รับฝนหนักอีก น้ำปริ่ม‘วัดไชย’

กทม.เร่งพร่องน้ำ 2 คลองใหญ่ ประเวศบุรีรมย์ และคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต รับฝนถล่มซ้ำปภ.แจ้ง กทม.-5 จังหวัด ลพบุรี สระบุรี อยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี และกรุงเทพฯ รับน้ำป่าสัก เจ้าพระยาท่วม หลังฝนตกหนักเหนือเขื่อนป่าสักฯ มวลน้ำไหลบ่าเข้าเขื่อน ต้องเพิ่มระบายน้ำ คุมปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนพระรามหก ที่อยุธยา น้ำไหลมาบรรจบกับแม่น้ำเจ้าพระยา ส่งผลให้ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น 1.50 เมตร ที่วัดไชยวัฒนาราม อยุธยา อีกแค่ 40 ซ.ม. ปริ่มตลิ่ง มั่นใจแนวเขื่อนที่วางไว้ป้องกันได้ สำนักทรัพยากรน้ำตรวจสถานีสูบ-ส่งน้ำแปดริ้ว จัดแผนเร่งระบายน้ำลงแม่น้ำบางปะกงออกอ่าวไทย กรมอุตุฯแจงพายุโซนร้อน ‘หมาอ๊อน’ บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน อ่อนลงเป็นดีเปรสชัน และความกดอากาศต่ำ ไม่มีผลกระทบกับไทย

ฝน-น้ำบ่าเขื่อนป่าสักฯเพิ่ม
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 24 ส.ค. กรมอุตุนิยมวิทยา รายงานว่าพายุโซนร้อนกำลังแรง “หมาอ๊อน” บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน มีศูนย์กลางอยู่ห่างประมาณ 430 ก.ม. ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของฮ่องกง หรือที่ละติจูด 19.0 องศาเหนือ ลองจิจูด 116.6 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 100 ก.ม.ต่อชั่วโมง พายุนี้กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตก ด้วยความเร็วประมาณ 30 ก.ม.ต่อชั่วโมง คาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศจีนตอนใต้ ในวันที่ 25 ส.ค. และจะอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีปรสชันและความกดอากาศต่ำตามลำดับ โดยพายุนี้ไม่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประเทศไทย

ด้านกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้รับแจ้งจากกรมชลประทานว่า หลังจากช่วงวันที่ 15-21 ส.ค.ที่ผ่านมา มีฝนตกหนักในพื้นที่ต้นน้ำของแม่น้ำป่าสักอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งปริมาณน้ำดังกล่าวจะไหลเข้าเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และจากการคาดการณ์ปริมาณฝนในช่วงวันที่ 24-30 ส.ค. คาดว่าจะมีปริมาณน้ำท่าไหลลงเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ รวมจำนวน 133.26 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ทำให้ปริมาตรน้ำในเขื่อนจะมีจำนวน 355 ล้านลบ.ม. ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำ และเพื่อเป็นการควบคุมระดับน้ำและปริมาณน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมสำหรับการรองรับน้ำเหนือในช่วงถัดไป กรมชลประทานจะเพิ่มการระบายน้ำของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จากอัตรา วันละ 34.56 ล้านลบ.ม.ต่อวัน เป็น 43.20 ล้านลบ.ม.ต่อวัน หรือประมาณ 500 ลบ.ม.ต่อวินาที โดยจะทยอยเพิ่มขึ้นเป็นลำดับตั้งแต่วันที่ 27 ส.ค.นี้

เมื่อน้ำจำนวนนี้ไหลลงไปรวมกับปริมาณน้ำจากคลองชัยนาท-ป่าสักแล้ว จะควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนพระรามหกในอัตราไม่เกิน 600 ลบ.ม.ต่อวินาที จะส่งผลให้พื้นที่ริมแม่น้ำป่าสักตั้งแต่ท้ายเขื่อนพระรามหก 2 อำเภอ ในจ.พระนครศรีอยุธยา คือ อ.ท่าเรือ จนถึงจุดบรรจบแม่น้ำเจ้าพระยา อ.พระนครศรี อยุธยา ระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันประมาณ 1.00-1.50 เมตร เมื่อรวมปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา จะส่งผลให้ระดับน้ำที่ไหลผ่านพื้นที่จ.พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี และกรุงเทพฯ เพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่วันที่ 27 ส.ค.เป็นต้นไป

แจ้งกทม.-5 จว.รับมือล้นตลิ่ง
กอปภ.ก.จึงได้แจ้ง 5 จังหวัด ได้แก่ ลพบุรี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี และนนทบุรี รวมถึงกรุงเทพฯ เฝ้าระวังระดับน้ำในแม่น้ำป่าสักและแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้น โดยดำเนินการจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์น้ำ พร้อมแจ้งเตือนผู้ประกอบกิจการในแม่น้ำ อาทิ งานก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง แพร้านอาหาร รวมถึงประชาชนที่อาศัยอยู่ริมสองฝั่งแม่น้ำ โดยเฉพาะประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ริมน้ำนอกแนวคันกั้นน้ำและแนวเขื่อนชั่วคราวในบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำตามริมแม่น้ำติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ตลอดจนแจ้งจังหวัดประสานท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบแนวคันกั้นน้ำ จัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ เครื่องจักรกลด้านสาธารณภัย และเจ้าหน้าที่ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ และเตรียมความพร้อมปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง

กอปภ.ก.รายงานอีกว่า ส่วนสถานการณ์ร่องมรสุมพาดผ่านสปป.ลาวตอนบน หย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมประเทศเมียนมาและสปป.ลาวตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ทำให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง และการระบายน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยา โดยตั้งแต่วันที่ 15-24 ส.ค.ได้เกิดสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่รวม 28 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย ลำปาง แม่ฮ่องสอน พิษณุโลก เพชรบูรณ์ พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ พิจิตร ลำพูน ตาก นครสวรรค์ มหาสารคาม ขอนแก่น ชัยภูมิ ศรีสะเกษ มุกดาหาร บึงกาฬ ยโสธร อุบลราชธานี อุดรธานี ปราจีนบุรี สระแก้ว พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง พังงา และ ภูเก็ต รวม 74 อำเภอ 193 ตำบล 627 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 14,657 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 3 ราย (พิษณุโลก 2 ราย แพร่ 1 ราย)

ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ 5 จังหวัด รวม 10 อำเภอ 62 ตำบล 256 หมู่บ้าน ดังนี้ 1.พิษณุโลก อ.นครไทย และ อ.ชาติตระการ 2.อุบลราชธานี อ.เมือง 3.ปราจีนบุรี อ.กบินทร์บุรี 4.พระนครศรีอยุธยา 5 อำเภอ ได้แก่ อ.เสนา อ.ผักไห่ อ.บางบาล อ.บางไทร และ อ.บางปะหัน และ 5.อ่างทอง อ.วิเศษชัยชาญ

เพิ่มที่รับน้ำฝั่งตะวันออก
ด้านดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผอ.กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) พร้อมคณะและผู้เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำและดูการเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ตาม 13 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2565 ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก ที่ สถานีสูบน้ำกลางคลองหกวา โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษารังสิตใต้ ต.พืชอุดม อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี และสถานีสูบน้ำบางขนาก โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพระองค์ไชยานุชิต ต.บางขนาก อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา

ดร.สุรสีห์กล่าวว่า การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างฝั่งตะวันออก ที่รับน้ำผ่านคลองชัยนาท -ป่าสัก ปัจจุบันมีปริมาณน้ำไหลผ่านในอัตรา 50 ลบ.ม. ต่อวินาที โดยได้ใช้คลองรังสิตประยูรศักดิ์ ในการกระจายน้ำเพื่อเร่งระบายน้ำออกแม่น้ำบางปะกงสู่อ่าวไทยโดยเร็ว นอกจากนี้ กอนช. ได้ติดตามปริมาณน้ำที่ไหลผ่าน จ.นครสวรรค์ และแม่น้ำเจ้าพระยา พบว่า ปัจจุบันมีปริมาณลดลง ส่งผลให้ระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาลดลง โดยมีสถานการณ์น้ำล้นตลิ่งบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา เพียง 2 จุด ที่จ.พระนครศรี อยุธยา ได้แก่ คลองโผงเผง (สถานี ซี36) อ.บางบาล ระดับน้ำสูงกว่าตลิ่ง 0.53 เมตร แนวโน้มระดับน้ำทรงตัว และแม่น้ำน้อย (สถานี ซี67) อ.เสนา ระดับน้ำสูงกว่าตลิ่ง 1.49 เมตร และทรงตัว

เร่งระบายน้ำ-ฝนเทซ้ำ
ดร.สุรสีห์กล่าวต่อว่า สถานการณ์ภาพรวมของประเทศจะมีแนวโน้มฝนตกลดลง แต่บางจุดยังมีฝนตกต่อเนื่องและตกหนักในบางพื้นที่ โดยจากการประเมินสภาพฝน พบว่าฝนจะกลับมาตกเพิ่มขึ้นในช่วงวันที่ 25-27 ส.ค. และลดลงอีกครั้งในช่วงวันที่ 28-29 ส.ค. ซึ่งจะมีฝนตกเล็กน้อยถึงปานกลาง โดยกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า แนวโน้มพายุโซนร้อน “หมาอ๊อน” จะไม่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประเทศไทย ทั้งนี้ กอนช. ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรับแผนการบริหารจัดการน้ำ พร้อมเร่งระบายน้ำจากแหล่งน้ำที่มีปริมาณน้ำมาก โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ฝนตกน้อยลง เพื่อเพิ่มพื้นที่รองรับน้ำไว้ล่วงหน้า โดยต้องไม่ส่งผลกระทบกับประชาชน และมอบหมายให้กรมชลประทานประเมินสถานการณ์เพื่อพิจารณาปรับเพิ่มอัตราการระบายน้ำของเขื่อนเจ้าพระยา ซึ่งปัจจุบันมีการระบายน้ำในอัตรา 1,500 ลบ.ม. ต่อวินาที

สำหรับเขื่อนอุบลรัตน์ ได้ปรับเพิ่มการระบายแบบขั้นบันได จาก 15-25 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน จนถึงวันที่ 27 ส.ค. ขณะที่เขื่อนป่าสักฯ ปรับการระบายเป็น 500 ลบ.ม.ต่อวินาที จนถึงปลายเดือนส.ค.นี้ โดยปัจจุบันลุ่มน้ำป่าสักตอนบนระดับน้ำเริ่มลดลงต่ำกว่าตลิ่งแล้ว ส่วนเขื่อนจุฬาภรณ์และเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล ซึ่งมีแนวโน้มของปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง จะมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเพื่อพิจารณาปรับอัตราการระบายให้สอดคล้องกับสถานการณ์และป้องกันให้เกิดผลกระทบแก่ประชาชนน้อยที่สุด

ดร.สุรสีห์กล่าวอีกว่า ในวันที่ 26 ส.ค.นี้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ จะเป็นประธานการประชุม กอนช. เพื่อติดตามความก้าวหน้าในการดําเนินการตามมาตรการรับมือฤดูฝนปี 2565 ผลการให้ความช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาหลังเกิดอุทกภัยในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงติดตามสภาพอากาศ สถานการณ์น้ำปัจจุบันและคาดการณ์ในช่วงเดือน ก.ย.-พ.ย.นี้ ซึ่งใน 2 สัปดาห์นี้ ทางสทนช. ได้ประเมินสถานการณ์น้ำร่วมกับหน่วยงานต่างๆ

เร่งพร่อง 2 คลองรับท่วมกรุง
ที่ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) เขตดินแดง นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม.ให้สัมภาษณ์ถึงการเตรียมความพร้อมสถานการณ์น้ำว่า ขณะนี้ได้พร่องน้ำไปมากแล้ว โดยได้ประสานกรมชลประทาน ช่วยเร่งสูบน้ำคลองประเวศบุรีรมย์ และคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต ซึ่งกรมชลฯ ได้พร่องน้ำอย่างเต็มที่ เชื่อว่าสภาพและระดับน้ำในคลอง มีความพร้อม แต่ต้องขึ้นอยู่กับปริมาณฝนที่จะตกลงมาอีกด้วย

ด้านนายสมศักดิ์ มีอุดมศักดิ์ ผอ.สำนักการระบายน้ำ (สนน.) กทม. กล่าวว่า สนน.ร่วมกับสำนักงานเขต และสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) ตรวจสอบแนวป้องกันน้ำท่วมให้มีประสิทธิภาพ รวมถึงตรวจสอบอุโมงค์ระบายน้ำ ประตูระบายน้ำ บ่อสูบน้ำ เครื่องสูบน้ำ เครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ ให้มีความพร้อมในการใช้อยู่เสมอ รวมถึงมีการเตรียมติดตั้งเครื่องสูบน้ำและแผนสำรองไว้ด้วยกรณีมีเหตุฉุกเฉิน นอกจากนี้ ยังได้ขุดลอกท่อระบายน้ำในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งมีการประสานงานการดำเนินการร่วมกับหน่วยงานอื่นทั้งภายในและหน่วยงานภายนอกเพื่อบูรณาการความร่วมมือกรณีที่ต้องมีการปรับแผนรองรับการเผชิญเหตุไว้ด้วย ตลอดจนเร่งรัดการตรวจสอบคูคลองสายหลักและสายย่อยเพื่อให้สามารถรองรับน้ำและส่งน้ำไหลไปตามสายต่างๆ จากสายย่อยสู่สายหลักได้เร็วที่สุด

“กรณีฝนตกไม่เกิน 60 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง กทม.มีศักยภาพในการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ได้ ไม่ทำให้เกิดปัญหารุนแรง แต่หากกรณีมีฝนตก 60-90 มิลลิเมตรต่อชั่วโมงขึ้นไป ตลอดจนมีน้ำเหนือหลาก หรือน้ำทะเลหนุนร่วม ซึ่งเป็นปัญหาหลักของกทม. ได้เตรียมแผนและหน่วยเคลื่อนที่พร้อมปฏิบัติงานดูแลประชาชนและช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัย พร้อมทั้งแจ้งเตือนภัย รวมถึงข้อการปฏิบัติตนให้ประชาชนทราบเป็นระยะ กรณีเกิดเหตุรุนแรงขึ้นจะมีการอพยพประชาชนออกจากพื้นที่และฟื้นฟูพื้นที่ตามแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติกำหนดไว้” นายสมศักดิ์กล่าว

น้ำใกล้ปริ่มตลิ่งวัดไชยฯอยุธยา
ที่จ.พระนครศรีอยุธยา พบว่าเขื่อนเจ้าพระยา ยังคงระบายน้ำอยู่ที่ 1,500 ลบ.ม.ต่อวินาที ส่วนที่เขื่อนพระราม 6 ระบายน้ำอยู่ที่ 456 ลบ.ม.ต่อวินาที โดยระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่าน หน้าโบราณสถานวัดไชยวัฒนาราม ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น เหลืออีกไม่ถึง 40 ซ.ม. จะเสมอแนวตลิ่งแล้ว ทางกรมศิลปากรได้ติดตั้งแนวเขื่อนเป็นที่เรียบร้อย สามารถรับน้ำสูงได้กว่า 1.50 เมตร โดยมีการเฝ้าระวังอยู่ตลอด 24 ชั่วโมง ติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติมจากของระบบของกรมศิลปากร และของกรมชลประทาน ส่วนโบราณสถานสำคัญตามริมแม่น้ำเจ้าพระยา ได้มีการ วางแนวเขื่อนจนเสร็จเช่นวัดธรรมาราม วันกษัตราธิราชวรวิหาร พระอารามหลวง รับสถานการณ์น้ำได้

ด้านจ.เชียงราย ถนนทางเข้าหมู่บ้านขุน สรวยหมู่ 14 ต.วาวี อ.แม่สรวย จ.เชียงราย ก็เปิดใช้งานได้ตามปกติแล้ว หลังจากถูกฝนชะและดินถล่มถูกตัดขาดมา 3 วันเต็มๆ หลายจุด ตั้งแต่วันที่ 21 ส.ค.

ฝนซ้ำบ่าลงแม่มูน-ลำเชียงไกร
ขณะที่อ.พิมาย จ.นครราชสีมา ยังคงมีปริมาณน้ำไหลเข้ามาสะสมในพื้นที่ตลอดเส้นทางน้ำ เนื่องจากทางอ่างเก็บน้ำหลายพื้นที่ยังคงเร่งระบายน้ำออกจากอ่างเก็บน้ำ เพื่อเตรียมรับมือฝนที่จะตกลงมาในช่วงระยะนี้ จึงทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำมูนเพิ่มสูงขึ้น และไหลเข้าไปเก็บสะสมอยู่ภายในเขื่อนพิมาย เช่นเดียวกันกับปริมาณน้ำลำเชียงไกร อ.โนนสูง ได้มีปริมาณน้ำเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากทางอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกรตอนบนได้เปิดประตูระบายน้ำ เพื่อระบายน้ำภายในอ่างเก็บน้ำออก จึงทำให้ปริมาณน้ำส่วนใหญ่ได้ไหลเข้ามาสะสมเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน