ถึงจะมีระบาด99คลัสเตอร์
ชลบุรีปิดด่วน2ตลาดใหญ่
เตียงวิกฤต-หวั่นซ้ำอินเดีย
อย.ตื่นขึ้นทะเบียนไฟเซอร์

ไทยติดโควิดรายวัน 4,108 ตายเพิ่ม 31 กทม.ลามแล้ว 99 คลัสเตอร์กระจาย 42 เขตจากทั้งหมด 50 เขต ล่าสุดเจออีก 3 คลัสเตอร์ใหม่ แคมป์คนงานย่านรามคำแหง แคมป์ก่อสร้างสีลมซอย 9 และบริษัทผลิตหมวกกันน็อกย่านบางขุนเทียน ปทุมฯเจอในศูนย์เด็กอ่อน ชลบุรีสั่งปิด 2 ตลาดใหญ่หลังพบป่วยพุ่ง ‘หมอรามา’ เตือนวิกฤตเตียงขาด ระวังเป็นแบบอินเดีย ‘บิ๊กตู่’ สั่งทุกภาคส่วนช่วยกทม.ปริมณฑลที่กำลังวิกฤตขาดเตียง ‘บิ๊กป๊อก’ แย้มส่อล็อกดาวน์กทม. ‘อย.’ ขึ้นทำเบียนไฟเซอร์แล้ว เป็นรายที่ 6

ติดโควิดอีก4,108-ตาย 31

เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 4,108 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 3,865 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 2,835 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุก 1,030 ราย มาจากเรือนจำ 229 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 14 ราย จำนวนนี้เป็นผู้ลักลอบเข้าเมืองผ่านช่องทางธรรมชาติจากกัมพูชา 2 ราย ยอดผู้ติดเชื้อสะสม 232,647 ราย หายป่วยเพิ่มเติม 1,578 ราย หายป่วยสะสม 191,355 ราย อยู่ระหว่างรักษา 39,517 ราย อาการหนัก 1,564 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 445 ราย ตัวเลขติดเชื้อใหญ่อยู่ที่ กทม.และปริมณฑลรวมกัน 2 พันกว่าราย

เสียชีวิตเพิ่มเติม 31 ราย เป็นชาย 16 ราย หญิง 15 ราย อายุต่ำสุด 30 ปี สูงสุด 93 ปี อยู่ในกทม. 28 ราย พระนครศรีอยุธยา 2 ราย ลพบุรี 1 ราย ยอดผู้เสียชีวิตสะสม 1,775 ราย โรคประจำตัวยังเป็นกลุ่มเดิม ติดเชื้อบุคคลในครอบครัว เพื่อนบ้าน เพื่อนร่วมงาน เน้นย้ำเสมอว่า 2 เดือนที่ผ่านมาเป็นการติดเชื้อจากบุคคลใกล้ตัว ผู้ติดเชื้อเดินทางมาจากต่างประเทศ 14 ราย ได้แก่ โอมานและโซมาเลียประเทศละ 1 ราย และกัมพูชา 12 ราย โดยเข้ามาช่องทางธรรมชาติ 2 ราย จากทางจันทบุรี

ขณะที่สถานการณ์โลก มีผู้ติดเชื้อสะสม 180,360,606 ราย เสียชีวิตสะสม 3,907,364 ราย

กทม.เจอแล้ว 99 คลัสเตอร์

พญ.อภิสมัยกล่าวต่อว่า ส่วน 10 อันดับติดเชื้อสูงสุด ได้แก่ 1.กทม. 1,359 ราย สะสม 63,835 ราย 2.สมุทรปราการ 297 ราย สะสม 14,788 ราย 3.สมุทรสาคร 259 ราย สะสม 6,247 ราย 4.ชลบุรี 2542 ราย สะสม 7,022 ราย 5.สงขลา 216 ราย สะสม 3,349 ราย 6.นนทบุรี 170 ราย สะสม 10,154 ราย 7.ปทุมธานี 157 ราย สะสม 6,878 ราย 8.ยะลา 119 ราย สะสม 1,102 ราย 9.ระยอง 92 ราย สะสม 1,327 ราย และ 10.นครปฐม 91 ราย สะสม 3,395 ราย

ผู้ช่วยโฆษกศบค. กล่าวว่า กทม.มีคลัสเตอร์ใหม่ 3 คลัสเตอร์ รวมมีคลัสเตอร์เฝ้าระวัง 99 คลัสเตอร์ กระจายทั้งสิ้น 42 เขต จาก 50 เขตถือว่ากระจายกว้างขวาง โดยคลัสเตอร์ใหม่ได้แก่ 1.บางกะปิ เป็นแคมป์ก่อสร้าง ซอยรามคำแหง 7 ตรวจ 241 ราย พบยืนยัน 164 ราย คิดเป็น 68% 2.เขตบางรัก เป็นแคมป์ก่อสร้างสีลมซอย 9 ตรวจ 257 ราย พบติดเชื้อ 126 ราย คิดเป็น 49% และ 3.เขตบางขุนเทียน เป็นบริษัทผลิตหมวกกันน็อก ตรวจ 600 ราย พบติดเชื้อ 165 ราย คิดเป็น 27.5% ซึ่งบริษัทผลิตหมวกกันน็อก กทม.รายงานพบผู้ติดเชื้อรายแรกไม่มีอาการ และไม่ทราบว่าตนเองติดเชื้อ แต่ไปรับการตรวจหาเชื้อโควิดเพื่อเตรียมเข้ารับการผ่าตัด เมื่อรับการยืนยันติดเชื้อ จึงเกิดการตรวจเชิงรุก 600 คนในบริษัท ถึงพบการติดเชื้อดังกล่าวและน่าจะมีการรายงานต่อเนื่อง

ส่วนคลัสเตอร์ใหม่จังหวัดอื่นๆ ได้แก่ 1.สมุทรสาคร พบโรงงานผลิตภัณฑ์ยาง อ.เมือง 9 ราย และโรงงานกุ้ง อ.เมือง 9 ราย 2.นนทบุรี โรงงานสาหร่ายแปรรูป อ.ปากเกร็ด 11 ราย และ 3.ปทุมธานี บ้านเด็กอ่อนรังสิต อ.ธัญบุรี 39 ราย จำนวนนี้เป็นเด็กอายุ 3-6 ขวบ รวมถึง 33 คน ผู้ดูแล 6 คน และจากการสอบสวนโรคน่าจะมีผู้ติดเชื้อรายแรกเป็นพนักงานขับรถเพียงคนเดียว ทำให้เห็นการกระจายเชื้อเป็นกลุ่มก้อนจากการมีบุคคลแรกที่เป็นเพื่อนร่วมงานใกล้ชิดคุ้นเคยทำให้เกิดการแพร่ระบาด

“ผอ.ศปก.ศบค.เน้นย้ำสถานดูแลเด็กอ่อนและผู้สูงอายุ ถือเป็นความรับผิดชอบของ ผู้ดูแล ต้องเฝ้าระวังตนเองอย่างเข้มงวด ปฏิบัติตามมาตรการอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าภาครัฐเอกชนต้องกำหนดมาตรการตรวจตราบุคลากรสม่ำเสมอ ฝากภาครัฐ จังหวัด เจ้าหน้าที่ภาครัฐที่เกี่ยวข้อง กรณีมีสถานดูแลเด็กอ่อนผู้สูงอายุในพื้นที่ให้กำกับติดตามอย่างเคร่งครัด เจ้าหน้าที่แม้จะรับวัคซีนก็กลายเป็นผู้ติดเชื้อและแพร่เชื้อได้ เราเห็นสถานดูแลผู้สูงอายุในหลายพื้นที่ ขอให้เน้นย้ำมาตรการอย่างเข้มข้น” พญ.อภิสมัยกล่าว

ระดมทหาร-แพทย์จบใหม่ช่วย

ผู้ช่วยโฆษกศบค. กล่าวว่า การจัดการเตียงกทม.และปริมณฑล ที่ประชุมมีการหารือกันมาต่อเนื่องมาหลายสัปดาห์ นายกรัฐมนตรีและผอ.ศบค.กำชับเน้นย้ำทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ช่วยเหลือกทม. ปริมณฑลในการเพิ่มศักยภาพการขยายเตียง ซึ่งน่าห่วงเตียงที่ดูแลอาการรุนแรงสีเหลือง สีแดง ทั้งนี้ที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉิน โดยมี นพ. ปิยะสกล สกลสัตยาทร ที่ปรึกษาคณะกรรมการบูรณาการการดูแลโรคระบาดโควิด-19 กทม.และปริมณฑล มีการพูดคุยข้อเสนอแนะ 2-3 ประการ คือการเพิ่มเตียงสีแดง ร.พ.มีการพูดถึงร.พ.บางขุนเทียนและร.พ.ราชพิพัฒน์ที่จะยกระดับรองรับผู้ป่วยรุนแรงมากขึ้น และหารือร.พ.เอกชน โดยปลัดสธ.มอบหมายให้ทุกภาคส่วนของ สธ.ระดมสรรพกำลังเพิ่มประสิทธิภาพ กทม.และปริมณฑล หารือ ร.พ.มงกุฎวัฒนะ และร.พ.ธนบุรี พยายามปรับร.พ.พื้นที่ให้รองรับอาการรุนแรงมากขึ้น และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร.พ.รามาธิบดี ม.มหิดล และวชิรพยาบาล 3 ส่วนนี้ระดมบุคลากรให้เปิดเตียงรองรับได้อีกกว่า 50 เตียงภายในมิ.ย.นี้

“เรามีสถานที่เพียงอย่างเดียวไม่ได้ ข้อจำกัดคือระดมบุคลากร พูดคุยกันว่าจะระดมบุคลากรทุกภาคส่วน เช่น ทหาร สาธารณสุขในต่างจังหวัด หรือแพทย์จบใหม่เพิ่งสอบเสร็จจะระดมมาดูแลในกทม.และปริมณฑล เพื่อการจัดการเตียงให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รองรับผู้ป่วยมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มอาการรุนแรง และยังพูดถึงการเพิ่มทีมสอบสวนโรคด้วย เพราะเมื่อพบผู้ติดเชื้อพื้นที่ใดกลุ่มก้อนใด การสอบสวนโรคเป็นกลไกสำคัญค้นหา ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง มีโอกาสกลายเป็นผู้ป่วย เพื่อแยกออกจากครอบครัวชุมชน ป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดกระจายเป็นวงกว้าง” พญ.อภิสมัยกล่าว

พญ.อภิสมัยกล่าวว่า นอกจากนี้ มีการหารือกันเรื่องอนุญาตผู้ป่วยเลือกดูแลตนเองที่บ้าน หรือ Home Isolation มีรายละเอียดมากมาย แต่ยังเอามาเป็นข้อสรุปไม่ได้ มีอันตรายที่เป็นความเสี่ยงการพิจารณาหลายจุด ต้องมีการประเมินที่แม่นยำ อาการเหลืองหรือแดงไม่สามารถรับการดูแลตนเองที่บ้าน ต้องเฉพาะสีเขียวเท่านั้น

พญ.อภิสมัยกล่าวว่า มีการประชุมทางไกลจากผู้ว่าฯ ในเขตปริมณฑล คือ นครปฐม รายงานสถานการณ์ที่เราติดตามคือการแพร่ระบาดกระจายในสถานที่ชำแหละสัตว์จากที่หนึ่งไปอีกหลายที่ พบว่ามาจากการเคลื่อนย้ายแรงงาน และมีปัญหาในพื้นที่แรงงานต่างด้าว ตอนนี้จังหวัดพยายามระดมบูรณาการทุกภาคส่วนจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ หารือผู้ประกอบการหารือกำชับมาตรการ ตระเตรียมสถานที่ร.พ.สนามแห่งที่ 4

ฉีดวัคซีน-มีอาการรุนแรง 945

นพ.เฉวตสรร นามวาท ผอ.กองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค สธ. กล่าวว่า การติดตามเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ภายหลังการรับวัคซีนโควิด-19 มีการตัดข้อมูลเมื่อวันที่ 21 มิ.ย. โดยมีการฉีดวัคซีนโควิด-19 รวม 7,906,696 โดส อาจจะน้อยกว่าตัวเลขที่รายงานประจำวัน โดยมีอาการไม่พึงประสงค์ที่เข้าเกณฑ์การสอบสวนโรค ได้แก่ 1.เข้ารับการรักษาในร.พ. 3 วัน 1,945 ราย คิดเป็น 24.30 รายต่อการฉีดแสนโดส และ 2.เจ็บป่วยร้ายแรงเสียชีวิต 103 ราย คิดเป็น 1.30 รายต่อการฉีดแสนโดส ทั้งนี้ ผู้เสียชีวิตเป็นตัวเลขที่รวบรวมเข้ามาเมื่อมีรายงาน แต่ต้องไปหาข้อสรุปสุดท้ายว่าเกี่ยวข้องกับวัคซีนหรือไม่

เมื่อแยกตามชนิดวัคซีนพบว่า ซิโนแวคฉีดเข็มที่ 1 จำนวน 3,373,958 โดส เข้ารักษาเป็นผู้ป่วยใน 914 ราย คิดเป็น 27.09 รายต่อการฉีดแสนโดส เสียชีวิต 44 ราย คิดเป็น 1.3 รายต่อการฉีดแสนโดส ส่วนเข็มที่ฉีด 2,176,933 โดส เข้ารักษา 243 ราย คิดเป็น 11.16 รายต่อการฉีดแสนโดส และเสียชีวิต 7 ราย คิดเป็น 0.32 รายต่อการฉีดแสนโดส

ส่วนแอสตร้าเซนเนก้า ฉีดเข็มที่ 1 จำนวน 2,304,890 โดส เข้ารักษา 782 ราย คิดเป็น 33.93 รายต่อการฉีดแสนโดส เสียชีวิต 49 ราย คิดเป็น 2.13 รายต่อการฉีดแสนโดส และเข็มที่ 2 ฉีด 50,915 โดส เข้ารักษา 6 ราย คิดเป็น 11.78 รายต่อการฉีดแสนโดส เสียชีวิต 1 ราย คิดเป็น 1.93 รายต่อการฉีดแสนโดส

นพ.เฉวตสรรกล่าวว่า การฉีดวัคซีนมีรายงานอาการไม่พึงประสงค์รุนแรง 945 ราย ผู้เชี่ยวชาญพิจารณาแล้ว 327 ราย และกำลังติดตามข้อมูล 618 ราย สรุปผลการพิจารณาคือ 1.เกี่ยวข้องกับวัคซีน 66 ราย ได้แก่ อาการช็อกหลังฉีดซิโนแวค 20 ราย หลังฉีดแอสตร้าเซนเนก้า 1 ราย, ปฏิกิริยาแพ้หลังฉีดซิโนแวค 21 ราย, ผลข้างเคียงหลังฉีดซิโนแวค 21 ราย หลังฉีดแอสตร้าเซนเนก้า 2 ราย และอาการทางเส้นประสาทหลังฉีดซิโนแวค 1 ราย 2.เกี่ยวกับการฉีดวัคซีน 210 ราย เป็นอาการจากความวิตกกังวล ISRR ทำให้เกิดอาการทางร่างกาย พบหลังฉีดซิโนแวค 208 ราย หลังฉีดแอสตร้าเซนเนก้า 2 ราย 3.เหตุการณ์ร่วมที่ไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีน 47 ราย หลังฉีดซิโนแวค 39 ราย และหลังฉีดแอสตร้าฯ 8 ราย และ 4.เหตุการณ์ที่ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าเกี่ยวข้องกับวัคซีน ต้องหาข้อมูลเพิ่มเติม 4 รายหลังฉีดแอสตร้านฯ

ตาย 103 ไม่เกี่ยวฉีดวัคซีน

“อาการแสดงของผู้ที่มีอาการไม่พึงประสงค์ต้องนอนรักษาในร.พ.ที่ต้องสอบสวนโรค พบว่า ซิโนแวค มีอาการเด่นคือเวียนศีรษะ 20.66% คลื่นไส้ 15.34% ปวดศีรษะ 14.45% อาเจียน 12.68% อ่อนเพลีย 9.13% ผื่น 7.45% ปวดกล้ามเนื้อ 6.91% ถ่ายเหลว 5.14% ไข้ 4.34% และผื่นแพ้ 4.26% ส่วนแอสตร้าเซนเนก้า อาการเด่นคือ ไข้ 28.73% ปวดศีรษะ 26.02% เวียนศีรษะ 23.04% คลื่นไส้ 20.19% อาเจียน 18.83% ปวดกล้ามเนื้อ 15.99% อ่อนเพลีย 15.85% ถ่ายเหลว 8.13% ไม่สบายตัว 6.64% และปวดท้อง 2.98%” นพ.เฉวตสรรกล่าว

สำหรับรายงานการเสียชีวิต 103 ราย ผู้เชี่ยวชาญพิจารณาแล้ว 42 ราย พบว่า 1.ไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีน เป็นเหตุการณ์ร่วม 20 ราย ได้แก่ โรคเกี่ยวกับระบบหัวใจและหลอดเลือด 10 ราย เลือดออกในสมอง 3 ราย เยื่อหุ้มสมองอักเสบติดเชื้อ 1 ราย ความผิดปกติของเกล็ดเลือด 1 ราย ลิ่มเลือดอุดตันในปอด 1 ราย เลือดออกในช่องท้อง 1 ราย และอื่นๆ 3 ราย 2.ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าเกี่ยวข้องกับวัคซีน คือกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน 4 ราย โดยจะรวบรวมข้อมูลเฝ้าระวังต่อเนื่องเพื่อวิเคราะห์เพิ่มเติมให้ได้องค์ความรู้และข้อสรุปต่อไป และ 3.ผู้เชี่ยวชาญขอข้อมูลเพิ่มเติม 18 ราย อยู่ระหว่างการสอบสวนโรคและชันสูตร 61 ราย

“ขณะนี้คณะผู้เชี่ยวชาญที่ติดตามข้อมูล ใช้ข้อมูลทุกส่วนอย่างเต็มที่ ยืนยันว่าวัคซีนมีความปลอดภัย” นพ.เฉวตสรรกล่าว

‘บิ๊กป๊อก’แย้มส่อล็อกกทม.

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวถึงโรงพยาบาลสนามของผู้ติดเชื้อโควิดที่เริ่มขาดแคลน มีปัญหาในหลายจังหวัดว่า ขณะนี้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ สั่งการว่าระบบรักษาพยาบาลของผู้ติดเชื้อโควิดต้องมีสถานที่รองรับ ส่วนหนึ่งพยายามเพิ่มโรงพยาบาลสนามโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อีกส่วนเราจะให้ผู้ป่วยอยู่เดิมขยับขยายไปอยู่กลุ่มสีเขียว เพื่อพยายามดึงเตียงให้ผู้ป่วยกลุ่มสีเหลืองและสีแดง ทั้งนี้นายกฯ จะเร่งดำเนินการจัดระบบรักษาพยาบาลเพื่อรองรับผู้ป่วยได้ เราพยายามเน้นไม่ให้เกิดการระบาดควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจด้วย

พล.อ.อนุพงษ์กล่าวต่อว่า ส่วนแนวทางการล็อกกรุงเทพฯ นั้น ยอมรับศบค.กำลังพิจารณาข้อดีข้อเสียเรื่องนี้อย่างละเอียด จากข้อมูลแนวทางการแก้ไขการระบาดที่ผ่านมา พบว่าทุกพื้นที่ท้องถิ่นและปกครองมีความเข้มแข็งในการกักตัว และควบคุมดูแลคนที่เดินทางจากกรุงเทพฯ และพื้นที่เสี่ยงเมื่อกลับบ้านต่างจังหวัด ทั้งนี้การล็อกกรุงเทพฯ ปฏิเสธไม่ได้ว่าจะสามารถลดการแพร่ระบาดโควิด-19 ได้แน่นอน ทั้งนี้ขอประชาชนการ์ดอย่าตก ดูแลตัวเองตามมาตรการของสาธารณสุข

ศบค.ยันยังไม่ล็อกดาวน์กทม.

พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสมช. ในฐานะผอ.ศปก.ศบค. กล่าวถึงวิกฤตเตียงไม่เพียงพอรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ว่า วันนี้มอบหมายให้กทม. และกระทรวงสาธารณสุขประสานงานกันซึ่งศปก.ศบค.อยากให้ย้ายผู้ป่วยในระดับสีเขียวเข้าไปอยู่ในฮอสพิเทลซึ่งได้ทำงานร่วมกับภาคเอกชนซึ่งเตียงว่างจำนวนมาก และให้โรงพยาบาลสนามของกทม.ปรับปรุงเป็นโรงพยาบาลที่เปิดรับผู้ป่วยสีเหลืองและแดง รวมทั้งมอบหมายให้พิจารณาโรงพยาบาลเอกชนมาช่วยดำเนินการในเรื่องดังกล่าวด้วยเช่นกัน เนื่องจากปัจจุบันบุคลากรทางการแพทย์ของรัฐและกรุงเทพมหานครปัจจุบันมีจำกัดและเหนื่อยล้าจึงต้องขอความร่วมมือและประสานไปยังโรงพยาบาลเอกชน

พล.อ.ณัฐพลกล่าวถึงข้อเสนอให้ล็อก ดาวน์กทม.ว่า พยายามเพิ่มความเข้มข้นมากขึ้น ขณะนี้พิจารณากันอยู่ แต่ยอมรับว่ามีความเป็นห่วงประชาชนบางส่วนซึ่งเราต้องไม่ประมาท และคงมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดบับเบิลแอนด์ซีล โดยจะพิจารณาเพิ่มความเข้มข้นมากขึ้น

‘อนุทิน’พร้อมรับฟังล็อกกทม.

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.สาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการเปิดประเทศใน 120 วัน แต่หลายฝ่ายกังวลยังกระจายวัคซีนไม่ครอบคลุมว่า การเปิดประเทศเป็นเรื่องของอีก 120 วัน แต่เราต้องทำความพร้อมทุกอย่างให้ได้ ส่วนจะเปิดได้หรือไม่ได้ต้องประชุมหารือกันอีกครั้ง

นายอนุทินกล่าวถึงกรณีอาจารย์แพทย์เสนอล็อกดาวน์กทม.และปริมณฑลเพื่อควบคุมโรคโควิดและให้ระบบสาธารณสุขเดินหน้าต่อไปได้ว่า เรารับฟังทุกอย่างและไปประเมิน โดยมีคณะทำงาน คณะกรรมการ และยังมีศบค. แต่ความเห็นที่มีคุณค่าจากอาจารย์แพทย์ทั้งหลายเราต้องฟัง ไม่ฟังไม่ได้ ฟังเสร็จแล้วต้องไปคิดพิจารณาด้วยว่ามีความเหมาะสมสถานการณ์อย่างไร และดำเนินการตามเหมาะสม ต้องดูทุกมิติ

รมว.สธ.กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีร.พ.บุษราคัมที่จะใช้พื้นที่อิมแพคถึงสิ้นส.ค.นี้ ก็เตรียมจัดหาพื้นที่เพิ่มเติม ตนรายงานนายกฯแล้ว เพื่อดูภาคส่วนราชการต่างๆ ว่ามีพื้นที่ที่สะดวกทำเป็นร.พ.สนามแบบนี้หรือไม่ อย่างสถานีกลางบางซื่อพอไปดูแล้วพบว่าเป็นเซ็นทรัลแอร์ ไม่มีโซนแยกก็ทำไม่ได้ อาจต้องไปเจรจาประธานเมืองทองธานีขอใช้อีก 2-3 เดือนได้หรือไม่ เพราะร.พ.บุษราคัมมีประโยชน์มาก ถ้าไม่มีกทม.จะยุ่งมาก

เมื่อถามต่อว่า ร.พ.หลายแห่งไม่รับการตรวจคัดกรองโควิด เนื่องจากเตียงค่อนข้างเต็มไม่มีรักษาผู้ป่วย นายอนุทินกล่าวว่า ยังไม่ได้รับรายงานเรื่องนี้ คิดว่าคงมีเหตุผลของเขา

‘หมอรามา’ชี้วิกฤตเตียงโควิด

ขณะที่นพ.ศุภโชค เกิดลาภ อายุรแพทย์โรคติดเชื้อ สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี โพสต์เฟซบุ๊กบอกเล่าการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ที่กำลังทำสงครามกับโควิด โดยเชื่อว่ายอดผู้ติดเชื้อรายใหม่วันละประมาณ 4,000 คน อาจไม่ใช่ยอดที่แท้จริง เพราะหลายแห่งไม่ยอมตรวจให้คนไข้ เพราะกังวลว่าจะต้องหาเตียงให้

โดยระบุว่า ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา จะสังเกตว่ายอดคนไข้ใหม่รายวันนั้นไม่ลดลงเลย มีแต่จะเพิ่มเรื่อยๆ และแนวโน้มแอดมิตต่อวันก็ยังเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ อย่างไม่หยุดยั้ง

ห่วงเป็นแบบอินเดีย

พร้อมระบุด้วยว่า ล่าสุดมีศูนย์ nursing home แห่งหนึ่งที่ติดเชื้อกว่า 40 คน และผู้สูงอายุ 80-90 ปีทยอยแย่ลงเรื่อยๆ แต่ไม่สามารถรับเข้าไปรักษาในร.พ.ได้อีกแล้ว ในที่สุดมีผู้ป่วยบางส่วนเริ่มทยอยสิ้นลม และเปลี่ยนเป็นสถานที่ดูแลระยะสุดท้าย เหมือนในต่างประเทศที่เคยปรากฏมา และมันกำลังจะเกิดแบบนี้ในทุกๆ ที่

ปัญหาการหาเตียง ทั้งสามัญและ ICU ในตอนนี้ของกทม.และปริมณฑลนั้นคือวิกฤตมากๆๆๆๆ และเราอาจจะเป็นแบบที่อินเดียประสบในไม่ช้านี้

สรุปในประโยคสั้นๆ ว่า “ทีมบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้ากำลังต่อสู้สงครามประหนึ่งชาวบ้านบางระจันที่ใส่ชุดตะเบ็งมานและเอาจอบ ขวาน มีด มาสู้ศึก ขอปืนใหญ่ไปแต่ไม่ได้มา ได้แต่ปืนแก๊ป และตอนนี้พยายามหล่อปืน ตีดาบใช้ตามมีตามเกิด” อาเมน

หาเชิงรุก – เจ้าหน้าที่ตรวจเชิงรุกเชื้อโควิดกลุ่มผู้ค้าขายและลูกจ้างตลาดเช้าสัตหีบ จ.ชลบุรี หลังพบผู้ติดเชื้อจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีกลุ่มเสี่ยงเป็นผู้สัมผัสใกล้ชิดอีกกว่า 600 คน เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.

สั่งปิด2ตลาดใหญ่ชลบุรี

ขณะเดียวกันคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดชลบุรีมีคำสั่งปิดสถานประกอบกิจการตลาดใหม่ชลบุรี ตั้งแต่เวลา 8.00 น. วันที่ 24 มิ.ย.-7 ก.ค. 2564 และปิดตลาดเช้าสัตหีบและสถานประกอบการโดยรอบตลาดดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 24 มิ.ย.-4 ก.ค.2564 และให้สถานประกอบกิจการ รวมทั้งผู้ประกอบการร้านค้าภายในสถานประกอบกิจการพื้นที่ดังกล่าวทุกคน ถือปฏิบัติให้เป็นไปตามคำสั่งเจ้าพนักงานควบคุมโดยเคร่งครัด

ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 24 มิย. 2564 เป็นต้นไป

จากการที่มีผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นทุกวัน ส่งผลทำให้เตียงในโรงพยาบาลสนามของจังหวัดชลบุรีมี 5 แห่งเริ่มวิกฤติ แต่ละแห่งรับผู้ป่วยใกล้เต็มแล้ว คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดชลบุรีขอขยายเตียงที่มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ จากเดิมมี 235 เตียงซึ่งใกล้เต็ม

อย.ขึ้นทะเบียน‘ไฟเซอร์’แล้ว

นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า วันนี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อนุมัติขึ้นทะเบียนวัคซีนโคเมอร์เนตี ซึ่งเป็นวัคซีนของบริษัทไฟเซอร์ จำกัด นำเข้าโดย บริษัท ไฟเซอร์ ประเทศไทย จำกัด โดยเป็นวัคซีนโควิด-19 รายการที่ 6 ของไทยเรียบร้อยแล้ว หลังจากอย.อนุมัติวัคซีนโควิด-19 ไปแล้ว 5 ราย ได้แก่ วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า โดยบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด และที่ผลิตในประเทศ โดยบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด วัคซีนโคโรนาแวค ของบริษัท ซิโนแวค ไลฟ์ไซเอ็นซ์ จำกัด นำเข้าโดยองค์การเภสัชกรรม วัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน โดยบริษัท แจนเซ่น ซีแลค จำกัด วัคซีนโมเดอร์นา นำเข้าโดยบริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จำกัด และวัคซีนของซิโนฟาร์ม นำเข้าโดยบริษัท ไบโอจีนีเทค จำกัด

วัคซีนของไฟเซอร์ตัวนี้ เป็นวัคซีนชนิด mRNA ที่คิดค้นและพัฒนาโดยบริษัท ไฟเซอร์ ร่วมกับบริษัท ไบโอเอ็นเท็ค (BioNTech) ประเทศเยอรมนี ซึ่งแผนการฉีดประกอบด้วยการฉีดวัคซีน 2 เข็ม โดยเข็มที่ 2 ห่างจากเข็มแรก 21 วัน สำหรับผู้ที่อายุ 12 ปีขึ้นไป ทั้งนี้ วัคซีนตัวนี้เป็นวัคซีนโควิด-19 ที่ได้รับการรับรองให้นำมาใช้ในภาวะฉุกเฉินโดยองค์การอนามัยโลกแล้ว

ก่อนหน้านี้ นายอนุทิน ระบุว่า คาดว่า ประเทศไทยน่าจะมีวัคซีนไฟเซอร์ใช้ ไตรมาส 4 ของปีนี้ หลังจากเจรจาเบื้องต้นว่าไตรมาส 3 แต่มีการเลื่อนเป็นไตรมาส 4 เนื่องจากความต้องการของทั่วโลกสูง

ลุยตรวจ – เจ้าหน้าที่สาธารณสุขตรวจคัดกรองเชิงรุกค้นหาเชื้อโควิดในกลุ่มชาวบ้าน ต.ปล่องหอย อ.กะพ้อ จ.ปัตตานี หลังพบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้น สอบประวัติพบเดินทางกลับมาจากศูนย์เผยแผ่ศาสนาที่ จ.ยะลา เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.

ตรวจน.ร. – เจ้าหน้าที่สาธารณสุขตรวจคัดกรองเชิงรุกค้นหาเชื้อโควิดที่โรงเรียนภูริตา ต.กุดโบสถ์ อ.เสิงสาง จ.นครราชสีมา พบนักเรียนติดเชื้อ 3 ราย และมีกลุ่มเสี่ยงอีกจำนวนมาก เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.

เตรียมฉีด – พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายก อบจ.ปทุมธานี จัดเตรียมความพร้อมสถานที่ภายในห้างฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต จ.ปทุมธานี สำหรับฉีดวัคซีนป้องกันโควิดยี่ห้อซิโนฟาร์ม ที่สั่งซื้อผ่านราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน