‘อานนท์ นำภา’ทนายความสิทธิมนุษยชนลือลั่น คว้า‘รางวัลกวางจูสิทธิมนุษยชน 2021’ จากประเทศเกาหลีใต้ ชูผู้ผลักดันให้เกิดความตื่นรู้เรื่องสิทธิมนุษยชน และหนึ่งในผู้นำที่ผลักดันการต่อสู้ของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ทั้งยังผลักดันให้กลุ่มคนรุ่นใหม่ มีความตื่นตัวทางสิทธิมนุษยชน การต่อต้านความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากกฎอัยการศึกและกองทัพ ขณะที่ตร.บุกจับกลางดึกอีกน.ศ.ปี 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในคดี 112 ส่งฝากขังศาลและมีคำสั่งให้ปล่อยตัวแต่ตำรวจรออายัดไปดำเนินคดีเดียวกันในอีกโรงพัก สภ.คลองหลวงแจ้งข้อหา 112 อีกวันนี้นักศึกษามธ.ทั้งๆที่วันเกิดเหตุอยู่ที่บ้านพักต่างจังหวัด

เมื่อเวลา 03.00 น.วันที่ 14 ม.ค. ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปจับกุม นายสิริชัย นาถึง หรือนิว นักศึกษาชั้นปี 1 วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหา วิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ที่หอพักแห่งหนึ่ง ย่านถนนเชียงราก ในความผิดข้อหา ม.112 ซึ่งเมื่อนายศิริชัยถูกจับกุมตัวมาแล้วทางด้านเพื่อนๆ กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม นำโดยนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน และน.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง และเพื่อนๆ จำนวนกว่า 100 คนได้เดินทางมาให้กำลังใจที่ สภ.คลองหลวง โดยทุกคนเรียกร้องว่าให้เอาเพื่อนของเขาคืนมา

นอกจากนี้ กลุ่มนักศึกษายังใช้สีสเปรย์ สีขาวพ่นข้อความโจมตีเจ้าหน้าที่ตำรวจที่กระจกชั้น 1 รวมทั้งพ่นที่พื้นหน้า สภ.คลองหลวง และได้นำป้ายมามีข้อความเรียกร้องให้ยกเลิกม.112 วางไว้ที่หน้าโรงพักด้วย จากนั้นได้นำอาหารสุนัขชนิดเม็ดมาสาดใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนที่นั่งรักษาความสงบอยู่ที่หน้าโรงพัก พร้อมกันนี้กลุ่มนักศึกษายังทำกิจกรรมจุดธูป 1 ดอกมาปักไว้ในแก้ว เพื่อไว้อาลัยให้ม.112 ด้วย

ต่อมาเมื่อเวลา 08.00 น. วันเดียวกัน ที่หน้าศาลจังหวัดธัญบุรี ต.รังสิต อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม และกลุ่มคณะราษฎร กว่า 30 คน เดินทางมาเพื่อมาให้กำลังใจนายสิริชัย ที่สภ.คลองหลวงนำตัวสอบสวนจนแล้วและ นำตัวส่งฟ้องศาล โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ ชุดควบคุมฝูงชน จำนวน 1 กองร้อย และ เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ธัญบุรี นำโดย พ.ต.อ. วิวัฒน์ อัศวะวิบูลย์ ผกก.สภ.ธัญบุรี นำกำลังตำรวจมาคอยดูแลความเรียบร้อย

นายพรหมศร หรือฟ้า วีระธรรมจารี กลุ่มราษฎร กล่าวว่า เป็นการจับยามวิกาล โดยปกติหลักสากล เขาไม่ทำแบบนี้ การจับกุมตัว จะต้องมีหมายเรียกมาก่อน 2 ครั้ง ถ้าไม่มาตามหมายเรียกก็จะเป็นหมายจับ แต่กรณีน้องนิวที่โดนจับในครั้งนี้ ไม่มีหมายเรียกและหมายจับ แต่เป็นการบุกจับกุมตัวยามวิกาล ซึ่งเรื่องที่ห่วงคือน้องป่วย เป็นไข้อยู่ แล้วมีการจับตัวมาไปที่ สภ.คลองหลวง แล้วมีการไปรื้อค้นห้องน้องโดยไม่มีการขอหมายศาล ไปค้น ซึ่งพวกเราก็เลยมาเฝ้าติดตามรอ โดยตำรวจบอกว่าจะนำตัวมาพิจารณาคดีที่ศาล เบื้องต้นได้มีทนายความ ของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และเพื่อนอีกสองคนเข้าไปด้านใน

ด้านพนักงานสอบสวน สภ.คลองหลวง ยื่นคำร้องขอฝากขังต่อศาลโดยกล่าวหาว่าร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์, ทำให้เสียทรัพย์และข้อหาช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสียซื้อรับจำนำหรือรับไว้ด้วยประการใดๆ ซึ่งของอันตนรู้ว่าเป็นของที่ยังมิได้เสียภาษี หรือของต้องห้ามหรือเป็นของที่เข้ามาในราชอาณาจักรไทยโดยหลีกเลี่ยงภาษีอากร สืบเนื่องมาจาก ผู้ต้องหาถูกจับกุมตามหมายจับที่ 14/2564 ลงวันที่ 13 ม.ค.64 เมื่อวันที่ 10 เเละวันที่ 13 ม.ค.64 การ กระทำของผู้ต้องหาเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 112, 358 พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 27 ทวิ

ต่อมาศาลได้อ่านคำสั่งคำร้องขอฝากขัง ดังกล่าวให้พนักงานสอบสวนผู้ร้องผู้ต้องหาและทนายความผู้ต้องหาฟังว่าพิเคราะห์คำร้องฝากขังและคำร้องคัดค้านการขอฝากขัง ผู้ต้องหาวันนี้ เห็นว่าผู้ต้องหาคัดค้านคำร้องขอฝากขังของพนักงานสอบสวนเกี่ยวกับเหตุผลความจำเป็นในการขอหมายขังผู้ต้องหา หลังพนักงานสอบสวนควบคุมตัวผู้ต้องหามาจะครบ 48 ชั่วโมงเท่านั้น แต่ตามคำร้องคัดค้านดังกล่าวไม่ปรากฏข้อความใดที่เป็นการโต้แย้งคัดค้านการจับกุมตัวผู้ต้องหาว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไรและการควบคุมตัวผู้ต้องหาขัดต่อกฎหมายอย่างไร

พนักงานสอบสวนได้ให้การเกี่ยวกับเหตุผลความจำเป็นในการฝากขังผู้ต้องหาคดีนี้ต่อศาลว่าจำเป็นต้องสอบสวนพยานอีก 8 ปาก และรอผลการตรวจสอบลายพิมพ์นิ้วมือผู้ต้องหา และรอผลการตรวจพิสูจน์ของกลาง ทำให้มีความจำเป็นที่จะต้องฝากขังผู้ต้องหาไว้ต่อศาล ซึ่งพนักงานสอบสวนยื่นคำร้องของฝากขังตามหน้าที่ตามกฎหมายเป็นการดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 87 จึงเห็นควรให้งดไต่สวน และมีคำสั่งยกคำร้องคัดค้านของผู้ต้องหา และมีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาได้ ตามขอ จากนั้นผู้ต้องหาได้ยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราว

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่าผู้ต้องหาเป็นนักศึกษาในระดับอุดมศึกษาโดยมีอาจารย์ในสถาบันที่ผู้ต้องหาศึกษาอยู่เป็นผู้ประกัน หากปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาระหว่างสอบสวน น่าเชื่อว่าผู้ต้องหาจะไม่หลบหนี จึงอนุญาตให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาระหว่างสอบสวน โดยห้าม ผู้ต้องหากระทำการใดในทำนองเดียวกัน ซ้ำอีก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณประตูด้านข้างถนนเลียบคลองหก ของศาลจังหวัดธัญบุรี กลุ่มสมาชิกแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม และราษฎร จำนวนหนึ่ง ได้มายืนกดดันเจรจากับทางเจ้าหน้าที่ที่อยู่ด้านในเพื่อขอให้ทางเจ้าหน้าที่เปิดประตูเพื่อให้ญาติ ผู้ต้องหารายหนึ่ง ซึ่งยืนร่ำไห้อยู่หน้าประตู ได้เข้าไปฟังการพิจารณาคดีของศาล โดยบอกว่าญาติของผู้ต้องหารายนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับกลุ่มที่มาชุมนุม แต่ทางเจ้าหน้าที่ไม่ยอมเปิดเนื่องจากกเกรงว่า กลุ่มผู้ชุมนุมจะทะลักเข้าไปด้านใน นอกจากนี้ยังมีรถควบคุมตัว ผู้ต้องหาของ สภ.ที่นำตัวผู้ต้องหามาฝากเข้าไปด้านในไม่ได้เช่นกันต้องจอดรถอยู่ริมถนน

ต่อมานางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส. พรรคก้าวไกล ที่เดินทางมาให้กำลังใจ และบอกกับกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม และราษฎร ว่าทราบว่าศาลให้ประกันตัวนิว-ศิริชัย แล้วโดยใช้หลักทรัพย์เป็นเงินสด 150,000 บาท และปล่อยตัวออกทางด้านประตูหน้า ทำให้กลุ่มแนวร่วมศาสตร์และการชุมนุม และราษฎร ส่งเสียงร้องด้วยความดีใจ จากนั้นพากันไปที่ประตูด้านหน้า ทำให้ทางเจ้าหน้าที่สามารถเปิดประตูด้านข้างและให้รถยนต์ที่ตกค้างหลายคันเข้าออกได้ในที่สุดและญาติของผู้ต้องหาได้เดินเข้าในศาลได้

คดี 112 – นายสิริชัย หรือนิว นาถึง น.ศ.ธรรมศาสตร์ ปี 1 (ที่2จากซ้าย) ถูกตำรวจคลองหลวง จ.ปทุมธานี บุกจับในหอพักกลางดึก ดำเนินคดีม.112 ส่งฝากขังศาลจังหวัดธัญบุรี ก่อนได้ประกันตัวออกมา ท่ามกลางกำลังใจล้นหลาม เมื่อวันที่ 14 ม.ค.

ต่อมาเวลา 12.00 น.กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม และคณะราษฎร ได้พากันที่ประตูทางออกหน้าศาลจังหวัดธัญบุรี เพื่อมารอรับตัว นิว สิริชัย หลังศาลธัญบุรีอนุญาตให้ประกันตัวในคดี 112 ด้วยวงเงิน 150,000 บาท โดยเรียก 20% เป็นเงินสด 3 หมื่นบาท ใช้เงินของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และที่เหลือ 80% ใช้ตำแหน่งอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ต่อมาเวลา 12.20 น.นายสิริชัย หรือนิว นาถึง ได้เดินออกมาบริเวณประตูหน้าศาลจังหวัดธัญบุรีเพื่อพบกลุ่มเพื่อนที่เดินทางมาให้กำลังใจ พร้อมกล่าวเปิดเผยว่า ฝากไปถึงผู้ที่บังคับใช้กฎหมายยิ่งแจ้งข้อกล่าวหาผมก็ยิ่งสู้ ยิ่งใช้กฎหมายข่มขู่ที่เห็นต่างก็จะยิ่งมาคนลุกขึ้นสู้ ขอให้ทุกคนต่อสู้ต่อไปจนกว่าความเท่าเทียมจะเกิดขึ้น หลังจากนี้ศาลได้นัดอีกครั้งวันที่ 8 เมษายน 2564 นี้

ก่อนหน้านี้ นายสิริชัยเขียนจดหมายส่งถึงเพื่อนๆ พี่ๆ ที่มาให้กำลังใจ ด้านหน้าว่า “ถึงเพื่อนๆ พ่อแม่พี่น้องที่ฝันใฝ่ในประชาธิปไตย วันนี้ผมถูกจับ โดยหมายจับคดี มาตรา 112 โดยตำรวจแนบหลักฐานว่า ไปพ่นสีบนรูปภาพของคน ผมถึงอยากร้องพี่น้องให้ทราบว่า ไม่ต้องเป็นห่วงผม สู้ต่อไป มันทำร้ายเราได้แค่นี้ และเวลาอยู่ข้างเราเสมอ ขอให้พี่น้องสู้ต่อไป เพื่ออุดมการณ์ ผมแลกได้แม้ต้องและด้วยชีวิต กว่าความเท่าเทียมจะเกิดขึ้น (หากขอพรได้ 1 ข้อ นั้นขอคนเท่ากัน) แล้ววาดภาพแสดงชู 3 นิ้ว ศักดินาจงพินาศ ประชาราษฎร์จงเจริญ

เวลา 13.00 น. พ.ต.ท.วิเชียร เหมือน สุวรรณ์ รองผกก.สอบสวน สภ.ประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ จ.ปทุมธานี เดินทางที่ศาลจังหวัดธัญบุรี เพื่อแจ้งอายัดคดีมาตรา 112 กับ นิว สิริชัย นาถึง นักศึกษาปี 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ให้ผู้ต้องหาทราบอีก 1 คดี เหตุเกิดในคืนเดียวกันในพื้นที่ของ สภ.ประตูน้ำจุฬา ลงกรณ์ ทางพนักงานสอบสวนได้รวบรวมพยานหลักฐานดำเนินคดีดังกล่าว พร้อมขอนำตัว นิว สิริชัย นาถึง ไปสอบสวนเบื้องต้นที่ สภ.ธัญบุรี มีนายนรเศรษฐ์ นาหนองตูม ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และเพื่อนๆ กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม และคณะราษฎร เดินทางไปเพื่อกดดันทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งอย่างไรก็ตาม ทางตำรวจจะสอบสวนผู้ต้องหาเสร็จสิ้นก็จะปล่อยตัวไปชั่วคราว

พล.ต.ต.ชยุต มารยาตร์ ผบก.ภ.จว.ปทุมธานี กล่าวถึงกรณีถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการเข้าจับกุมตัวนิว สิริชัย ว่า ตำรวจสามารถจับกุม ผู้ต้องหาเวลาใดก็ได้ เนื่องจากผู้ต้องหามีหมายจับ และทางเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ได้แจ้งสิทธิและข้อหาให้ผู้ต้องหาทราบ ผู้ต้องหาเองยังได้โทรศัพท์ไปแจ้งให้ทางทนายความทราบและเดินทางที่เกิดเหตุก่อนพาตัวไปตรวจค้นหาพยานหลักฐานเพิ่มเติม ซึ่งก็พบหลักฐานแต่เนื่องมีกลุ่มเพื่อนของผู้ต้องหาจำนวนมาก ทางตำรวจจึงพาตัวมา สภ.คลองหลวง และบอกว่าจะพาตัวไป บก.ตชด.คลองห้า ซึ่งก็เป็นเทคนิคของตำรวจไม่มีการหลอกล่อแต่อย่างใด

วันเดียวกัน คณะกรรมการคัดสรรรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้ประกาศว่า นายอานนท์ นำภา ทนายความ และนักสิทธิมนุษยชนชาวไทย ได้รับรางวัล กวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชน (Gwang Ju Prize for Human Rights) ประจำปี 2564 จากมูลนิธิ 18 พฤษภารำลึก (May 18 Memorial Foundation) สาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้)

โดยระบุว่า นับแต่ปี พ.ศ. 2551 เป็นต้นมา นายอานนท์ได้เริ่มต้นทำงานด้านกฎหมาย ทำหน้าที่ที่ปรึกษาคดีด้านสิทธิมนุษยชน กับนักกิจกรรมด้านประชาธิปไตย หลังจากรัฐประหารปี 2557 เขาได้ต่อสู้เพื่อประชาชนที่ถูกฟ้องร้อง จากประมวลกฎหมายอาญา ม.112 ที่ปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออก และทำโทษนักสิทธิมนุษยชน และผู้เคลื่อนไหวทางการเมือง และช่วยเหลือคนที่ถูกดำเนินคดีโดยศาลทหาร

ในปี 2557 นายอานนท์ได้มีส่วนร่วมในการก่อตั้ง “กลุ่มพลเมืองโต้กลับ” ที่ติดอาวุธให้กับประชาชนในการต่อสู้กับความไม่เป็นประชา ธิปไตย ระบบอำนาจนิยม และช่วยผลักดันให้เกิดความตื่นรู้ในเรื่องสิทธิมนุษยชน และเป็นหนึ่งในผู้นำที่ผลักดันการต่อสู้ของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งปี 2561 ทั้งยังผลักดันให้กลุ่มคนรุ่นใหม่ มีความตื่นตัวทางสิทธิมนุษยชน การต่อต้านความรุนแรง ที่เกิดขึ้นจากกฎอัยการศึก และกองทัพ การปราศรัยของเขา ยังมีพลังในการก่อร่างประชาธิปไตยในประเทศไทย และทำให้กลุ่มผู้สนับสนุนประชาธิปไตย และเยาวชนไทยเคลื่อนไหวทางการเมือง

ทั้งนี้ เขายังถูกจับจากการเคลื่อนไหวทางการเมืองหลายครั้ง และถูกตั้งข้อหาความผิดทางอาญา ทั้งยังเผชิญกับความเสี่ยงกับการถูกกักขัง หากไม่หยุดการเคลื่อนไหว แต่เขาก็ยังคงต่อสู้เพื่อความยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทั้งนี้ รางวัลดังกล่าว ได้เริ่มมอบรางวัลให้กับนักสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา โดยมีคนไทย ที่เคยได้รับรางวัลมาแล้ว 2 คน ได้แก่ นางอังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เมื่อปี 2549 และ ไผ่ ดาวดิน นายจตุภัทร์ บุญภัทร์รักษา เมื่อปี 2560 ในระดับโลก ยังมีบุคคลสำคัญหลายคนที่ได้รับรางวัลนี้ อาทิ นางออง ซาน ซู จี

ด้านนายอานนท์โพสต์เฟซบุ๊กถึงความรู้สึกที่ได้รับรางวัลนี้ว่า “ขอบคุณทุกท่านที่ร่วมแสดงความยินดีนะครับ แว้บแรกที่รู้ว่าได้รางวัลรู้สึกดีใจที่มีคนเห็นด้วยกับเรา มีองค์กรระดับนานาชาติเห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้

ผมทราบภายหลังว่าคนรุ่นใหม่ในมิตรประเทศหลายประเทศเห็นด้วยและยืนอยู่ข้างเรา สนับสนุนการต่อสู้ของเรา ช่วงที่ผมติดคุก ผมทราบว่ามิตรประเทศหลายแห่งออกแรงเรียกร้องให้รัฐบาลหยุดการใช้ความรุนแรงกับเรา และมิตรประเทศหลายที่ยังส่งแรงเชียร์ในทุกรูปแบบกำลังใจมาที่เมืองไทย

ขอบคุณครับ เราจะสู้ไปด้วยกัน ให้มันจบที่รุ่นเรา!!!”

เย็นวันเดียวกัน นายนรเศรษฐ์ นาหนองตูม ทนายความสิทธิมนุษยชน ได้โพสต์ข้อความระบุว่านัดหมายสำคัญคดีที่ สภ.คลองหลวง ในวันที่ 15 มกราคม 2564 เวลา 11:00 น. นายชยพล ดโนทัย หรือ เดฟ จะเดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหา สำหรับนายชยพล เป็นนักศึกษา ม.ธรรมศาสตร์ ปี 2 คณะรัฐศาสตร์ หนึ่งในสมาชิกแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ถูกแจ้งข้อหา ม.112 คดีเดียวกันกับนิว สิริชัย ซึ่งในวันเกิดเหตุ นายชยพลพำนักอาศัยอยู่ในภูมิลำเนาของตนที่ต่างจังหวัด ซึ่งห่างจากจุดเกิดเหตุเป็นระยะทางกว่าพันกิโลเมตร ดังนั้นในความเป็นจริงแล้วเป็นไปไม่ได้ที่นายชยพลจะอยู่ในที่เกิดเหตุในวันเวลาดังกล่าวตามที่ตำรวจได้แจ้งข้อกล่าวหาว่าได้ร่วมกันกระทำความผิดกับนิว สิริชัย

สำหรับในด้านคดีผู้ต้องหาได้เตรียมพยานหลักฐานต่างๆ ไปแสดงให้เห็นว่า ตามวันเวลาที่กล่าวหาว่ากระทำความผิด ผู้ต้องหาอยู่ที่ต่างจังหวัด ไม่ได้กระทำความผิด ไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุ

“พนักงานสอบสวนจะแจ้งข้อกล่าวหาหรือไม่? พนักงานสอบสวนจะควบคุมตัวไปฝากขังหรือไม่? ร่วมกันติดตามกรณีนี้ครับ” นายนรเศรษฐระบุ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน