อุตุเตือน67จว. รับท่วม-น้ำป่า

กรมอุตุฯ เตือน กทม.-จังหวัด ปริมณฑล รับมือน้ำท่วม หลังฝนกระหน่ำหนักทั่วประเทศอีกรอบ ร่องมรสุมพาดผ่านเมียนมา ไทยตอนบนและภาคอีสาน ให้ 67 จังหวัด ระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ทะเลทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน คลื่นสูง 1-2 เมตร ปภ.สรุปเหตุน้ำท่วม 15-20 ส.ค. พื้นที่ 17 จังหวัดได้รับผลกระทบ เดือดร้อน 11,585 ครัวเรือน 4 จังหวัด ยังท่วมขัง ขอนแก่น อุบลฯ ปราจีนบุรี และอยุธยา เขื่อนเจ้าพระยาเร่งระบาย ต่อเนื่อง น้ำล้นตลิ่งในพื้นที่ 4 อำเภอ เสนา อ.ผักไห่ อ.บางบาล และอ.บางไทร รวม 33 ตำบล 144 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 4,267 ครัวเรือน ระดับน้ำ ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

เตือนฝนกระหน่ำทั่วไทย
เมื่อวันที่ 20 ส.ค. น.ส.ชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา เตือน “ฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณประเทศไทย มีผลกระทบตั้งแต่วันที่ 20-22 ส.ค.2565 ฉบับที่ 4 ระบุว่า มีร่องมรสุมพาดผ่านประเทศเมียนมา ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณ อ่าวตังเกี๋ย ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย เริ่มมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทย มีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังอันตราย จากฝนตกหนักถึงหนักมาก และฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม

จังหวัดที่คาดว่าจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง มีดังนี้

วันที่ 20 ส.ค. ภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ พิษณุโลก และเพชรบูรณ์, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.เลย หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร นครพนม มุกดาหาร ยโสธร กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา มหาสารคาม ร้อยเอ็ด อำนาจเจริญ บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี, ภาคกลาง จ.ลพบุรี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา รวมทั้งกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล, ภาคตะวันออก จ.นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว จันทบุรี และตราด และภาคใต้ จ.ระนอง พังงา และภูเก็ต

วันที่ 21 ส.ค. ภาคเหนือ จ.แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร เพชรบูรณ์ กำแพงเพชร และตาก, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.เลย หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร นครพนม มุกดาหาร ยโสธร กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา มหาสารคาม ร้อยเอ็ด อำนาจเจริญ บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี, ภาคกลาง จ.นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท กาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สมุทรสงคราม สมุทรสาคร นครปฐม รวมทั้งกรุงเทพฯ และปริมณฑล, ภาคตะวันออก จ.ฉะเชิงเทรา นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด และภาคใต้ จ.เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี ระนอง พังงา และภูเก็ต

ทะเลคลื่นสูง 2 เมตร
และวันที่ 22 ส.ค. ภาคเหนือ จ.แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร เพชรบูรณ์ กำแพงเพชร และตาก, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ชัยภูมิ นครราชสีมา และบุรีรัมย์, ภาคกลาง จ.นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท กาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สมุทรสงคราม สมุทรสาคร นครปฐม รวมทั้งกรุงเทพฯ และปริมณฑล, ภาคตะวันออกจ.ฉะเชิงเทรา นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด และภาคใต้ จ.เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง และพังงา

สำหรับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย มีกำลังปานกลาง ทำให้คลื่นลมบริเวณทะเล อันดามันตอนบนมีกำลังปานกลางโดยมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างและอ่าวไทยตอนบน มีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง คลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ขอให้ชาวเรือ เดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง

เร่งช่วย 4 จังหวัดยังท่วมขัง
ด้านกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย ฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) รายงานว่า ตั้งแต่วันที่ 15-20 ส.ค.ได้เกิดสถานการณ์น้ำท่วม ในพื้นที่รวม 17 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย ลำปาง พิษณุโลก เพชรบูรณ์ พิจิตร ลำพูน ตาก นครสวรรค์ มหาสารคาม ขอนแก่น ศรีสะเกษ ชัยภูมิ อุบลราชธานี ปราจีนบุรี สระแก้ว พระนครศรีอยุธยา และอ่างทอง รวม 41 อำเภอ 102 ตำบล 354 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 11,585 ครัวเรือน

ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ 4 จังหวัด ดังนี้ 1.ปราจีนบุรี น้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมในพื้นที่ชุมชนตลาดเก่า เทศบาลต.กบินทร์ อ.กบินทร์บุรี 2.ขอนแก่น น้ำท่วมขังในต.มัญจาคีรี อ.มัญจาคีรี ประชาชนได้รับผลกระทบ 37 ครัวเรือน และน้ำท่วมทางหลวงหมายเลข 229 ดอนบ้านไผ่ – มัญจาคีรี ปัจจุบันระดับน้ำลดลง 3.อุบลราชธานี น้ำเอ่อล้นตลิ่งในพื้นที่ 8 อำเภอ ได้แก่ อ.เมือง อ.วารินชำราบ อ.เดชอุดม อ.นาจะหลวย อ.น้ำยืน อ.ทุ่งศรีอุดม อ.นาเยีย และอ.น้ำขุ่น รวม 25 ตำบล 128 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 5,228 ครัวเรือน ปัจจุบันระดับน้ำลดลง และ4.พระนครศรีอยุธยา น้ำล้นตลิ่งจากการระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยา ในพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อ.เสนา อ.ผักไห่ อ.บางบาล และอ.บางไทร รวม 33 ตำบล 144 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 4,267 ครัวเรือน ปัจจุบันระดับน้ำเพิ่มขึ้น โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้าพื้นที่ช่วยเหลือประชาชนแล้ว

‘บิ๊กป้อม’เตรียมบินตรวจน่าน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมคณะ เตรียมลงพื้นที่ตรวจราชการ จ.น่าน ในวันที่ 22 ส.ค.เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำ และติดตามการช่วยเหลือประชาชน หลังจากในพื้นที่ได้รับผลกระทบจากพายุดีเปรสชัน มู่หลาน ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้มีปริมาณฝนตกลงมาอย่างหนัก ทำให้น้ำท่วม สูงในเขตเทศบาลจนวิกฤต สร้างความ เสียหายเป็นวงกว้าง รวมถึงติดตามความคืบหน้าแผนดำเนินโครงการก่อสร้างสะพานเชื่อมโยงเศรษฐกิจภูมิภาค ระหว่างบ้านผาเวียง อ.ฟากท่า จ.อุตรดิตถ์ และบ้านปากนาย อ.นาหมื่น จ.น่าน

นอกจากนี้ พล.อ.ประวิตรจะเดินทางไป ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินโครงการการก่อสร้างฝายกั้นลำน้ำซาว บ้านศรีเกิด อ.เมือง จ.น่าน ที่องค์การบริหารส่วนตำบลไชยสถาน และเดินทางไปยังพื้นที่ ต.บ่อ อ.เมือง เพื่อติดตามความก้าวหน้าการช่วยเหลือ ผู้ประสบภัยจากพายุมู่หลาน บริเวณสะพาน ที่ชำรุด พร้อมทั้งรับฟังการนำเสนอข้อมูลความเสียหายและการจัดสรรงบประมาณในการแก้ไขปัญหาให้แก่ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน และจะเดินทางไปพบปะประชาชน พร้อมมอบสิ่งของช่วยเหลือให้กับผู้แทนประชาชนผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ จำนวน 1,000 ชุด ที่ศาลาอเนกประสงค์บ้านบ่อ

ท่วมตลาดเก่า – สภาพน้ำท่วมขังชุมชนตลาดเก่า 100 ปี เทศบาลตำบลกบินทร์ อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี หลังฝนตกหนักต่อเนื่อง ชาวบ้านต้องขึ้นไปใช้ชีวิตอยู่บนชั้น 2 ของบ้าน เมื่อวันที่ 20 ส.ค.

ตลาดเก่ากบินทร์จมซ้ำ
ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ต่างๆ ที่จ.ปราจีนบุรี จากที่ฝนตกต่อเนื่อง ส่งผลให้ น้ำจากต้นน้ำแม่น้ำปราจีนบุรี เอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมชุมชนตลาดเก่า 100 ปี เทศบาลตำบลกบินทร์ อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี ที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ ตั้งติดกับริมต้นน้ำแม่น้ำปราจีนบุรี น้ำท่วมใน 2 จุด จากด้านท้ายชุมชนหรือท่าเรือเก่าจุดต่ำที่สุดที่ติดกับจุดต้นแม่น้ำปราจีนบุรี หรือจุดบรรจบกันระหว่างแควหนุมานที่น้ำไหลมาจากอุทยาน แห่งชาติเขาใหญ่มรดกโลก อ.นาดี กับแควพระปรงที่น้ำไหลมาจากเทือกเขาสอยดาว จ.สระแก้ว มารวมบรรจบกัน รวมกันเป็นต้นน้ำแม่น้ำปราจีนบุรี น้ำได้เอ่อเข้าท่วมฝั่งท่าเรือเก่าจุดต่ำสุดระดับน้ำท่วมสูงกว่า 30 ซ.ม. ท่วมบ้านเรือนกว่า 8 ครัวเรือน และจุดที่ 2 เอ่อท่วมตอนกลางชุมชนเป็นทางยาวไกลกว่า 90 เมตร ท่วมบ้านเรือนกว่า 40 ครัวเรือน ระดับน้ำท่วมสูงกว่า 30 ซ.ม. โดยประชาชนต่างพากันขนย้ายสิ่งของ และพากันหนีน้ำท่วมขึ้นไปอาศัยอยู่บนชั้นที่ 2 ของตัวบ้านกันก่อนหน้านี้ เนื่องจากเป็นบ้านไม้เก่ายกสูง 2 ชั้น เป็นส่วนใหญ่และเตรียมเรือในการ เข้า-ออก ในชุมชนไว้ล่วงหน้า เนื่องจากเป็นย่านที่น้ำท่วมซ้ำซากทุกปี

ล่าสุดระดับน้ำได้เพิ่มสูงอีกกว่า 5 ซ.ม. แต่ถนนเข้า-ออกหมู่บ้านยังใช้ผ่านได้ตามปกติ ขณะที่ประชาชนต่างพากันขึ้นไปอยู่อาศัยบนชั้น 2 ห้องน้ำเริ่มใช้ไม่ได้ ชาวบ้าน ต้องการน้ำดื่มสะอาด

นอกจากนี้ มวลน้ำได้ไหลกระจายลง ที่ต่ำกว่า ขยายไปหมู่บ้านท่าขี้เหล็ก หมู่ 9 ต.กบินทร์ อ.กบินทร์บุรี ที่อยู่ที่ลุ่มต่ำกว่า 10 ครัวเรือน ระดับน้ำท่วมสูงกว่า 40-50 ซ.ม.

ปักธงอพยพหนีลำมูนทะลัก
ที่จ.นครราชสีมา พบว่า อ่างเก็บน้ำหลายแห่งมีปริมาณน้ำเต็มความจุอ่างแล้ว ทางชลประทานจึงต้องให้อ่างเก็บน้ำหลายแห่งระบายน้ำออก เพื่อเตรียมรับมือพายุฝนที่จะตกในระหว่างวันที่ 20-22 ส.ค. ตามที่กรมอุตุฯ แจ้งเตือน โดยเฉพาะปริมาณน้ำภายในลำน้ำมูน ที่ ต.สัมฤทธิ์ อ.พิมาย ปริมาณน้ำเพิ่มสูงขึ้น ทางศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยตำบลสัมฤทธิ์ อ.พิมาย ต้องปักธงแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ติดกับลำน้ำมูน ได้ทราบถึงสถานการณ์น้ำในพื้นที่ เพื่อจะได้ เตรียมอพยพขนของขึ้นสู่ที่สูงหากพบว่าปริมาณน้ำมูนเพิ่มสูงขึ้น

ส่วนปริมาณน้ำภายในเขื่อนพิมาย ยังคงมีมวลน้ำไหลเข้าเขื่อนอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ระดับน้ำสูงขึ้น เจ้าหน้าที่จัดสรรน้ำ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาทุ่งสัมฤทธิ์ ยังคงเปิดประตูเขื่อนทั้งหมด 6 บาน เพื่อระบายน้ำลงสู่ลำน้ำมูน และยังคงเดินเครื่องผลักดันน้ำจำนวน 20 เครื่อง เพื่อผลักดันน้ำเหนือเขื่อนออก ป้องกันปริมาณน้ำล้นตลิ่งท่วมโบราณสถาน และแหล่งเศรษฐกิจต่างๆ ในตัวเมืองพิมาย อีกทั้งเตรียมพร้อมรับมือพายุฝนที่จะตก ลงมาในพื้นที่อีก

สารคามตั้งเพิ่มเครื่องดันน้ำ
ด้านเขื่อนมหาสารคาม ต.หนองบัว อ.โกสุมพิสัย ได้เปลี่ยนจากธงเขียวเป็นธงสีเหลือง เพื่อแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำที่มีระดับเพิ่มสูงขึ้น พร้อมกับติดตั้งเครื่อง ผลักดันน้ำจำนวน 15 เครื่อง โดยได้รับการสนับสนุนจากศูนย์บริหารเครื่องจักรกลที่ 3 สำนักเครื่องจักรกล เพื่อเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ ที่อาจมีผลกระทบ ต่อพื้นที่ทั้งในเขตและนอกเขตชลประทาน รับมือสถานการณ์น้ำหลาก ซึ่งมวลน้ำที่ไหลมาจุดนี้เป็นน้ำที่มา จ.ชัยภูมิ และเป็นน้ำที่ระบายมาจากเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ที่ปัจจุบันระบายน้ำออกวันละ 15 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) โดยเขื่อนมหาสารคาม มีระดับน้ำเก็บกักอยู่ที่ 146.8 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ปัจจุบันมีระดับน้ำ หน้าเขื่อนและท้ายเขื่อนอยู่ที่ 147.77 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ระดับน้ำเพิ่มขึ้น 6 ซ.ม. เปิดประตูระบายน้ำทั้ง 6 บาน รวม 42 เมตร มีระดับน้ำไหลผ่าน 577.90 ลบ.ม.ต่อวินาที หรือ 49.93 ล้านลบ.ม.ต่อวัน โดยระดับน้ำยังอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำท่วมสูงสุดปี 2554 3.29 เมตร และยังคงต่ำกว่าระดับตลิ่ง 1.73 เมตร

กาญจน์เตือน 2 อำเภอน้ำป่าบ่า
ขณะที่ นายจีระเกียรติ ภูมิสวัสดิ์ ผวจ.กาญจนบุรี กล่าวว่า จ.กาญจนบุรี ต้องเฝ้าระวัง สถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมขัง ในพื้นที่อำเภอ ได้แก่ อ.ทองผาภูมิ และอ.สังขละบุรี เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ จึงให้ กอปภ.อ. กอปภ. อปท. และหน่วยงานด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยดำเนินการประชาสัมพันธ์แจ้งประชาชนในพื้นที่ให้ติดตามข้อมูลสภาวะอากาศ และข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิด ตลอด 24 ชั่วโมง เฝ้าระวังสถานการณ์ฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และปริมาณฝนสะสม ที่ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่า ไหลหลาก ให้รีบแจ้งเตือนภัยประชาชนในพื้นที่ เพื่อเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ทันที และหากเกิดสถานการณ์สาธารณภัยขึ้น ให้ดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทันที

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน