ทุ่มอัดฉีด2.9พันล้าน เงื่อนไขไม่เกิน10ที่นั่ง จักรยานยนต์ให้1.8หมื่น เผยมีกระบะไฟฟ้าด้วย

รัฐบาลดันต่อมาตรการส่งเสริมรถอีวี อนุมัติ 2.9 พันล้านบาท เป็นส่วนลดรถยนต์ไฟฟ้า ไม่เกิน 10 ที่นั่ง ทั้งรถเก๋ง-กระบะ ถูกลง คันละ 70,000 ถึง 150,000 บาท รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าลดคันละ 18,000 บาท ชาวบ้านร้อง ขอรัฐบาลชะลอขึ้นค่าไฟเดือนส.ค. เจ้าของร้านซักรีดโอด ทำต้นทุนเพิ่ม ชี้ตอนนี้ประชาชนมีภาระค่าครองชีพสูงมาก สวนทางกับรายได้ในแต่ละวัน

เมื่อวันที่ 23 ส.ค. นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีและโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ 2,923.397 ล้านบาท เพื่อดำเนินการตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ตามประกาศกรมสรรพสามิต เรื่องกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการรับสิทธิตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์ เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2565 ดังนี้ กรณีรถยนต์นั่ง หรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ประเภท BEV (ยานพาหนะพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่) ที่มีราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 2 ล้านบาท

1.1) สำหรับรถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ที่มีขนาด ความจุของแบตเตอรี่ตั้งแต่ 10 กิโลวัตต์ชั่วโมง แต่น้อยกว่า 30 กิโลวัตต์ชั่วโมง จำนวนเงินอุดหนุน 70,000 บาทต่อคัน 1.2) สำหรับรถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ที่มีขนาดความจุของแบตเตอรี่ตั้งแต่ 30 กิโลวัตต์ชั่วโมงขึ้นไป จำนวนเงินอุดหนุน 150,000 บาทต่อคัน 2) กรณีรถยนต์กระบะประเภท BEV ที่มีราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 2 ล้านบาท เฉพาะรถยนต์กระบะที่ผลิตในประเทศและมีขนาดความจุของแบตเตอรี่ตั้งแต่ 30 กิโลวัตต์ชั่วโมงขึ้นไป (เฉพาะรถยนต์กระบะที่ผลิตในประเทศเท่านั้น) จำนวนเงินอุดหนุน 150,000 บาทต่อคัน 3) กรณีรถจักรยานยนต์ประเภท BEV ที่มีราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 150,000 บาท จำนวนเงินอุดหนุน 18,000 บาทต่อคัน

ในส่วนผู้ขอรับสิทธิเพื่อขอรับเงินอุดหนุนตามมาตรการจะต้องดำเนินการ ต้องเป็นบุคคลตามประกาศกรมสรรพสามิตกำหนด เช่น ผู้ประกอบอุตสาหกรรมที่มีโรงงานอุตสาหกรรม ผู้นำเข้าที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการ เป็นต้น และต้องเข้ามาทำข้อตกลงร่วมกับกรมสรรพสามิต เพื่อรับทราบและปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไขที่กรมสรรพสามิตกำหนด และยอมรับบทลงโทษหากไม่สามารถดำเนินการได้ ซึ่งผู้เข้าร่วมโครงการจะต้องยื่นขอรับ สิทธิตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ ไฟฟ้าฯ สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าของตนเองเป็นรายรุ่น เพื่อให้กรมสรรพสามิตพิจารณาโครงสร้างราคาขายปลีกแนะนำก่อนและหลังรับสิทธิตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าฯ เพื่อให้ราคาขายปลีกแนะนำสำหรับยานยนต์รุ่นดังกล่าวสะท้อนถึงส่วนลดต่างๆ ที่ภาครัฐมอบให้ตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าฯ รวมทั้งนำส่งรวบรวมเอกสารหลักฐานการจำหน่ายและการจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้าคัน ให้กรมสรรพสามิตเป็นรายไตรมาส เพื่อให้กรมสรรพสามิตดำเนินการพิจารณาอนุมัติจ่ายเงินอุดหนุนต่อไป

อย่างไรก็ตาม หากผู้ประกอบกิจการไม่ดำเนินการผลิตรถยนต์นั่งรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน หรือรถจักรยานยนต์ แล้วแต่กรณี เพื่อชดเชยการนำเข้าให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด กรมสรรพสามิตจะเรียกคืนเงินอุดหนุนดังกล่าวจากผู้ได้รับเงินอุดหนุนเป็นรายคันตามจำนวนที่ ไม่สามารถดำเนินการผลิตชดเชยได้ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี โดยไม่คิดทบต้น และจะบังคับตามหนังสือสัญญาค้ำประกันโดยธนาคารที่วางไว้

รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีและโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า ข้อมูลจากกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า ในปีงบ ประมาณพ.ศ.2565 มีผู้ได้รับสิทธิที่ต้องได้รับเงินอุดหนุนตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าฯ แบ่งเป็นรถยนต์ จำนวน 18,100 คัน และรถจักรยานยนต์ จำนวน 8,800 คัน แนวทางการดำเนินงานส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อสนับสนุนให้ราคาของรถยนต์และรถจักรยานยนต์แบบพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ (BEV) ลดลงใกล้เคียงกับราคารถยนต์และ รถจักรยานยนต์ประเภทเครื่องยนต์สันดาปภายใน ทำให้ผู้ประกอบการมีความมั่นใจในการลงทุน ผู้บริโภคเกิดความต้องการซื้อและสร้างแรงจูงใจให้มีการผลิตรถยนต์และรถจักรยาน ยนต์แบบพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ (BEV) เพิ่มขึ้น ทั้งยังเป็นการสนับสนุน เป้าหมายเพื่อให้ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนสำคัญของยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ รวมทั้งเงินอุดหนุนและส่วนลดทางภาษีต่างๆ ตกสู่ประชาชนอย่างแท้จริง ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ผลักดันให้ไทยยังเป็นศูนย์กลางการผลิตรถ EV และชิ้นส่วนรถยานยนต์ EV ในภูมิภาคด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เตรียมเสนอปรับอัตราค่าไฟฟ้าฝันแปรอัตโนมัติ หรือเอฟที เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 68.66 สตางค์ต่อหน่วย โดยเมื่อนำมารวมกับค่าไฟฟ้าฐาน ประชาชนจะต้องจ่ายค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจากเดิมในงวดเดือนพ.ค.-ส.ค.2565 ที่ 4 บาทต่อหน่วย เป็น 4.72 บาทต่อหน่วย ในงวดเดือนก.ย.-ธ.ค.นี้ ซึ่งจะส่งผลกระทบทั้งต่อภาคธุรกิจ และภาคครัวเรือนอย่างเป็นวงกว้างนั้น

น.ส.พรภักดี อ่อนเอื้อน อายุ 47 ปี เจ้าของร้านรับซักรีดในเขตเทศบาลเมืองบ้านโป่ง อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี เป็นหนึ่งในผู้ที่จะได้รับผลกระทบจากปัญหาดังกล่าว เปิดเผยว่า ตนเปิดร้านรับซักรีดผ้ามาแล้วกว่า 6 ปี เนื่องจากตนไม่มีลูกจ้าง ในแต่ละวันจึงต้องมีการวางแผน เริ่มจากคัดแยกผ้าของลูกค้าแต่ละคน แล้วนำไปซักและตากแดดตั้งแต่ช่วงเช้า เพื่อให้ผ้าแห้งสนิททันในช่วงเย็น จากนั้นเวลาประมาณ 10.00-16.00 น. จะเป็นช่วงเวลาสำหรับรีดผ้า โดยตนจะเริ่มรีดจากผ้าชนิดบางไปจนถึงชนิดหนา ทั้งนี้เพื่อช่วยประหยัดเวลาและต้นทุน ซึ่งในแต่ละเดือน ตนจะมีค่าใช้จ่ายที่เป็นต้นทุนประกอบด้วย ค่าน้ำประปาประมาณ 500 บาท ค่าผงซักฟอกและน้ำยาปรับผ้านุ่ม 1,500 บาท ในส่วนของค่าไฟฟ้าเฉลี่ยเดือนละไม่ต่ำกว่า 400 หน่วย เมื่อคิดเป็นค่าจ่ายปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 1,800-1,900 บาท หรือคิดเป็นร้อยละ 50 ของต้นทุนเลยทีเดียว

ขณะที่ตนสามารถรับลูกค้าได้มากที่สุดที่ 30 ครอบครัว คิดเป็นจำนวนเสื้อผ้าประมาณ 1,000 ชิ้นต่อเดือน ในอัตราค่าบริการซักและรีดผ้าทั่วไปอยู่ที่ชิ้นละ 10 บาท ส่วนชุดเสื้อผ้าลักษณะพิเศษ จะคิดราคาตามชนิดของผ้า และความยากง่ายในการรีด ราคาอยู่ที่ชิ้นละ 15-20 บาท สำหรับผ้าห่มนวมราคาเริ่มตั้งแต่ 120 บาทไปจนถึง 160 บาท ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาด เมื่อนำมาหักลบต้นทุนรายจ่ายแล้ว ตนจะเหลือกำไรต่อเดือนอยู่ประมาณ 6,000 บาท

“ก่อนหน้านี้ ช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตนต้องประสบปัญหาขาดรายได้ไปเป็นจำนวนมาก เนื่องจากโรงเรียนและหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนหยุดทำการ ลูกค้าจึงเลือกที่จะซักรีดผ้ากันเอง กระทั่งรัฐบาลผ่อนคลายมาตรการป้องกันควบคุมโรค ตนจึงเริ่มกลับมามีรายได้อีกครั้ง แต่เพียงไม่นานก็ต้องมารับทราบข่าวร้ายเรื่องจะปรับขึ้นราคาค่าไฟฟ้าอีก อันจะส่งผล กระทบกับรายได้ของตนอย่างชัดเจน ทั้งนี้ หากตนคิดจะเพิ่มรายได้ ด้วยการรับลูกค้าเพิ่มขึ้น ก็เกินกำลังที่ตนจะทำคนเดียวไหว หรือหากตนรับลูกจ้างมาช่วยงาน ก็จะต้องมีภาระค่าจ้างลูกจ้างที่เพิ่มขึ้น ซึ่งมองว่าไม่คุ้มค่า ดังนั้น จึงอยากฝากถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ช่วยพิจารณาชะลอการเพิ่มค่าไฟออกไปก่อน เพราะตอนนี้ประชาชนมีภาระค่าครองชีพสูงมาก สวนทางกับรายได้ที่มีในแต่ละวัน” น.ส. พรภักดี

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน