เสวนา‘เฮลท์แคร์’คึกคัก
‘ชัชชาติ ’จี้ช่วยเอสเอ็มอี

เสวนาเฮลท์แคร์ เครือมติชน วันที่ 4 เผยสถานการณ์โควิด ในไทยยังน่าเป็นห่วง เหตุยังไม่ถึงจุดพีก คาดก.ย.จะมีผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตมากขึ้นกว่านี้ แนะรัฐบาลเร่งจัดหาวัคซีนคุณภาพ ยกตัวอย่างศูนย์ฉีดวัคซีนต่างจังหวัดต้องปิดตัวเพราะวัคซีนไม่มา แนะวัคซีนไขว้ แค่แก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่ไม่ควรเป็นยุทธศาสตร์หลัก ด้านชัชชาติระบุต้องดูแลเศรษฐกิจด้วย สิ่งที่ควรกลับมาเปิดได้แรกๆ คือโรงเรียน เพราะเด็กขาดโอกาสการเรียนรู้นานไปแล้ว เร่งฉีดวัคซีนครู พร้อมเปิดธุรกิจ ดูแลเอสเอ็มอี พักหนี้ 6 เดือน ส่วนเฮลท์แคร์วันนี้วันสุดท้าย มอบเปลปกป้อง 5 ร.พ.

ฝ่าวิกฤต – นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรัฐมนตรี พร้อมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ร่วมเสวนา ‘วัคซีนประเทศไทย ก้าวใหม่ฝ่าวิกฤติ’ ในงานมหกรรมสุขภาพออนไลน์ เฮลท์แคร์ 2021 วัคซีนประเทศไทย #เราจะฝ่าวิกฤติไปด้วยกัน เมื่อวันที่ 21 ส.ค.

วันที่ 21 ส.ค. บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) จัดงานมหกรรมสุขภาพออนไลน์ Healthcare 2021 วัคซีนประเทศไทย #เราจะฝ่าวิกฤติไปด้วยกัน เป็นวันที่สี่ผ่านแพลตฟอร์มสื่อในเครือมติชน ทั้งเฟซบุ๊กมติชน ข่าวสด ประชาชาติธุรกิจ และยูทูบมติชนทีวี โดยเวลา 13.00-14.00 น. มีกิจกรรม Health Forum ในหัวข้อ “วัคซีนประเทศไทย ก้าวใหม่ฝ่าวิกฤต” เป็นการรวมตัวครั้งสำคัญของผู้เชี่ยวชาญจากหลายสาขา ได้แก่ ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล, นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ หรือหมอหม่อง อาจารย์ประจำภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรมว.คมนาคม และ ผศ.ดร.ป๋วย อุ่นใจ นักวิทยาศาสตร์ผู้ร่วมเขียนหนังสือ “Vaccine War : สมรภูมิวัคซีนโควิด-19” ดำเนินรายการโดยพิธีกรหญิงคนดัง จอมขวัญ หลาวเพ็ชร์

นพ.รังสฤษฎ์กล่าวว่า ประเมินสถานการณ์จากตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ยอมรับว่ายังไม่ถึงจุดพีก คือคาดการณ์ว่าตัวเลขที่รายงานต่อรัฐยังมีผู้ป่วยแฝงอยู่อีกจำนวนมากที่ไม่ได้นับรวมในรายงาน เช่น ตัวเลขยังไม่รวมกับผู้ติดเชื้อใหม่ที่พบผลบวกจากชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) แล้วทำ Home Isolation ที่บ้านด้วยตนเอง จึงยากที่จะบอกว่าประเทศ ไทยมาถึงจุดพีกหรือยัง และที่สำคัญการติดเชื้อในปัจจุบันยังกระจุกตัวเฉพาะในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ยังไม่นับรวมว่าหากการแพร่ระบาดเดินทางไปในต่างจังหวัดคาดว่าจะมีพีกอีกหลายระลอก

“การกระจายวัคซีนที่มาแบบกะปริบกะปรอยทำให้ต่างจังหวัดวางแผนได้ยาก ยกตัวอย่างที่จังหวัดเชียงใหม่ ที่ต้องปิดศูนย์ฉีดวัคซีนเป็นสัปดาห์เพราะวัคซีนไม่มา ศูนย์ฉีดวัคซีนบางวันก็ว่าง มีหลายคนบอกว่าคนไม่ต้องการฉีดซิโนแวคเพราะด้อยค่าว่าไม่ดี แต่ปัญหาไม่ได้อยู่ที่การด้อยค่า แต่ปัญหาใหญ่คือวัคซีนไม่มา หรือมาแล้วแจ้งกะทันหัน บางคนก็มาฉีดไม่ได้ทำให้เสียโอกาส บางคนก็บอกว่ากลัวการฉีดวัคซีนสูตรไขว้ ซึ่งจริงๆ แล้วคิดว่าเพราะไม่เป็นระบบ แนะนำว่าต่างจังหวัดควรเตรียมพร้อมให้ดีไม่อย่างนั้นจะเกิดปัญหาเหมือนกรุงเทพฯ”

นพ.รังสฤษฎ์กล่าวว่า วิกฤตครั้งนี้เปิดเผยให้มุมมืดของสังคมเยอะ พอขาดแคลนวัคซีนก็ได้เห็นการเล่นพรรคเล่นพวก เห็นถึงความเหลื่อมล้ำ แต่มุมดีก็คิดว่าเป็นบทเรียนให้หันมามองว่าถ้าต่อไปมีวิกฤตอย่างนี้อีกจะทำอย่างไร สิ่งสำคัญที่เราต้องได้บทเรียนคือความมั่นคงทางสาธารณสุขของไทยยังแย่มาก ในวิกฤตสิ่งที่อยากจะเห็นมากที่สุดคือศรัทธาของภาครัฐ แต่ไม่ใช่การสร้างภาพลักษณ์หรือหยิบยกเฉพาะสิ่งที่ดี ยุคนี้ปิดอะไรไม่ได้ อยากเห็นการเอาใจเขามาใส่ใจเรา ถ่อมตน อย่าเห็นคนเห็นต่างเป็นศัตรู

ศ.นพ.มานพกล่าวว่า สำหรับจำนวน ผู้ติดเชื้อ ไม่รู้ว่าตอนนี้พีกหรือยัง ส่วนตัวคิด ว่ายัง และคาดว่าคงใช้เวลาอย่างน้อยถึงเดือนกันยายน จึงจะเห็นว่าทิศทางการแพร่ระบาดจะเป็นอย่างไร ส่วนประเด็นการด้อยค่าวัคซีน ภาครัฐต้องยอมรับก่อนว่าวัคซีนที่ดีคือวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูง พูดกันตามความจริง และยืนยันด้วยผลทางวิทยาศาสตร์ มันไม่ใช่การด้อยค่า สำหรับเรื่องสูตรฉีดวัคซีนไขว้ เห็นว่าอาจเป็นสูตรเฉพาะกิจเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าตามปริมาณวัคซีนที่มี แต่ไม่ควรทำเป็นยุทธศาสตร์หลัก เมื่อทุกอย่างผ่านไปมีการจัดการที่เหมาะสมก็ควรเข้ามาสู่ภาวะปกติตามที่ควรจะเป็น

ศ.นพ.มานพกล่าวอีกว่า การระบาดของ โควิด-19 เป็นสถานการณ์พิเศษที่ทุกประเทศต้องเจอ ไทยไม่ใช่ประเทศแรกที่เป็นจุดกำเนิดโรค และมีโอกาสมากมายที่จะเรียนรู้การบริหารจัดการจากประเทศอื่นๆ เช่น ประเทศอังกฤษ ที่การจัดการในระยะแรกมีปัญหามาก แต่กลับพบว่าปัจจุบันการบริหารจัดการวัคซีนได้ค่อนข้างดี ทุกวันนี้เขาอยู่ร่วมกับโควิด โดยสามารถใช้ชีวิต ดำเนินธุรกิจควบคู่ต่อไปได้ เพราะการล็อกดาวน์ไม่สามารถทำได้ตลอดไป ส่วนประเทศไทยการแก้ปัญหาจุดเริ่มต้นครั้งแรกต้องยอมรับก่อนว่ามีปัญหา อย่าไปคิดว่าคนอื่นจะมาทำ ลายล้างหรือมาบั่นทอน ให้เริ่มที่จุดนี้ก่อน ฝากว่าเจ็บแล้วต้องจำ ไม่ได้หมายถึงเจ้าคิด เจ้าแค้น แต่ทุกคนบาดเจ็บจากวิกฤตนี้เยอะ ให้เป็นบทเรียนเพื่อปรับปรุงแก้ไขหรือถอดเป็นบทเรียน

นายชัชชาติกล่าวว่า เป็นที่ชัดเจนว่าคนไทยต้องอยู่กับโควิดไปอีกระยะหนึ่ง ดังนั้นนอกจากวัคซีนที่ประชาชนต้องได้รับอย่างทั่วถึงนั้น ปัญหาด้านเศรษฐกิจที่หนักหนาก็สำคัญไม่น้อยกว่าโควิด เมื่อดูจากกราฟแล้วโดยความเห็นส่วนตัวเห็นชัดว่าการล็อกดาวน์ก็มีประสิทธิภาพไม่ที่สุด ตนเห็นว่าสิ่งที่ควรเปิดให้เร็วที่สุดคือโรงเรียนเพราะปัจจุบันเด็กห่างการศึกษาค่อนข้างมาก กลุ่มบุคลากรครู ควรได้วัคซีนอย่างเร็ว เปิดในจุดที่ควรจะเปิด เป็นจุดยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ เช่น ห้างสรรพสินค้าถ้าเปิดได้ก็เปิด ให้ทำ Rapid Test แต่อย่าผลักเป็นภาระให้ภาคเอกชน รัฐบาลต้องช่วยลงทุน

“การวางแผนการเปิดประเทศ บริษัทขนาดใหญ่ยังพอไปได้ แต่ที่เสียหายหนักคือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อน อย่าแค่พักชำระหนี้ แต่ขอให้พักหนี้ไปได้สัก 6 เดือนเหมือนกับช่วยต่อลมหายใจ ต่อไปรัฐต้องสร้าง Trust Economy เป็นหัวใจของเศรษฐกิจ นักท่องเที่ยวก็กลับมาได้ ต้องสร้างเศรษฐกิจใหม่จากความไว้วางใจ สร้างโอกาสจากโควิด วิเคราะห์ว่าธุรกิจใดจะสามารถเติบโตหรือต่อยอดจากโควิดได้ เพราะทั้งโลกน่าจะต้องอยู่กับโควิดอีกสักพัก เช่น หน้ากากอนามัย หรือธุรกิจอื่นๆ ผมเชื่อว่าถ้าเราฟื้นจากโควิดแล้วจะฟื้นเร็ว เพราะโครงสร้างพื้นฐานยังอยู่ แต่คนไม่กล้าใช้เงิน ถ้าคนไว้ใจก็จะใช้เงิน แต่ต้องทำระบบสาธารณสุขให้ดีก่อน” นายชัชชาติกล่าว

ผศ.ดร.ป๋วยกล่าวว่า เชื้อโควิดมีการ กลายพันธุ์ไปเรื่อยๆ ภูมิก็เริ่มตกทำให้สามารถติดซ้ำได้ แต่การฉีดวัคซีนลดการป่วยหนักหรือตาย คาดหวังว่าสถานการณ์จะดีขึ้นเพราะวัคซีนกำลังมา แต่สายพันธุ์เดลตาก็ร้าย เวลานี้ดูการบริหารเหมือนสิ้นหวัง วัคซีนตัวไหนได้ก่อนก็เอามา เห็นด้วยกับความเห็นของ ดร.ชัชชาติ ถึงการเข้ามาช่วยกันของภาคประชาสังคม

เวลานี้ห่วงสถานการณ์การระบาดจากสายพันธุ์เดลตากับเดลตาพลัสที่แรง สายพันธุ์ที่เหลือก็ยังไม่เท่าไร ส่วนวัคซีนที่กำลังจะเข้ามา คิดว่าจะรับมือได้แค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับคนที่ได้รับวัคซีน ถึงได้ฉีดแล้วก็ยังต้องทำตามมาตรการ เช่น Social Distancing คิดว่าโควิดเวลานี้ถึงสาหัสแล้วแต่ก็อาจจะมีคนติดเพิ่มขึ้น สิ่งที่น่ากังวลคือวิกฤตศรัทธาทำให้คนไม่อยากฉีดวัคซีน ทำให้มีโอกาสแพร่เชื้อให้คนอื่นต่อ ประเด็นคือคนไม่ไว้ใจ อยากฉีดวัคซีนตัวอื่นที่คิดว่าดีกว่าวัคซีนตัวที่มีอยู่ ฝากให้กำลังใจกันและกัน ต้องมองโลกในแง่ดี ควรมีการบริหารจัดการจริง รัฐบาลต้องชัดเจน โปร่งใส ถ้าตรวจสอบไม่ได้ก็เกิดความขัดแย้ง ต้องยอมรับว่ามีปัญหาจริง แล้วการแก้ปัญหาก็คือโอกาสที่จะปรับให้ดีขึ้นในอนาคต

ต่อมาเวลา 15.00 น. กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก นำกิจกรรม Healing Workshop “นวดไทย” กักตัวปลอดภัยในสถานการณ์โควิด-19 มาเผยแพร่และให้ความรู้กับผู้ชม จากนั้นเป็นคลิปสาธิตการล้างแอร์เองง่ายๆ ปลอดภัยโควิดโดย Matichon Academy Care จากนั้นเป็นกิจกรรม Health Marketplace “ช้อปโอท็อปดีต่อใจ ปลอดภัยต่อสุขภาพ โดยกรมการพัฒนาชุมชน” ก่อนจะปิดท้ายในช่วงเย็นด้วยกิจกรรมประจำวัน Work (out) From Home “เทคนิคออกกำลังกายง่ายๆ ห่างไกล โควิด-19” โดยกรมพลศึกษา

สำหรับกิจกรรมเด่น Health Talk Special จัดขึ้นเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม โดยนายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี ผศ.นพ.ฉัตรชัย มิ่งมาลัยรักษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ และ นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ประธานชมรมแพทย์ชนบท มาร่วมกันพูดคุยถึงประสบการณ์ทำงานที่ต้องสู้กับการแพร่ระบาดอย่างหนักในพื้นที่รับผิดชอบในหัวข้อ “เรื่องเล่าคนด่านหน้า : เมื่อเสี้ยววินาทีคือชีวิต” มีผู้สนใจเป็นพิเศษด้วยยอดการเข้าถึง 228,449 คน ยอดชมวิดีโอ 61,680 วิว ยอดการมีส่วนร่วม 5,768 คน

นอกจากนี้ ช่วงเวลา 20.00 น. นายเศรษฐา ทวีสิน ซีอีโอบริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ร่วมรายการข่าวสด-Clubhouse สู่วันใหม่ปลายอุโมงค์ กับ “เศรษฐา ทวีสิน” ซึ่งเป็นหนึ่งในไฮไลต์ของงานเฮลท์แคร์ 2021 ได้รับความสนใจตามมาติดๆ ด้วยยอดการเข้าถึง 184,522 คน ยอดชมวิดีโอ 106,648 วิว ยอดการมีส่วนร่วม 16,172 คน และกิจกรรมชวนออก กำลังกาย“Workout Routine ยืดเหยียดอย่างไรห่างไกลโควิด-19” ของกรมพลศึกษา มียอดการเข้าถึง 38,330 คน ยอดชมวิดีโอ 1,462 วิว ยอดการมีส่วนร่วม 7,753 คน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับวันที่ 22 ส.ค.วันสุดท้ายของงาน Healthcare 2021 วัคซีนประเทศไทย #เราจะฝ่าวิกฤติไปด้วยกัน จะเป็นพิธีมอบ “PETE เปลปกป้อง” ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่เคยนำไปจัดแสดงในงานเฮลท์แคร์เมื่อปีที่แล้ว และมีการนำไปใช้งานจริงในหลาย โรงพยาบาล โดยปีนี้ เครือมติชนร่วมกับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM มอบ PETE เปลปกป้อง จำนวน 10 เปล รวมมูลค่า 2.5 ล้านบาท แก่โรงพยาบาล 5 แห่ง ได้แก่ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ โรงพยาบาลบ้านแพ้ว (องค์การมหาชน) โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ และศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน