 ย้ำเร่งปราบผู้มีอิทธิพล

ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย ร่วมมอบนโยบายและแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบว่า ภายใต้การนำของผู้ว่าฯ ผู้กำกับการตำรวจ นายอำเภอ ผู้กำกับการสถานีตำรวจ เพื่อให้ภารกิจในการสะสางแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบบรรลุผลสัมฤทธิ์ ตนมั่นใจ อย่างยิ่งว่าจะทำให้ปัญหาหนี้นอกระบบ ลดลงไปอย่างแน่นอน วันนี้จะเป็น จุดเริ่มต้นอันดีที่ทุกคนจะได้รับและ สนองนโยบายของนายกฯ และรัฐบาล เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติ ขอเน้นย้ำทุกท่านว่าการแก้ไขปัญหาหนี้ นอกระบบ เราไม่ได้มองว่าลูกหนี้คือพระเอก หรือเจ้าหนี้เป็นผู้ร้าย แต่เรามองว่าเจ้าหนี้ที่กดขี่ข่มเหง และลูกหนี้ที่เบี้ยวการชำระหนี้เป็นผู้ร้าย จึงต้องมีการจัดระเบียบทั้งสองฝ่ายให้ถูกต้องเพื่อความสงบเรียบร้อยของสังคม

นายอนุทินกล่าวต่อว่า ดังนั้น ทุกท่านจึงต้องช่วยกันสร้างความเชื่อมั่นเชื่อถือให้กับพี่น้องประชาชน โดยเริ่มจากใช้น้ำเย็นหรือไม้อ่อนด้วยการทำให้เกิดความเข้าใจ หาเหตุผลในการทำให้ทั้งสองฝ่ายบรรลุ ข้อตกลงในการประนีประนอมร่วมกัน ให้ได้ หากสามารถตกลงกันได้ก็ไม่ต้องใช้กฎหมายบังคับ แต่หากไม่สามารถตกลงกันได้อาจจะต้องใช้กระบวนการตามกฎหมาย การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบนั้น ทุกหน่วยงานโดยเฉพาะกระทรวงการคลังพร้อมจะบูรณาการเพื่อแก้ไขปัญหา ในทุกวิถีทางตามกฎหมาย ตลอดจนถึงให้การรับรองถึงความปลอดภัยของหนี้

คาดสิ้นมี.ค.67 ลงทะเบียน 1 ล้าน

ด้านนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยเปิดรับลงทะเบียนหนี้นอกระบบใน 76 จังหวัด และพื้นที่กรุงเทพฯ พบว่าตั้งแต่วันที่ 1-7 ธ.ค.มีประชาชนให้ความสนใจลงทะเบียนทั้งในระบบออนไลน์ และด้วยตนเอง ณ ที่ว่าการอำเภอหรือสำนักงานเขต เป็นจำนวนมากกว่า 80,000 ราย มีมูลหนี้สูงเกือบ 4,000 ล้านบาท และคาดการณ์ว่าจนถึงวันที่ 31 มี.ค.67 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่คณะทำงานหนี้นอกระบบได้กำหนดไทม์ไลน์ไว้ จะมีพี่น้องประชาชนมาลงทะเบียนจำนวนเกือบ 1 ล้านราย

นายสุทธิพงษ์กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค. จะเป็นห้วงของการเชิญเจ้าหนี้นอกระบบมาพูดคุยเพื่อพิสูจน์ความจริง และเข้าสู่ ขั้นตอนของการไกล่เกลี่ย ซึ่งขณะนี้ มีบางอำเภอเริ่มดำเนินการแล้ว พบว่าประสบความสำเร็จและมีการตื่นตัวในการเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย และงดในเรื่องของการเก็บดอกเบี้ยอัตราสูงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ส่วนที่สำคัญคือกระทรวงการคลัง ซึ่งท่านนายกฯ ได้สั่งการให้ธนาคารของรัฐเข้ามาเป็นเจ้าหนี้ที่ถูกกฎหมายแทนเจ้าหนี้นอกระบบ ซึ่งใน ส่วนนี้ยังอยู่ระหว่างการเตรียมการ ที่จะประชาสัมพันธ์ชี้แจงให้กับพี่น้องประชาชนได้ทราบ แล้วเข้ามารับความ ช่วยเหลือต่อไป

นายสุทธิพงษ์กล่าวต่อว่า เรื่องใหญ่ที่สำคัญ คือ จะทำอย่างไรให้ลูกหนี้นอกระบบ มาแสดงตน มาให้ข้อมูลที่ครบถ้วนและเป็นจริง เพื่อพิสูจน์ ตรวจสอบ กลั่นกรอง สกัดเอาข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงออกมาให้เกิดความชัดเจนว่าหนี้นอกระบบที่มีอยู่มีมูลหนี้จำนวนเท่าไหร่ เพื่อให้ทางกระทรวงการคลังได้มีข้อมูลที่เป็นจริง และสถาบันการเงินได้ให้ความช่วยเหลือผู้ที่เป็น หนี้นอกระบบต่อไป ที่ผ่านมากระทรวงมหาดไทยสำรวจผ่านระบบ ThaiQM พบว่ามีลูกหนี้นอกระบบกว่า 260,000 ราย ซึ่งได้ดำเนินแก้ไขไปจนเกือบหมดแล้ว เหลือแก้ไขประนีประนอมอีก 23,000 กว่าราย แต่จากการลงทะเบียนหนี้นอกระบบ 7 วันที่ผ่านมายังพบว่ามีลูกหนี้เข้ามา ลงทะเบียนเป็นจำนวนมากเกือบ 80,000 รายแล้ว ซึ่งผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด จะต้องเร่งประชาสัมพันธ์ ทำความเข้าใจ ให้ประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อนมา ลงทะเบียนให้มากที่สุด

นายสุทธิพงษ์กล่าวอีกว่า หากดูจากสถิติของผู้มาลงทะเบียน จะเห็นได้ว่าพื้นที่ที่มีสถิติหนี้นอกระบบสูงมากส่วนใหญ่เป็นเมืองใหญ่ อาทิ กรุงเทพฯ สงขลา นครราชสีมา ขอนแก่น ขณะที่จังหวัดเล็กๆ มีผู้ลงทะเบียนน้อย แสดงให้เห็นได้ว่าในจังหวัดเล็กๆ ยึดหลักการพึ่งพาตนเอง ทำให้ไม่เป็นหนี้สิน ขอส่งกำลังใจให้ เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายได้ร่วมแรงร่วมใจในการทำงานให้ประสบความสำเร็จ ช่วยเหลือ ลูกหนี้นอกระบบให้พ้นจากความเป็นทาสยุคใหม่ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืนต่อไป

แก๊งกู้โหด – ลุงวัย 65 ปี เจ้าของบริษัทชิบปิ้งในจ.ชลบุรี ร้องเพจสายไหม ต้องรอด ถูกแก๊งเงินกู้นอกระบบตามล่าจนกลับบ้านไม่ได้ ต้องเร่ร่อนนอนตามป้ายรถเมล์ หลังกู้เงินจากยอดหนี้ที่ยืมมาเพียง 3 หมื่นบาท แต่ที่ผ่านมาจ่ายดอกไปแล้วไม่ต่ำกว่า 3 ล้านบาท เมื่อวันที่ 8 ธ.ค.

ลุง 65 ร้องกู้ 3 หมื่น-จ่ายดอก3ล.

เมื่อเวลา 10.40 น. ที่ศูนย์ประสานงานเพจสายไหม่ต้องรอด ลุงวิชัย อายุ 65 ปี เจ้าของบริษัทชิปปิ้งแห่งหนึ่งในจ.ชลบุรี เข้าขอความช่วยเหลือกับนายเอกภพ เหลืองประเสริฐ ที่ปรึกษารมว.มหาดไทย และผู้ก่อตั้งเพจสายไหมต้องรอด หลังจากถูกแก๊งเงินกู้นอกระบบตามล่าตัวจนกลับบ้านไม่ได้ ต้องเร่ร่อนนอนตามป้ายรถเมล์ หลังกู้เงินจากยอดหนี้ที่ยืมเพียง 3 หมื่นบาท แต่ที่ผ่านมาจ่ายดอกไปแล้วไม่ต่ำกว่า 3 ล้านบาท

ลุงวิชัยกล่าวว่า ตนเปิดบริษัทชิปปิ้ง ที่ จ.ชลบุรี ช่วงก.ย.2563 แต่ต่อมาเริ่มมีปัญหาเรื่องการเงิน เลยเริ่มหยิบยืมจากญาติ แต่ก็ยังไม่พอใช้ จึงเริ่มกู้เงินนอกระบบ จากป้ายแผ่นป้ายโฆษณาหน้าบริษัท เมื่อส.ค.65 จำนวน 30,000 บาท แต่มีการ หักดอกเบี้ยตั้งแต่ครั้งแรกและได้เงินมา 24,000 บาท แต่ยังต้องจ่ายเงินต้นเต็มจำนวนอยู่ จากนั้นทยอยจ่ายดอกเบี้ยทุกวัน อัตราหมื่นละ 200 บาท หรือวันละ 600 บาท ผ่านมาซักระยะ ตนจ่ายไม่ไหว พอขาดส่ง เจ้าหนี้จึงแนะนำให้กู้เงินจากเจ้าหนี้รายใหม่ซึ่งตนเชื่อว่าเป็นเครือข่ายเดียวกัน เพื่อนำเงินมาจ่ายยอดหนี้เก่า แต่เมื่อปิดหนี้เดิม ไม่ได้ เจ้าหนี้รายที่ 2 ก็แนะนำให้ไปกู้จากเจ้าหนี้รายที่ 3 ต้องกู้วนอยู่แบบนี้ รวมถึงการจ่ายดอกก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน รวมถึงเจ้าหนี้บางรายยังให้ตนซื้อมอเตอร์ไซค์ เป็นชื่อของตนอีก 2 คน รวมกว่า 2 แสนบาท แต่ตอนนี้มอเตอร์ไซค์ทั้งสองคันออก นอกประเทศไปแล้ว บางวันต้องจ่ายดอกสูงถึงวันละกว่า 20,000 บาท จนทำให้ เป็นหนี้กับเจ้าหนี้ทั้งหมด 37 เจ้า ภายใน 8 เดือน นับตั้งแต่เดิน ส.ค. 65 แต่ขณะนี้สามารถปิดหนี้ได้แล้ว 8 เจ้า คงเหลืออีก 29 เจ้า ขณะนี้จ่ายดอกไปแล้วไม่ต่ำกว่า 3 ล้านบาท

ลุงวิชัยระบุว่า ตนหยิบยืมเงินมาหมดแล้วทั้งญาติ เพื่อน พี่น้อง และลูกๆ จนหมดหนทาง ทั้งยังต้องคอยหนีเจ้าหนี้ซึ่งหนีมาแล้ว 3 ครั้ง เพราะเจ้าหนี้ข่มขู่ฆ่าและปิดล้อมบริษัท เมื่อไปแจ้งความที่สถานีตำรวจท้องที่ ตำรวจแนะนำให้ย้ายไปอยู่ในพื่นที่อื่น เพราะกลุ่มเจ้าหนี้เป็นผู้มีอิทธิพล พรรคพวกเยอะ และไม่เกรงกลัวตำรวจในพื้นที่ ซึ่งการหนีมาครั้งนี้ตน ไปอาศัยนอนที่วัด ป้ายรถเมล์ รวมถึง โรงพยาบาล ต้องแอบอ้างเป็นผู้ป่วยฉุกเฉิน และเมื่อวันที่ 5 ธ.ค.ที่ผ่านมา ตนรู้สึก หมดหนทางเลยคิดจะกระโดดสะพาน หวังฆ่าตัวตาย แต่มีคนมาเจอและพูดคุย จึงติดต่อมาขอความช่วยเหลือที่เพจสายไหมต้องรอด

เมื่อถามว่าทำไมถึงไม่ไปกู้ยืมเงินในระบบ ลุงวิชัยระบุว่าขณะนั้นบริษัทเพิ่งเปิด เลยไม่มีหลักทรัพย์ในการไปกู้ และสาเหตุที่ไม่ไปลงทะเบียนแก้หนี้นอกระบบของรัฐบาลเพราะกลัวเจ้าหนี้ เนื่องจากตนเห็นข่าวที่มีเจ้าหนี้ไปพังร้านส้มตำ

ด้านนายเอกภพกล่าวว่า กรณีนี้จะทำเป็นกรณีตัวอย่างในการเจรจาหนี้กับเจ้าหนี้ทั้งหมด โดยจะต้องมาดูยอดเงินกับเจ้าหนี้แต่ละรายว่าลุงได้จ่ายดอกเบี้ยไปแล้ว เท่าไหร่ หากมีการจ่ายดอกท่วมต้นไปแล้ว 3-4 เท่า ก็ถือว่าจบ แต่หากรายไหนลุงยังจ่ายดอกไปไม่ท่วมกับมูลหนี้ ก็เอาส่วนที่ยังเป็นหนี้มาพูดคุยกันว่าจะชำระอย่างไร แต่จะต้องคิดดอกเบี้ยในอัตราตามที่กฎหมายกำหนด โดยช่วงบ่ายวันนี้ ทางเพจสายไหมจะพาลุงไปลงทะเบียนแก้หนี้ นอกระบบของรัฐบาลที่จ.ชลบุรี พร้อมประสานไปยังพล.ต.ต.กัมพล ลีลาประภาภรณ์ ผบก.ภ.จว.ชลบุรี ดูแลเรื่องนี้และดำเนินการกับกลุ่มผู้มีอิทธิพลแก๊งเงินกู้ ในพื้นที่ด้วย

เจ๊เงินกู้ – นายอำเภอเมืองสระบุรีพร้อม ด้วยตำรวจนำกำลัง เข้าตรวจค้นบ้าน น.ส. ณัฐฐารินทร์ เกษมสารพิพัฒน์ หรือเจ๊เอ๋ เจ้าหนี้ เงินกู้ หลังโพสต์และให้สัมภาษณ์รายการทีวี วิพากษ์วิจารณ์มาตรการ แก้หนี้นอกระบบของรัฐบาล เมื่อวันที่ 8 ธ.ค.

‘เจ๊เอ๋’เปิดใจปล่อยกู้นอกระบบ

จากกรณีนายอรรถการณ์ จิตถวิล นายอำเภอเมืองสระบุรี, พ.ต.อ.สุริยะ สุดกังวาล ผกก.สภ.เมืองสระบุรี พร้อมเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองนำหมายศาลสระบุรี เข้าตรวจค้นบ้านเลขที่ 91/104 หมู่บ้านจันทร์ทิพย์ หมู่ 3 ต.หนองปลาไหล อ.เมือง จ.สระบุรี ของน.ส.ณัฐฐารินทร์ เกษมสารพิพัฒน์ หรือเจ๊เอ๋ อายุ 47 ปี ซึ่งโพสต์ผ่านโซเชี่ยลถึงการที่ตนในฐานะเจ้าหนี้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากมาตรการแก้หนี้นอกระบบของรัฐบาลซึ่งผลการตรวจค้น เจ้าหน้าที่ไม่พบหลักฐานใดๆ เกี่ยวกับการปล่อย เงินกู้ของเจ๊เอ๋ตามที่เสนอข่าวแล้วนั้น

วันเดียวกัน ‘เจ๊เอ๋’ น.ส.ณัฐฐารินทร์ ให้สัมภาษณ์ถึงการที่เจ้าหน้าที่บุกเข้ามาตรวจค้นบ้านพักว่า การกระทำของเจ้าหน้าที่ ตนรู้สึกเจ็บและเสียใจ ทำไมที่รัฐบาลออกกฎหมายมาเพื่อจะแก้ไข นี่ไม่ได้เป็นการแก้ไข แต่เป็นการกระทำกลั่นแกล้งตน ตอนแรกตนไม่ได้คิดอะไร แต่เมื่อมานั่งดูกล้องวงจรปิดแล้ว พบว่าเจ้าหน้าที่ทำเกินกว่าเหตุ แค่นี้มากันเป็นร้อยคน แค่ 10 คนก็เยอะไปแล้ว กะจะมาเอาฉันให้ตาย มาแล้วก็ไม่พบอะไร ตอนนี้ตนรู้สึกไม่พอใจ เนื่องจากมองว่าถูกโดนกระทำ ถ้ารัฐบาลคิดจะแก้ไข ก็แก้ได้ แต่การแก้แบบนี้มันแก้ไม่จบ การที่รัฐบาลจะเข้ามาแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ตนคิดว่าแก้ได้ แต่ต้องเข้าให้ตรงจุด คือต้องลงมาให้ถึงรากหญ้าเลย ต้องลงมาให้ถึงแก่นเลยถึงจะแก้ได้

คลังชงครม.ยกหนี้เน่าโควิด

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง เปิดเผยว่า คลังเตรียมเสนอที่ประชุม คณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 12 ธ.ค.นี้ พิจารณามาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ประสบปัญหาเป็นหนี้เสีย (รหัส 21) ที่เป็นเอสเอ็มอี ประมาณ 5-6 หมื่นราย รวมทั้งกลุ่มลูกหนี้โครงการสินเชื่อฉุกเฉิน รายละ 1 หมื่นบาทที่ปล่อยให้ผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อีกประมาณล้านกว่าราย วงเงินราว 1 หมื่นล้านบาท แต่ส่วนนี้ ไม่ได้เป็นหนี้เสียทั้งหมด โดยจะมีกลไก ในการเข้าไปช่วยเหลือโดยที่รัฐไม่มีความเสียหายเพิ่มเติม

นายจุลพันธ์กล่าวต่อว่า สำหรับลูกหนี้เอสเอ็มอี รหัส 21 หรือหนี้ค้างชำระ เกินกว่า 90 วัน เนื่องจากลูกหนี้ได้รับผล กระทบจากสถานการณ์ไม่ปกตินั้น จะมีมาตรการทั้งการพักหนี้ และอุดหนุนอัตราดอกเบี้ยให้บางส่วน ซึ่งกระทรวงการคลังตั้งเป้าหมายว่าจะสามารถดึงลูกหนี้กลุ่มนี้กลับมาได้ราว 99.5% ของลูกหนี้เอสเอ็มอี รหัส 21 ทั้งหมด ส่วนลูกหนี้จากสินเชื่อฉุกเฉินกว่าล้านรายนั้นจะมีกลไกในการให้ความช่วยเหลือ โดยสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (แบงก์รัฐ) ได้มีการกันหนี้เสีย ไว้แล้ว 50% ก็จะเอาส่วนนั้นมาดำเนินการ รัฐจึงไม่เสียหายเพิ่มเติม เพื่อปรับให้เขาหลุดออกมาจากความเป็นหนี้เสีย

“ลูกหนี้สินเชื่อโควิด-19 หลายคนที่เขามากู้ คิดว่าเขาไม่ได้คาดหมายว่าเป็นการ กู้เงิน บางคนคิดว่าเป็นการแจก แต่สุดท้ายเป็นสินเชื่อ ทำให้คนเหล่านี้เป็นหนี้เสีย จึงต้องเข้าไปช่วยกลุ่มนี้โดยการดึงให้เขากลับมามีสถานะปกติ คือยกหนี้ให้ไปเลย” รมช.คลังกล่าว

กสทช.เร่งแก้กม.-สกัดแก๊งคอล

เมื่อเวลา 09.00-12.00 น. ที่หอประชุม ชั้น 2 สำนักงาน คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) พล.ต.อ.ดร.ณัฐธร เพราะสุนทร กสทช.ด้านกฎหมาย และประธานคณะอนุกรรมการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายที่ใช้ในการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม เรียกประชุมอนุกรรมการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายฯ ครั้งที่ 8/2566 เพื่อเร่งรัดการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย ให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง สามารถรับมือกับอาชญากรรมออนไลน์ โดยเฉพาะ อย่างยิ่งแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่มีการปรับเปลี่ยนวิธีการและนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาช่วยอำนวยความสะดวกในการก่ออาชญากรรม

สืบเนื่องจากการมาของอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง และความเป็นอัจฉริยะของโทรศัพท์มือถือ ทำให้เทคโนโลยีสื่อสารเกิดการหลอมรวม ปัจจุบันเราสามารถฟังวิทยุ ดูโทรทัศน์ คุยโทรศัพท์ เล่นอินเตอร์เน็ต แพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ ได้บนมือถือ ตอบสนองความต้องการ ของผู้ใช้ ทำให้เกิดวิธีการปฏิบัติ และอาชญากรรมรูปแบบใหม่ จึงจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องที่อยู่ ในความรับผิดชอบของ กสทช. อย่าง เร่งด่วนตามนโยบายรัฐบาล ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและสามารถแจ้งเตือนภัยพิบัติและเหตุฉุกเฉิน รวมทั้งสามารถรับมือกับอาชญากรรมสมัยใหม่ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ต่อมาเวลา 13.00 น. ศ.นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกสทช., พล.ต.อ.ดร.ณัฐธร เพราะสุนทร กสทช.ด้านกฎหมาย นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการเลขาธิการ กสทช. เรียกประชุมด่วนผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ประกอบด้วย บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด, บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด, บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) โดยมีผู้บริหาร ตัวแทนผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม เข้าร่วมประชุม พร้อมด้วยพล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. และคณะ ผู้แทนกระทรวงดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตามที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มอบนโยบายเร่งด่วนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์

กสทช.ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้หารือ ร่วมกับผู้บริหาร บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด, บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด, บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน), สอท. และผู้แทนกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อกำหนดแนวทางระงับการใช้หมายเลขโทรศัพท์ต้องสงสัยแบบฉับพลัน ดังนี้ 1.เบอร์ที่ มีการโทร.ออกบ่อยครั้งไปยังผู้รับที่ หลากหลาย เช่นเกินกว่า 100 ครั้งต่อวัน 2.เบอร์ที่ผูกกับบัญชีม้ารองรับการโอนเงินจากเหยื่อ และ3.เบอร์ที่มีการโทร.บริเวณแนวชายแดนบ่อยครั้งผิดปกติ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน