สกัดยอดป่วยพุ่งนนท์สั่งเลื่อนงานสองฝั่งเจ้าพระยา

ติดเชื้อพุ่งเกิน 8 พัน ตายอีก 14 กำลังรักษากว่า 7 หมื่น สธ.ย้ำกทม.ยังช่วงขาขึ้น ติดเชื้ออีกเกือบพันจากพื้นที่เสี่ยง สถานที่ปิด ร้านอาหารกึ่งผับ หอพักน.ศ. แฟลตตำรวจ เล็งจัดทีมสุ่มตรวจร้านกึ่งผับ นนทบุรีวุ่นอีกคลัสเตอร์ทีมตะกร้อเยาวชน เจอป่วย 27 เสี่ยงอีกเกือบ 30 ด้านโคราชสั่งปิด 3 หมู่บ้านที่ด่านขุนทด แก้งสนามนาง หลังโควิดลามหนัก เจออีกคลัสเตอร์สนามไก่ชนติดเชื้อยกครัว สกลนครก็ปิดหมู่บ้าน ส่วนคลัสเตอร์หมอลำซิ่งที่เลย เร่งค้นหากลุ่มเสี่ยง 500 คน

ติดเชื้อพุ่งอีก 8,167-ตายเพิ่ม 14

เมื่อวันที่ 13 ม.ค. ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์โควิด-19 ประจำวันว่า วันนี้ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 8,167 ราย ติดเชื้อสะสม 2,300,457 ราย หายป่วยเพิ่ม 3,845 ราย หายป่วยสะสม 2,207,980 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 14 ราย เสียชีวิตสะสม 21,883 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 70,594 ราย มีอาการหนัก 520 ราย และใส่เครื่องช่วยหายใจ 110 ราย

ทั้งนี้ ผู้เสียชีวิต 14 ราย มาจาก 12 จังหวัด ได้แก่นครราชสีมา 3 ราย, กทม. อุบลราชธานี นครสวรรค์ อุทัยธานี ปัตตานี ยะลา สงขลา สตูล จันทบุรี ชลบุรี และพระนครศรีอยุธยา จังหวัดละ 1 ราย โดยผู้เสียชีวิต เป็นชาย 8 ราย หญิง 6 ราย อายุ 32-87 ปี โดยเป็นผู้สูงอายุ 60 ปีและมีโรคประจำตัวรวมกัน 93%

ชลบุรีป่วยมากสุด 832

ส่วน 10 จังหวัดที่ติดเชื้อสูงสุด ได้แก่ 1.ชลบุรี 832 ราย 2.กทม. 790 ราย 3.สมุทรปราการ 625 ราย 4.นนทบุรี 468 ราย 5.ภูเก็ต 381 ราย 6.ขอนแก่น 337 ราย 7.อุบลราชธานี 281 ราย 8.นครศรีธรรมราช 216 ราย 9.ปทุมธานี 184 ราย และ10.เชียงใหม่ 176 ราย

สำหรับจังหวัดติดเชื้อถึง 100 รายขึ้นไปยังมีอีก 9 จังหวัด คืออุดรธานี 173 ราย, ระยอง 151 ราย, ศรีสะเกษ 150 ราย, สุราษฎร์ธานี 146 ราย, บุรีรัมย์ 129 ราย, นครนายก 114 ราย, น่าน 109 ราย, ลพบุรี 102 ราย และฉะเชิงเทรา 100 ราย

ส่วนติดเชื้อเพียงหลักหน่วยมี 6 จังหวัด ได้แก่ ลำพูน 9 ราย, สตูล 9 ราย, ชัยนาท 7 ราย, สิงห์บุรี 6 ราย, นราธิวาส 4 ราย และสมุทรสงคราม 4 ราย

ขณะที่การติดเชื้อมาจากเรือนจำ 66 ราย และเดินทางมาจากต่างประเทศ 239 ราย ใน 50 ประเทศ ได้แก่ รัสเซีย 41 ราย, สหรัฐอเมริกา 27 ราย, อังกฤษ 16 ราย, เยอรมนี 15 ราย, สวีเดน 14 ราย, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 8 ราย, ฟิลิปปินส์ 7 ราย, อินเดีย ฝรั่งเศส ประเทศละ 6 ราย

นอกจากนี้ติดเชื้อ 5 ราย ใน 8 ประเทศ, 4 ราย ใน 3 ประเทศ, 3 ราย ใน 4 ประเทศ, 2 ราย ใน 9 ประเทศ และ 1 รายใน 17 ประเทศ โดยเข้าระบบ Test&Go ลดลงเหลือ 107 ราย แซนด์บ็อกซ์ลดลงเหลือ 104 ราย และระบบกักตัว 28 ราย

สำหรับการฉีดวัคซีนโควิด 19 วันที่ 12 ม.ค. ฉีดเพิ่มขึ้น 499,355 โดส สะสม 107,771,259 โดส เป็นเข็มแรก 51,642,575 ราย คิดเป็น 71.7% ของประชากร เข็มสอง 47,172,252 ราย คิดเป็น 65.5% ของประชากร และเข็มสาม 8,956,432 ราย คิดเป็น 12.4% ของประชากร

คร.แจงคนทั่วไปรอฉีดเข็ม 4

ด้านนพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ให้สัมภาษณ์กรณีคำแนะนำสูตรฉีดวัคซีนโควิดเข็มที่ 4 ว่า ขณะนี้คณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ประชุมเมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 2564 มีมติว่าให้มีการฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มที่ 4 ให้กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ บุคลากรด่านหน้า ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หรือกลุ่ม 607 โดยให้มาติดต่อรับเข็ม 4 หลังรับเข็ม 3 ไปแล้ว 3 เดือน สามารถฉีดได้ทั้งวัคซีน แอสตร้าเซนเนก้า ไฟเซอร์ และโมเดอร์นา ส่วนประชาชนทั่วไปยังไม่มีคำแนะนำอย่างเป็นทางการ ระหว่างนี้คณะอนุกรรมการจะพิจารณาหารือเพื่อประกาศอย่างเป็นทางการอีกครั้งว่าจะให้ประชาชนทั่วไปมารับเข็ม 4 ช่วงเวลาใด อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนทั่วไปที่แข็งแรงดีและรับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว เข้ามารับเข็ม 3 ตามนัดหมายจากหน่วยบริการฉีดวัคซีนหรือหมอพร้อม ช่วงนี้เราจะเน้นการฉีดเข็ม 3 ให้ครอบคลุมก่อน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แผนการบริหารวัคซีนในการประชุมคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค เมื่อวันที่ 13 ธ.ค.2564 ระบุว่า ผู้ที่รับเข็ม 2 ช่วงส.ค.-ก.ย. 2564 ให้มารับเข็ม 3 ในธ.ค. 2564, รับเข็ม 2 ช่วง ก.ย.-ต.ค.2564 ให้มารับเข็ม 3 ในม.ค.2565, รับเข็ม 2 ช่วงต.ค.-พ.ย.2564 ให้มารับเข็ม 3 ใน ก.พ.2565 และรับเข็ม 2 ช่วงพ.ย.-ธ.ค. 2564 ให้มารับเข็ม 3 ใน มี.ค.2565

ส่วนสูตรการฉีดวัคซีนเข็ม 3 หากรับ แอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม ให้รับเข็ม 3 เป็น ไฟเซอร์ หรือโมเดอร์นา ห่างจากเข็ม 2 ราว 3-6 เดือน หากรับไฟเซอร์ 2 เข็ม หรือโมเดอร์นา 2 เข็ม ให้รับเข็ม 3 เป็นไฟเซอร์ หรือโมเดอร์นา ห่างจากเข็ม 2 ไป 6 เดือน ส่วนที่ฉีดวัคซีนสูตรไขว้ คือซิโนแวค/ซิโนฟาร์ม+แอสตร้าฯ ให้รับเข็ม 3 เป็นแอสตร้าฯ ไฟเซอร์ หรือ โมเดอร์นา ห่างจากเข็ม 2 ราว 3-6 เดือน, ซิโนแวค/ซิโนฟาร์ม+ไฟเซอร์ ให้รับเข็ม 3 เป็นไฟเซอร์ หรือ โมเดอร์นา ห่างจากเข็ม 2 ราว 3-6 เดือน และรับแอสตร้าฯ+ ไฟเซอร์ ให้รับเข็ม 3 เป็นไฟเซอร์ หรือ โมเดอร์นา ห่างจากเข็ม 2 ไป 6 เดือน

สธ.ย้ำกทม.ยังเป็นช่วงขาขึ้น

วันนี้ติดเชื้อ 939 ราย สาเหตุที่ทำติดเชื้อสูง คือ พื้นที่เสี่ยง สถานที่ปิด ทั้งร้านอาหารกึ่งผับ พบติดเชื้อเกิน 5 คนทุกคลัสเตอร์ และหอพัก น.ศ.-แฟลตตำรวจเริ่มพบติดเชื้อเพิ่ม ส่วนกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อสูง คือ กลุ่มสัมผัสผู้ป่วย บุคลากรทางการแพทย์ที่พบเพิ่มขึ้น จัดทีมลงสุ่มตรวจร้านอาหารกึ่งผับ หากผิดมาตรฐานสั่งปิดปรับปรุง เล็งถอนมาตรฐานหากทำให้ระบาดหรือติดเชื้อซ้ำ

ด้านนพ.สุทัศน์ โชตนะพันธ์ ผอ.สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แถลงมาตรการป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 พื้นที่ กทม. กล่าวว่าสถานการณ์โควิด-19 ประเทศไทยวันนี้รายงานติดเชื้อ 8,167 ราย หายป่วย 3,845 ราย เสียชีวิต 14 ราย อัตราเสียชีวิตระยะหลังทรงตัวและต่ำลง โดยพบ ผู้ติดเชื้อในประเทศ 7,928 คน และมาจากต่างประเทศ 239 คน ส่วนพื้นที่ กทม. วันนี้รายงานป่วยใหม่ 939 ราย เสียชีวิต 3 ราย และรักษาหาย 300 กว่าราย การกระจายตัวของการเจ็บป่วยอยู่ในทุกกลุ่มอายุและทุกเขตของกทม. แต่บางจุดเป็นสีแดงมีอัตราการป่วยสูงกว่าโซนอื่นๆ ส่วนผู้เสียชีวิตใน กทม. ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2564-6 ม.ค. 2565 จำนวน 6,898 ราย พบว่า 61% ยังไม่ได้รับวัคซีนหรือรับไม่ครบ ส่วนผู้ที่รับวัคซีนป่วยแล้วเสียชีวิตอัตราค่อนข้างต่ำ ประมาณ 13.6%

“สำหรับกลุ่มเสี่ยงที่ทำให้เกิดการติดเชื้อในกทม.ที่พบเยอะ คือ 1.พื้นที่เสี่ยงและแหล่งชุมชน คือสถานที่ปิด ส่วนใหญ่เป็นร้านอาหารกึ่งผับกึ่งบาร์ที่ขออนุญาตเปิดปรับปรุงเป็นร้านอาหารปกติ ทำให้รับประทานอาหารได้ถึงเวลา 23.00 น. แม้จะมีมาตรการจำกัดการจำหน่ายและดื่มแอลกอฮอล์ถึงเวลา 21.00 น. แต่เนื่องจากพื้นที่เหล่านี้อากาศปิด การวางรูปแบบไม่ได้เป็นร้านอาหารที่มีการระบายอากาศที่ดี ทำให้เป็นพื้นที่เสี่ยงเพิ่มขึ้น ที่เริ่มพบรายงานมากขึ้น คือในหอพักที่มีลักษณะแออัด เช่นหอพักนักศึกษา และแฟลตตำรวจเริ่มมีรายงานมากขึ้น เน้นย้ำประชาชนเลี่ยงพื้นที่เสี่ยงเหล่านี้ หากอาศัยในแหล่งพื้นที่เสี่ยงให้พยายามแยกตัว ปฏิบัติตามมาตรการที่ สธ.แนะนำอย่างเคร่งครัด และ 2.กลุ่มที่สัมผัสผู้ป่วยยืนยันหรือพบผู้ป่วยยืนยัน พยายามแนะนำตรวจคัดกรองตัวเอง หากตัวเองป่วยให้แยกออกจากผู้ใกล้ชิด และเข้ารับการดูแลรักษาให้เร็วที่สุด”

ห่วงร้านกึ่งผับบาร์เสี่ยงสูง

นพ.สุทัศน์กล่าวต่อว่า กทม.ขณะนี้มีการระบาดเพิ่มขึ้น โดยกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง คือ 1.ร้านอาหารกึ่งปิดที่ปรับมาจากผับบาร์ ซึ่งแต่ละกลุ่มจะมีการระบาดมากกว่า 5 รายขึ้นไป ขอให้ประชาชนหากจะเข้าใช้บริการให้ดูความแออัด และดูมาตรฐานที่กำกับ เช่น SHA+ COVID Free Setting หากผู้รับบริการพบว่าร้านหลีกเลี่ยงหรือจงใจหลีกเลี่ยง ให้แจ้งพื้นที่ ซึ่งเราอาจจะถอนเรื่องการรับรองมาตรฐานการเปิดบริการ 2.กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และด่านหน้าที่พบการติดเชื้อเพิ่มขึ้น แต่ส่วนใหญ่รับเชื้อจากชุมชน บุคคลใกล้ชิด ไม่ได้รับเชื้อจากการเข้ารับบริการของผู้ป่วย และ 3.กลุ่มผู้มีประวัติสัมผัสผู้ป่วยยืนยัน

นพ.สุทัศน์กล่าวต่อว่า มาตรการด้านสาธารณสุข คำแนะนำสำหรับประชาชนและผู้ประกอบการ คือ หลีกเลี่ยงสถานที่ระบายอากาศไม่ดี สถานที่แออัด งดร่วมกิจกรรมเป็นเวลานานที่ไม่สวมหน้ากาก เช่น วงเหล้า ชะลอการเดินทางหากไม่จำเป็น หากกลับต่างจังหวัดสังเกตอาการตนเอง 14 วัน ใช้มาตรการทำงานที่บ้าน หากมีอาการสงสัยให้รีบตรวจ ATK และหากผลเป็นบวกให้ประสาน 1330 เพื่อลงทะเบียนเข้าระบบดูแลที่บ้าน (Home Isolation : HI) ซึ่ง สธ.และหลายหน่วยงานเปิดบริการ HI แล้ว และเตรียมเตียงรองรับหากดูแลแบบ HI แล้วอาการเปลี่ยนแปลง และเร่งไปฉีดวัคซีนทั้งเข็มปกติและเข็มกระตุ้น โดยกทม.เปิดพื้นที่บริการ 20 กว่าจุดเพื่อให้บริการ และ ทุกจังหวัดก็มีวัคซีนบริการ ช่วงนี้จะสะดวกมากขึ้น บางแห่งไม่ต้องลงทะเบียนก็วอล์กอินได้ ส่วนสถานประกอบการขอให้ทำตาม COVID Free Setting หากพบผู้ให้บริการติดเชื้อให้ดูแลแบบ Bubble&Seal รวมถึงในโรงงาน

จัดทีมเคลื่อนที่เร็วตรวจผับ

เมื่อถามถึงแนวโน้มการติดเชื้อใน กทม. ที่บางวันลดลงมาก แต่บางวันก็ติดเชื้อขึ้นไปเกือบ 2 เท่า นพ.สุทัศน์กล่าวว่า แนวโน้มตัวเลขขึ้นแน่ๆ โดยมีกลุ่มเสี่ยงจาก 2-3 กลุ่มดังกล่าว แต่กทม.มีปัญหาคือมีผู้อาศัยปริมณฑล พอป่วยแล้วพยายามเข้ามารักษาในกทม. และมีบริษัทห้างร้านรอบๆ กทม.ที่มีสัญญาดูแลรักษาสถานพยาบาลเอกชน จะมีผู้ป่วยกลุ่มนี้เข้ามาในกทม.มากเหมือนกัน ทำให้ตัวเลขเพิ่มขึ้น

ถามต่อถึงพื้นที่กทม.ที่มีการติดเชื้อสูง นพ.สุทัศน์กล่าวว่า การติดเชื้อในกทม. กระจายตัวแบบทั่วๆ ส่วนใหญ่อยู่ในชุมชนแออัด หรือมีร้านอาหารที่ปรับปรุงมาจากร้านอาหารกึ่งผับค่อนข้างสูง ซึ่งสธ.ร่วมกับ กทม.จัดทีมเคลื่อนที่เร็วลงพื้นที่สุ่มตรวจตามการแบ่งโซนให้ทำตามมาตรฐาน SHA+ และ COVID Free Setting โดยมีการหารือเรื่องการถอนการรับรองมาตรฐานทั้ง 2 ตัว หากรับการรับรองไปแล้วและไม่ปฏิบัติตามที่กำหนด หรือหากมีการระบาดหรือติดเชื้อซ้ำในพื้นที่นั้น แต่การสุ่มตรวจด้วยเจ้าหน้าที่อาจตรวจไม่ได้ทั้งหมด เพราะไม่ได้อยู่กับร้านตลอดเวลา ถ้าประชาชนมีเบาะแสจะทำให้การดูแลตามมาตรฐานดีขึ้น เมื่อมีรายงานก็สุ่มลงไปตรวจ โดยแจ้งพื้นที่เขตได้เลย ส่วนการจัดกิจกรรมรวมกลุ่มต้องมีการขอพื้นที่เขตเพื่อจัดกิจกรรม เท่าที่ทราบคือระงับเกือบทั้งหมดแล้ว

ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า ร้านอาหารกึ่งผับมีการติดเชื้อจำนวนมาก หากตรวจพบว่าไม่ปฏิบัติตามมาตรการ เช่นร้านแออัด ระบายอากาศ ไม่ดี ถึงขั้นต้องสั่งปิดเลยหรือไม่ นพ.สุทัศน์กล่าวว่า คงไม่ขนาดปิดเลย แต่จะดูว่าเป็นไปตามที่ร้องเรียนหรือไม่ เพราะสถานที่ที่จะเปิดได้ คือผ่านการตรวจประเมินแล้ว ถ้าผ่าน เราก็อนุญาตให้เปิดและมีใบรับรอง หากระหว่างเปิด พบข้อบกพร่องเพิ่ม ก็ต้องไปดูข้อเท็จจริง ถ้าเป็นจริงก็ให้ปิดเพื่อปรับปรุง แต่ถ้าเกิดเป็นกลุ่มก้อนหรือเกิดซ้ำ ก็กำลังพิจารณาว่าอาจจะเพิกถอนการรับรองมาตรฐาน ที่ผ่านมาพบว่า ร้านที่ติดเชื้อส่วนหนึ่งเพราะลักลอบเปิด เช่นเปิดเกินเวลา หรือจำหน่ายแอลกอฮอล์เกินเวลา

“ส่วนร้านอาหารปกติถ้าปฏิบัติตามมาตรฐาน มีการระบายอากาศดีก็ไม่มีปัญหา แต่เราพบว่าบางร้านมีการปนเปื้อนใน สิ่งแวดล้อม เช่น แอร์ ทำให้เราตรวจพบ ได้ยาก ซึ่งตามมาตรการปกติ คือ เช็ดทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัสนั้นมีการดำเนินการดี แต่ตอนนี้พบการปนเปื้อนของเชื้อในช่องระบายอากาศ ทำให้การตรวจพบอาจยากมากขึ้น” นพ.สุทัศน์กล่าว

เชียงใหม่ติดเชื้อยังพุ่ง 195

ส่วนจ.เชียงใหม่ พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 195 ราย เป็นผู้ติดเชื้อในจังหวัด 180 ราย อีก 15 รายติดเชื้อจากต่างจังหวัด ผู้ติดเชื้อสะสมตั้งแต่เดือนเม.ย.2564 จำนวน 31,748 ราย เฉพาะเดือนม.ค. 2565 ป่วยสูงถึง 2,710 ราย ยังคงรักษาตัว 2,033 ราย มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 2 ราย เสียชีวิตสะสม 194 ราย รักษาหายเพิ่ม 100 ราย รักษาหายสะสม 29,461 ราย ส่วนการตรวจ ATK วันนี้ จำนวน 3,113 ราย พบผลบวก 490 ราย และมีผู้ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว 1,560,748 คน คิดเป็นร้อยละ 90.25

สกลนครสั่งปิดหมู่บ้าน

ด้านนายวิชาญ อิทธิฤกษ์มงคล นายอำเภอโพนนาแก้ว จ.สกลนคร มีคำสั่งปิดสถานที่และห้ามเข้าออกสถานที่ที่กำหนดเป็นเวลาชั่วคราว เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิดในพื้นที่บ้านโพนบก หมู่ 6 ต.บ้านแป้น อ.โพนนาแก้ว มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องแล้ว 32 ราย และมีผู้สัมผัสเสี่ยงสูงจำนวนมาก ส่วนหนึ่งมาจากการร่วมงานขึ้นบ้านใหม่ ที่ปั๊มน้ำมันบ้านโพนบก เมื่อวันที่ 4-5 ม.ค.2565 เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาด จึงห้ามผู้ใดเข้าหรือออกจากพื้นที่บ้านโพนบก หมู่ 6 เว้นแต่เพื่อการรักษาพยาบาลการปฏิบัติหน้าที่ ให้มีผลตั้งแต่เที่ยงคืนวันที่ 12-26 ม.ค.2565 เป็นต้นไป

พร้อมประกาศให้หากใครที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ หรือผู้สัมผัสเสี่ยงสูงในหมู่บ้านดังกล่าวเฝ้าระวังสังเกตอาการตนเอง

เลื่อนจัดงานรวมน้ำใจไทสกล

ขณะเดียวกัน จ.สกลนคร มีคำสั่งด่วนที่สุดเลื่อนการจัดงานรวมน้ำใจไทสกลจังหวัดสกลนคร ประจำปี 2565 ออกไปอย่างไม่มีกำหนด ซึ่งแต่เดิมจะจัดวันที่ 21-27 ม.ค. 2565 เนื่องจากการระบาดของโควิด-19

ล่าสุดจ.สกลนคร พบผู้ติดเชื้อรายวัน 81 ราย และมีผู้ป่วยโควิดที่กำลังรักษา 344 ราย ยอดผู้เข้ารับการฉีดวัคซีน 635,118 ราย จากประชากร 1,000,147 ราย หรือ 63.50 %

เคสหมอลำซิ่งตามกลุ่มเสี่ยง500

ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์ และสาธารณสุขจังหวัดเลยรายงานว่า พบมีผู้ติดเชื้อเป็นกลุ่มใหญ่ ส่วนใหญ่ติดเชื้อจากร้านอาหาร ในหลายพื้นที่ในจังหวัด รวมทั้งการติดเชื้อกลุ่มใหญ่จากดูหมอลำซิ่ง ทำให้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มจำนวนมาก โดยวันนี้ พบผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่ม 43 ราย ในพื้นที่ 38 ราย และนอกพื้นที่ 5 ราย มีผู้สัมผัสเสี่ยงสูงต้องติดตาม 494 ราย

การติดเชื้อเป็นกลุ่มใหญ่ที่เกิดคลัสเตอร์ ส่วนใหญ่ยังคงเป็นร้านอาหารประเภทดื่ม กิน เป็นร้านดังในเขตเทศบาลเมืองเลย 3 ร้าน มีผู้ติดเชื้อในคลัสเตอร์นี้แล้ว 13 ราย เริ่มพบการติดเชื้อเมื่อวันที่ 8 ม.ค. ส่วนร้านอาหารนอกเขตอำเภอเมืองเลย มีผู้ติดเชื้อรวม 66 ราย พบผู้ติดเชื้อตั้งแต่วันที่ 5 ม.ค.

ส่วนคลัสเตอร์หมอลำซิ่ง เกิดขึ้น 2 แห่ง แห่งแรกที่บ้านห้วยเดื่อ ต.ป่วนพุ อ.หนองหิน จ.เลย พบผู้ติดเชื้อแล้ว 37 ราย และคลัสเตอร์หมอลำซิ่งล่าสุดเกิดที่บ้านโคกมน อ.วังสะพุง เจ้าหน้าที่เร่งสืบสวนโรค เนื่องจากผู้มีชมหมอลำกว่า 2,000 คน และเร่งติดตามผู้สัมผัสเสี่ยงสูงเกือบ 500 ราย

ด้านนายผดุงศักดิ์ หาญปรีชาสวัสดิ์ รอง ผู้ว่าฯ เลย เปิดเผยว่า ในรอบหนึ่งเดือนที่ผ่านมา เริ่มจะตรวจพบผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะสัปดาห์ก่อน มีผู้ติดเชื้อเพิ่มมากกว่า 3.5 เท่า ทำให้เกิดตัวเลขผู้ติดเชื้อสองหลักเริ่มเกิดขึ้น หากดูตัวเลขที่มีการติดเชื้อ ในทุกเคสที่มีการวิเคราะห์เกิดจากคนใกล้ชิดในครอบครัว เพราะเดินทางกลับเข้ามาจากพื้นที่เสี่ยงหรือต่างจังหวัด ประกอบกับการแพร่ระบาดโควิด-19 ความไม่ระมัดระวังตัว การไม่ปฏิบัติตามมาตรการที่ได้วางไว้จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้จ.เลยมียอดผู้ป่วยเพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้นทุกอำเภอที่เกิดขึ้นโดยส่วนใหญ่มีสารตั้งต้นเกิดจากญาติ พี่ น้อง ที่เดินทางกลับเข้ามาในจ.เลยในช่วงปีใหม่ แล้วไม่ปฏิบัติตามมาตรการที่จังหวัดได้กำหนดไว้ เช่นการรายงานตัว หรือตรวจ ATK ก่อนที่จะเดินทางเข้ามา จึงทำให้เกิดการติดเชื้อ

โคราชป่วยพุ่งไม่หยุด

นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าฯ นครราชสีมา กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์โควิดยังไม่ทรงตัว ตัวเลขผู้ป่วยในแต่ละวันยังสูงต่อเนื่อง วันนี้พบผู้ป่วยรายใหม่ 168 ราย เป็นผู้ติดเชื้อนอกจังหวัด 23 ราย ติดเชื้อในจังหวัด 145 ราย ผู้ป่วยสะสม 35,531 ราย รักษาหาย 33,847 ราย ยังรักษา 1,395 ราย เสียชีวิตรวม 289 ราย ทั้งนี้ จากตัวเลขผู้ป่วยที่มียอดสูงขึ้นหลังเทศกาลปีใหม่จำเป็นต้องมีความเข้มข้นและเข้มงวดมากยิ่งขึ้นในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรค ซึ่งให้ทางสาธารณสุขไปตรวจสอบรูปแบบของการติดเชื้อพบว่าการติดเชื้อไม่ติดในรูปแบบของคลัสเตอร์ใหญ่ แต่จะเป็นการติดจากคนในครอบครัวเดียวกัน โดยวันพรุ่งนี้จะหารือกับคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดในการเพิ่มมาตรการต่างๆ ให้เคร่งครัดมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่อ.เมือง เช่น การเข้าไปตรวจหาเชื้อแบบเชิงรุก สำหรับผู้ที่เดินทางมาจากจังหวัดเสี่ยงหรือมีการแพร่ระบาดของโรค เช่น จ.ขอนแก่น กาฬสินธุ์ กทม. ชลบุรี และพัทยา เป็นต้น

“จากการติดตามการระบาดในพื้นที่ 32 อำเภอของจังหวัด มีอ.เมืองนครราชสีมา น่าเป็นห่วง การติดเชื้อเป็นไปในรูปแบบติดกันครอบครัวจากช่วงเทศกาลปีใหม่ ซึ่งอ.เมืองจะเป็นอำเภอแรกในการปูพรมตรวจหาเชื้ออย่างจริงจัง ทั้งจากคนที่มาจากพื้นที่เสี่ยงและผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่มาจากพื้นที่เสี่ยง โดยตั้งเป้าว่าภายในสิ้นเดือนม.ค.นี้จะต้องควบคุมผู้ป่วยรายใหม่ให้ได้ต่ำกว่า 100 คนต่อวัน”

ปิดหมู่บ้านด่านขุนทด

เมื่อเวลา 10.00 น. ที่ศาลาประชาคมบ้านหนองบัวตะเกียด หมู่ที่ 1 ต.หนองบัวตะเกียด อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา นายไพฑูรย์ มหาชื่นใจ นายอำเภอด่านขุนทด พร้อมบุคลากรทางการแพทย์โรงพยาบาลด่านขุนทดและสำนักงานสาธารณสุขอำเภอด่านขุนทด ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมติดตามการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 และมอบถุงยังชีพให้ 60 ครอบครัว

โดยผู้นำชุมชนชี้แจงว่า พบการแพร่ระบาดในพื้นที่หมู่ที่ 1 ต.หนองบัวตะเกียด สอบสวนโรคสาเหตุมาจากผู้ป่วยรายแรกเดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงจ.ชลบุรี กลับมาภูมิลำเนาเดิมในช่วงเทศกาลปีใหม่ จากนั้นมีกิจกรรมทางสังคมกับเครือญาติและเพื่อนบ้าน ศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคอำเภอด่านขุนทดลงพื้นที่ค้นหานำกลุ่มเสี่ยง 51 ราย ตรวจหาเชื้อพบผู้ป่วยสะสม 13 ราย ในกลุ่ม 4 ครอบครัวที่เป็นญาติพี่น้องกัน จึงมีคำสั่งให้ปิดหมู่บ้านหนองบัวตะเกียด 14 วัน ตั้งแต่วันที่ 12-25 ม.ค.65 และตรวจ ATK กลุ่มเสี่ยงทุกราย ซึ่งได้รับการสนับสนุน ATK จาก ร.พ.ด่านขุนทด 400 ชุด

แก้งสนามนางปิด 2 หมู่บ้าน

ตามที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมาพบผู้ติดเชื้อรายใหม่จำนวนมาก และเชื้อแพร่ระบาดเป็นคลัสเตอร์ในหลายอำเภอ โดยเฉพาะคลัสเตอร์เลี้ยงสังสรรค์ หมู่ 7 บ้านนาแค ต.โนนสำราญ อ.แก้งสนามนาง มีผู้ติดเชื้อรวดเดียว 13 ราย และมีผู้สัมผัสเสี่ยงสูงในหมู่บ้านอีก 199 รายนั้น

นางอรพรรณ พลแสน ผู้ใหญ่บ้าน บ้านนาแค เปิดเผยว่า เมื่อช่วงวันที่ 30 ธ.ค. 2564 ถึงวันที่ 3 ม.ค.2565 มีญาติ 3 รายเดินทางมาจากศรีราชา จ.ชลบุรี กลับมาฉลองปีใหม่ที่บ้าน นาแค รวมสังสรรค์ประมาณ 20 คน จากนั้นญาติ 3 รายเดินทางกลับศรีราชาในวันที่ 3 ม.ค. 2565 และวันที่ 8 ม.ค.2565 โทร.มาแจ้งว่าติดเชื้อโควิดทั้ง 3 ราย ญาติ พี่น้องที่บ้านนาแค จึงไปตรวจ ATK ผลเป็นบวก 5 รายจึงแจ้งร.พ.แก้งสนามนาง รับตัวไปตรวจ RT-PCR ซ้ำ และตรวจเชิงรุกทั้งหมู่บ้าน จึงพบเครือญาติในบ้านนาแคติดเชื้อ 8 ราย และเชื้อกระจายไปวง 2 สู่ญาติๆ อีก 4 ราย ทางศบค.แก้งสนามนางเฝ้าระวังและกักตัวผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 199 คนแล้ว และมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อให้ได้โดยเร็ว ที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเห็นชอบให้ปิดพื้นที่หมู่บ้านนาแค หมู่ 7 และบ้านไทยสามัคคี หมู่ที่ 11 ต.โนนสำราญ ระหว่างวันที่ 12-25 ม.ค. 2565 เพื่อควบคุมกักกันโรคไม่ให้แพร่ระบาดออกไป โดยห้ามผู้ใดเข้า-ออกจากพื้นที่ดังกล่าว เว้นแต่ได้รับอนุญาตจาก เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ และห้ามบุคคลในพื้นที่ควบคุมนี้ รวมตัวกันในพื้นที่สาธารณะ เว้นแต่เป็นการรวมตัวตามคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ หากฝ่าฝืนถือเป็นความผิดตามกฎหมาย

นนท์เลื่อนจัดงานสองฝั่งเจ้าพระยา

ตามที่คณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจ.นนทบุรีเปิดเผยตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มอย่างต่อเนื่อง จนติด 1 ใน 10 ของจังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อรายวันสูงสุดของประเทศอีกครั้งจากการระบาดของเชื้อโควิดในรอบที่ 5 นั้น

นายสุจินต์ ไชยชุมศักดิ์ ผู้ว่าฯ นนทบุรี เปิดเผยว่า ผู้ติดเชื้อจำนวนดังกล่าวมาจากคลัสเตอร์เล็กๆ เมื่อจังหวัดได้รับรายงานก็รีบลงไปดำเนินการควบคุมโรคในพื้นที่ดังกล่าวทันที ตัวเลขดังกล่าวถือว่าไม่มากเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรในจ.นนทบุรีที่มี 1.6 ล้านคน และประชากรแฝงอีกกว่า 3 แสนคน ทางจังหวัดเตรียมความพร้อมทุกด้านไว้หมดแล้ว ดังนั้นสถานการณ์ตอนนี้จึงไม่น่าวิตก อย่างไรก็ตามอาจจะต้องพิจารณาปรับลดกิจกรรมบางอย่างที่ไม่จำเป็นออกไปก่อน ล่าสุดที่ประชุมพิจารณาให้เลื่อนการจัดงานมหกรรมสองฝั่งริมเจ้าพระยาออกไป เนื่องจากไม่ต้องการให้เกิดการร่วมกลุ่มของคนหมู่มาก ซึ่งสุ่มเสี่ยงกับการแพร่กระจายเชื้อ

วุ่นคลัสเตอร์ทีมตะกร้อ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 5 ม.ค.ที่ผ่านมา เกิดคลัสเตอร์ในกลุ่มนักเรียนกีฬาเยาวชนประเภทตะกร้อและวอลเลย์บอล หลังตรวจหาเชื้อก่อนเดินทางไปแข่งขัน พบมีนักกีฬา 27 คนติดโควิด และพบกลุ่มผู้ใกล้ชิดซึ่งมีความเสี่ยงสูงอีก 30 คน ทั้งหมดถูกส่งตัวรักษาและกักตัวที่วทก.ไทรน้อยแล้ว

ตรังป่วยโอมิครอนแล้ว 15

วันเดียวกัน พญ.ทิพย์ลดา บุญชัย นายแพทย์ชำนาญการ โรงพยาบาลตรัง ในฐานะรองโฆษกศบค.ตรัง กล่าวว่า จ.ตรังพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนแล้ว 15 ราย โดยเป็นรายใหม่ 5 ราย เป็นรายที่ 10-15 ประกอบด้วย รายที่ 10 ชาย อายุ 55 ปี สัญชาติออสเตรีย ทำงานอสังหาริมทรัพย์ เดินทางมาจากประเทศออสเตรีย เข้าโครงการ Test & Go พื้นที่สัมผัสโรคจ.เชียงใหม่ มีอาการมาก่อน ผู้ป่วยได้รับวัคซีนไฟเซอร์ 2 เข็ม รายที่ 11 หญิงไทย อายุ 64 ปี เป็นผู้ป่วยที่เข้าข่ายผู้ป่วยสอบสวนโรค ภูมิลำเนาการสัมผัสโรคมาจากเชียงใหม่เช่นกัน ได้รับวัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม และเข็มที่ 3 เป็นแอสตร้าเซนเนก้า และมีอาการไข้หวัดมาก่อน

ส่วนรายที่ 12-13 เป็นผู้ป่วยต่างชาติ เป็นชาย อายุ 31 ปี ชาวเบลเยียม เป็นพนักงาน และหญิง อายุ 25 ปี สัญชาติเบลเยียม เช่นกัน ทั้ง 2 รายนี้เดินทางมาจากกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม เข้าโครงการ Test & Go ก่อนจะมาถึงตรัง สองคนนี้มาอยู่ที่เกาะมุก อ.กันตัง จ.ตรัง ทั้งคู่ไม่มีอาการผิดปกติมาก่อน ได้รับวัคซีนจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน

รายที่ 14 หญิงไทย อายุ 23 ปี ไม่ได้ระบุอาชีพชัดเจน เป็นผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์สอบสวนโรค ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ที่ต.นาโต๊ะหมิง อ.เมือง จ.ตรัง มีอาการเข้าข่ายสงสัยโควิด ได้รับวัคซีน 3 เข็ม เป็นซิโนแวคเข็ม 1 และ 2 และแอสตร้าเซนเนก้า เข็ม 3 และผู้ป่วยรายที่ 15 เป็นเด็กหญิงชาวไทย อายุ 12 ปี เป็นนักเรียน มีประวัติเดินทางไปเที่ยวภูเก็ตกับครอบครัวและเข้าข่ายผู้ป่วยสอบสวนโรค ภูมิลำเนาอยู่ที่ต.วังมะปราง อ.วังวิเศษ จ.ตรัง ได้รับวัคซีนไฟเซอร์ 2 เข็ม

สรุปตอนนี้จ.ตรังมีผู้ป่วยที่ยืนยันว่าเป็นสายพันธุ์โอมิครอน 15 ราย เป็นการตรวจยืนยันสายพันธุ์ทั้งหมด 67 ราย โดย 52 รายพบสายพันธุ์เดลตา ที่เหลือ 15 รายเป็นโอมิครอน 7 ราย เป็นผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศตามโครงการ Test & Go 5 รายติดเชื้อจากจังหวัดอื่นนำเข้าสู่จ.ตรัง และ 3 รายที่ติดเชื้อกันในจ.ตรัง

พญ.ทิพย์ลดากล่าวด้วยว่า วันนี้พบผู้ป่วยโควิดรายใหม่ 27 ราย เป็นติดเชื้อใน จ.ตรัง 25 ราย ติดเชื้อจากที่อื่น 2 ราย รวมผู้ติดเชื้อตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2564 จำนวน 18,335 ราย

ปราจีนฯเจอโอมิครอนรายแรก

สำนักงานสาธารณสุข จ.ปราจีนบุรี รายงานว่า พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 50 ราย ติดเชื้อสะสม 27,433 ราย หายป่วยเพิ่ม 2 ราย หายป่วยสะสม 26,618 ราย กำลังรักษา 518 ราย ผู้เสียชีวิตสะสม 192 ราย

และพบผู้ป่วยติดเชื้อโอมิครอนรายแรกของจังหวัด ทราบว่าก่อนหน้าเดินทางไป พื้นที่เสี่ยงจ.ชลบุรี ช่วงเคานต์ดาวน์ปีใหม่

เจอแล้วหนุ่มรัสเซียหนีกักโควิด

ด้านสภ.ป่าตอง จ.ภูเก็ต แจ้งว่า เมื่อเวลา 13.18 น. วันที่ 13 ม.ค. ได้รับแจ้งจาก เจ้าหน้าที่โรงแรมป่าตองพารากอนว่า มีนักท่องเที่ยวโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์คือ นายอีวาน ซินนิคอฟ อายุ 25 ปี นักท่องเที่ยวชาวรัสเซียหายตัวไปตั้งแต่เช้าวันเดียวกันนี้จากโรงแรมป่าตองพารากอน ต.ป่าตอง อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต ยังไม่สามารถติดต่อได้ โดยผลตรวจพบเชื้อโควิด-19 เป็นบวก

ล่าสุด ด.ต.บุญยฤทธิ์ อินทการ สายตรวจตำรวจท่องเที่ยวป่าตอง พร้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจท่องเที่ยวสายตรวจป่าตองเข้าตราจสอบ เมื่อเวลา 17.30 น.วันเดียวกัน พบว่านายอีวาน ซินนิคอฟขี่รถจักรยานยนต์ออกจากโรงแรมป่าตองพารากอน เมื่อเวลา 12.30 น. และกลับมา 13.30 น. วันเดียวกัน สอบถามทราบว่า นายซินนิคอฟเกิดความเครียด จึงไปสูดอากาศบริสุทธิ์ บริเวณหาดป่าตอง และกลับเข้ากักตัวในห้องพัก หมายเลข 322 ของโรงแรมดัง กล่าวแล้ว

กทม.เตรียม 1 หมื่นเตียงรองรับ

ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกของกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวถึงสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า กทม.มีการตรวจเชิงรุกมาตลอดประมาณ 4,000 กว่าราย จำนวนนี้ยังไม่รวมการตรวจในโรงพยาบาล หรือที่ประชาชนไปตรวจกันเอง อัตราการพบผู้ติดเชื้ออยู่ที่ร้อยละ 1-2 แม้จะยังไม่สูง แต่จะไม่ประมาท และเฝ้าระวังอยู่ตลอด โดยพบการแพร่ระบาดอยู่ 2 ลักษณะ คือการแพร่ระบาดในชุมชน เช่น งานเลี้ยงสังสรรค์ จากการกินเลี้ยงในชุมชน กับอีกลักษณะหนึ่งคือการแพร่ระบาดที่เป็นพื้นที่ร้านอาหาร หรือพื้นที่จำหน่ายแอลกอฮอล์ และคลัสเตอร์ในโรงงาน

“ส่วนการป้องกันไม่ให้เตียงล้น ขณะนี้มีเตียงที่พร้อมสแตนด์บายราว 10,000 เตียง มีผู้ครองเตียงอยู่ที่ราวร้อยละ 18.59 หรือประมาณ 1,700-1,800 เตียง ขอให้ประชาชนที่ร่างกายแข็งแรงพักรักษาตัวอยู่ที่บ้านหรือ Home Isolation (HI) เพื่อที่จะรองรับการแพร่ระบาดรุนแรง ขณะนี้มีคลัสเตอร์ก่อสร้างที่ต้องเฝ้าระวังไปอีก 28 วัน อยู่ 5 แคมป์ และยังไม่มีคลัสเตอร์ใหม่เกิดขึ้น”

สำหรับร้านอาหารและสถานประกอบการจะยกระดับมาตรการคุมเข้มขึ้นหรือไม่ ร.ต.อ.พงศกรกล่าวว่า หลังมีการฉีดวัคซีน การเกิดคลัสเตอร์ตามร้านอาหารลดน้อยลง อีกส่วนหนึ่งคือสถานประกอบการกึ่งร้านอาหาร ส่วนนี้เราใช้มาตรการเดิม คือจะต้องดำเนินตามมาตรการตามร้านอาหาร 100% มีการเว้นระยะห่าง ฉีดวัคซีนให้พนักงาน คัดกรอง ไม่จัดพื้นที่ให้เต้น ดังนั้น หลังจากวันที่ 16 ม.ค.นี้ จะต้องดำเนินการตามมาตรการต่อไป ส่วนร้านที่กำลังจะเปิด จะต้องดำเนินการตามมาตรการเช่นกัน

ส่งรักษา – เจ้าหน้าที่เคลื่อนย้ายผู้ป่วยโควิดทั้งครอบครัวที่บ้านโคกเพชร ต.โคกกรวด อ.เมือง จ.นครราชสีมา ส่งรักษาร.พ.เทพรัตน์นครราชสีมา สอบสวนโรคพบติดเชื้อจากคลัสเตอร์สนามชนไก่ เมื่อวันที่ 13 ม.ค.

ปิดหมู่บ้าน – เจ้าหน้าที่ปิดพื้นที่หมู่บ้านนาแค หมู่ 7 และบ้านไทยสามัคคี หมู่ 11 ต.โนนสำราญ อ.แก้งสนามนาง จ.นครราชสีมา เนื่องจากพบผู้ติดเชื้อโควิดจำนวนมากจากคลัสเตอร์สังสรรค์ปีใหม่ มีผู้เสี่ยงสูงเกือบ 200 คน เมื่อวันที่ 13 ม.ค.

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน