เร่งช่วย 10 จังหวัดยังจม อ่างทอง อยุธยา ปราจีนบุรี ลำปาง เพชรบูรณ์ แพร่ พิษณุโลก ขอนแก่น อุบลฯ และอุดรธานี รวม 19 อำเภอ 75 ตำบล 292 หมู่บ้าน นายกฯ สั่งเร่งเยียวยา 14 จังหวัดนา-สวนล่ม จากภัยดีเปรสชันมู่หลาน แจ้งปิดอุทยานฯ ภูสอยดาว ทั้งฝั่งน้ำปาด อุตรดิตถ์ และชาติตระการ พิษณุโลก หลังฝนตกหนักต่อเนื่อง หวั่นน้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วม เป็นอันตรายนักท่องเที่ยว ชาวโนนสูง โคราชกว่า 60 คน รวม 250 ครัวเรือน ร้องช่วยวืดเยียวยาตั้งแต่ปี 64 ด้านผอ.ร.ร.ที่หนองแวง ขอนแก่น เตรียมขอใช้พื้นที่วัดสอนนักเรียน หลังโรงเรียนถูกน้ำท่วมจมกว่า 1 เมตรมาตั้งแต่ 21 ส.ค. โอดไร้หน่วยงานในพื้นที่ช่วยเหลือ

เร่งช่วย 10 จังหวัดยังจม
เมื่อวันที่ 23 ส.ค. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย ในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) รายงานว่า ตั้งแต่วันที่ 15-23 ส.ค. ได้เกิดสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ต่างๆ รวม 28 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย ลำปาง แม่ฮ่องสอน พิษณุโลก เพชรบูรณ์ พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ พิจิตร ลำพูน ตาก นครสวรรค์ มหาสารคาม ขอนแก่น ชัยภูมิ ศรีสะเกษ มุกดาหาร บึงกาฬ ยโสธร อุบลราชธานี อุดรธานี ปราจีนบุรี สระแก้ว พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง พังงา และภูเก็ต รวม 74 อำเภอ 193 ตำบล 627 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 14,657 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 3 ราย

ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์อุทกภัย ในพื้นที่ 10 จังหวัด ได้แก่ ลำปาง เพชรบูรณ์ แพร่ พิษณุโลก ขอนแก่น อุบลราชธานี อุดรธานี ปราจีนบุรี พระนครศรีอยุธยา และอ่างทอง รวม 19 อำเภอ 75 ตำบล 292 หมู่บ้าน โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ให้การช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบแล้ว

จี้สำรวจ-เยียวยาน้ำท่วม
ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม กล่าวในครม.โดยห่วงใยเกษตรกร ที่ประสบภัยน้ำท่วมจากพายุดีเปรสชัน มู่หลาน และร่องมรสุมพาดผ่านประเทศเมียนมา ส่งผลกระทบภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย ทำให้เกิดน้ำท่วมพื้นที่ทำการเกษตรหลายพื้นที่ โดยให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งสำรวจและฟื้นฟูเยียวยาความเสียหาย เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อน ให้สถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว

น.ส.รัชดากล่าวว่า นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์รายงานในครม.ว่า เจ้าหน้าที่ในพื้นที่เตรียมเข้าไปสำรวจความเสียหาย และช่วยเหลือเกษตรกรภายหลังน้ำลด เตรียมการแจกพันธุ์พืช และเชื้อราไตร โคเดอร์มาที่เป็นเชื้อราดีไว้กำจัดเชื้อราไม่ดี ให้เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกร

สำหรับเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือ ยังเป็นไปตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินทดรองราชการ เพื่อช่วยเหลือ ผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2562 หลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติปลีกย่อย เกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2564 ดังนี้ ข้าว 1,340 บาทต่อไร่ พืชไร่และพืชผัก 1,980 บาทต่อไร่ ไม้ผล ไม้ยืนต้น และอื่นๆ 4,048 บาทต่อไร่ ตามพื้นที่เสียหายจริงไม่เกินครัวเรือนละ 30 ไร่ ทั้งนี้ เป็นไปตามที่อธิบดีกรมป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัย หรือผู้ว่าราชการจังหวัดได้ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือ ผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินแล้ว

ทั้งนี้ พื้นที่การเกษตรได้รับผลกระทบ ในพื้นที่ 14 จังหวัด ได้แก่ จ.กำแพงเพชร เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน แพร่ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ พะเยา น่าน สุโขทัย อุตรดิตถ์ เลย หนองคาย และอุบลราชธานี เกษตรกรได้รับผลกระทบ จำนวน 23,182 ราย รวม 88,305.25 ไร่ แยกเป็นข้าว 71,695.75 ไร่ พืชไร่และพืชผัก 14,758.75 ไร่ ไม้ผล ไม้ยืนต้นและอื่นๆ 1,870.75 ไร่

ปิดเที่ยวอุทยานฯภูสอยดาว
ด้านนายศราวุฒิ มหธนาคม หัวหน้าอุทยานแห่งชาติภูสอยดาว เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ฝนตกหนัก ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาแจ้ง เพื่อความปลอดภัยของ นักท่องเที่ยวและเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติ ภูสอยดาว รวมถึงเป็นการเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมและน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่อุทยานฯ จึงขอปิดการท่องเที่ยวเป็นการชั่วคราว จนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่สภาวะปกติ

สำหรับอุทยานแห่งชาติภูสอยดาว มีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ในท้องที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าน้ำปาด อ.น้ำปาด จ.อุตรดิตถ์ และอ.ชาติตระการ จ.พิษณุโลก

ขณะที่นายมนต์ชัย วิวัฒน์ธนาฒย์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก พร้อมคณะ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจผู้ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่หมู่ 3 บ้านปากรอง, หมู่ 7 บ้านน้ำพึง ตำบลชาติตระการ และหมู่ 5 บ้านนาม่วง ต.ท่าสะแก อ.ชาติตระการ หลังเกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนเมื่อกลางดึกของคืนวันที่ 20 ส.ค. ส่งผลให้บ้านเรือนประชาชนถูกน้ำท่วมได้รับความเดือดร้อนจำนวนมาก โดยได้เข้าเยี่ยมให้กำลังใจและมอบเงิน จำนวน 5,000 บาท ให้แก่ครอบครัวของ ด.ช.คุณานนท์ พุดฉิม อายุ 14 ปี อยู่บ้านเลขที่ 10/2 หมู่ 3 ตำบลชาติตระการ ซึ่งกำลังศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนชาติตระการวิทยา เนื่องจากได้สูญเสียทั้ง พ่อและแม่ จากเหตุการณ์ถูกไฟฟ้าชอร์ต ขณะช่วยกันขนย้ายสิ่งของหนีน้ำท่วมใต้ถุนบ้าน

น้ำยมเอ่อลงทุ่งระกำโมเดล
ด้านนายรณชัย จิตรวิเศษ ผวจ.พิษณุโลก เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดเริ่มคลี่คลายมากแล้ว หากไม่มีฝนตกลงมาอีก คาดว่า ทุกพื้นที่กลับสู่ภาวะปกติ อย่างไรก็ตามฝนที่ตกก็ยังส่งผลดีทำให้มีน้ำไหลเข้าเขื่อนแควน้อยบำรุงแดนเป็นจำนวนมาก ปริมาณน้ำในเขื่อนแควน้อย อยู่ที่ 673 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) หรือ 72% แล้ว นอกจากนี้พบว่าน้ำจากภาคเหนือเริ่มหลากมาที่จ.สุโขทัย และพิษณุโลก ใน 3-4 วันนี้ อาจทำให้น้ำในแม่น้ำยมในพื้นที่ จ.พิษณุโลกเริ่มเข้าทุ่งบางระกำโมเดล

ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่เทศบาลเมืองดอกคำใต้ อ.ดอกคำใต้ จ.พะเยา ที่น้ำ จากลำน้ำร่องช้างไหลบ่าเข้าท่วมบ้านเรือน ชาวบ้านในพื้นที่หมู่ 3, 4 และหมู่ 5 ต.บุญเกิด และหมู่ 1 หมู่ 7 ต.ดอกคำใต้ นั้น สถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติ น้ำจากลำน้ำร่องช้างลดระดับลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่สถานการณ์น้ำบริเวณแม่น้ำยม ในเขตพื้นที่อ.ปง ระดับน้ำเริ่มลดลงเช่นกัน โดยพื้นที่การเกษตรบางส่วนยังคงมีน้ำท่วมขังอยู่

ทวงเยียวยา – ชาวบ้านในเขตเทศบาลตำบลโนนสูง อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา กว่า 250 ครอบครัวเดินทางมาทวงเงินเยียวยาน้ำท่วมปีที่แล้วที่ยังไม่ได้ ขณะที่นายกเทศมนตรีรับปากจะเร่งช่วยเหลือเยียวยาอย่างเท่าเทียมกัน เมื่อวัน 23 ส.ค.

‘โนนสูง’ร้องวืดเยียวยาปี 64
ขณะที่ อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา มีชาวบ้านในชุมชนเขตเทศบาลตำบลโนนสูง กว่า 60 คน รวมตัวมาขอความเป็นธรรมที่สำนักงานเทศบาลตำบลโนนสูง หลังได้รับความเดือดร้อนจากมวลน้ำลำเชียงไกรไหลบ่าท่วมหมู่บ้าน/ชุมชนได้รับความเสียหาย เมื่อปี 2564 ที่ผ่านมา จนได้ประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติน้ำท่วม แต่จนป่านนี้ ยังไม่ได้รับการเยียวยาช่วยเหลือตามระเบียบราชการ

โดยตัวแทนชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อน เปิดเผยว่า มีชาวบ้านที่เดือดร้อนหลายรายที่ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือ เนื่องจากรายชื่อตกหล่น ขณะที่บางบ้านได้รับความเสียหายเล็กน้อย แต่กลับได้เงินช่วยเหลือจำนวนมาก ส่วนบ้านที่เสียหายมาก กลับได้รับการช่วยเหลือเพียงเล็กน้อย จึงขอให้เข้ามาดูแลช่วยเหลือ และสอบถามว่าสาเหตุใดจึงช่วยเหลือไม่ครบ และไม่เป็นธรรมตามสภาพที่เกิดขึ้นจริง

นายอมรรัตน์ ปานเจริญศักดิ์ นายกเทศมนตรีตำบลโนนสูง ได้เชิญกลุ่มชาวบ้านทั้งหมดเข้ามาหารือที่ห้องประชุมชั้น 2 ของสำนักงานเทศบาลตำบลโนนสูง โดยที่ประชุมได้ให้ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมดังกล่าวลงชื่อใหม่ เพื่อเจ้าหน้าที่สำรวจความเสียหายอย่างละเอียดอีกครั้ง ก่อนเสนอของบประมาณมาเยียวยาช่วยเหลือเพิ่มเติมให้ครอบคลุม ทำให้ชาวบ้านต่างพอใจและเดินทางกลับ

นายอมรรัตน์กล่าวว่า ได้ทำความเข้าใจกับชาวบ้านแล้ว และจะเร่งบรรเทาช่วยเหลือพี่น้องชาวบ้านให้เท่าเทียมกัน โดยจะจัดสรรงบประมาณบางส่วนและจะเอาเงินเดือนจาก เจ้าหน้าที่ทุกคนมาสมทบช่วยเหลือ เพื่อบรรเทาช่วยชาวบ้านที่ได้รับความเสียหายทั้งหมด 248 หลังคาเรือน

ท่วมร.ร. – สภาพน้ำท่วมขังโรงเรียนบ้านกุดรู หมู่ 4 ต.แวงน้อย อ.แวงน้อย จ.ขอนแก่น นาน 3 วัน ทำให้ไม่สามารถจัดการเรียนการสอนได้ ต้องขอใช้วัดเป็นสถานที่เรียนชั่วคราว นอกจากนี้น้ำยังท่วมหมู่บ้านโดยรอบทั้งหมด เมื่อวันที่ 23 ส.ค.

ร.ร.ขอนแก่นย้ายสอนในวัด
ส่วนที่โรงเรียนบ้านกุดรู อ.แวงน้อย จ.ขอนแก่น หลังจากน้ำที่ไหลเข้าท่วมโรงเรียนเป็นวันที่สามติดต่อกันสูงถึง 1 เมตร ทำให้ทางโรงเรียนต้องประกาศหยุดเรียนไปจนถึงวันที่ 26 ส.ค.

นายมิตรภาพ ไกรวัน ผอ.โรงเรียนบ้านกุดรู เล่าว่า จากการสำรวจพบว่า มีคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กเสียหายทั้งหมด รวมถึงโต๊ะเก้าอี้ครูและนักเรียนด้วย และได้ให้ครูทำอาหาร กลางวันเพื่อแจกจ่ายให้กับนักเรียนจำนวน51 คน ได้รับประทาน ซึ่งจากเหตุน้ำท่วมครั้งนี้ทำให้ทางโรงเรียนต้องยกเลิกการเข้าร่วมแข่งขันศิลปะหัตถกรรมนักเรียนในปีนี้ไป เพราะอุปกรณ์ที่ใช้ในการประกวดได้รับความเสียหาย

“น้ำท่วมครั้งนี้คาดว่าเกิดจากการก่อสร้างขยายถนน แล้วรื้อท่อระบายน้ำเดิมที่มีจำนวน 3 ท่อ ออกแล้วใส่ท่อระบายน้ำไปเพียงท่อเดียว จึงทำให้น้ำระบายได้ช้าก่อนจะท่วมขังโรงเรียน และบ้านเรือนของชาวบ้านอีกกว่า 40 หลังคาเรือน แต่หากน้ำยังไม่ลดก็หยุดยาวเป็น 7 วัน และถ้ายังไม่ลดก็จะย้ายไปทำการเรียนการสอนที่ศาลาการเปรียญภายในวัดศรีธงชัย บ้านกุดรู ผมได้รายงาน รายละเอียดทั้งหมดให้ ผอ.สพป.ขอนแก่นเขต 3 ทราบแล้ว ซึ่งตั้งแต่วันแรกวันที่ 21 ส.ค. ที่น้ำท่วมโรงเรียนจนถึงขณะนี้ยังไม่มีหน่วยงานใดลงพื้นที่มาสำรวจหรือมาให้กำลังใจนักเรียนแต่อย่างใด” นายมิตรภาพกล่าว

วัดดัง‘สารคาม’อพยพขึ้นที่สูง
ส่วนที่วัดอาศิราวาสเกาะเกิ้ง หรือวัดเกาะเกิ้ง ต.เกิ้ง อ.เมือง จ.มหาสารคาม แหล่ง ท่องเที่ยวอันซีนของจังหวัด ที่มีสะพานไม้ยาว 145 เมตร ข้ามแม่น้ำชี พระเณรและชาวบ้าน ช่วยกันเร่งขนของขึ้นที่สูงอย่างเร่งด่วน หลังปริมาณน้ำในแม่น้ำชีเริ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นพระพุทธรูป ผ้าไตรจีวร ธูปเทียน เชิงเทียน พาน ตาลปัตร เครื่องอัฐบริขาร ไปไว้บนกุฏิ 2 ชั้น ที่มีเพียงหลังเดียวเพื่อป้องกันน้ำท่วม ส่วนโต๊ะ เก้าอี้ ฆ้อง โต๊ะหมู่บูชาและเสื่อ นำไปไว้กลางสะพาน เพื่อให้พุทธ ศาสนิกชนมาทำบุญในวันสำคัญทางศาสนาพระเณรปฏิบัติศาสนกิจของสงฆ์ที่บริเวณกลางสะพาน ขณะที่พระสงฆ์บางรูปต้องย้ายสิ่งของมาจำวัดที่แพข้างสะพานชั่วคราวก่อน

พระอาจารย์ กมล อัตฺตธัมโม เจ้าอาวาสวัดอาศิราวาสเกาะเกิ้ง กล่าวว่า ทางวัดมีประสบการณ์จากน้ำท่วมปีที่แล้ว จึงขอแรงญาติโยมมาช่วยกันขนของขึ้นที่สูง เนื่องจากปี 2564 เก็บข้าวของไม่ทัน น้ำท่วมพื้นที่ภายในวัดสูงถึง 2 เมตร ข้าวของเสียหายเป็นจำนวนมาก คาดว่าปีนี้คงไม่รอดเหมือนกัน หากปริมาณน้ำสูงขึ้นท่วมบริเวณในวัดจะได้ขอแรงเจ้าหน้าที่ทหารมาทำสะพานเพื่อให้ญาติโยมและพระสงฆ์ได้เดินข้ามไปมาเป็นการชั่วคราว ก่อนที่น้ำจะลดลง

เตือน 6 จว.น้ำชีล้นตลิ่ง
ด้านกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้ออกประกาศให้เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลากและน้ำท่วมฉับพลัน ในช่วงวันที่ 22-25 ส.ค. หลังมีฝนตกหนักในลุ่มน้ำชี ส่งผลให้น้ำในลำน้ำมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และล้นตลิ่ง ไหลหลากเข้าท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำเกษตรกรรม พื้นที่ลุ่มต่ำริมลำน้ำ และพื้นที่ชุมชน ประมาณ 0.30-1.50 เมตร ในช่วงวันที่ 26-31 ส.ค. ใน 6 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือประกอบด้วย

1.จ.มหาสารคาม บริเวณอ.กันทรวิชัย และอ.เมือง 2.จ.กาฬสินธุ์ อ.กมลาไสย อ.กุฉินารายณ์ อ.ฆ้องชัย และอ.ร่องคำ 3.จ.ร้อยเอ็ด อ.จังหาร อ.เชียงขวัญ อ.ทุ่งเขาหลวง อ.ธวัชบุรี อ.พนมไพร อ.โพธิ์ชัย อ.โพนทอง อ.เมยวดี อ.เสลภูมิ และอ.อาจสามารถ 4.จ.ยโสธร อ.ค้อวัง คำเขื่อนแก้ว มหาชนะชัย และเมือง 5.ศรีสะเกษ อ.กันทรารมย์ และอ.ยางชุมน้อย และ 6.จ.อุบลราชธานี อ.เขื่องใน และอ.เมือง

กอนช.แจ้งว่า เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสภาพอากาศและสภาพน้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำ และแจ้งเตือนล่วงหน้า ให้ประชาชนที่คาดว่าจะได้รับผล กระทบ เตรียมพร้อมในการอพยพได้ทันท่วงทีหากเกิดสถานการณ์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน