แนะเหยื่อฟ้องรูด ทั้งผู้ว่า-ผู้การตร.

เหยื่อผับมรณะดับเพิ่มราย 16 เป็นพลทหารสังกัดพล บริการ เรือหลวงนเรศวร ไปเที่ยว ญาตินำศพไปตั้งสวดที่บ้านเกิดขอนแก่น ยังมีผู้บาดเจ็บนอนรักษาในร.พ. 30 ราย จำนวนนี้ใส่ท่อหายใจ 16 ราย ส่วนหนุ่มวัย 17 เผาแล้ว เพื่อนนักเรียนนับพันร่วมพิธี พร้อมร้องเพลงร่วมส่งวิญญาณเพื่อน ท่ามกลางบรรยากาศเศร้าโศก ผู้ว่าฯ จ่ายเงินเยียวยาญาติเหยื่อผู้เสียชีวิต 15 คน ด้านวงเสวนาตีแสกหน้าตร. อ้างไม่รู้มีผับเมาน์เทนบีได้อย่างไร ชงผู้ว่าฯ ชลบุรีปิดยาว 5 ปี แนะผู้เสียหายฟ้องกราวรูด ตั้งแต่ผู้ว่าฯ ผู้การตำรวจ ฐานละเลย

เหยื่อผับมรณะตายเพิ่มราย 16
เมื่อวันที่ 10 ส.ค. สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดชลบุรี สรุปเหตุการณ์ไฟไหม้เมาน์เทน บี ผับ ตั้งอยู่ม.7 ต.พลูตาหลวง อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี เมื่อกลางดึกวันที่ 5 ส.ค.ที่ผ่านมาว่า เหตุการณ์ดังกล่าวมีผู้เสียชีวิตที่เกิดเหตุ 13 ราย เสียชีวิตภายหลัง 3 ราย รวม 16 ราย โดยเสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย คือพลทหารสิทธิชัย อุ้ยเลิศ อายุ 23 ปี สังกัดพลบริการ เรือหลวงนเรศวร หมวดเรือที่ 3 กองเรือฟรีเกต 2 กองเรือยุทธการ เมื่อวันที่ 9 ส.ค. เวลา 22.21 น. ที่ร.พ.ชลบุรี

โดยยังมีผู้บาดเจ็บ 42 ราย รวม 55 ราย สามารถกลับบ้านได้ 9 ราย ยังคงรักษาในร.พ. 30 ราย ในจำนวนนี้ใส่ท่อช่วยหายใจ 16 ราย

ญาติรับศพเหยื่อราย 16
เมื่อเวลา 16.00 น. ที่ศูนย์นิติเวช งานนิติพยาธิ ร.พ.ชลบุรี นายนพรัตน์ ประวะเสนัง พ่อและญาติพี่น้องเดินทางมารับศพพลทหารสิทธิชัย อุ้ยเลิศ อายุ 23 ปี เหยื่อไฟไหม้ เมาน์เทน บี ผับ รายที่ 16 โดยทำพิธีเชิญวิญญาณ และนำศพขึ้นรถตู้โตโยต้า สีขาว ทะเบียน ฮค 7752 กทม.ไปตั้งประกอบพิธีทำบุญกุศลที่วัดอัมพวัน หมู่ 5 ต.แวงน้อย อ.แวงน้อย จ.ขอนแก่น

นายนพรัตน์ ประวะเสนัง พ่อของพลทหารสิทธิชัย เปิดเผยว่า ตกใจและเสียใจมาก ไม่คาดคิดมาก่อนว่าจะเป็นแบบนี้ ส่วนเรื่องเยียวยาทางต้นสังกัดของลูกได้ติดต่อประสานงาน โดยผู้บังคับบัญชาจะดำเนินการให้ทุกอย่าง สำหรับลูกของตนเป็นแขกเข้าไปเที่ยว เสียชีวิตเป็นรายที่ 16 แพทย์บอกว่าเสียชีวิตเพราะมีบาดแผลถูกไฟไหม้ลึก และไหม้เกิน 80% โดยศพจะไปตั้งที่วัดอัมพวัน สวด พระอภิธรรม 3 คืนและจะฌาปนกิจ ในวันอาทิตย์ที่ 14 ส.ค.นี้

ด้านนายวิชัย ศรีคุณโคตร ลุงของพลทหารสิทธิชัย กล่าวว่า เสียใจมาก ไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้นแบบนี้ ยืนยันว่าพลทหารสุทธิชัยเป็นผู้ที่เข้าไปเที่ยวในผับดังกล่าว ไม่ได้เป็นการ์ดของผับแต่อย่างใด

เพื่อนร่วมร้องเพลงเผาหนุ่ม 17
วันเดียวกัน เวลา 13.30 น. ที่ศาลาเมรุวัดสัตหีบ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ครอบครัวของนายกรวิทย์ เม็งคำมี หรือน้องกั๊ก อายุ 17 ปี เหยื่อเพลิงไหม้เมาน์เทน บี ผับ ได้ประกอบพิธีฌาปนกิจตามประเพณีทางศาสนา มีนายนริศ นิรามัยวงศ์ รองผู้ว่าฯชลบุรี เป็นประธานในพิธี โดยนายณรงค์ บุญบรรเจิดศรี นายกเทศมนตรีเมืองสัตหีบ พร้อมด้วยหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ เอกชน ข้าราชการ นักเรียนร่วมพิธีจำนวนมาก








Advertisement

ระหว่างประกอบพิธี น.ส.รำไพ ชิงชาติ อายุ 37 ปี มารดาของนายกรวิทย์ ร้องไห้โศกเศร้าตลอดเวลา ท่ามกลางเพื่อนๆ นักเรียนโรงเรียนสิงห์สมุทรสัตหีบของนายกรวิทย์กว่า 1,000 คน มาร่วมพิธี และขณะประชุมเพลิง เพื่อนสนิทกว่า 50 คนนำกีตาร์มาร่วมร้องเพลง ‘ฉันจะมีเธออยู่’ ท่ามกลางบรรยากาศที่โศกเศร้าของครอบครัว และเพื่อนๆ

ผู้ว่าฯมอบเงินเยียวยาญาติผู้ตาย
วันเดียวกัน นายภัครธรณ์ เทียนไชย ผู้ว่าฯชลบุรี พร้อมด้วยนายนริศ นิรามัยวงศ์ รองผู้ว่าฯชลบุรี นางศิริกุล โอภาสวงศ์ กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง นายณรงค์ บุญบรรเจิดศรี นายกเทศมนตรีเมืองสัตหีบ และในฐานประธานมูลนิธิสว่างโรจนธรรมสถานสัตหีบ นายกิตติ อุดม ประธานศาลเจ้าเง็กเซียนฮ่องเต้สัตหีบ ร่วมมอบเงินเยียวยาช่วยเหลือค่าฌาปนกิจแก่ญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุเพลิงไหม้เมาน์เทน บี ผับ ทั้ง 15 ราย

การมอบเงินเยียวยาช่วยเหลือผู้เสียชีวิตทั้ง 15 ราย ครั้งนี้ มีหน่วยงานทั้งภาครัฐเอกชน องค์ปกครองส่วนท้องถิ่นและมูลนิธิร่วมสมทบทุนช่วยเหลือเยียวยา ประกอบด้วยเทศบาลเมืองสัตหีบ มอบเงินช่วยเหลือญาติ ผู้เสียชีวิต หากเป็นหัวหน้าครอบครัวจะได้รับเงินช่วยเหลือรายละ 59,040 บาท และผู้เสียชีวิตที่ไม่ได้เป็นหัวหน้าครอบครัว จะได้รับมอบเงินช่วยเหลือรายละ 20,970 บาท นอกจากนี้ยังมีมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ช่วยเหลือ รายละ 20,000 บาท มูลนิธิสว่างโรจนธรรมสถานสัตหีบ ช่วยเหลือรายละ 20,000 บาท ห้างทองปัญญา มอบเงินเยียวยารายละ 10,000 บาท และศาลเจ้าเง็กเซียนฮ่องเต้ มอบเงินช่วยเหลือรายละ 2,000 บาท

ทั้งนี้ผู้เสียชีวิตที่ไม่ได้เป็นหัวหน้าครอบครัว 3 ราย จะได้รับมอบเงินเยียวยาช่วยเหลือรวม 81,700 บาทต่อราย ส่วนอีก 12 รายที่เสียชีวิตและเป็นหัวหน้าครอบครัวจะได้รับมอบเงินเยียวยาช่วยเหลือทั้งหมด 111,400 บาทต่อราย รวมเงินทั้งสิ้น 1,581,900 บาท

นายภัครธรณ์กล่าวว่า หลังเกิดเหตุรัฐบาลมีความห่วงใยกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมสั่งการให้จ.ชลบุรีเร่งเยียวยาช่วยเหลือผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บ โดยรัฐบาลเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและสั่งการให้หาคนรับผิดชอบกับเหตุการณ์ครั้งนี้ สำหรับเงินเยียวยาครอบครัวผู้เสียชีวิตที่ได้ไม่เท่ากันเพราะผู้เสียชีวิตมีสิทธิได้เงินในแต่ละบุคคลไม่เหมือนกัน บางรายทำประกันอุบัติเหตุไว้สำหรับตัวเอง จึงได้เงินเยียวยาในส่วนนั้นเพิ่มต่างหาก และบางรายได้ทำประกันสังคมไว้ด้วย ทั้งนี้กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวของในจังหวัดชลบุรีตรวจสอบสถานบันเทิงให้ได้มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด ส่วนร้านเมาน์เทน บี นั้นยืนยันว่าอยู่นอกพื้นที่โซนนิ่ง ไม่สามารถเปิดให้บริการได้ โดยบริเวณที่เกิดเหตุยังมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.พลูตาหลวง เฝ้าดูแลที่เกิดเหตุ ตลอด 24 ชั่วโมง ยังไม่มีการรื้อถอนโครงสร้างแต่อย่างใด ทราบว่าต้องเข้าไปตรวจสอบภายในจุดเกิดเหตุ เพื่อหาหลักฐานเพิ่มเติมในจุดบริเวณบาร์น้ำ และโต๊ะแคชเชียร์

อาลัย – บรรยากาศวงเสวนา ‘จากซานติก้าผับถึงเมาน์เทนบี…แก้อย่างไรให้ตรงจุด’ โดยผู้เข้าร่วมเสวนาแสดงความอาลัยต่อผู้เสียชีวิตจากเหตุเพลิงไหม้เมาน์เทนบี ผับ และแนะให้ฟ้องรูดผู้เกี่ยวข้อง ที่โรงแรมแมนดาริน สามย่าน กทม. เมื่อวันที่ 10 ส.ค.

แนะฟ้องผู้ว่าฯ-ผู้การตำรวจ
วันเดียวกัน ที่โรงแรมแมนดาริน สามย่าน กรุงเทพฯ ในวงเสวนา “จากซานติก้าผับถึงเมาน์เทนบี…แก้อย่างไรให้ตรงจุด” พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร เลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม กล่าวว่า กรณีผับเมาน์เทน บี เป็นสถานบันเทิงเถื่อน ชาวบ้านรู้กันทั้งบ้านทั้งเมือง ถ้าตำรวจบอกว่าไม่รู้ ถือว่าไม่มีสมรรถภาพ คาดว่ามีความเกี่ยวข้องกับการรับเงิน และเมาน์เทน บี ไม่ใช่ที่สุดท้าย แต่มีสถานบันเทิงแบบนี้อยู่ทั่วประเทศ หากไฟไม่ไหม้ก็คงไม่มีใครรู้ ดังนั้นการแก้ไขเฉพาะหน้าคือการเอาผิดผู้การตำรวจที่ หูหนวกตาบอด ส่วนระยะยาวต้องปฏิรูปโครงสร้างการบริหารงานราชการภูมิภาค ตำรวจต้องขึ้นอยู่กับผู้ว่าฯที่ต้องควบคุมสั่งงานได้ ลงโทษได้ เพราะที่ผ่านมาผู้ว่าฯ นายอำเภอ อนุญาตให้เปิดร้านต่างๆ แต่การตรวจสอบว่ามีการดัดแปลง หรือทำผิดกฎหมายหรือไม่ เป็นหน้าที่ตำรวจ

ด้านว่าที่ร.ต.สมชาย อามีน นายกสมาคมนักกฎหมายคุ้มครองสิทธิและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ชลบุรีอนุญาตให้เปิดสถานบันเทิงลักษณะนี้เพียง 2 อำเภอ คือพัทยาและบางละมุงเท่านั้น ดังนั้นเมาน์เทน บี ที่อ.สัตหีบ จึงเป็นพื้นที่ห้ามเปิด และมีการดัดแปลงการประกอบกิจการ ที่เป็นเช่นนี้เพราะในพื้นที่มีหลายหน่วยงานที่ดูแล แต่ขาดการบูรณาการ บังคับใช้กฎหมายหย่อนยาน ก่อให้เกิดโศกนาฏกรรมซ้ำซาก ซึ่งเมาน์เทน บี เปิดมา 2 เดือน คนทั้งจังหวัดรู้ แต่ตำรวจไม่รู้ พอเกิดปัญหาก็แก้ปัญหาง่ายๆ คือดำเนินคดีกับเจ้าของ สั่งย้ายนายอำเภอ ตำรวจในพื้นที่ไปแขวนไว้ที่อื่น ตั้งกรรมการสอบ ซึ่งทำแบบนี้ทุกครั้ง จึงอยากให้กรณีนี้เป็นคดีตัวอย่าง โดย 1.ผู้เสียหายรวมตัวกันฟ้องร้องผู้ประกอบการที่ประมาท 2.ยื่นเรื่องให้ป.ป.ช.ดำเนินการไต่สวนว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเจ้าหน้าที่รัฐมีส่วนละเลยแค่ไหน 3.ฟ้องศาลปกครอง ฟ้องหน่วยงานรัฐตั้งแต่ผู้ว่าฯลงมา เพื่อให้รับผิดชอบชดใช้ค่าสินไหมทดแทน กรณีปล่อยปละละเลย

ชงผู้ว่าฯปิดเมาน์เทนผับ 5 ปี
“เช่นเดียวกับพื้นที่อื่น หากพบสถานบันเทิงเสี่ยงเคยถูกร้องเรียนแล้วเจ้าหน้าที่ตำรวจมาตรวจสอบ แต่ไม่มีการแก้ไขอะไร ก็สามารถยื่นเรื่องป.ป.ช.ได้ โดยไม่ต้องรอให้เกิดโศกนาฏกรรม และ 4.ที่แห่งนี้ ผู้ว่าฯ ควรมี คำสั่งห้ามเปิดกิจการแบบสถานบริการอีก 5 ปี ซึ่งจุดนี้อาศัยอำนาจตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 22/2558, 46/2559 ดำเนินการได้เลย เพราะหนึ่งในฐานความผิดที่ชัดเจน คือให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปีใช้บริการ รวมถึงขอเรียกร้องให้กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการอำนวยการฯ ตาม คำสั่งนี้ เร่งออกกำกับติดตามตรวจจับกุมร้านเหล้าผับบาร์ต่างๆ ที่ฝ่าฝืนกฎหมาย และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องด้วย อย่าปล่อยให้ร้านเหล้าผับบาร์นอกรีตสร้างความเสียหายต่อชีวิตทรัพย์สินประชาชน” ว่าที่ร.ต.สมชายกล่าว

ห่วงได้รับเยียวยาไม่เป็นธรรม
นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผอ.มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า ขณะนี้ทราบเบื้องต้นว่าเจ้าของผับมีการจ่ายชดเชยผู้ตายรายละ 5 หมื่นบาท ถือว่าไม่เพียงพอ ทั้งที่จริงควรจ่ายชดเชยโดยคำนวณความสูญเสียทางเศรษฐกิจตามประมาณการอายุของผู้เสียชีวิต โดยรัฐต้องเป็นแกนกลางจัดสร้างพื้นที่ต่อรองระหว่างผู้ประกอบการกับครอบครัวผู้เสียหายให้ได้รับการเยียวยาที่เป็นธรรมที่สุด ตนเห็นว่าการแก้ปัญหาต้องปฏิรูปหรือออกกฎหมายให้นายทุน เจ้าของกิจการ ต้องรับผิดชอบค่าชดเชยกรณีเกิดอุบัติภัยต่างๆ หรือให้ตั้งกองทุนชดเชยขึ้นมา โดยให้นายทุนส่งเงินเข้ากองทุน แทนที่จะให้เป็นการต่อรองเป็นรายกรณี และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการอนุญาตเปิดสถานประกอบการที่ต้องขึ้นกับหลายหน่วยงานทั้งท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน ต้องบูรณาการการทำงานร่วมกัน ตรวจสอบต่อเนื่อง และเน้นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน เพื่อให้สถานประกอบการอยู่ในร่องในรอย

“เหตุการณ์ตั้งแต่โรงงานเคเดอร์ ปี 2536 ตาย 188 คน โรงแรมโรเยลพลาซ่าถล่ม ตาย 137 คน ปี 2536 โรงงานลำไยอบแห้งระเบิด ปี 2542 ตาย 36 คน ซานติก้าผับ ตาย 67 คน ถึงเมาน์เทน บีล่าสุด ซึ่งกรณีโรงงานลำไยระเบิดได้นำมาตรฐานข้อเรียกร้องที่นายจ้างโรงงานเคเดอร์จ่ายมาเป็นต้นแบบเรียกร้อง คือให้จ่ายค่าชดเชยผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ รายละ 2 แสนบาท และจ่ายค่าการศึกษาบุตรผู้เสียชีวิต แต่นายจ้างหนีออกนอกประเทศ จึงต้องเรียกร้องต่อรัฐบาลใช้เวลาต่อสู้นาน 6 เดือน รัฐบาลมีมติจ่ายเป็นกรณีพิเศษให้เท่ากับกรณีคนงานเคเดอร์ คือรายละ 2 แสน และให้ค่าการศึกษาบุตร แต่เมื่อเทียบกับเหตุการณ์เมาน์เทน บีได้แค่ 5 หมื่นบาทถือว่าน้อยมาก ควรต้องได้เกือบล้านด้วยซ้ำ เพราะต้องคิดตามอัตราเงินเฟ้อ 4-5% ด้วย ข้อสำคัญ ผับบาร์จะเป็นสถานที่ของอภิสิทธิ์ชนมิได้ กฎหมายต้องเท่าเทียม” นายจะเด็จ กล่าว

นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผอ.ฝ่ายพิทักษ์สิทธิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า เรื่องนี้ยังไม่พบว่ามีใครออกมาเยียวยาต่อผู้เสียหายอย่างจริงจัง ตามที่มีการอ้างว่าทนายความนำเงินประกันไปเยียวยาผู้เสียหายแล้ว ทั้งๆ ที่ผู้เสียหายต้องได้รับการเยียวยาอย่างเป็นธรรม โดยการเยียวยาเฉพาะหน้า ต่อผู้บาดเจ็บ เสียชีวิต ไม่ว่าจะเป็นค่าปลงศพ ค่ารักษาพยาบาล และกรณีเป็นหัวหน้าครอบครัว ก็จะทำให้มีคนอีกมากที่ขาดคนอุปการะก็ต้องได้รับการเยียวยาด้วย

“ขณะนี้ทางมูลนิธิประสานงานไปยัง เครือข่ายภาคตะวันออกลงพื้นที่ไปเก็บข้อมูล ประสานความช่วยเหลือผู้เสียหายแล้ว หรืออีกช่องทางหนึ่งผู้เสียหายสามารถติดต่อมาทาง มูลนิธิได้ทางโทร.0-2248-3734-7 อินบ็อกซ์เข้าไปที่เฟซบุ๊ก “มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค” และไลน์ consumerthai โดยในการช่วยเหลือ อาทิ เปิดพื้นที่ให้มีการไกล่เกลี่ย เยียวยา หากไม่มีความเป็นธรรมก็จะช่วยเรื่องการฟ้องร้องคดีต่อไป”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน