ประเวศ-พระโขนงหนัก ประชุมด่วน6ผอ.เขต พร่องคลองแสนแสบ กั้นเขื่อนป้องวัดอยุธยา

ฝนเทข้ามคืน กทม.ท่วม 15 จุดเปราะบาง เขตประเวศหนักสุด วัดปริมาณฝนได้ 144 ม.ม. รองลงมาพระโขนง 116.5 ม.ม. คลองเตย 103.5 ม.ม. มีน้ำท่วมขังสูง 10-30 ซ.ม. ‘ชัชชาติ’ ถกผอ. 6 เขต คลองเตย-บางนา-พระโขนง-วัฒนา-สวนหลวง ประเวศ รับมือฝนถล่มซ้ำ แจงน้ำท่วม พระราม4-สุขุมวิท เหตุประตูระบายน้ำคลองเตยปิดป้องกันน้ำทะเลหนุนสูง ซ่อมประตูระบายน้ำคลองพระโขนง เฝ้าระวังพื้นที่เปราะบางย่าน ‘เฉลิมพระเกียรติ ศรีนครินทร์ อุดมสุข’ เร่งพร่องน้ำคลองแสนแสบ ที่เพิ่มขึ้นอีก 1 เมตร รวมทั้งคลองสายหลัก ตั้งเขื่อนน็อกดาวน์ป้องกันโบราณสถานวัดไชยวัฒนาราม อยุธยา ที่อยู่ริมน้ำเจ้าพระยา ที่ระดับน้ำปริ่มตลิ่งอีกครึ่งเมตรจะทะลักเข้า ชาวอ.เสนา ฝั่งวัดสุวรรณ เก็บของขึ้นที่สูงหนีน้ำแล้ว หลังระดับน้ำเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เตือน 3 จังหวัด ลพบุรี สระบุรี และปทุมธานี ที่อยู่ท้ายเขื่อนป่าสักฯ รับมือน้ำท่วม

น้ำโขงขึ้น – น้ำโขงในเขตจ.หนองคายเพิ่มสูงขึ้นจากฝนตกหนักต่อเนื่อง และการเร่งระบายน้ำของเขื่อนในประเทศลาว ทางจังหวัดประกาศเตือนชาวบ้านริมน้ำให้ขนข้าวของขึ้นที่สูงเตรียมพร้อมรับสถานการณ์น้ำล้นตลิ่ง เมื่อวันที่ 16 ส.ค.

กำชับ13มาตรการรับมือน้ำท่วม
เมื่อวันที่ 16 ส.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม แถลงภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงสถานการณ์น้ำท่วมว่า ได้สั่งการเน้นย้ำมาหลายครั้งแล้ว และวันเดียวกันได้รับไปงานจากสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) โดยพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้สั่งการเพิ่มเติม 13 มาตรการรับมือฤดูฝนที่ได้ประกาศไว้แล้ว ที่หน่วยงานทั้งหมดที่เกี่ยวข้องจะต้องนำไปเป็นแนวทางปฏิบัติ ในการรับมือกับน้ำท่วม

“เคยบอกไว้แล้วว่าเราห้ามฝน ห้ามธรรมชาติไม่ได้ ต้องอยู่กับธรรมชาติให้ได้ ส่วนจะอยู่ได้อย่างไรต้องมีการปรับตัวและเตรียมตัว ทุกคนต้องเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์เสมอ โดยเฉพาะหน้าฝน บ้านที่อยู่ใกล้ที่สูง เช่น ภูเขา ที่เป็นทางน้ำไหลผ่าน ถึงแม้กรมอุตุนิยมวิทยาจะรายงานมาหลายๆ อย่างก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา เพราะอากาศผันผวน หลายประเทศก็เดือดร้อน อย่างเช่น เกาหลีใต้ซึ่งน้ำท่วมหนัก ขณะนี้แบบไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ประเทศในแถบยุโรปอุณหภูมิสูงขึ้น ทั้งที่เป็นโซนที่มีอากาศหนาวก็กลายเป็นประเทศร้อน นี่คือสิ่งที่อากาศโลกเปลี่ยนแปลงเราต้องอยู่กันให้ได้ ต้องมองในภาพรวมด้วย” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

ช่วยระบาย – สำนักงานเขตจตุจักรนำรถแบ๊กโฮขุดลอกริมคลองเปรมประชากรข้างวัดเสมียนนารี เขตจตุจักร เพื่อให้การระบายน้ำคล่องตัวมากขึ้น รอรับน้ำฝนที่ตกต่อเนื่องทั่วกรุงเทพฯ จนเกิดน้ำท่วมขังหลายจุด เมื่อวันที่ 16 ส.ค.

ฝนเทข้ามคืนท่วมกรุง 15 จุด
ที่สำนักการระบายน้ำ (สนน.) ศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วม กรุงเทพมหานคร รายงานสถานการณ์ในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมาว่า เกิดฝนตกหนักถึงหนักมากทั่วพื้นที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่ช่วงเย็นวันที่ 15 ส.ค. ต่อเนื่องตลอดทั้งคืน โดยปริมาณฝนสะสมสูงสุดที่เขตประเวศ 144 ลิลลิเมตร (ม.ม.) สำนักงานเขตพระโขนง 116.5 ม.ม. สถานีพระโขนง เขตคลองเตย 103.5 ม.ม. สำนักงานเขตสวนหลวง 102.5 ม.ม. คลองบางนา-ถนนศรีนครินทร์ เขตบางนา 100.5 ม.ม. สำนักงานเขตสะพานสูง 100 ม.ม. ประตูระบายน้ำพระยาสุเรนทร์ เขตสายไหม 91.5 ม.ม. คลองแสนแสบ-วัดทรัพย์ เขตหนองจอก 88.5 ม.ม. ส่งผลให้มีน้ำท่วมขังสูง 10-30 ซ.ม. ยาว 100-1000 เมตร กว้างตั้งแต่ 1 เลนจนถึงเต็มผิวจราจร บนถนนสายหลักที่ สนน.รับผิดชอบ จำนวน 15 จุด ดังนี้

1.บริเวณรอบสนามหลวง เขตพระนคร 2.บริเวณมาบุญครอง ถ.พระราม 1 เขตปทุมวัน 3.ซ.สวนพลูซอย 6 – วิทยุการบิน ถ.สวนพลู เขตสาทร 4.ถ.จันทน์ -สาธุประดิษฐ์ซอย 5 ถ.สาธุประดิษฐ์ เขตสาทร 5.บริเวณเฉลิมพระเกียรติร.9 ซ.49-คอลงปลัดเปรียง ถ.เฉลิมพระเกียรติร.9 เขตประเวศ 6.แยกศรีอุดม-เฉลิมพระเกียรติร.9 ซ.3 ถ.เฉลิมพระเกียรติร.9 เขตประเวศ 7.บริเวณเกษมราษฎร์-ซอยแสนสบาย ถ.พระรามที่ 4 เขตคลองเตย

8.คลองลาว-คลองบ้านป่า ถ.พัฒนาการ เขตสวนหลวง 9.บริเวณวังสวนผักกาด ถ.ศรีอยุธยา เขตราชเทวี 10.บริเวณหน้ากรมปศุสัตว์ ถ.พญาไท เขตราชเทวี 11. ซอยปรีดีพนมยงค์ 14-26 ถ.สุขุมวิท 71 เขตวัฒนา 12.ซอยปรีดีพนมยงค์ 37-บ่อสูบใต้สะพานคลองตัน ถ.สุขุมวิท 71 เขตวัฒนา 13. รร.โฟว์ทวิน – ถ.พระราม 4 ถ.สุขุมวิท เขตวัฒนา 14. ซ.พร้อมมิตร-ซ.พร้อมศรี ถ.สุขุมวิท เขตวัฒนา และ15.ท้ายซอยสุขุมวิท 40 -ถ.สุขุมวิท เขตวัฒนา

ขณะที่ค่าระดับน้ำแนวคันกั้นน้ำด้านตะวันออกวันนี้ ที่ประตูระบายน้ำคลองสอง (สายใต้) (ระดับวิกฤต +1.80) เวลา 07.00 น. ระดับ +1.41 ม.รทก. ระดับปกติ ประตูระบายน้ำแสนแสบ (มีนบุรี) (ระดับวิกฤต +0.90) เวลา 07.00 น. ระดับ +0.67 ม.รทก. ระดับปกติ และประตูระบายน้ำลาดกระบัง (ระดับวิกฤต +0.60) เวลา 07.00 น. ระดับ -0.39 ม.รทก. ระดับปกติ

กำชับมท.-กทม.ช่วยน้ำท่วม
นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า กรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์ว่าวันที่ 16 ส.ค. กรุงเทพมหานครจะมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง จากอิทธิพลของร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน ทำให้ประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออกตั้งแต่ในช่วงวันที่ 16 – 20 ส.ค.

นายธนกรกล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม กำชับกระทรวงมหาดไทย (มท.) ประสานกับ กทม. เตรียมความพร้อมของเจ้าหน้าที่ อุปกรณ์และเฝ้าระวังจุดเสี่ยง ให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่เสี่ยง ประชาชนที่อยู่นอกแนวคันกั้นน้ำ แนวเขื่อนชั่วคราว และประชาชนที่อยู่ริมคลอง ในพื้นที่เขตหนองจอก และเขตลาดกระบัง เตรียมขนย้ายสิ่งของให้อยู่ที่สูง และติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดจากกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ ด้วย

ด้านนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. เผยแพร่ภาพไลฟ์สดผ่านเพจ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” นั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ตรวจติดตามสถานการณ์น้ำท่วม บริเวณถนนพระราม 4 ซอยปรีดีพนมยงค์ ถนนเอกมัย หลังจากฝนตกหนักทั่วกรุงเทพฯ ข้ามคืน โดยเฉพาะในโซนกรุงเทพตะวันออก ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่ โดยสภาพในตอนเช้าถนนสายหลักแห้งเป็นปกติแล้ว บางจุดในซอยที่มีระดับต่ำยังมีน้ำค้างอยู่บนผิวจราจรบ้างเล็กน้อย แต่พบว่าปัญหาสำคัญที่ทำให้น้ำระบายได้ยาก คือ ขยะถุงพลาสติกต่างๆ ไหลมาอุดตันทางลงของน้ำบริเวณ ท่อระบายน้ำทำให้น้ำเอ่อล้นและท่วมบนถนน บ้านเรือน และร้านค้า ซึ่งพนักงานกวาดให้ข้อมูลว่ามีปัญหานี้เกือบทุกจุด จึงต้องมี เจ้าหน้าที่มาคอยดูแลเก็บขยะหน้าตะแกรง ท่อระบายน้ำก่อนและขณะฝนตก แต่ก็ยังมีขยะที่ไหลมาจากที่อื่น ซึ่งหลังน้ำลด จะพบเห็นขยะถุงพลาสติกต่างๆ อยู่เกลื่อนถนน ฟุตปาธ และบริเวณฝาท่อระบายน้ำ และพาไปดูการทำตะแกรงชิดขอบถนนเป็นแนวยาว เพื่อเปิดช่องรับน้ำจากถนนลงท่อระบายน้ำเพิ่มมากขึ้น เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยทำให้น้ำไหลลงจากถนนได้เร็วขึ้น

แจงท่วมพระราม 4-สุขุมวิท
นายชัชชาติกล่าวว่า มีความห่วงใย โดยเฉพาะบริเวณเส้นเลือดฝอยในซอยและชุมชนต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งจะไม่มีข้อมูลและตัววัดอยู่ในระบบหลักของศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วม ปัญหาคลองย่อยต่างๆ ซึ่งเป็นเส้นทางระบายน้ำที่สำคัญยังคงมีการรุกล้ำอยู่มีส่วนทำให้น้ำลงได้ช้า และการก่อสร้างระบบระบายน้ำบึงหนองบอนที่มีปัญหาบริเวณคลองเคล็ดยังต้องใช้เวลาในการแก้ไขทำให้ส่งผลกระทบต่อการระบายน้ำ

ส่วนยุทธศาสตร์ในการทำเส้นเลือดฝอยเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมตลอดช่วงสองเดือนที่ผ่านมาถือว่าทำได้ดี เนื่องจากช่วยให้น้ำลดได้เร็วขึ้นเมื่อเกิดฝนตกหนักและเกิดน้ำท่วมขัง ไม่ว่าจะเป็นการขุดลอกทำความสะอาดท่อระบายน้ำ การขุดลอกคูคลอง การเก็บวัชพืชเปิดทางน้ำไหล การพร่องระดับน้ำในคลอง รวมไปถึงการใช้หน่วยสูบน้ำเคลื่อนที่เร็วไปตามจุดต่างๆ

ต่อมา ที่อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการ กทม.2 ดินแดง นายชัชชาติกล่าวว่า เมื่อคืนฝนมามากกว่าที่คาดการณ์ไว้ และมาลักษณะหลายลูกติดต่อกันต่อเนื่องโดยเฉพาะโซนตะวันออก พื้นที่เขตประเวศ บางนา โดยที่เขตประเวศก็ถือว่าหนัก นอกจากนี้ยังมีน้ำท่วมหนักแถวถนนพระราม 4 สุขุมวิท 26 ซอยกล้วยน้ำไท ต่อเนื่องไปสุขุมวิท 71 ปรีดีพนมยงค์ ซอย 14, 20, 26 และ 31 ไปถึงทางฝั่งถนนเฉลิมพระเกียรติ แถวศรีนครินทร์ตัดอุดมสุข

สำหรับสาเหตุน้ำท่วมส่วนหนึ่งมาจากประตูระบายน้ำที่คลองเตยซึ่งมีประตูระบายน้ำลงไปสู่คลองพระโขนงออกแม่น้ำเจ้าพระยา โดยบริเวณดังกล่าวเป็นจุดที่น้ำทะเลหนุนสูงทำให้ต้องปิดประตูระบายน้ำและสูบน้ำออกอย่างเดียว ขณะเดียวกันคลองพระโขนงเป็นจุดที่อยู่ระหว่างซ่อมแซมประตูระบายน้ำและดาดท้องคลอง เมื่อก่อนน้ำไหลผ่านได้ 30 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวินาที พอปิดประตูระบายน้ำเพื่อซ่อมแซม ทำให้ต้องสูบน้ำออกได้เพียง 9 ลบ.ม.ต่อวินาที ทำให้น้ำเอ่อล้นมาถึงถนนพระราม 4 เข้าถนนสุขุมวิท แต่พอฝนหยุดได้เร่งระบายน้ำออกจนกลับสู่ภาวะปกติ โดยช่วงเช้าวันเดียวกัน เวลา 04.30 น. ถนนสายหลักน้ำแห้งหมดแล้ว จากที่ท่วมหนักๆ ประมาณ 01.00 น.ถือว่าระบายได้เร็วอยู่ ใช้เวลา 2-3 ชั่วโมง

อย่างไรก็ตาม วันนี้จะติดเครื่องสูบน้ำเพิ่มบริเวณคลองเตย ส่วนแถวศรีนครินทร์ก็มีปัญหา 2-3 เรื่อง เช่น อุโมงค์ระบายน้ำที่ยังไม่เสร็จอาจทำให้มีปัญหาที่ไม่เป็นไปตามแผน ขณะเดียวกัน พื้นที่เดิมมีแก้มลิง แต่เอกชนห้ามไม่ให้ใช้มีผลทำให้ไม่สามารถควบคุมปริมาณน้ำได้ดี และยังมีปริมาณน้ำท่วมขังอยู่ซึ่งต้องเร่งนำเครื่องสูบน้ำเข้าไป

ถกผอ.6 เขตรับมือฝนถล่มซ้ำ
นายชัชชาติกล่าวอีกว่า วันนี้ได้ประชุม ผอ.เขตที่เกี่ยวข้องประมาณ 6 เขต ได้แก่ คลองเตย บางนา พระโขนง วัฒนา สวนหลวง และประเวศ ถึงปัญหาซึ่งส่วนใหญ่เข้าใจและเมื่อวานได้มีการทำงานอย่างเต็มที่ มีการนำรถออกมารับประชาชนเข้าพื้นที่ต่างๆ รวมถึงรถทางทหารเข้ามาช่วยเหลือประชาชนที่บริเวณ ซอยพัฒนาการ 58 ช่วยเหลือนักเรียนออกจากซอยไปส่งโรงเรียน โดยให้เตรียมรับมืออีก เพราะอาจมีฝนมาซึ่งถ้าเกิดตกหนักเหมือน เมื่อวานจะหนักกว่าเดิม เพราะว่าเมื่อวานน้ำขึ้นสูง กทม.ได้พร่องน้ำไว้อย่างดีก่อนที่ฝนตก โดยระดับน้ำในคลองแสนแสบลดลงไป-70 ซ.ม. แต่พอฝนตกมาระดับน้ำเพิ่มขึ้น+1เมตร ดังนั้น ต้องดูว่าฝนจะตกลงมาคืนนี้อีกเท่าไหร่ แต่จะเร่งระบายให้เร็วที่สุด

จากนั้น นายชัชชาติได้เป็นประธานการประชุมที่สนน. เพื่อหารือพร้อมรับทราบปัญหาฝนตกหนักน้ำท่วมขังในพื้นที่ โดยมีนายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม. และคณะผู้บริหารสนน. ผอ.เขตประเวศ เขตพระโขนง เขตคลองเตย เขตวัฒนา เขตบางนาและเขตสวนหลวง โดยกำชับให้เร่งลดระดับน้ำในคลองสายหลักต่างๆ อย่างต่อเนื่อง พร้อมประสานกรมชลประทานช่วยเร่งระบายน้ำ ซึ่งขณะนี้ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากสำนักงานชลประทาน 11 เร่งสูบน้ำออกพื้นที่หนองจอกและประเวศวันละ 3 ลบ.ม. เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนประชาชนจากปัญหาน้ำท่วมขัง

หนีน้ำ – ชาวบ้านเกาะกระพี้ หมู่ 3 ต.ประจันตคาม อ.ประจันตคาม จ.ปราจีนบุรี ขนข้าวของหนีน้ำขึ้นไปอยู่ริมถนน หลังเกิดฝนตกหนักน้ำหลากเข้าท่วมบ้านเรือน โดยอบต. ประจันตคามนำเต็นท์มาตั้งเป็นพี่พักชั่วคราว เมื่อวันที่ 16 ส.ค.

ให้เมือง‘แปดริ้ว’ขนของขึ้นที่สูง
ส่วนที่จ.ฉะเชิงเทรา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตั้งแต่ช่วงเย็นวันที่ 15 ส.ค. ที่มีลมพายุและฝนได้ตกลงมาในทุกอำเภอ สร้างความเสียหายให้ในหลายพื้นที่ มีต้นไม้ล้มขวางถนนหลายสาย มีน้ำท่วมขังไปทั่ว รถยนต์จอดดับตลอดแนวถนนในตัวเมืองฉะเชิงเทรา

ด้านเทศบาลเมืองฉะเชิงเทรา โดยศูนย์เฝ้าระวังป้องกันน้ำท่วม ได้จัดเจ้าหน้าที่สำรวจตามพื้นที่มีน้ำท่วมขัง ส่งเจ้าหน้าที่กองช่างสุขาภิบาลประจำสถานีสูบน้ำ ที่ติดตั้งในจุดต่างๆ เจ้าหน้าที่ฝ่ายป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ประจำ ณ จุดติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ท่าเรือเขียว และออกติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ช่วยเหลือบ้านเรือนประชาชนที่ตั้งอยู่ระดับต่ำกว่าผิวจราจรที่น้ำท่วมขังบริเวณโดยรอบตลาดทรัพย์สินฯ ถนนพานิช และแจ้งเตือนว่าในช่วงเวลา 22.00 น. วันเดียวกัน ระดับน้ำทะเลหนุนสูงสุดจึงขอแจ้งเตือนประชาชนที่มีบ้านติดคลองริมแม่น้ำควรเก็บข้าวของขึ้นที่สูง

อ่างทอง-อยุธยาน้ำล้นตลิ่งเพิ่ม
ด้านกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย ฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) รายงานจากสถานการณ์ร่องมรสุมพาดผ่านประเทศลาวตอนบนเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณทะเลจีนใต้ ในขณะที่หย่อมความกดอากาศต่ำปกคุลมประเทศเมียนมาและประเทศลาวตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ทำให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขังในระหว่างวันที่ 15-16 ส.ค. เกิดสถานการณ์ในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ ลำปาง มหาสารคาม ขอนแก่น ศรีสะเกษ และสระแก้ว รวม 8 อำเภอ 8 ตำบล 9 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 16 ครัวเรือน ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้วทุกจังหวัด

ส่วนสถานการณ์ฝนตกหนักในภาคเหนือ ทำให้ปริมาณน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยามีปริมาณระหว่าง 1,400 – 1,600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที มีความจำเป็นต้องระบายน้ำเพิ่มขึ้นในอัตรา 1,000 – 1,400 ลบ.ม.ต่อวินาที ส่งผลให้พื้นที่ริมน้ำมีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันอีกประมาณ 0.20 – 0.60 เมตร บริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำ นอกคันกั้นน้ำบริเวณคลองโผงเผง จ.อ่างทอง คลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา และ ต.หัวเวียง อ.เสนา ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา (แม่น้ำน้อย) ทำให้เกิดน้ำล้นตลิ่งและเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน 2 จังหวัดภาคกลาง ปัจจุบันระดับน้ำทรงตัว ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา เกิดน้ำล้นตลิ่งจากการระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยาในพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อ.เสนา (ต.หัวเวียง บ้านกระทุ่ม บ้านโพธิ์ บ้านแพน รางจระเข้ เสนา) อ.ผักไห่ (ต.บ้านใหญ่ ท่าดินแดง ผักไห่) อ.บางบาล (ต.วัดตะกู บ้านคลัง ทางช้าง น้ำเต้า) อ.บางไทร (ต.บางยี่โท สนามไชย บ้านกลึง บ้านเกาะ) ประชาชนได้รับผลกระทบ 1,276 ครัวเรือน ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต

คลองโผงเผงเอ่อ-ไหลเชี่ยว
ขณะที่คลองโผงเผง ต.โผงเผง อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง พบว่าระดับน้ำได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่มีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากน้ำเอ่อล้นตลิ่ง ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ บริเวณริมตลิ่ง หมู่ 1 ต.โผงเผง มีระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 1 เมตร ก็จะเอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่

ด้านเรือลากจูงบรรทุกสินค้าในคลองโผงเผง ต้องใช้ความระมัดระวังอย่างมากในการเดินเรือท่ามกลางกระแสน้ำที่ไหลเชี่ยว ต้องใช้เรือลากจูงทั้งทางหัวพ่วงเรือและช่วงพ่วงท้ายเรือ ประคองเรือบรรทุกสินค้าในช่วงผ่านสะพาน เนื่องจากกระแสน้ำแรงและเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ส่วนแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่านจ.อ่างทอง หลังจากมีฝนตกต่อเนื่อง ทำให้พื้นหลายจังหวัดภาคเหนือตอนบน เขื่อนเจ้าพระยาจังหวัดชัยนาท เพิ่มการระบายน้ำลงสู่ท้ายเขื่อนเป็นวันที่สามในปริมาณ 1,200 ลบ.ม. ต่อวินาที ส่งผลให้พื้นที่ริมน้ำด้านท้ายเขื่อน ที่ไหลผ่านสถานีโทรมาตร C7A บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัด อยู่ที่ ระดับน้ำสูง 5.47 เมตร จากระดับตลิ่ง 10 เมตร ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น จากเมื่อวาน 5 ซ.ม. ปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,323 ลบ.ม.ต่อวินาที

ตั้งเขื่อนป้องกันวัดไชยฯ
ที่โบราณสถานวัดไชยวัฒนาราม ต.บ้านป้อม อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา ที่อยู่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา พบว่าระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยายังคงเพิ่มสูงขึ้น เหลืออีก 50 ซ.ม. จะเสมอเท่ากับพื้นของโบราณสถาน พล.ต.คณธัช มากท้วม ผบ.มทบ.18 นำทหารจากกองพันทหารม้าที่ 11 กรมทหารม้าที่ 4 รอ. จำนวน 100 นาย ระดมกำลังเข้ามาเสริมช่วยเจ้าหน้าที่กรมศิลปากร เร่งติดตั้งเขื่อน แบบน็อกดาวน์ป้องกันน้ำท่วม ระยะทางยาว 130 เมตร สูง 2 เมตร ป้องกันน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาล้นตลิ่ง

นายภัทรพงษ์ เก่าเงิน ผอ.อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า จากการติดตามสถานการณ์เฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด จึงติดตั้งแนวเขื่อนป้องกันน้ำท่วมไว้ก่อน สำหรับโบราณสถานและแหล่งท่องเที่ยวของจ.พระนครศรีอยุธยา นักท่องเที่ยวยังคงมาเที่ยวได้ตามปกติ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการลงพื้นที่สำรวจบริเวณหมู่ 3 ต.หัวเวียง อ.เสนา ฝั่งวัดสุวรรณ พบว่าระดับน้ำสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ชาวบ้านเก็บของหนีน้ำไว้ที่สูงแล้ว เพื่อเตรียมรับมือน้ำสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

เตือนท่วม 3 จว.ท้ายเขื่อนป่าสัก
ด้านนายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ ผวจ.สระบุรี กล่าวว่า ได้รับแจ้งจากโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาป่าสักชลสิทธิ์ว่า ตามที่มีฝนตกหนักในพื้นที่เหนือเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการควบคุมระดับน้ำและปริมาณน้ำในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาป่าสักชลสิทธิ์ จะเพิ่มการระบายน้ำโดยทยอยเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ จากอัตรา 160 ลบ.ม. ต่อวินาที ดังนี้

วันที่ 16 ส.ค. ตั้งแต่เวลา 06.00น. เป็นต้นไป จนถึงอัตรา 200 ลบ.ม.ต่อวินาที, วันที่ 18 ส.ค. ตั้งแต่เวลา 06.00 น. จนถึงอัตรา 240 ลบ.บ.ต่อวินาที และวันที่ 20 ส.ค. ตั้งแต่เวลา 06.00 น. จนถึงอัตรา 280 ลบ.ม.วินาที ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันความเสียหายที่จะเกิดต่อทรัพย์สินของประชาชนจากการที่ระดับน้ำในแม่น้ำป่าสักเพิ่มสูงขึ้นอีกประมาณ 0.90- 2.00 เมตร จากปัจจุบัน โดยระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นยังอยู่ในลำน้ำ ไม่เกิดสภาวะน้ำล้นตลิ่งแม่น้ำป่าสัก แต่เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์น้ำเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ขอแจ้งเตือน 3 จังหวัดด้านท้ายเขื่อน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกาศประชาสัมพันธ์ แจ้งเตือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บริษัท ห้างร้าน ที่ประกอบกิจการในแม่น้าป่าสัก อาทิ งานก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง และแพร้านอาหาร รวมทั้งประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำป่าสัก ติดตามสถานการณ์น้ำอย่าง ใกล้ชิดต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน