กู้‘วัดละหาร’กลางดึก
อุตุเตือนฝนเท9-13ตค.
อิทธิพลจากดีเปรสชัน
ภาคเหนือ-อีสานยันใต้
เฝ้าระวัง2พายุจ่อไทย

‘บางบัวทอง’ผวา พนังวัดละหารแตก ซ้ำจุดทำท่วมใหญ่ปี 54 ระดมซ่อม-สูบวุ่น อุตุฯ เตือน 9-13 ต.ค. มีฝนหนักตั้งแต่เหนือตอนล่างยันภาคใต้ เหตุจากดีเปรสชัน ศูนย์ธรณีพิบัติภัยแจ้ง 16 จังหวัดเฝ้าระวังดินถล่ม ‘วาฟ’ ชี้พายุ 2 ลูกแค่จ่อไม่เข้าไทย ปภ.เร่งระบายท่วมขังใน 16 จว. แจงสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย

อุตุเตือน‘ดีเปรสชัน’มาแน่

เมื่อวันที่ 7 ต.ค. นายณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศกรมอุตุนิยมวิทยาเตือน ‘พายุดีเปรสชัน บริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง’ ฉบับที่ 4 ระบุว่า เวลา 10.00 น. วันนี้ พายุดีเปรสชันบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง มีศูนย์กลางอยู่ที่ละติจูด 17.0 องศาเหนือ ลองจิจูด 111.5 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 55 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พายุนี้เกือบไม่เคลื่อนที่ คาดว่าจะทวีกำลังแรงขึ้น และเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามตอนบนในช่วงวันที่ 10-11 ต.ค. 2564

อนึ่ง มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังแรงขึ้น โดยทะเลอันดามันคลื่นสูง 2-3 เมตร ส่วนอ่าวไทยคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร และบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่งในระยะนี้

จึงขอให้ประชาชนติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา และสามารถติดตามข้อมูลที่เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา http://www.tmd.go.th หรือที่ 0-2399-4012-13 และ 1182 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

ชี้ 9-13 ต.ค.เหนือยันใต้ฝนหนัก

กรมอุตุนิยมวิทยา ยังพยากรณ์อากาศระหว่างวันที่ 7-13 ต.ค. โดยคาดหมายว่า ช่วงวันที่ 7-8 ต.ค. ร่องมรสุมพาดผ่านบริเวณภาคกลาง ภาคใต้ตอนบน และภาคตะวันออก ส่วนในช่วงวันที่ 9-13 ต.ค. 64 ร่องมรสุมจะเลื่อนขึ้นไปพาดผ่านบริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย จะมีกำลังแรง ตลอดช่วง ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพฯ และปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ โดยมีฝนตกหนักมากบริเวณภาคตะวันออกและภาคใต้ฝั่งตะวันตก สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังแรง โดยมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณอ่าวไทยตอนล่างคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร และบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร

ขอให้ประชาชนบริเวณพื้นที่เสี่ยง ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในระยะนี้ไว้ด้วย สำหรับชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ หลีกเลี่ยงบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง เรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนควรงดออกจากฝั่งตลอดช่วง

วาฟชี้พายุ 2 ลูกแค่จ่อ-ไม่เข้าไทย

วันเดียวกัน นายสุทัศน์ วีสกุล ผอ.สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) กล่าวว่า จากการตรวจสอบของแบบจำลองสภาวะอากาศ (วาฟ-รอม) แล้ว พบว่าเกิดพายุขึ้นมาจริงเวลานี้ พายุลูกที่ 1 เป็นพายุดีเปรสชันแล้ว อยู่ที่ทะเลจีนใต้ ส่วนลูกที่ 2 อยู่ที่มหาสมุทรแปซิฟิก ประเทศฟิลิปปินส์ ปัจจุบันยังเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำ แต่มีแนวโน้มทวีกำลังแรงขึ้นทั้ง 2 ลูก จากทิศทางการเคลื่อนตัวของทั้ง 2 ลูก มีแนวโน้มเคลื่อนที่ขึ้นทางเหนือ และเคลื่อนที่เข้ามาใกล้กัน เมื่อใกล้กันแล้วลูกที่ 2 จะดึงลูกที่ 1 เอาไว้ให้หยุดนิ่งหรือเคลื่อนที่ถอยหลังออกจากชายฝั่งประเทศเวียดนาม ในขณะเดียวกันลูกที่ 1 ก็จะปะทะกับความกดอากาศสูงไปด้วย จะทำให้ลูกที่ 1 อ่อนกำลังลงไป

“จะพูดได้ว่าจะแค่จ่อประเทศไทยเท่านั้น ทิศทางไม่ได้เข้าประเทศไทย ในระหว่างวันที่ 11-13 ต.ค.นี้ อย่างไรก็ตาม พายุทั้ง 2 จะส่งผลกับประเทศไทย โดยทำให้ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังแรง มีร่องมรสุมพาดผ่าน ทำให้ภาคใต้ฝั่งตะวันตก ภาคใต้ตอนบน และภาคกลางตอนล่าง มีฝนตกเกิดขึ้นได้ และอีกพื้นที่นึงคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และภาคเหนือตอนบน จะมีแนวปะทะกับลมหนาว จะทำให้มีแนวฝนผ่านบริเวณนี้ ซึ่งเป็นผลดีเพราะน้ำในเขื่อนภูมิพลและเขื่อน สิริกิติ์ ยังมีน้ำน้อยจึงมีประโยชน์มากๆ คือ น้ำฝนจะเข้ามาเติมน้ำในเขื่อน” ผอ.สสน.กล่าว

นายสุทัศน์กล่าวด้วยว่า ปัจจัยที่จะเกิดขึ้นนั้นฝนจะตกหนักคนละพื้นที่กับสิ่งที่เกิดเวลานี้ อย่างไรก็ตามในภาพรวมก็จะทำให้เกิดฝนทั้งประเทศ ส่วนในกรุงเทพฯ และปริมาณฝนยังเป็นปกติ ไม่ได้ตกหนักอย่างที่หลายคนเป็นกังวล พื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดสำหรับพายุลูกนี้คือ จ.ระนอง พังงา ภูเก็ต จะมีฝนตกหนักถึง 3 วัน จากลมมรสุมที่แรงขึ้น

ปภ.ระบุ 16 จังหวัดยังท่วม

ด้านกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) รายงานจากอิทธิพลพายุ ‘เตี้ยนหมู่’ ตั้งแต่วันที่ 23 ก.ย.-ปัจจุบัน ว่า ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ในพื้นที่ 32 จังหวัด รวม รวม 210 อำเภอ 1,133 ตำบล 7,628 หมู่บ้าน 1 เขตเทศบาล ประชาชนได้รับผลกระทบ 299,704 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 9 ราย (ลพบุรี 6 ราย เพชรบูรณ์ 2 ราย ชัยนาท 1 ราย) และยังคงมีสถานการณ์ 16 จังหวัด รวม 70 อำเภอ 380 ตำบล 1,923 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 99,342 ครัวเรือน

ภาพรวมสถานการณ์ปัจจุบันหลายพื้นที่เริ่มคลี่คลาย แต่ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ อยู่ระหว่างการเร่งระบายน้ำ ซึ่งกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ประสานจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งให้การช่วยเหลือ ผู้ประสบภัย โดยสำรวจและประเมินความเสียหาย เพื่อดำเนินการช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลัง สำหรับประชาชนสามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ 1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM และสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง

เตือน 16 จว.ระวังท่วม-ดินถล่ม

กอปภ.ก. แจ้งอีกว่า กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) แจ้งว่า กรมอุตุฯ และสสน. ประเมินสถานการณ์น้ำจากฝน พบว่ามีพื้นที่เสี่ยงฝนตกหนัก เฝ้าระวังน้ำไหลหลาก และน้ำท่วมฉับพลันในช่วงระหว่างวันที่ 6-10 ต.ค. ดังนี้ พื้นที่เฝ้าระวังน้ำหลาก ดินถล่ม และน้ำท่วมฉับพลัน ได้แก่ กาญจนบุรี ราชบุรี จันทบุรี ตราด เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล

พื้นที่เฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่งบริเวณที่ลุ่มต่ำริมลำน้ำ ได้แก่ บริเวณแม่น้ำเพชรบุรี จ.เพชรบุรี ลำตะเพิน จ.กาญจนบุรี และแม่น้ำตาปี จ.สุราษฎร์ธานี พื้นที่เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 ของความจุ เสี่ยงน้ำล้นทางระบายน้ำล้น อาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่บริเวณท้ายน้ำ ได้แก่ อ่างเก็บน้ำ ลำตะเพิน อ่างเก็บน้ำพุตะเคียน จ.กาญจนบุรี อ่างเก็บน้ำห้วยมะหาด จ.ราชบุรี อ่างเก็บน้ำห้วยไทรงาม จ.ประจวบคีรีขันธ์ อ่างเก็บน้ำคลองหยา และอ่างเก็บน้ำคลองแห้ง จ.กระบี่

กอปภ.ก.จึงได้แจ้งให้จังหวัดพื้นที่เสี่ยงภัย จัดเจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยทราบล่วงหน้า หากพบเห็นหรือได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยสามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ 1784” โดยเพิ่มเพื่อน ไลน์ไอดี @1784DDPM และแอพพลิเคชั่น “พ้นภัย” รวมถึงสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป

ดูน้ำใต้ – พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตรวจการบริหารจัดการน้ำในเขตเทศบาลนครนครศรีธรรมราช จุดตั้งเครื่องสูบน้ำสะพานคลองหน้าเมือง ต.ปากนคร อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 7 ต.ค.

‘ตู่’ตรวจสถานการณ์น้ำนครศรีฯ

ขณะที่ศูนย์ปฏิบัติการธรณีพิบัติภัย กองธรณีวิทยาสิ่งแวดล้อม กรมทรัพยากรธรณี ออกประกาศขอให้อาสาสมัครเครือข่ายเฝ้าระวังแจ้งเตือนธรณีพิบัติภัยพื้นที่จ.กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี นครนายก ปราจีนบุรี จันทบุรี ตราด สระแก้ว ชุมพร ระนอง พังงา กระบี่ ตรัง สตูล นครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี เฝ้าระวังภัยดินถล่มและน้ำป่าไหลหลาก ในระหว่างวันที่ 7-8 ต.ค. 64

วันเดียวกัน ที่จ.นครศรีธรรมราช พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม พร้อมคณะเดินทางไปตรวจการบริหารจัดการน้ำในจ.นครศรีธรรมราช พร้อมระบุว่า รัฐบาลพยายามดูแลปัญหาอุทกภัยมาโดยตลอด มีหลายโครงการที่ยังไม่แล้วเสร็จ บางโครงการอยู่ในแผนบริหารจัดการน้ำทั้งประเทศ ยืนยันว่า เราคงไม่เจอปัญหาเช่นเดียวกับปี 2554 เพราะเราลดไปได้ทุกปี พื้นที่น้ำท่วมก็ลดลง ค่าเยียวยาก็ลดลง ระยะเวลาในการท่วมก็น้อยลง ความเสียหายก็ลดลง แต่ยังไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะสิ่งสำคัญที่สุดคือปริมาณน้ำฝนที่ตก ตนจึงกำชับต้องมีแผนการเตรียมการเคลื่อนย้าย เพื่อตั้งรับสถานการณ์ไว้ก่อน ส่วนที่นครศรีธรรมราช มีศักยภาพเยอะแยะไปหมด เราต้องหาศักยภาพให้เจอและจะส่งเสริมตรงไหนก่อน สิ่งสำคัญที่สุดคือความรักความสามัคคี

ขอนแก่นหวั่นพายุใหม่ถล่มซ้ำ

ที่จ.ขอนแก่น ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์น้ำท่วม ว่า มวลน้ำยังคงไหลเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน และพื้นที่การเกษตรในหลายอำเภอ ช่วงสะพานข้ามแม่น้ำชีบ้านกุดกว้าง ต.เมืองเก่า อ.เมือง จ.ขอนแก่น ห่างจากเขตตัวเมืองชั้นในของ จ.ขอนแก่น ประมาณ 7 กิโลเมตร พบว่าระดับน้ำชีสูงปริ่มริมถนนมิตรภาพ เจ้าหน้าที่ได้ตั้งป้ายห้ามผู้ใช้รถใช้ถนนขึ้นสะพานยกระดับไปบ้านโนนตุ่น ต.เมืองเก่า เนื่องจากมวลน้ำท่วมจุดกลับรถ คอสะพานและพื้นผิวถนนทั้งมดสูง 40-60 ซ.ม. โดยเจ้าหน้าที่ได้นำเรือมาช่วยเหลือชาวบ้านอพยพย้ายไปพักอาศัยในที่ปลอดภัยจากน้ำ รวมทั้งขนย้ายทรัพย์สิน สัตว์เลี้ยงต่างๆ มาทางเรืออย่างต่อเนื่อง

นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผวจ.ขอนแก่น กล่าวว่า หลังจากมวลน้ำจากแม่น้ำชีไหลเข้าพื้นที่ตามเส้นทางผ่านพื้นที่ อ.แวงน้อย, แวงใหญ่, โคกโพธิ์ไชย, มัญจาคีรี, ชนบท, บ้านไผ่, บ้านแฮด และอำเภอเมืองขอนแก่น ก็จะไหลเข้าสู่ จ.มหาสารคาม เข้าสู่จ.ร้อยเอ็ด โดยภาพรวมในขณะนี้ถือว่ายังต้องเฝ้าจับตาอิทธิพลจากพายุลูกใหม่ตลอด 24 ชั่วโมง นับจากนี้ อย่างไรก็ดี หากใน 3-4 วัน ไม่มีฝนมาเติม ปริมาณน้ำก็จะลดลงสู่ภาวะปกติ ทาง เจ้าหน้าที่จะเข้าสำรวจความเสียหายภาพรวมทั้งจังหวัดเพื่อเข้าช่วยเหลือต่อไป

เขื่อนวังยางน้ำขึ้นช.ม.ละเซนต์

ที่จ.กาฬสินธุ์ นายไมตรี สุวรรณศรี หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 3 (เขื่อนวังยาง) จ.กาฬสินธุ์ เปิดเผยว่า ทางจังหวัดเตรียมรองรับมวลน้ำที่จะไหลลงแม่น้ำชีแล้ว โดยต้นน้ำมาจากจ.ชัยภูมิ ไหลผ่านพื้นที่จ.ขอนแก่น จ.มหาสารคาม ซึ่งระดับน้ำสูงกว่าระดับเก็บกัก 1.50 เมตร ทั้งนี้ มวลน้ำไหลลงมาเพิ่มระดับสูงขึ้น 1 ซ.ม.ต่อชั่วโมง และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ อยู่ในระดับเฝ้าระวังเต็มที่ โดยเจ้าหน้าที่ได้ปักธงเหลืองแจ้งเตือนให้ประชาชนอพยพและย้ายของขึ้นที่ สูง แม้ทางเขื่อนจะสามารถรองรับน้ำได้อีกจำนวนมาก แต่บางพื้นที่ลุ่มต่ำริมฝั่งชีจะได้รับผลกระทบจากมวลน้ำ นอกจากนั้นได้เร่งเสริมถนนสายบ้านท่าแห่ ต.ลำชี อ.ฆ้องชัย เพื่อเตรียมรับมวลน้ำจากจ.ขอนแก่นที่จะไหลลงแม่น้ำชี ซึ่งขณะนี้ระดับน้ำได้ไหลผ่านเข้า ท่อระบายน้ำ ส่งให้น้ำหนุนสูงเอ่อท่วมพื้นที่การเกษตร ใกล้จะท่วมเส้นทางคมนาคม จึงมีการเสริมถนนและติดตั้งอุปกรณ์สูบน้ำ เรือท้องแบน พร้อมเฝ้าระวังระดับน้ำตลอด 24 ชั่วโมงแล้ว

ที่จ.มหาสารคาม นายธีรวัช ชินโคตร กำนันตำบลเขวาใหญ่ อ.กันทรวิชัย กล่าวว่า เกิดเหตุประตูระบายน้ำห้วยสามสัตย์ชำรุด 1 บาน เนื่องจากมวลน้ำที่มากทำให้เกิดแรงดัน ดันประตูน้ำจนชำรุด ทำให้มวลน้ำจากแม่น้ำชีที่ขณะนี้สูงกว่าพื้นที่ชั้นใน ไหลทะลักเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรของชาวบ้าน พื้นที่ตำบลเขวาใหญ่ส่วนใหญ่จะเป็นแอ่งกระทะ คาดว่าจะมีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบประมาณ 2,000 ไร่ โดยชลประทานมหาสารคามได้เข้าซ่อมแซมประตูระบายน้ำแล้ว ซึ่งสามารถชะลอน้ำได้ในระดับหนึ่ง และได้เดินเครื่องสูบน้ำไฟฟ้า ผันน้ำออกโดยเร็วที่สุด

‘พระราม 6’ลดระบาย

ที่จ.นครสวรรค์ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมลุ่มเจ้าพระยา นครสวรรค์ต้องรับน้ำเหนือจากสุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร ผ่านลำน้ำยม และวัง ไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาระดับน้ำล่าสุด สถานีวัดน้ำ C2 เมืองนครสวรรค์ (เจ้าพระยา) อัตราน้ำไหลผ่าน 2,542 ลบ.ม/วินาที (70.80% ของความจุลำน้ำ) ขณะที่เมื่อคืนมีฝนตกลงมาต่อเนื่องนานนับชั่วโมง ทำให้น้ำป่าจากเทือกเขาแม่วงก์ ไหลบ่าลงมาในพื้นที่อำเภอลาดยาวเอ่อตามคลองสาขา เข้าท่วมต.หนองกรด หนองกระโดน บางมะฝ่อ ตะเคียนเลื่อน ลงคลองบางประมุง เพื่อรอไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา แต่ไม่สามารถไหลลงได้ ทำให้เกิดน้ำท่วมหลายพื้นที่ถูกน้ำท่วมขยายวงกว้างมากขึ้น ล่าสุดน้ำจากคลองสาขาแม่น้ำยมจากพิจิตรและพิษณุโลกยังคงเอ่อล้นตลิ่งไหลเข้าท่วมพื้นที่บ้านเจ้าสนุก หมู่ที่ 12 ต.เกรียงไกร อ.เมือง สูงกว่า 1 เมตร

ที่จ.พระนครศรีอยุธยา นายอนุสรณ์ ตันติวุฒิ รองผอ.สำนักงานชลประทานที่ 10 กล่าวว่า เขื่อนพระราม 6 รับน้ำที่ระบายมาจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีแนวโน้มที่ดีขึ้น เนื่องจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ปรับลดการระบายน้ำลงเหลือ 850 ลบ.ม.ต่อวินาที จากเดิมที่ระบายถึง1,200 ลบ.ม.ต่อวินาที ขณะที่เขื่อนพระราม 6 ลดการระบายลดลงเหลือ 760 ลบ.ม.ต่อวินาที และจะมีการปรับลดการระบายลงอีก เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน โดยใช้อ่างเก็บน้ำมวกเหล็กหน่วงน้ำ หากฝนที่ตกหนักเมื่อคืนนี้ ที่ อ.มวกเหล็ก เพื่อลดปริมาณน้ำท่าที่จะไหลมาสมทบกับแม่น้ำป่าสัก ที่ อ.วังม่วง จ.สระบุรี เพื่อลดปริมาณน้ำในแม่น้ำป่าสัก ที่จะไหลสู่ อ.เมือง จ.สระบุรี อ.เสาไห้ อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา ต่อไป ซึ่งจะมีการพิจารณาการปรับลดการระบายน้ำลงอีก หากพบว่าพายุ 2 ลูกที่จะเข้าประเทศไทยมีการเปลี่ยนทิศทาง

อ่างทองเอ่อท่วม 2 ถนน

ที่วัดนางเล่ว อ.ไชโย จ.อ่างทอง ถูกน้ำท่วมสูงกว่า 2 เมตร แต่เมรุยังสามารถเผาศพได้ จึงได้จัดพิธีฌาปนกิจนางทองสุข พุ่มกันเกรา อายุ 77 ปี ที่เสียชีวิตจากติดเชื้อในกระแสโลหิต โดยใช้เรือแห่ศพจากศาลาขึ้นเมรุ

ที่จ.อ่างทอง ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แม่น้ำเจ้าพระยาที่เอ่อล้นเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน หมู่ที่ 3 ต.จรเข้ร้อง ได้ล้นทะลักข้ามถนนทางหลวงชนบท อ่างทอง-ไชโย ลงคลองชลประทาน ส่งผลทำให้คันคลองขาด น้ำไหลท่วมบ้านเรือนในพื้นที่หมู่ที่ 4 และไหลลงทุ่งนาเอ่อล้นไปถึงถนนสายเอเชีย แล้วไหลลงคลองบางศาลาจนเอ่อท่วมทางกลับรถยนต์ถนนสายเอเชีย บริเวณใต้สะพานมีระดับน้ำสูงกว่า 1 เมตร จนไม่สามารถใช้กลับรถยนต์ได้ นอกจากนั้นน้ำยังขยายวงมุ่งหน้าทุ่งนาหนองแมว ไปยังอ.มหาราช จ.พระนครศรีอยุธยา

อุดพนัง – เจ้าอาวาสวัดละหาร อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี ระดมพระลูกวัด วางกระสอบทราย กั้นน้ำเอ่อล้นคลองบางบัวทองเข้าท่วมวัดกลางดึก ทั้งนี้ตอนน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 บริเวณนี้ระดับน้ำสูงท่วมหัว

บางบัวทองผวาพนังแตก

ที่วัดละหาร บางบัวทอง จ.นนทบุรี เจ้าอาวาสวัดละหารได้ระดมพระ-เณรเร่งกั้นกระสอบทรายกลางดึก หลังน้ำคลองบางบัวทองทะลักท่วมซอยวัด ขณะที่เทศบาลเมืองบางบัวทองเข้าติดตั้งเครื่องสูบน้ำและเร่งระบายน้ำออก ไม่ให้น้ำล้นจากคลองบางบัวทองเข้ามาท่วม โดยพื้นที่ในบริเวณนี้เมื่อปี 2554 เคยเป็นจุดที่คันกั้นน้ำพังถล่มจนเป็นเหตุให้มวลน้ำปริมาณมหาศาลจากคลองไหลทะลักเข้าท่วมในพื้นที่อ.บางบัวทอง ตั้งแต่ตลาดบางบัวทองจนถึงสี่แยกบางพลู จนสูงกว่า 1.5 เมตรมาแล้ว

ที่จ.ประจวบคีรีขันธ์ นายประจักษ์ อั้นจุกฉุน ผอ.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาปราณบุรี กล่าวว่า จากสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำปราณบุรี พบว่ามีปริมาณน้ำ 304.13 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) จากความจุ 391 ล้านลบ.ม.. มีอัตราการไหลของน้ำเข้าอ่างประมาณ 91 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จึงต้องเร่งบริหารจัดการน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุมเพื่อเตรียมความพร้อมรับภาวะฝนตกหนักตามการคาดการณ์ของกรมอุตุฯในช่วงสัปดาห์นี้ โดยมีแผนเพิ่มการระบายน้ำออกจากอ่าง และระบายน้ำออกทางคลองส่งน้ำสายใหญ่

ช่วยท่วม – เจ้าหน้าที่กู้ภัยมูลนิธิสว่างโรจนธรรมสถานสัตหีบ นำข้าวสาร อาหารแห้ง และน้ำดื่มเข้าช่วยเหลือชาวบ้านริมแม่น้ำป่าสัก ต.วังแดง อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา ที่น้ำท่วมสูงถึงระดับคอ เมื่อวันที่ 7 ต.ค.

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน