มีหลักฐานใหม่-พลิกคำสั่ง
ตร.ถกวันนี้-สางข้อเท็จจริง

คณะทำงานอัยการสูงสุดแย้มหากมีพยานหลักฐานใหม่สามารถเปลี่ยนแปลงคำสั่งอัยการคดี ‘บอส อยู่วิทยา’ ทายาทกระทิงแดงซิ่งเก๋งหรูชนตำรวจดับได้ คาดสรุปผลได้ภายใน 7 วัน วางกรอบ 3 ข้อตรวจสอบการสั่งไม่ฟ้องคดี ส่วนคณะตรวจสอบข้อเท็จจริง ตร.ประชุมนัดแรกวันนี้ หลังผบ.ตร.ขีดเส้นไม่เกิน 15 วันต้องรู้ผล

กรณีอัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องนาย วรยุทธ อยู่วิทยา หรือ บอส ทายาทเครื่องดื่ม ชูกำลังชื่อดัง ในข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย หลังจากก่อเหตุขับรถสปอร์ตหรูชนด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ ผบ.หมู่งานปราบปราม สน.ทองหล่อ เสียชีวิต เหตุเกิดขึ้นเมื่อปี 2555 กระทั่งเวลาผ่านมานานกว่า 8 ปี ในที่สุดทางอัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องและสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็ไม่มีความเห็นแย้งคัดค้าน จนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของสังคมอย่างกว้างขวางตามที่เสนอข่าวไปนั้น

เมื่อเวลา 08.30 น. วันที่ 28 ก.ค. ที่สำนักงานอัยการสูงสุด คณะทำงานตรวจสอบการพิจารณาการสั่งคดีนายวรยุทธ อยู่วิทยา ขับรถชนด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ เสียชีวิตเมื่อปี 2555 โดยนายสมศักดิ์ ติยะวานิช รองอัยการสูงสุด หัวหน้าคณะทำงาน พร้อม ด้วยคณะทำงานประกอบด้วย นายสิงห์ชัย ทนินซ้อน อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญา นายปรเมศว์ อินทรชุมนุม อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญาธนบุรี นายชาญชัย ชลานนท์นิวัฒน์ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญา นายอิทธิพร แก้วทิพย์ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญา นายประยุทธ เพชรคุณ อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 3 เข้าร่วมประชุม ขาดเพียงนายชาติพงศ์ จีระพันธุ อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีเศรษฐกิจและทรัพยากร ที่ติดภารกิจอยู่ที่ จ.พิษณุโลก

นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนัก งานอัยการสูงสุด หนึ่งในคณะทำงานเผยว่า หลังจากนายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อัยการสูงสุดมีหนังสือคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบการพิจารณาสั่งคดีดังกล่าว หัวหน้าคณะทำงานได้มีคำสั่งประสานงานเร่งด่วนประชุมร่วมกับคณะทำงานดังกล่าว ซึ่งกรอบการทำงานของคณะทำงานได้มีการเรียกสำนวนคดีดังกล่าวจากสำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ ประกอบการพิจารณาการสั่งคดีดังกล่าวว่า 1.เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ 2.เป็นไปตามระเบียบที่เกี่ยวข้องของสำนักงานอัยการสูงสุดหรือไม่ และ 3.มีเหตุและผลในการสั่งคดีนี้อย่างไร ทั้งนี้ หัวหน้าคณะทำงานจะเร่งรัดการตรวจสอบ คาดว่าจะพิจารณาแล้วเสร็จได้ภายใน 7 วันตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ทั้งนี้ ทางคณะทำงานจะเร่งตรวจสอบเพื่อหาข้อเท็จจริงที่จะตอบสังคมให้ได้

นายประยุทธกล่าวถึงกรณีพยาน 2 ปากที่เข้าให้การใหม่จะนำข้อมูลเข้าที่ประชุมเพื่อพิจารณาด้วยหรือไม่ว่า เนื้อหาการพิจารณาเรื่องในสำนวนจะเป็นไปประการใดเป็นเรื่องที่คณะทำงานจะนำพิจารณา ขณะนี้อยู่ระหว่างเริ่มต้น ยังไม่สามารถตอบคำถามอะไรได้ ต้องขอให้รอดูผลการพิจารณา อย่างไรก็ตาม เข้าใจว่ากรอบที่พิจารณาจะดูจากสำนวนและหาข้อสรุปอีกครั้ง ตนไม่สามารถก้าวล่วงได้ เนื่องจากกระบวนการพิจารณาเพิ่งเริ่มต้น แต่ก็จะเร่งทำงานให้เร็วที่สุด คงไม่น่าจะเกิน 7 วัน

ส่วนความเห็นของสำนักงานอัยการกรุงเทพใต้และสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่มีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง ทางคณะทำงานจะพิจารณาสั่งให้รื้อฟื้นคดีได้หรือไม่นั้น คงเร็วเกินไปที่จะพูดแบบนั้น ส่วนนี้ตนไม่มีความเห็น ต้องรอดูข้อสรุปของคณะทำงานก่อนว่าเป็นอย่างไร สิ่งที่ถามมาเป็นเพียงข้อคาดการณ์ ไม่สามารถให้ความเห็นได้

“ถ้าเป็นหลักกฎหมายที่ไม่เกี่ยวกับคดีนี้ หากพนักงานอัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง ทางผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดคือผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาคต่างๆ หากเห็นพ้องต้องกัน สั่งไม่ฟ้อง คำสั่งในส่วนนั้นก็ถือว่าจบตามกระบวนการกฎหมาย แต่นัยยะของกฎหมาย การสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการกับผบ.ตร. ที่มีความเห็นสั่งไม่ฟ้องนั้น จะแตกต่างกับ คำพิพากษาคดีของศาล ซึ่งถ้าศาลพิพากษาถึงที่สุดเรื่องใดเรื่องหนึ่งแล้วไม่สามารถรื้อร้องฟ้องคดีได้ ส่วนคำสั่งอัยการถ้ามีพยานหลักฐานใหม่ก็สามารถเปลี่ยนคำสั่งได้ ไม่ตัดสิทธิ์ผู้เสียหายที่จะฟ้องร้องเองได้ตาม ป.วิอาญา มาตรา 28” รองโฆษก อสส.กล่าว

นายประยุทธยังกล่าวถึงความเคลือบแคลงสงสัยของสังคมขณะนี้ว่า การตั้งคณะทำงานชุดนี้ขึ้นมาเพื่อหาข้อเท็จจริง รวมถึงการสั่งคดีของอัยการว่าเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่ หากผลตรวจสอบพบว่าทำงานบกพร่อง ส่วนจะลงโทษพนักงานอัยการผู้สั่งคดีหรือไม่ อย่างไร ต้องให้คณะทำงานพิจารณาก่อน

วันเดียวกัน พล.ต.อ.ศตวรรษ หิรัญบูรณะ ที่ปรึกษาพิเศษ ตร. ประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการตำรวจที่เกี่ยวข้องกับคดีดังกล่าวว่า คณะกรรมการที่จะร่วมพิจารณาข้อเท็จจริงน่าจะเป็นผู้มีความเกี่ยวข้องด้านต่างๆ เช่น ผู้ช่วยผบ.ตร. จเรตำรวจ (สบ.8) ผบช.กมค., ผบช.น. ผบก.น.5 ส่วนรายละเอียดอื่นๆ ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ ต้องรอหารือที่ประชุมก่อน

อย่างไรก็ตาม ตนยืนยันว่าเมื่อเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมแล้วจะเร่งพิจารณาทันทีเพื่อหาข้อสรุปให้ได้โดยเร็วที่สุด เนื่องจากเป็นเรื่องอยู่ในความสนใจของประชาชนที่เคลือบแคลงสงสัยเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ อีกทั้งผบ.ตร.ได้กำหนดกรอบเวลาพิจารณา ไม่เกิน 15 วันนับแต่วันที่รับทราบคำสั่ง ก็ต้องเร่งหาข้อเท็จจริงให้ได้ตามกรอบเวลาที่กำหนด เบื้องต้นจะนัดประชุมคณะกรรมการครั้งแรกที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) วันที่ 29 ก.ค. เวลา 10.00 น.

วันเดียวกัน นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า หลังจากที่คณะกรรมาธิการ มีหนังสือเชิญตำรวจและอัยการที่เกี่ยวข้องกับคดี “บอส อยู่วิทยา” ล่าสุดมีการยืนยันจากรองผบ.ตร.และรองอัยการสูงสุดแล้วว่าจะมาชี้แจงต่อกมธ.ด้วยตนเองวันที่ 29 ก.ค.นี้ ซึ่งการประชุมของกมธ.จะอนุญาตให้สื่อมวลชนร่วมรับฟังได้ตลอดการประชุม และถ่ายทอดสดการประชุมได้ เพื่อให้ประชาชนได้ติดตามอย่างใกล้ชิด และหากประชาชนมีคำถามหรือข้อสงสัยประการใดสามารถส่งคำถามมายังคณะกรรมาธิการ เพื่อให้สอบถามต่อผู้ที่เกี่ยวข้องได้

นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยเปิดเผยว่า กรณีที่เกิดขึ้นมีข้อพิรุธและข้อสงสัยที่สังคมไทยต้องการคำตอบจากอัยการและตำรวจถึง 9 ประเด็น 1.ตามระเบียบสํานักงานอัยการสูงสุด การสั่งคดีอาญาที่จะมีผลกระทบต่อผลประโยชน์อันสําคัญของประเทศ กำหนดให้เป็นหน้าที่ของอัยการสูงสุดเท่านั้น เหตุใดรองอัยการสูงสุดจึงสั่งแทนได้ 2.การระบุมีพยานใหม่ 2 รายที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน แต่เพิ่งมาโผล่เป็นพลเมืองดีหลังเวลาผ่านไป 7 ปีมาแล้ว พยานในลักษณะนี้ในทางคดีไม่มีความน่าเชื่อถือที่จะรับฟังได้และมีพิรุธ แต่ทำไมอัยการจึงให้น้ำหนักกับพยานดังกล่าว

3.การที่ผู้ตรวจสอบความเร็วให้การครั้งแรกว่านายวรยุทธขับรถด้วยความเร็ว 177 ก.ม./ช.ม. แต่เมื่อมีการร้องขอความเป็นธรรม ความเร็วของรถกลับลดลงเหลือเพียง 76 ก.ม./ช.ม. ซึ่งอัยการก็เชื่อตามนั้น เพราะเมื่อประจักษ์พยานที่เป็นวิทยาศาสตร์ที่สำคัญคือ จุดที่รถจักรยานยนต์ของผู้ตายไปตกนั้นอยู่ห่างจากจุดที่ชนถึง 163.6 เมตร หากความเร็วรถยนต์ 76 ก.ม./ช.ม.จะลากไปยาวขนาดนั้นได้อย่างไร 4.ข้อมูลการพบสารแปลกปลอมในร่างกายของนายวรยุทธตามที่สน.ทองหล่อ ประสานมาให้ร.พ.รามาธิบดีตรวจสอบ พบ 1.สาร Alprazolam (อัลพาโซแลม) 2.สาร Benzoylecgonine (เบนซอยเลกโกไนน์) 3.สาร Cocaethylene (โคเคเอธทีลิน)และ 4.สาร Caffeine (กาเฟอีน) ทำไมจึงไม่ปรากฏในสำนวนการสอบสวนของพนักงานสอบสวนที่ส่งไปยังอัยการเลย เรื่องนี้จะสามารถใช้เป็นข้อมูลใหม่ในการรื้อฟื้นคดีได้หรือไม่

5.การร้องขอความเป็นธรรมต่อคณะ กรรมาธิการกฎหมายฯ สนช.ซึ่งมิได้มีหน้าที่ใดๆ ในทางคดีตามป.วิอาญาเลยนั้น แต่อัยการกลับให้น้ำหนักความน่าเชื่อถือได้อย่างไร ทั้งๆ ที่มีข้อพิรุธมากมาย 6.การปล่อยให้ นายวรยุทธหลบหนีไปต่างประเทศหลังจากได้ประกันตัวออกไปโดยไม่มีการติดตาม และระมัดระวังอย่างเพียงพอ และยังไม่สามารถนำตัวมามอบให้อัยการยื่นฟ้องต่อ ศาลได้ จนนำไปสู่การขอเลื่อนคดีถึง 7 ครั้ง การกระทำเช่นนี้ในทางคดีเรียกว่าเป็นการประวิงคดีที่อัยการไม่รู้เรื่องหรือไม่ 7.การตั้งข้อหาให้นายดาบตำรวจที่เสียชีวิตว่าเป็นจำเลยร่วมในคดีทั้งๆ ที่เป็นผู้เสียหาย ซึ่งขัดต่อข้อเท็จจริงที่สังคมรับรู้ร่วมกัน เป็นเทคนิคทางคดีที่เด็กก็รู้ แต่อัยการไม่รู้

8.กรณีคณะกรรมการป.ป.ช.มีมติว่า มีมูลความผิดตำรวจ 7 นาย ฐานเจตนาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งล้วนมีน้ำหนักในทางคดีมาก เหตุใดอัยการจึงไม่ให้น้ำหนักต่อรายงานของ ป.ป.ช.ดังกล่าว และ 9.คดีนี้เป็นคดีที่อยู่ในความสนใจกันของสาธารณชน เพราะเป็น คดีใหญ่ ในการสั่งคดีนั้นต้องคำนึงถึงระเบียบสํานักงานอัยการสูงสุดโดยเคร่งครัด เพื่อให้เป็นที่เชื่อถือศรัทธาของประชาชน ณ เวลานี้อัยการได้ปฏิบัติครบถ้วนแล้วหรือไม่

“โดยวันนี้คณะทำงานตรวจสอบการพิจารณาสั่งคดีของอัยการ 7 คนจะประชุมกัน และคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงของฝ่ายตำรวจก็จะต้องหาข้อสรุปกันภายใน 15 วันนั้น ก็หวังว่าท่านทั้งหลายจะไม่ทำให้คดีนี้กลายเป็นปัญหาที่นำไปสู่การทำลายเสาหลักแห่งความยุติธรรมไปเสียสิ้น ถ้าเสาหลักล้ม หน่วยงานของพวกท่านก็จะมีปัญหาตาม ไปด้วย” นายศรีสุวรรณระบุ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน