แต่ต้องมีเงินฝากไม่เกิน5แสน
เอกชนจี้รัฐตั้ง‘วัคซีนแห่งชาติ’
พิษโควิด-719โรงงานปิดกิจการ
สธ.ชี้คนไทยเครียด-ฆ่าตัวตายพุ่ง

ผู้ประกันตนมาตรา 33 ทั่วประเทศ 11 ล้านคนลุ้นรับ 4 พัน หลังรัฐบาลผุดโครงการ‘ม.33 เรารักกัน’ แจกเงินเยียวยาพิษโควิด เริ่มมี.ค.นี้ ศบค.เผยไทยติดโควิดเพิ่ม 795 ราย สมุทรสาครเยอะสุด 777 ราย ขณะที่เคสโต๊ะแชร์สารคามป่วน พบหมอก็ติดเชื้อ 1 คน สั่งควบคุมสูงสุดในพื้นที่อ.เมืองและกันทรวิชัย ปิดสถานที่เสี่ยง 17 แห่ง ขณะที่ราชบุรีติดโควิดอีก 1 ราย ‘อนุทิน’มั่นใจมหาชัยจะดีขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ภาคเอกชนจี้รัฐบาลผุดโครงการวัคซีนเป็นวาระแห่งชาติ เผยรอบปีที่ผ่านมา 719 โรงงานต้องปิดกิจการจากพิษโควิดระบาด ด้านสธ.เผยคนไทยเครียดและฆ่าตัวตายมากขึ้นจากการแพร่ระบาดของไวรัสมรณะนี้

ไทยติดเชื้อเพิ่ม 795

เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 3 ก.พ. ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์ประจำวันว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 795 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 783 ราย แบ่งเป็น มาจากระบบเฝ้าระวังและการสอบสวนโรค 24 ราย ได้แก่กทม. 4 ราย ตาก 1 ราย มหาสารคาม 1 ราย และสมุทรสาคร 18 ราย การค้นหาเชิงรุกในชุมชน 759 ราย ได้แก่สมุทรสาครทั้งหมด 759 ราย เป็นแรงงานเมียนมา 662 ราย ลาว 2 ราย กัมพูชา 3 ราย และไทย 92 ราย และเดินทางมาจากต่างประเทศ 12 ราย ได้แก่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 4 ราย มาเลเซีย 2 ราย สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร แคนาดา คูเวต รัสเซีย และตุรกี ประเทศละ 1 ราย

สำหรับสัดส่วนการติดเชื้อรายใหม่วันนี้แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.มาจากจ.สมุทรสาคร 99.23% เจอผู้ติดเชื้อ 777 ราย พบในระบบบริการ 18 ราย ค้นหาเชิงรุก 759 ราย ตัวเลขสะสม 12,746 ราย อยู่ในระบบบริการ 2,493 ราย และค้นหาเชิงรุก 10,253 ราย 2.มาจาก กทม. 0.51% มีเพิ่มขึ้น 4 รายจากการเข้ามารับบริการในร.พ. ตัวเลขสะสม 799 ราย มาจากระบบบริการ 717 ราย การคัดกรองเชิงรุก 82 ราย และ 3.มาจากจังหวัดอื่นๆ 0.26% เพิ่มขึ้น 2 ราย จากระบบบริการ ตัวเลขสะสมจังหวัดต่างๆ 2,749 ราย มาจากระบบเฝ้าระวัง 1,537 ราย และค้นหาเชิงรุก 1,212 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 21,249 ราย หายป่วยสะสม 14,001 ราย อยู่ระหว่างรักษา 7,169 ราย อยู่ในร.พ. 2,085 ราย และร.พ.สนาม 5,084 ราย ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม ยอดสะสมคงที่ 79 ราย

หากดูเฉพาะการติดเชื้อระลอกใหม่ ตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค.63-3 ก.พ.64 จะเห็นว่ามีผู้ติดเชื้อในจ.สมุทรสาคร 12,746 ราย กทม. 799 ราย และจังหวัดอื่นๆ 2,749 ราย ขณะที่สถานการณ์โลก มีผู้ติดเชื้อสะสม 104,391,187 ราย และเสียชีวิตสะสม 2,262,733 ราย

‘มหาชัย’ป่วย 777 คน

“วันนี้เจอการติดเชื้อใน 4 จังหวัดคือสมุทรสาคร 777 ราย กทม. 4 ราย ตาก 1 ราย ซึ่งโยงมาจากการเดินทางข้ามประเทศ และมหาสารคาม 1 รายซึ่งมาจากคลัสเตอร์โต๊ะแชร์” นพ.ทวีศิลป์กล่าว

นพ.ทวีศิลป์กล่าวต่อว่า มี 2 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มคือจ.ตาก และมหาสารคาม โดยที่ประชุมศบค.ชุดเล็ก ทางจ.ตากได้ขอคุมพื้นที่เฉพาะเจาะจงลงไป อาจใช้มาตรการที่เข้มขึ้น โดยเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ได้รับพิจารณาเพื่อจะมีการปรับโทนของการดูแลให้เข้มขึ้น นอกจากนี้ถ้าดูแผนที่ประเทศไทย ขณะนี้มีจังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อในช่วง 1-2 วัน 7 จังหวัด มีจังหวัดที่ไม่มีผู้ติดเชื้อติดต่อกัน 3-4 วัน 7 จังหวัด มีจังหวัดที่ไม่มีผู้ติดเชื้อติดต่อกัน 5-6 วัน 3 จังหวัด มีจังหวัดที่ไม่มีผู้ติดเชื้อในช่วง 7 วันที่ผ่านมา 46 จังหวัด และมีจังหวัดที่ไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อในการระบาดระลอกใหม่ 14 จังหวัด จึงขอจังหวัดที่สถานการณ์ดีดูแลสุขลักษณะส่วนตัว จะได้ผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ได้ยาวนานที่สุด และหวังว่าจากมาตรการผ่อนคลายที่มีมาจะทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อจังหวัดอื่นๆ รวมถึง กทม. และสมุทรสาครลดลง

นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า กองระบาดวิทยาได้สรุปรายงานการติดเชื้อในยานพาหนะต่างๆ จากตัวเลขพบผู้ติดเชื้อจำนวนน้อย ซึ่งอาจจะติดเชื้อจากจุดอื่น ไม่ได้ติดภายในยานพาหนะสาธารณะ อาจเป็นเพราะการป้องกันของผู้ใช้บริการและผู้ให้บริการ แต่ยังไม่ได้เป็นข้อสรุปอย่างเป็นทางการ เป็นเพียงแค่รายงานข้อมูลเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีการสรุปผลการดำเนินการแข่งขันแบดมินตันนานาชาติในประเทศไทย ในรูปแบบสถานที่กักกันเฉพาะองค์กร (OQ) ที่ควบคุมการเดินทางของผู้ร่วมแข่งขันและมีเจ้าหน้าที่ดูแลอย่างใกล้ชิด ระหว่าง 4-31 ม.ค. ภาพรวมเป็นไปด้วยดี มีการพบผู้ติดเชื้อเพียง 4 ราย และพบผู้ที่มีประวัติติดเชื้อมาก่อนแต่หายแล้ว 6 ราย กรณีนี้ประเทศไทยได้รับคำชื่นชมจนมีชื่อเสียงในด้านนี้ เป็นเพราะการทำงานอย่างหนักของหลายหน่วยงาน หวังว่าหลังจากนี้จะได้มีกีฬาดีๆ เกิดขึ้นในประเทศไทย

โต๊ะแชร์สารคามติดเชื้อแล้ว 21

เมื่อถามถึงความคืบหน้าการสอบสวนโรคที่จ.มหาสารคาม โฆษกศบค. กล่าวว่า เรื่องดังกล่าว ปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้ติดตามผ่านการประชุมทางไกล ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ร่วมกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดมหาสารคาม เพื่อให้รายงานเรื่องนี้โดยเฉพาะ พบว่าคลัสเตอร์ของจ.มหาสารคามขณะนี้รวมตัวเลขอยู่ที่ 21 ราย เป็นคนที่อยู่ในมหาสารคาม 17 ราย ราชบุรี 3 ราย ขอนแก่น 1 ราย และขณะนี้ได้ติดตามกลุ่มเสี่ยงสูง และกลุ่มเสี่ยง เพื่อค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก ทั้งหมด 4,149 ราย ปรากฏผลออกมาว่า 2,477 รายไม่พบเชื้อ รอผลอยู่อีก 1,672 ราย และขณะนี้ประกาศให้อ.เมือง อ.กันทรวิชัยเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด พร้อมปิดสถานที่เสี่ยงต่างๆ 17 แห่ง ดังนั้นหากใครพบว่าตัวเองมีความเชื่อมโยงกับคลัสเตอร์จ.มหาสารคาม มีอาการผิดปกติ ขอให้ไปพบแพทย์โดยเร็ว ซึ่งมีรายงานล่าสุดว่ามีแพทย์ท่านหนึ่งที่รับตรวจคนไข้ในกรณีนี้ มีการติดเชื้อด้วย 1 ราย

พบหมอมหาสารคามติดเชื้อ

ด้านจ.มหาสารคามรายงานกระทรวงสาธารณสุขว่า พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อโควิด- 19 อีก 1 ราย เป็นแพทย์ในคลินิกเอกชนที่ติดเชื้อจากการตรวจผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มงานเลี้ยงโต๊ะแชร์ซึ่งเข้ามาตรวจในช่วงที่ยังไม่มีอาการป่วยชัดเจน หลังจากแพทย์ท่านนี้ทราบข่าวจึงเข้ารับการตรวจหาเชื้อ ก่อนจะพบเชื้อโควิด-19 และถูกนำตัวส่งรักษาตัวที่โรงพยาบาล ทำให้จ.มหาสารคาม พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อรวม 18 ราย ส่วนผลการตรวจค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกในเขตพื้นที่อำเภอเมืองมหาสารคาม ระหว่างวันที่ 30 – 31 ม.ค. 2564 รวมตรวจ 4,144 ราย ผลออกแล้ว 2,477 รายไม่พบเชื้อ และอยู่ระหว่างรอผล 1,667 ราย

ทั้งนี้ตามไทม์ไลน์ แพทย์ท่านนี้เคยมีประวัติตรวจรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่คลินิก 3 ราย คือวันที่ 13 ม.ค. เวลา 18.00 น. ตรวจ ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ระลอกใหม่รายที่ 11 ของจังหวัด วันที่ 14 ม.ค. 2564 ตรวจผู้ติดเชื้อ โควิด-19 ระลอกใหม่รายที่ 9 มาตรวจรักษาด้วยอาการไอ ไม่มีไข้ที่คลินิก และวันที่ 25 ม.ค. มีผู้ป่วยติดเชื้อโรคใหม่รายที่ 2 มาตรวจรักษาด้วยอาการไข้สูงที่คลินิก แพทย์ท่านนี้ส่งคนไข้ไปรับการรักษาต่อที่คลินิกโรค ติดเชื้อระบบทางเดินหายใจที่ร.พ.สุทธาเวช ม.มหาสารคาม

ต่อมาวันที่ 28 ม.ค. ช่วงเย็นทราบว่ามี ผู้ป่วยติดเชื้อโรคโควิด-19 รายที่ 2 ของจังหวัดมาตรวจรักษาที่คลินิก จึงปิดคลินิกและกลับบ้านพักผ่อนไม่ได้ออกไปไหน แยกห้องนอนและเริ่มกักตัว และช่วงเช้าของวันที่ 29 ม.ค. เข้ารับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ครั้งที่ 1 ที่ร.พ.สุทธาเวช ซึ่งทางโรงพยาบาลแจ้งผลการตรวจไม่พบเชื้อโควิด 19 จึงกลับมาบ้านและพักผ่อนโดยกักตัวเองเช่นเดิม ต่อมาวันที่ 31 ม.ค. มีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ครั่นเนื้อครั่นตัว คล้ายจะเป็นไข้ และในวันที่ 1 ก.พ. ได้เข้ารับการตรวจหาเชื้อครั้งที่ 2 พร้อมกับมีอาการไข้ ผลพบเชื้อ จึงส่งตัวเข้ารับการรักษาตัวต่อที่หอผู้ป่วยเฉพาะโรค ร.พ.มหาสารคาม อาการล่าสุดแพทย์ท่านนี้อาการยังอยู่ในเกณฑ์ดี แพทย์ให้ยาและดูแลอย่างใกล้ชิด ขอให้ท่านที่เดินทางไปยังสถานที่วันและเวลาตามไทม์ไลน์ดังกล่าว เข้าพบเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้านเพื่อประเมินความเสี่ยงด้วย

ราชบุรีติดโควิดเพิ่ม 1 ราย

ส่วนที่จ.ราชบุรี พบผู้ป่วยยืนยันรายใหม่ 1 ราย เป็นชายอายุ 62 ปี บ้านอยู่ต.จอมประทัด อ.วัดเพลง จ.ราชบุรี อาชีพขายผักสดที่ตลาดทางรถไฟ ต.มหาชัย จ.สมุทรสาคร โดยการเก็บผักที่บ้านและซื้อผักที่ตลาดขายส่งที่จ.ราชบุรีเดินทางไปค้าขายด้วยรถยนต์ส่วนตัว พร้อมภรรยาเป็นกิจวัตรประจำวันทุกวัน ได้รับการตรวจหาเชื้อที่หน่วยเคลื่อนที่พระราชทานที่ตลาดทางรถไฟ ต.มหาชัย ผลพบเชื้อ ขณะนี้รับการรักษาที่โรงพยาบาลวัดเพลง ส่วนภรรยาผู้ป่วยเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงผลไม่พบเชื้อ

รวมผู้ป่วยยืนยัน 32 ราย ผู้ป่วยรับการรักษาอยู่ในโรงพยาบาล 4 ราย รักษาหาย 28 ราย

เผยอาการผู้ว่าฯ-คุมติดเชื้อได้

ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล กล่าวถึงความคืบหน้าอาการของนายวีระศักดิ์ วิจิตรแสงศรี ผู้ว่าฯ สมุทรสาคร ว่า ขณะนี้สามารถควบคุมการติดเชื้อได้ นับเป็นสัญญาณที่ดี และภายใน 1-2 วันเตรียมหยุดยาปฏิชีวนะลดการอักเสบ เนื่องจากไม่มีไข้และไม่พบการติดเชื้อเพิ่ม ระดับออกซิเจนในปอดและในเลือดดี ระบบทางเดินหายใจดีขึ้น จากการเอกซเรย์ปอดเมื่อวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา ดีขึ้นกว่าวันที่เข้าร.พ.มาเยอะ ผลการทำงานของอวัยยะอื่นอยู่ในระดับปกติ ทั้งระบบเดินทางอาหารที่สามารถให้ทางสายยางได้เต็มที่ ระบบขับถ่ายก็ดี เหลือเพียงระบบการหายใจเท่านั้น

ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าวว่า ขณะนี้เตรียมถอยยานอนหลับ เพื่อให้ผู้ว่าฯ ควบคุมการหายใจด้วยตัวเอง ประสานกับเครื่องช่วยหายใจซึ่งตอบสนองเมื่อร่างกายต้องการหายใจเอง เครื่องจะยิงออกซิเจนเข้าไปในจังหวะที่หายใจ อย่างไรก็ตาม สัปดาห์หน้าจะเอกซเรย์ปอด เพื่อเปรียบเทียบว่า พังผืดในปอดลดลงหรือไม่ และประเมินควบคู่กับการถอยเครื่องช่วยหายใจว่าปอดดีขึ้นแค่ไหน

“จากการตรวจสอบการรู้ตัว การทำงานของสมอง ในส่วนการกระตุ้นความคิด จึงให้ภรรยาผู้ว่าฯ เข้าไปเยี่ยม ถือเป็นหนึ่งในกลไกและกระบวนการรักษาที่ต้องให้คนที่ใกล้ชิด ได้เข้าไปพูดคุยได้ยินดี เพราะที่ผ่านมาผู้ว่าฯ สามารถปฏิบัติตามคำสั่งได้ดี ทั้งการกะพริบตา พยักหน้า ลืมตา เมื่อภรรยาผู้ว่าฯเข้าไปเยี่ยมรู้สึกได้ว่า ผู้ว่าฯมีความสงบดี แต่เมื่อพูดคุยสถานการณ์ในจ.สมุทรสาคร พบว่ากระสับกระส่าย แสดงว่าห่วงงานอยู่ วันนี้นำทีมกายภาพบำบัดเข้าไปฟื้นฟูกล้ามเนื้อแขนขา เนื่องจากนอนร.พ.มากกว่า 1 เดือน จะช่วยให้ร่างกายแขนขากลับมามีกำลังดีขึ้น สำหรับยานอนหลับ ยาคลายกล้ามเนื้อ ยาปฏิชีวนะ ยาฆ่าเชื้อ เมื่อให้ครบโดสหรือระยะเวลา ก็ต้องหยุดลง ส่วนยาลดการสร้างพังผืด ยังคงต้องให้ต่ออีก 1 เดือน”

แรงงานฮือ – เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชนและองค์กรภาคี ชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือแรงงานถ้วนหน้า โดยเสนอให้เยียวยาแรงงาน ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด รวม 10 ข้อ ที่บริเวณหน้าอาคารรัฐสภา เมื่อวันที่ 3 ก.พ.

ผู้ประกันตนม.33ลุ้นเยียวยา4พัน

ด้านนายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน กล่าวภายหลังเข้าพบพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรมว.กลาโหมว่านายกฯ เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือแรงงานผู้ประกันตนมาตรา 33 “โครงการม.33 เรารักกัน”

โดยนายกฯอยากให้ครบทุกคนที่มีสิทธิดังกล่าว ส่วนเม็ดเงินจะได้คนละเท่าไร และออกมาในรูปแบบไหน ต้องรอหารือในรายละเอียดอีกครั้ง แต่เบื้องต้นรูปแบบจะเหมือนโครงการเราชนะ โดยนำเงินเข้าแอพพลิเคชั่นกระเป๋าตัง เพื่อช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจอีกทางหนึ่งด้วย

ยืนยันว่าคนในครอบครัวมาตรา 33 จะให้ทุกคน ซึ่งมีอยู่ประมาณ 11 ล้านกว่าคน สำหรับเงื่อนไขผู้ที่จะได้รับสิทธิ์ดังกล่าวนั้น นายกฯให้ความอนุเคราะห์ตามที่และกระทรวงแรงงานเสนอ คือคงเหลือเงื่อนไขเดียวคือคนที่มีเงินฝากเกิน 5 แสนบาทจะไม่ได้รับสิทธิเพียงเงื่อนไขเดียว

นายสุชาติกล่าวต่อว่า ส่วนประเด็นเงินเดือนต่อปีรวม 3 แสนบาทนั้น ถ้านำประเด็นนี้มาจับคนที่ทำงานที่เดียวกันบางคนได้รับแต่บางคนอาจไม่ได้ จึงอาจมีปัญหา และไม่เกิดความสามัคคีในที่ทำงาน จึงคิดกันว่าไม่เอาเกณฑ์เงินเดือนมาพิจารณา เพราะคนที่เงินเดือนสูงค่าใช้จ่ายก็อาจสูงและคนเงินเดือนน้อยค่าใช้จ่ายก็อาจน้อย

ตนจึงเสนอนายกฯ และรมว.คลังไม่เอาเรื่องเงินเดือนตรงนี้มาจับ ซึ่งนายกฯ เห็นด้วยในเหตุผล อย่างไรก็ตาม เงินในส่วนนี้เป็นการใช้เงินกู้ เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ลำบาก ดังนั้น คนมีเงินฝาก 5 แสน บาทแล้วอยากให้เห็นใจเสียสละก็แล้วกัน ไม่อยากให้มีการมองว่ามีเงินฝาก 5 แสนหรือ 1 ล้านแล้วทำไมมาเอาตรงนี้อีก จึงขอหลักเกณฑ์นี้ไว้หลักเกณฑ์เดียว

ซึ่งก่อนหน้านี้กระทรวงการคลังอยากได้เกณฑ์เหมือนโครงการเราชนะ แต่ตนขอนายกฯ ให้ใช้เกณฑ์เงินฝาก ไม่นำเรื่องเงินเดือนมาพิจารณา ส่วนเม็ดเงินนั้น ก็ใช้เม็ดเงินกู้ก้อนเดียวกับโครงการเราชนะ ไม่ใช่เงินประกันสังคม

เริ่มแจกมี.ค.นี้-งบ 4 หมื่นล.

เมื่อถามว่าโครงการดังกล่าวจะมีวงเงินต่อคนจำนวนเท่าไรนายสุชาติ กล่าวว่า เรื่องจำนวนเงินเดี๋ยวกลับไปทำตัวเลขอีกครั้ง แต่อยู่ประมาณ 3,500-4,500 บาท โดยจะแบ่งจ่ายเป็นรายสัปดาห์ เช่นเดียวกับเราชนะ คาดว่าอาจให้ประมาณ 1,000 บาทต่อสัปดาห์ คาดว่าโครงการจะเริ่มจ่ายเงินให้ผู้ประกันตนได้ภายในเดือน มี.ค.นี้

นายสุชาติกล่าวว่า สำหรับเรื่องเงินชดเชยมาตรา 33 จะได้ข้อสรุปภายในวันศุกร์นี้ โดยจะนำเข้าสู่การพิจารณาของครม. เร็วสุดภายในสัปดาห์หน้า หากไม่ทันก็ถัดไปอีกสัปดาห์หนึ่ง แต่วันนี้ถือว่านายกฯกดปุ่มอนุมัติทุกคนให้ทั้งหมด โดยขอเงินรัฐบาลมาช่วยในมาตรา 33 นี้ประมาณ 4 หมื่นล้านบาท หลังจากนี้จะมีการกดปุ่มเปิดให้ลงทะเบียนออนไลน์ ส่วนคนที่มีแอพฯเป๋าตังอยู่แล้วก็ต้องลงทะเบียนออนไลน์ เพื่อยืนยันสิทธิ์เช่นเดียวกัน โดยย้ำว่าผู้ที่จะได้รับสิทธิ์จะต้องเข้าหลักเงื่อนไข 3 ข้อได้แก่ เป็นคนไทย มีเงินฝากในบัญชีไม่เกิน 500,000 บาท และเป็น ผู้ประกันตนในมาตรา 33 คาดว่าจะมีผู้รับสิทธิ์ที่เข้าเงื่อนไขนี้ประมาณ 9 ล้านคน

“นอกจากนี้นายกฯฝากไปพิจารณาเรื่องเงินทุนชราภาพให้แก้ปัญหาให้เร็วที่สุด โดยทางออกมี 2 ทางในการแก้ปัญหาระยะยาวคือ การแก้พ.ร.บ. ส่วนการแก้ปัญหาระยะสั้นกำลังหารือกฤษฎีกาตีความอยู่ ว่าจะสามารถนำเงินมาลงทุนกับผู้ประกันตนได้หรือไม่ อย่างเช่นกันปล่อยกู้ให้กับผู้ประกันตนในอัตราดอกเบี้ยต่ำร้อยละ 2 ต่อปี”

นายสุชาติกล่าวถึงกลุ่มนักร้องนักดนตรี ที่เรียกร้องให้ชดเชยเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบเป็นเงินสดว่า ตนก็เคยเป็นผู้ใช้แรงงาน บางครั้งมีเงินสดก็เอาไว้ใช้จ่ายในสิ่งที่ต้องใช้เงินสดไว้ใช้ในสิ่งที่ใช้ไม่ได้ เช่นค่าเทอม ค่าเช่าบ้าน ส่วนการซื้อของกินของใช้ก็ใช้จ่ายผ่านแอพพลิเคชั่นเป๋าตังแทน ซึ่งต้องรู้จักบริหารจัดการ

เมื่อเวลา 10.40 น. พล.อ.ประยุทธ์ โพสต์ เฟซบุ๊ก ภายหลังประชุมหารือกับทีมเศรษฐกิจเพื่อหามาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ว่า “เช้าวันนี้มีประชุมหารือใน 2 เรื่องสำคัญ เรื่องแรก คือ มาตรการบรรเทาภาระค่าครองชีพให้กับผู้ประกันตน ตามมาตรา 33 ประกันสังคม ผมได้เห็นชอบในหลักการให้ช่วยเหลือผู้ประกันตนให้ครบทุกคน โดยจะเร่งนำเสนอให้ ครม. พิจารณาโดยเร็ว เรื่องที่ 2 เกี่ยวกับมาตรการส่งเสริมการลงทุนให้กับนักลงทุนชาวไทย และชาวต่างชาติ รวมทั้งการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ภายหลังวิกฤตโควิด และมาตรการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คาดว่าผู้ประกันตนตามมาตรา 33 จะได้รับเงินเยียวยา สัปดาห์ละ 1,000 บาท 1 เดือน รวม 4,000 บาท

‘อนุทิน’ยันแผนฉีดวัคซีนมิ.ย.

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข (สธ.)ให้สัมภาษณ์ถึงการจัดหาวัคซีนโควิด-19 จะเข้ามาทันวันที่ 14 ก.พ.หรือไม่ว่า ตนไม่เคยพูดว่าจะได้ฉีดวัคซีนวันที่ 14 ก.พ. เดิมประเทศไทยมีการวางแผนการฉีดวัคซีนมิ.ย. จากวัคซีนที่ผลิตในประเทศ โดยสยามไบโอไซเอนซ์ที่รับถ่ายทอดเทคโนโลยีจากแอสตราเซนเนกาก็ยังเป็นไปตามแผน ส่วนเรื่องวัคซีนจากแอสตราเซนเนกา 5 หมื่นโดสที่ระบุว่าจะเข้ามาก่อนนั้นเป็นความพยายามในการเจรจาพูดคุยกันนอกเหนือทำให้เราอาจจะได้มาเร็วขึ้น แต่เมื่อมีปัญหาการส่งออกในยุโรป ซึ่งนอกเหนือการควบคุมของเรา แต่จะนำตรงนี้มาบอกว่าคณะทำงานไร้ประสิทธิภาพคงไม่ถูก เพราะทุกฝ่ายต่างทำงานเต็มที่

“การมาพูดว่าเป็นสิ่งที่ไร้ประสิทธิภาพไม่ถูก ไม่อย่างนั้นทุกคนก็อยู่เฉยๆ กันหมด แต่แผนปกติที่เราวางกันไว้คือ เดือนมิ.ย. แต่ถ้ามีทางไหนที่เราทำได้เร็วกว่า เราก็พยายามทำ แต่จะเอาตรงนี้มาบอกว่าเราไม่ทำตามแผน หรืออะไร มันไม่ใช่” นายอนุทินกล่าว

เมื่อถามถึงการป้องกันโรคตามแนวชายแดนไทย นายอนุทินกล่าวว่า กรมควบคุมโรคป้องกันเต็มที่

มั่นใจมหาชัยดีขึ้น

วันเดียวกัน ที่ร.พ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร นายอนุทิน ให้สัมภาษณ์ระหว่างลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์โรคโควิด-19 จ.สมุทรสาคร ว่า การควบคุมโรคในสมุทรสาครมีแนวโน้มดีขึ้น แม้พบผู้ป่วยติดเชื้อละวันหลายร้อยคน ซึ่งมาจากการตรวจเชิงรุก เมื่อพบการติดเชื้อมีการล้อมกรอบเอาไว้ คัดแยกคนที่มีไข้และอาการ รวมถึงคนไทยเข้ารักษาในร.พ. ส่วนแรงงานต่างชาติมีจำนวนเยอะ จัดเตรียมร.พ.สนามดูแลหลายพันเตียง คนที่เหลือให้อยู่ในโรงงานแห่งนั้นทำงานได้ตามปกติ เพื่อให้ไม่มีผลกระทบกับรายได้ แนวโน้มน่าจะดีขึ้นเรื่อยๆ

“ผู้ที่อยู่ในสมุทรสาครยังขอให้รักษาพฤติกรรมนิวนอร์มัลต่อไป ใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ พยายามอยู่ห่างจากชุมชนที่แออัดหรือไปร่วมสถานที่แออัด ทางที่ดีช่วยดูแลกันเอง อย่าหลีกเลี่ยงกฎหมาย ทำตามคำแนะนำ สธ.อย่างเคร่งครัด เพื่อให้สถานการณ์กลับสู่ปกติ คาดว่าอีกไม่นาน” นายอนุทินกล่าว

นายอนุทินกล่าวต่อว่า ส่วนจังหวัดอื่นที่พบแบบประปราย เป็นสะเก็ดไฟจากสมุทรสาครก็ดับได้ทุกจุด การติดเชื้อกลุ่มก้อนต่างๆ ในโรงงาน ใช้การกักกันในโรงงาน ส่วนการประเมินว่าดีขึ้นหรือไม่ อย่าดูแค่ตัวเลข เพราะจะเล็งผิดเป้า แต่ต้องโฟกัสว่าคนติดกี่คนก็ตาม ห้ามหลุดออกจากสมุทรสาคร อยู่ในที่กักกันเพื่อควบคุมโรค แต่ละคนไม่เกิน 10 วันก็หายปกติ หรืออย่างการทำบับเบิล และซีล ในโรงงานที่ให้ทำงานและกักตัวในพื้นที่ห้ามออกมาเลยนั้น วงรอบหนึ่งไม่เกิน 1 เดือน หลังพบเชื้อครบ 10 วันก็ออกมาได้ และให้กลับไปสังเกตอาการที่บ้านอีก 4 วัน และพยายามแยกตนเองใช้ชีวิตแบบนิวนอร์มัลอีก 2 สัปดาห์ก่อนไปทำงานตามปกติ

นายอนุทินกล่าวว่า สำหรับวัคซีนโควิด 19 ตามแผนเดิมที่กำหนดไว้ คือเดือนมิ.ย. แต่เราพยายามหาให้เร็วขึ้นเท่าที่เจรจาได้หรือซื้อเพิ่ม ส่วนปัญหาเรื่องการจัดส่ง เราพยายามติดต่อเรื่องอนุญาตให้ส่งให้ประเทศไทยตลอด ทำทุกวิถีทางที่มี ใช้ระบบทางการทูต ระบบหอการค้าต่างๆ ขอให้ช่วยกันผลักดันให้การส่งของมาให้เร็วที่สุด ขอให้รอและมีความเชื่อว่า ทุกอย่างจะมาในเดือนก.พ.นี้อยู่ เมื่อมาถึงแล้วจะเข้าสู่ระบบการบริหารจัดการต่อไป ทุกอย่างยังเป็นไปตามแผนอยู่

ทั้งนี้ระหว่างการประชุม นายอนุทินกล่าวถึงนายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าฯสมุทรสาครว่า ได้รับรายงานว่ามีอาการที่ดีขึ้น ขอให้ท่านพักผ่อนอย่างเต็มที่ภายใต้การดูแลของแพทย์ ยังไม่อยากให้เยี่ยมเพราะอาจเกิดความวุ่นวาย ได้สอบถามศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เมื่อวันที่ 1 ก.พ.ว่าอาการของผู้ว่าฯ เป็นอย่างไร ไหวหรือไม่ คณบดีบอกว่าท่านมีแผนจะนั่งรถพามาส่งที่จ.สมุทรสาครด้วย ตัวเอง ตนได้ยินก็ชื่นใจ ก็ขออธิษฐานให้ได้ เกิดขึ้น

ย้ำอีกโควิดกระจอก

“หวังว่าเร็วๆนี้ จะได้มาชื่นชมความสำเร็จที่ปราบโรคนี้อยู่หมัด ผมยืนยันคำว่ากระจอก เพราะถ้าเรารู้จักศัตรู รู้ธรรมชาติของมัน รู้วิธี จุดอ่อนของมัน รู้เขา แต่ไม่รู้เราเพราะไม่มีสมอง เราต้องปิดประตูตีแมวสู้ให้ได้ เราไม่ได้ก่อให้เกิดปัญหานี้ขึ้น เรื่องเกิดมาจากการกระทำผิดกฎหมาย คนทำถูกไม่มีปัญหาอะไรเลย ดูจากจังหวัดนี้ถ้าทุกคนบกพร่องหมด ถ้าเชื้อมีแสนยานุภาพต้องแดงทั้งหมดแล้ว แต่คนรักษาเนื้อตัวทำให้ยังมีพื้นที่สีเขียวสีเหลืองได้ เรารู้อยู่แล้วปัญหาคืออะไร เชื่อมั่นว่า ยังสามารถจัดการเชื้อโรคนี้ในระยะเวลาอันสมควร เราเชื่อว่าคุมสถานการณ์ได้” นายอนุทินกล่าว

ด้านนพ.นเรศฤทธิ์ ขัดธะสีมา นายแพทย์สาธารณสุขจ.สมุทรสาคร กล่าวว่า จ.สมุทร สาครมีรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่ 700-800 รายต่อวันต่อเนื่องมา 7 วัน มาจากการค้นหาเชิงรุกวันละ 1 หมื่นราย ทำให้ยอดติดเชื้อสะสมในจังหวัดเกินหมื่นรายไปแล้ว ส่วนจากระบบเฝ้าระวังมีเพียงพันกว่ารายคิดเป็น 10% ส่วนการดูแลรักษาใน ร.พ.มี 10% เช่นกัน ส่วนที่เหลือไม่มีอาการดูแลใน ร.พ.สนาม มากกว่าครึ่งจำหน่ายออกหลังพ้นระยะแล้ว ทั้งนี้การค้นหาเชิงรุกทำแล้ว 1.4 แสนราย ค้นหาเกินเป้าที่กำหนดจาก 541 แห่ง ทำได้ 845 แห่ง โรงงานขนาดใหญ่มีคนมากกว่า 500 คน และโรงงานขนาดกลาง 200-500 คน ทำการตรวจแล้วทั้งหมด โดยโรงงานที่อัตราติดเชื้อเกิน 10% พบ 14 แห่ง อีก 2-3 วันผลการตรวจแล็บจะออกมาครบทั้งหมด คาดว่าการติดเชื้อน่าจะลดลง เบื้องต้นพื้นที่ไม่ได้เป็นสีแดงทั้งหมด อย่างอ.บ้านแพ้วและกระทุ่มแบนก็เป็นพื้นที่สีเขียวและเหลือง พบการติดเชื้อเบาบาง แต่เป็นสีแดงที่อ.เมือง จากนี้การเฝ้าระวังเชิงรุกจะทำในพื้นที่เสี่ยงและโรงงานขนาดเล็กที่ยังไม่ครอบคลุม และเตรียมแผนมาตรการรองรับ

กกร.เสนอ‘วัคซีนวาระแห่งชาติ’

ด้านนายสุพันธ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือกกร.ขอเสนอให้รัฐบาลกำหนดเรื่องวัคซีนเป็นวาระแห่งชาติ โดยตั้งคณะทำงานเตรียมการฉีดวัคซีนให้ประชาชนในประเทศเป็นเรื่องเร่งด่วน เพื่อจัดทำกระบวนการและวิธีการในการฉีดและกระจายวัคซีนให้ชัดเจนทั่วถึง เพียงพอต่อคนไทยที่จะเข้ารับวัคซีนซึ่งจะมาถึงไทยช่วงเดือนก.ค.2564 พร้อมออกหนังสือรับรองบุคคลที่ได้รับวัคซีนแล้ว นำร่องกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นตัวเร็วขึ้น ซึ่งนายจ้างพร้อมรับผิดชอบออกค่าใช้จ่ายในการฉีดวัคซีนแก่ลูกจ้างทั้งคนไทยและต่างด้าว ขณะที่รัฐควรมีมาตรการลดหย่อนภาษีเรื่องวัคซีนให้กับนายจ้าง เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนแก่ภาคธุรกิจอีกทางหนึ่ง

ทั้งนี้ เนื่องจากการฉีดวัคซีนจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้กิจกรรมเศรษฐกิจสามารถกลับมาดำเนินได้อย่างต่อเนื่องในปี 2564 ทำให้คาดการณ์ว่าจะสามารถกลับมาผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคได้ในระยะถัดไป กิจกรรมเศรษฐกิจกลับมาดีขึ้น แต่ยังคงต้องติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดที่อาจ ส่งผลต่อประสิทธิภาพของวัคซีน และความสามารถในการส่งมอบวัคซีนด้วย

‘บิ๊กป้อม’แนะฉีดวัคซีนนักกีฬา

วันเดียวกัน ที่ห้องประชุม 1 ชั้น 4 อาคารเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา การกีฬาเเห่งประเทศไทย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเเละประธานคณะกรรมการโอลิมปิคเเห่งประเทศไทย เป็นประธานการประชุมกรรมการบริหารคณะกรรมการโอลิมปิคเเห่งประเทศไทยฯ ครั้งที่ 1/2564 โดยมีคณะกรรมการบริหาร เข้าร่วมอย่างพร้อมเพรียง

พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร กำชับเเละเน้นย้ำให้คณะกรรมการโอลิมปิคฯ เเละกกท.ปรับรูปเเบบเเผนการฝึกซ้อมของนักกีฬาชุดทำศึกเอเชียนอินดอร์เเละมาร์เชียลอาร์ตเกมส์ ครั้งที่ 6 ซึ่งเลื่อนไปจัดเเข่งขันระหว่างวันที่ 10-20 มี.ค.65 ให้เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ รวมถึงบริหารจัดการงบประมาณที่จะใช้เตรียมทีมเเละสนามเเข่งขันให้คุ้มค่าเเละดำเนินต่อไปได้โดยกระทบกับการเตรียมทีมให้น้อยที่สุด

พล.ท.คงชีพกล่าวต่อว่า พล.อ.ประวิตรให้ความสำคัญถึงการเร่งกระจายฉีดวัคซีนให้กลุ่มเจ้าหน้าที่เเละนักกีฬาไทยซึ่งมีภารกิจเดินทางไปเเข่งขันในต่างเเดน เเละกีฬาโอลิมปิก โดยให้คำมั่นว่าจะให้เร่งดำเนินการจัดให้วัคซีนที่ปลอดภัยมากระจายฉีดทัพนักกีฬาไทยให้ได้อย่างครอบคลุมโดยเร็วที่สุด โดยกลุ่มเจ้าหน้าที่ที่จะต้องเดินทางไปติดต่อประสานงานต่างเเดน รวมถึงนักกีฬาที่มีภารกิจเดินทางเเข่งขันจะเสนอให้ได้รับการพิจารณาฉีดเป็นกลุ่มเเรกๆ ด้วย

เจ้าหน้าที่สาธารณสุข – ตรวจเชิงรุกพ่อค้าแม่ค้าทั้งชาวไทยและเมียนมากว่า 1,000 คน ที่ตลาดสดนครแม่สอด จ.ตากโดยผลการตรวจพบผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่อีก 2 ราย เมื่อวันที่ 3 ก.พ.

พิษโควิด-ปิด 719 โรงงาน

จากกรณีการแพร่ระบายของโควิด-19 ระลอกใหม่ ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบอย่างมาก ล่าสุดกรมโรงงานอุตสาหกรรมรายงานปี 2563 มีการแจ้งปิดโรงงานไปทั้งหมด 719 แห่ง คนงาน 29,917 คน เงินลงทุนรวม 41,722.30 ล้านบาท คิดเป็นกำลังเครื่องจักรรวม 679,434 แรงม้า

โดยประเภทกิจการที่ปิดสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ผลิตภัณฑ์พลาสติก 64 โรงงาน จำนวนแรงงาน 2,119 คน เงินทุน 1,502 ล้านบาท รองลงมาคือผลิตภัณฑ์จากพืช 62 โรงงาน แรงงาน 585 คน เงินทุน 1,771 ล้านบาท, ผลิตภัณฑ์โลหะ 58 โรงงาน แรงงาน 1,660 คน เงินทุน 1,923 ล้านบาท, อุตสาหกรรมอาหาร 52 โรงงาน แรงงาน 3,500 คน เงินทุน 10,704 ล้านบาท และผลิตภัณฑ์อโลหะ 52 โรงงาน แรงงาน 786 คน เงินทุน 798 ล้านบาท

นายนาวา จันทนสุรคน ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ปี 2563 มีการปิดโรงงานที่ผลิตเหล็กไปจำนวนหนึ่ง ส่วนใหญ่เป็นผู้ผลิตเหล็กเส้นและเหล็กข้ออ้อย เป็นผลมาจากการเกิดโอเวอร์ซัพพลายเหล็กล้นตลาดจาก 1.2 ล้านตันเป็น 3 ล้านตัน ประกอบกับกระทรวงอุตสาหกรรม ออกประกาศห้ามเปิดโรงงานเหล็กเส้นในไทยเป็นเวลา 5 ปี ราคาเหล็กตกลงมากและลูกค้าได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แต่แนวโน้มของอุตสาหกรรมเหล็กต่อจากนี้ไป จะมีโครงการเมกะโปรเจ็กต์จากรัฐที่ทยอยออกมา จะส่งผลให้ปริมาณการใช้เหล็กในประเทศเพิ่มขึ้น แต่หากยังมีการปิดโรงงานเหล็กเพิ่มขึ้นอีกจะน่ากังวลว่า เหล็กในประเทศจะไม่เพียงพอต่อความต้องการ และท้ายที่สุดไทยจะต้องนำเข้าเหล็กจากต่างประเทศมาแทน

ด้านนายประกอบ วิวิธจินดา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กล่าวว่า ปี 2563 ยอดขอตั้งโรงงานใหม่และขยายกิจการอยู่ที่ 3,324 โรง มูลค่า 325,393.12 ล้านบาท ใช้แรงงาน 187,088 คน อุตสาหกรรมอาหารมีจำนวนมากที่สุด ซึ่งลดลงต่ำกว่าปี 2562 ที่มีเพียง 200 โรงเท่านั้น จากสถานการณ์ที่แตกต่างกันอย่างมาก เทียบกับโรงงานที่ปิดมีแค่ 719 โรง มูลค่า 41,722.30 ล้านบาท (ต่ำกว่าปี 2562 ปิดโรงงานไปถึง 1,391 โรง) คนงานหายไปเพียง 29,9179 คน

“การเลิกจ้างและปิดโรงงานในช่วงนี้ต้องยอมรับว่า มาจากสภาพเศรษฐกิจและผลกระทบโควิด-19 จะเป็นปัจจัยหลัก อย่างไรก็ตามอยากให้คิดว่ายังมีโรงงานที่จะเปิดอีกมาก แรงงานเหล่านี้ยังมีโอกาสทำงานในที่ใหม่ๆ ได้ ทั้งนี้ ปี 2564 เชื่อว่าแนวโน้มการตั้งโรงงานจะยังสูงขึ้นเรื่อยๆ” นายประกอบกล่าว

คนไทยเครียด-ฆ่าตัวตายพุ่ง

พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์ว่า จากอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จของคนไทยอยู่ที่ 6 ต่อแสนประชากรคงที่มา 5-6 ปี แต่ในปี 2563 พบว่าไต่ระดับขึ้น เมื่อนำใบมรณบัตรที่ระบุสาเหตุการเสียชีวิตเป็นฆ่าตัวตาย พบว่าอยู่ที่ 7.3 ต่อแสนประชากร ส่วนภาวะอ่อนล้าทางอารมณ์หรือภาวะหมดไฟในคนทั่วไปอยู่ที่ 6% แต่กลุ่มเปราะบางคือคนที่มีปัญหาสุขภาพจิตอยู่แล้ว คนที่ต้องกักกันตัว และญาติ จะอยู่ที่ 19% นอกจากนี้ พบว่าการโทร.ปรึกษาผ่านสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ปัญหาความเครียดส่วนใหญ่เกี่ยวกับโควิด-19 ช่วงม.ค.2564 จำนวน 1.8 แสนคน จากที่ในปี 2563 ทั้งปีมีการโทร.ปรึกษาอยู่ที่ราว 7 แสนคน

เมื่อถามถึงสาเหตุที่การฆ่าตัวตายสำเร็จไต่ระดับขึ้น พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า เหตุปัจจัยยังคงเรียงลำดับ 3 กลุ่มไม่แตกต่างจากปีที่ผ่านมา คือ 1.ปัญหาความสัมพันธ์ส่วนบุคคล กับคนใกล้ชิด หรือคนในครอบครัว ยังเป็นเหตุปัจจัยส่วนใหญ่ 2.ภาวะเจ็บป่วยทางกายเรื้อรัง หรือมีปัญหาสุขภาพจิต เช่น ซึมเศร้าอยู่เดิมแล้ว และ 3.ผลกระทบจากภาวะเครียดเรื่องเศรษฐกิจ และค่าใช้จ่ายต่างๆ แต่น่าสังเกตว่าในช่วงปี 2563 กลุ่มที่ 3 ที่มีผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจเริ่มมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และเป็นกลุ่มที่ต้องเพิ่มการเฝ้าระวังมากขึ้น

เมื่อถามว่าระบุได้หรือไม่ว่าสถานการณ์โควิด-19 มีผลต่อการฆ่าตัวตายที่สูงขึ้น พญ.พรรณพิมลกล่าวว่า ไม่ได้ เนื่องจากเวลาเกิดเหตุปัจจัยในการฆ่าตัวตายมาจากหลายเหตุปัจจัยของแต่ละบุคคล เพียงแต่ในปี 2563 มีการไต่ระดับขึ้นของการฆ่าตัวตาย จึงต้องเฝ้าระวัง

“สำหรับสภาวะสุขภาพจิตคนไทยขึ้นลงตามสถานการณ์ของโรคโควิด 19 โดยช่วงการระบาดใหญ่เมื่อปลายมี.ค.2563 พบว่ากลุ่มที่มีความเครียดสูงอยู่ที่ 8% ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ปกติ เพราะโดยทั่วไปมีความเครียดจากการใช้ชีวิตปกติอยู่แล้ว โดยกลุ่มที่มีความเครียดสูงอยู่ที่ 2-3 % แต่เมื่อมีการระบาดของโรคกลุ่มเครียดมากเพิ่มเป็น 8 % หลังจากนั้นสถานการณ์ค่อยๆ ลดลงมา”

เฝ้าระวังคนถูกกักตัว-เสี่ยงสูง

ส่วนการระบาดของโควิด 19 ในรอบใหม่ สถานการณ์ความเครียดเริ่มกลับมาอีกครั้ง แต่ตามมาด้วยภาวะตื่นตระหนก เพราะหลายคนคุ้นเคยกับตัวเลขผู้ติดเชื้อในประเทศเป็น 0 ราย พบว่าสอดคล้องกับการแบ่งพื้นที่ในการควบคุมโรคเป็นสีแดงเข้ม สีแดง สีส้ม สีเหลือง และสีเขียว ซึ่งกลุ่มที่มีความตระหนกสูงอยู่ในคนพื้นที่สีส้ม เมื่อไปดูว่ากลัวและกังวลเรื่องใด พบว่า พื้นฐานมี 2 เรื่องเป็นไปตามลักษณะของโรค ได้แก่ 1.กลัวติดเชื้อ พบมากในพื้นที่ที่เป็นจังหวัดสีแดง โดยเครียดมากในเรื่องที่ตัวเองจะติดเชื้อ ส่วนจ.สีส้มและสีเหลือง เครียดเรื่องกลัวควบคุมไม่อยู่ และ 2.ทุกคนเริ่มกังวลใจว่าเมื่อมีการระบาดโรค ก็จะตามด้วยมาตรการที่จะกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน การทำงาน โอกาสด้านเศรษฐกิจ นำสู่การตึงเครียดและความวิตกกังวล

พญ.พรรณพิมลกล่าวด้วยว่า กลุ่มเป้าหมายที่ระบบสาธารณสุขจะต้องเข้าไปดูแลเรื่องสุขภาพจิต คือกลุ่มผู้ที่ถูกกักกันในสถานที่กักกันของรัฐและผู้สัมผัสเสี่ยงสูงที่ต้องกักตัวเองอยู่กับบ้าน พบว่าช่วง 2 วันแรกเครียดมากที่สุด เพราะรอผลตรวจว่าจะติดเชื้อหรือไม่ และเมื่อเข้าสู่สัปดาห์ที่ 2 จะเครียดมากขึ้น เพราะอยู่กับที่ ไปไหนไม่ได้ ต้องลดกิจกรรมลง แนะนำให้ทำตารางกิจกรรมให้ตัวเองตลอด 14 วัน และสื่อสารกับคนอื่นผ่านเครื่องมือที่ไม่ไปพบปะเพื่อลดความตึงเครียด ส่วนผู้ที่ต้องกักตัวเองในสถานที่กักกันของรัฐ ส่วนใหญ่จะมีการสื่อสารความเครียดผ่านญาติ จึงอยากให้ญาติให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ในสถานที่กักกันด้วย ซึ่งบางคนอาจมีปัญหาสุขภาพจิตเดิมก่อน ถ้าญาติพบว่ามีการตึงเครียดขึ้น ขอให้แจ้งบุคลากรเพื่อที่ระบบจะเข้าไปดูแล

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน