ให้เบอร์-โทร.ได้ตลอด‘เจ้าพระยา’สบ‘ป่าสัก’ดุ วังน้ำวนหวิดจมเรือโยง ‘ปทุม-นนท์’ปริ่มฝั่งแล้ว

หนีตายระทึกกรุงเก่า น้ำป่าสัก-เจ้าพระยาเชี่ยวกรากบรรจบกันเกิดวังน้ำวน เรือโยงเสียหลักถูกพัดเฉียดแพหน้าวัดพนัญเชิง อุตุฯเตือนเหนือยันใต้ยังมีฝนชุก ปภ.เผย 19 จว.อ่วมท่วม น้ำวังยังดุจมเมืองลำปาง-สบปราบ เตือนสองแควรับน้ำเขื่อนแควน้อยอั้นไม่อยู่-ระบายเพิ่ม บุรีรัมย์อ่างเก็บน้ำแตกเตือนชาวบ้านเตรียมอพยพวุ่น ส่วนพระสงฆ์ต้องใช้เรือไปรับกิจนิมนต์แล้ว

ฝนยังหนักทุกภาค
เมื่อวันที่ 27 ส.ค. กรมอุตุนิยมวิทยา ออกพยากรณ์อากาศ 7 วันข้างหน้า ระหว่างวันที่ 27 ส.ค.- 2 ก.ย. ความว่า ในช่วงวันที่ 27-28 ส.ค. ร่องมรสุมกำลังอ่อนพาดผ่านบริเวณประเทศเมียนมาตอนบน และลาวตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และ อ่าวไทยมีกำลังอ่อนลง ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนลดลง

ส่วนในช่วงวันที่ 29 ส.ค.-2 ก.ย. มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังอ่อนพัดปกคลุมทะเลอันดามัน และประเทศไทย ในขณะที่ลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออก อ่าวไทย และภาคใต้ฝั่งตะวันออก ทำให้บริเวณ ดังกล่าวมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้

สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังอ่อน ตลอดช่วง โดยมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร

ข้อควรระวัง ในช่วงวันที่ 29 ส.ค.-2 ก.ย. 65 ขอให้ประชาชนบริเวณ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ระวังอันตรายจาก ฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากโดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มไว้ด้วย

ในช่วง 1-2 วันนี้ ภาคเหนือ มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา ลำพูน ลำปาง ตาก และกำแพงเพชร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40 ของพื้นที่ ส่วนมากบริเวณจังหวัดชัยภูมิ อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี ภาคกลาง มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณจังหวัดสุพรรณบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี นครปฐม และสมุทรสงคราม

ภาคตะวันออก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60 ของพื้นที่ ส่วนมากบริเวณจังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด ภาคใต้ฝั่งตะวันออก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณจังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ภาคใต้ฝั่งตะวันตกมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณจังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล ส่วนกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60 ของพื้นที่

ปภ.สรุป 19 จว.จม
วันเดียวกัน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) ฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) รายงานภาวะฝนตกหนักบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางในช่วงที่ผ่านมา ทำให้หลายพื้นที่มีปริมาณฝนสะสมมากกว่า 150 ม.ม. และปริมาณน้ำในแม่น้ำสายหลัก ลำน้ำสาขามีปริมาณมาก โดยเฉพาะบริเวณลุ่มน้ำป่าสัก ลุ่มน้ำชี ลุ่มน้ำมูน ประกอบกับการระบายน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาในอัตรา 1,500-1,800 ลบ.ม.ต่อวินาที

ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำท่วมขัง น้ำล้นตลิ่งในพื้นที่เฝ้าระวังช่วงระหว่างวันที่ 24-30 ส.ค. โดยตั้งแต่วันที่ 24-27 ส.ค. มีพื้นที่ประสบอุทกภัยรวม 19 จังหวัด ได้แก่ ลำปาง ตาก เพชรบูรณ์ อุบลราชธานี อุดรธานี บุรีรัมย์ ขอนแก่น มหาสารคาม นครราชสีมา เลย จันทบุรี สระแก้ว พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง เพชรบุรี นครนายก ปราจีนบุรี กระบี่ และภูเก็ต รวม 41 อำเภอ 143 ตำบล 573 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 19,078 ครัวเรือน

ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยใน 14 จังหวัด ได้แก่ ลำปาง เพชรบูรณ์ อุบลราชธานี อุดรธานี บุรีรัมย์ ขอนแก่น มหาสารคาม นครราชสีมา พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง เพชรบุรี สระแก้ว กระบี่ และภูเก็ต รวม 25 อำเภอ 107 ตำบล 436 หมู่บ้าน ภาพรวมหลายพื้นที่แนวโน้มระดับน้ำลดลง แต่บางจุดยังทรงตัว แยกเป็น 1.ลำปาง ฝนตกหนักทำให้เกิดน้ำไหลหลากในพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองลำปาง อ.แจ้ห่ม อ.เกาะคา และอ.เมืองปาน รวม 11 ตำบล 54 หมู่บ้าน ปัจจุบันระดับน้ำลดลง

2.เพชรบูรณ์ เกิดน้ำท่วมในพื้นที่เทศบาลตำบลเมือง อ.เมืองเพชรบูรณ์ รวม 1 ตำบล 1 หมู่บ้าน ปัจจุบันระดับน้ำลดลง 3.อุบลราชธานี เกิดน้ำเอ่อล้นตลิ่งในพื้นที่อ.เมืองอุบลราชธานี รวม 1 ตำบล 8 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผล กระทบ 72 ครัวเรือน ปัจจุบันระดับน้ำยังทรงตัว 4.อุดรธานี เกิดน้ำท่วมขังในพื้นที่ต.ดอนกลอย อ.พิบูลย์รักษ์ รวม 1 หมู่บ้าน ปัจจุบันระดับน้ำลดลง

เหนือยันใต้-อ่วมท่วม
5.บุรีรัมย์ เกิดน้ำท่วมขังในอ.บ้านใหม่ไชยพจน์ รวม 1 ตำบล 1 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 103 ครัวเรือน ปัจจุบันระดับลดลง 6.ขอนแก่น เกิดน้ำท่วมในอ.พล รวม 1 ตำบล 1 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 1 ครัวเรือน ปัจจุบันระดับน้ำลดลง 7.มหาสารคาม เกิดน้ำท่วมใน 4 อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองมหาสารคาม อ.โกสุมพิสัย อ.พยัคฆภูมิพิสัย และอ.เชียงยืน ปัจจุบันระดับน้ำลดลง

8.นครราชสีมา เกิดน้ำท่วมขังในต.ตลาดไทร อ.ชุมพวง รวม 1 หมู่บ้าน มีน้ำท่วมขังจุดกลับรถใต้สะพาน ถ.สายเจนจบทิศ-จ.บุรีรัมย์ รถผ่านไม่ได้ ประชาชนได้รับผลกระทบ 13 ครัวเรือน ปัจจุบันระดับน้ำลดลง 9.พระนครศรีอยุธยา เกิดน้ำล้นตลิ่งจากการระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยา ในพื้นที่ 7 อำเภอ ได้แก่ อ.เสนา อ.ผักไห่ อ.บางบาล อ.บางไทร อ.บางปะหัน อ.พระนครศรีอยุธยา และอ.บางปะอิน รวม 75 ตำบล 340 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 10,032 ครัวเรือน ปัจจุบันระดับน้ำเพิ่มขึ้น

10.อ่างทอง เกิดฝนตกหนัก มีน้ำท่วมขังในพื้นที่อ.วิเศษชัยชาญ รวม 1 ตำบล 1 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 57 ครัวเรือน ปัจจุบันระดับน้ำทรงตัว 11.เพชรบุรี เกิดฝนตกหนักในพื้นที่อ.เมืองเพชรบุรี ทำให้น้ำท่วมผิวการจราจร รวม 1 ตำบล 1 หมู่บ้าน ปัจจุบันระดับน้ำลดลง 12.สระแก้ว เกิดฝนตกหนักในพื้นที่อ.วังน้ำเย็น รวม 1 ตำบล 1 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลระทบ 8 ครัวเรือน ปัจจุบันระดับน้ำลดลง 13.กระบี่ เกิดน้ำท่วมขังในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองกระบี่ และอ.อ่าวลึก รวม 2 ตำบล 2 หมู่บ้าน 14.ภูเก็ต เกิดน้ำท่วมขังในพื้นที่อ.กะทู้ รวม 2 ตำบล 2 หมู่บ้าน

ตลิ่งทรุด – ริมตลิ่งแม่น้ำวัง หลังร้านอาหารปลาเผา ผักสด อ.เมืองลำปาง ถูกกระแสน้ำรุนแรงกัดเซาะจนพังเป็นทางยาวกว่า 10 เมตร เจ้าหน้าที่เทศบาลนครลำปางกั้นพื้นที่ห้ามประชาชนเข้าใกล้เพื่อความปลอดภัย เมื่อวันที่ 27 ส.ค.

น้ำวังยังจมลำปาง
นายพีรยุทธ์ เหมาะวิชัย ผอ.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษากิ่วลม-กิ่วคอหมา อ.เมือง จ.ลำปาง เผยว่า สถานการณ์ฝนตกในรอบ 24 ชั่วโมง เขื่อนกิ่วลม ปริมาณน้ำฝน 1.0 ม.ม. เขื่อนกิ่วคอหมา อ.แจ้ห่ม ปริมาณน้ำฝน 0.0 ม.ม. อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 2 แห่ง คือ เขื่อนกิ่วลมความจุ 106.22 ล้านลบ.ม. ปริมาณน้ำเก็บกัก 87.191 ล้านลบ.ม. (82.09%) ใช้การได้ 83.191 ล้านลบ.ม. น้ำไหลเข้า 17.814 ล้านลบ.ม. ระบายน้ำ 27.795 ล้านลบ.ม. เขื่อน กิ่วคอหมา ความจุ 170.29 ล้านลบ.ม. ปริมาณน้ำเก็บกัก 130.985 ล้านลบ.ม. (76.92%) ใช้การได้ 124.985 ล้านลบ.ม. น้ำไหลเข้า 2.584 ล้านลบ.ม. ระบายน้ำ 1.978 ล้านลบ.ม.

สถานการณ์ปัจจุบันเขื่อนกิ่วคอหมา ปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อน ปริมาณน้ำในเขื่อน และการระบายน้ำลดลง เขื่อนกิ่วลม ปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนน้อยลง แต่ปริมาณน้ำในเขื่อนยังสูงกว่าเกณฑ์การบริหาร และยังมีปริมาณช่องว่างในเขื่อนน้อยอาจไม่สามารถรองรับ น้ำฝนได้ในกรณีฝนตกหนัก จำเป็นที่จะต้องระบายน้ำด้วยอัตรา 320 ลบ.ม./วินาที ต่อไปอีก 1-2 วัน หากปริมาณน้ำลดลงถึงเกณฑ์การบริหาร เขื่อนกิ่วลมจะดำเนินการลดอัตราการระบายต่อไป

ทั้งนี้ ระดับน้ำแม่น้ำวังในเขตเทศบาลนครลำปางเริ่มลดลง หลังจากพายุ “หมาอ๊อน” สลายตัวไป และฝนเริ่มลดน้อยลง ประกอบกับเขื่อนกิ่วลมไม่เพิ่มปริมาณการปล่อยน้ำหากได้รับความเดือดร้อนจากเหตุสาธารณภัย แจ้งได้ที่สายด่วน 199 ตลอด 24 ชั่วโมง

ล่าสุดได้รับรายงานว่า ริมตลิ่งแม่น้ำวัง หลังร้านอาหารปลาเผา ผักสด อ.เมืองลำปาง ถึงบริเวณหลังร้านลูกชิ้นเขียง บริเวณท้ายเขื่อนยาง ดินทรุดตัวลงเป็นทางยาวกว่า 10 เมตร คาดว่าเกิดจากพื้นปูนแตก ทำให้เกิดน้ำกัดเซาะดินทรุดดังกล่าว เจ้าหน้าที่เทศบาลนครลำปางกั้นพื้นที่บริเวณดังกล่าว ห้ามประชาชนเข้าใกล้เพื่อความปลอดภัย และจะได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าตรวจสอบเป็นการเร่งด่วนต่อไป

ซ้อมอพยพ – พระครูธีรพงศ์พิสิษฏ์ รองผอ.โรงเรียนบ้านใหม่วิทยา นำคณะครูและนักเรียนพระภิกษุ-สามเณร วัดบ้านใหม่ อ.วังเหนือ จ.ลำปาง ซ้อมแผนอพยพจำลองเหตุการณ์อุทกภัย เพื่อเตรียมรับมือหากเกิดน้ำท่วมฉับพลัน เมื่อวันที่ 27 ส.ค.

สบปราบจม3หมู่บ้าน
สถานการณ์ในพื้นที่ ต.สบปราบ อ.สบปราบ ตั้งแต่บ่ายวันที่ 26 ส.ค.ที่ผ่านมาถึงปัจจุบัน น้ำแม่วังเอ่อล้นท่วมถนนและสนามกีฬา ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดย เจ้าหน้าที่สมาคมกู้ภัยลำปางจุดสบปราบ และอาสาสมัครช่วยเหลือชาวบ้านยกสิ่งของขึ้นไว้ที่สูง เนื่องจากมีปริมาณน้ำวังเอ่อล้นเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนบางส่วน บริเวณ บ้านโทกแม่วัง บ้านวังพร้าว เกิดน้ำท่วมขัง นายวิศิษฐ์ ภู่สุวรรณ์ นายอำเภอสบปราบ อปท.ท้องถิ่น เทศบาลตำบลสบปราบ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สมาคมกู้ภัยลำปางจุดสบปราบจัดกำลังพลเจ้าหน้าที่และอาสาสมัคร จิตอาสา เข้าช่วยเหลือขนย้ายสิ่งของชาวบ้านประชาชนพร้อมเครื่องอุปโภค-บริโภคช่วยเป็นการเบื้องต้นแล้ว

นายวัชรินทร์ อุปะโยคิน นายกเทศมนตรีตำบลสบปราบ กล่าวว่า ระดับแม่น้ำวังในพื้นที่ยังทรงตัว โดยเมื่อคืนวันที่ 26 ส.ค. ที่ผ่านมา มีระดับน้ำสูงสุดไหลท่วมบ้านเรือนและพื้นที่การเกษตร ขณะนี้น้ำลดลงประมาณ 5-10 ซ.ม. พร้อมสั่งการเจ้าหน้าที่ ปภ.เฝ้าระวัง เนื่องจากยังมีมวลน้ำจากเขื่อนกิ่วลมไหลมาอยู่ เบื้องต้นมีทรัพย์สินชาวบ้านที่อยู่ริมน้ำ เสียหายกว่า 10 หลังคาเรือน จำนวน 3 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านสบปราบ หมู่ 2 บ้านโท้กแม่วัง หมู่ 3 และบ้านสบปราบใต้หมู่ 14 ต.สบปราบ และเป็นบ้านที่ปลูกอยู่ในพื้นที่สวนที่ติดที่ลุ่มริมแม่น้ำวัง มีวัวชาวบ้านหายไปกับน้ำ 1 ตัว เนื่องจากระดับขึ้นสูงในช่วงกลางคืนและพื้นที่อื่นที่ยังไม่ได้รับแจ้งมา ซึ่งทางอำเภอสบปราบ ทต.สบปราบ ได้เข้าไปช่วยเหลือชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบใน เบื้องต้นแล้ว

เขื่อนแควน้อยระบายเพิ่ม
นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ในฐานะโฆษกกรม ชลประทาน เปิดเผยว่า ฝนที่ตกชุกทางตอนบนบริเวณ อ.ชาติตระการ และ อ.นครไทย จ.พิษณุโลก ซึ่งเป็นพื้นที่รับน้ำฝนของเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน ส่งผลให้มีปริมาณน้ำท่าไหลลงอ่างฯ อย่างต่อเนื่อง ทำให้ล่าสุดมีปริมาณน้ำในอ่างฯ 745 ล้านลูกบาศก์เมตร (ล้าน ลบ.ม.) จากปริมาตรเก็บกักสูงสุด 939 ล้านลบ.ม. สามารถรับน้ำได้อีกเพียง 194 ล้านลบ.ม.

กรมชลประทาน โดยสำนักงานชลประทานที่ 3 มีความจำเป็นทยอยปรับการระบายน้ำ เพิ่มขึ้นเป็นวันละประมาณ 20-30 ล้านลบ.ม. หรือ 220-350 ลบ.ม./วินาที อาจจะส่งผลกระทบต่อประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณริมแม่น้ำแควน้อยและแม่น้ำน่านอาจล้นตลิ่งเป็นบางแห่ง บริเวณ อ.วัดโบสถ์ อ.พรหมพิราม และ อ.เมืองพิษณุโลก ประสานไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลกและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนให้ประชาชนรับทราบแล้ว กรมชลประทานจะบริหารจัดการน้ำอย่างเต็มศักยภาพ เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชนให้มากที่สุด

ถนนชุมแพขาด
น.ส.นัยนา บรรดาศักดิ์ นายกอบต.ไชยสอ อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น พร้อมนายอภิสิทธิ์ ใจเอื้อ รองนายกอบต.ไชยสอ นางอรุณี ภูชมศรี ปลัดอบต.ไชยสอ ลงพื้นที่บ้านท่าเดื่อ หมู่ 6 ต.ไชยสอ หลังได้รับแจ้งจากชาวบ้านว่าช่วงพายุฝนตกที่ผ่านมาเกิดน้ำท่วมหมู่บ้านและน้ำจากลำน้ำเชิญไหลทะลักกัดเซาะถนนคอนกรีตขาด รถยนต์ไม่สามารถผ่านเข้าออกได้ ประชาชนในพื้นที่เดือดร้อนอย่างหนัก เนื่องจากเป็นถนนทางเชื่อมระหว่างหมู่บ้านไปตลาดขนส่งสินค้าทางการเกษตร

พบถนนคอนกรีตเชื่อมระหว่างหมู่บ้านถูกน้ำกัดเซาะพังทลาย เสียหายระยะทางประมาณ 20 เมตร รถยนต์ไม่สามารถวิ่งผ่านได้ คาดว่าหากมีฝนพายุตกลงมาอีกครั้งถนนจะถูกน้ำกัดเซาะเพิ่มเติมจนขาด เบื้องต้นนำงบกลางของอบต.ไชยสอ จัดซื้อไม้ยูคามาทำคันกั้นถมถุงทรายสร้างเป็นคันกั้นน้ำจากลำน้ำเชิญลดเเรงปะทะกัดเซาะถนนเพิ่มเติม ก่อนประสานของบประมาณจากอบจ.ขอนแก่น ซ่อมแซมถนนพร้อมสร้างกำแพงคอนกรีตกั้นน้ำกัดเซาะริมตลิ่งจนถนนเสียหาย

ส่วนที่สะพานท่าราชไชยศรี ข้ามแม่น้ำชี ต.เมืองเก่า อ.เมือง จ.ขอนแก่น ซึ่งเป็นจุดเฝ้าระวังระดับน้ำในเขตเมือง โครงการชลประทานขอนแก่น สำนักงานชลประทานที่ 6 ได้ติดตั้งป้ายแจ้งเตือน พร้อมติดตั้งธงเหลืองเพื่อเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำในพื้นที่และแจ้งเตือนประชาชนได้เตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น หลังพบว่าระดับน้ำในแม่น้ำชีมีระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้น

ถนนยังจมหลายจุด
จากนั้น นายวิเชียรและคณะ มอบถุงยังชีพให้กับประชาชนบ้านโนนงิ้ว ม.9 ต.ตลาดไทร อ.ประทาย ซึ่งได้รับผลกระทบจากมวลน้ำลำแอกรวมกับลำสะแทด เอ่อล้นท่วมพื้นที่ตำบลตลาดไทร 2 จุด ประกอบด้วย จุดกลับรถใต้สะพาน ถนนสายเจนจบทิศ-บุรีรัมย์ สูงประมาณ 2 เมตร ทั้งขาออกและขาเข้า ไม่สามารถใช้กลับรถได้ แขวงการทางได้ปิดเส้นทางจราจร ส่วนอีกจุดคือบ้านโนนงิ้ว ม.9 ต.ตลาดไทร น้ำท่วมเส้นทางเข้า-ออก ซึ่งมี 2 เส้นทาง โดยเส้นทางที่ 1 ยาวประมาณ 3 กิโลเมตร ท่วมตลอดเส้นทาง ลึกสุดประมาณ 1.50 เมตร, เส้นทางที่ 2 ท่วมยาวประมาณ 1 กิโลเมตร ลึกสุดประมาณ 50 เซนติเมตร

มีประชาชนพักอาศัยทั้งหมู่บ้าน 13 ครัวเรือน อยู่จริง 11 ครัวเรือน รวมจำนวน 29 คน เด็กนักเรียน 6 คน ซึ่ง ปภ.สาขาชุมพวง ประสานการปฏิบัติผ่าน กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หรือ กอ.ปภ.อำเภอประทายแล้ว โดยได้นำเรือท้องแบนพร้อมเครื่อง ลงพื้นที่รับประชาชนขึ้นเรือ เพื่อให้สามารถเข้า-ออกหมู่บ้านได้ในเบื้องต้น ส่วนพื้นที่การเกษตร อยู่ระหว่างการสำรวจตรวจสอบ แต่คาดว่า น่าจะมีพื้นที่การเกษตรถูกน้ำท่วมเบื้องต้นไม่ต่ำกว่า 500 ไร่

ด้านนายกิติกุล เสภาศีราภรณ์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานนครราชสีมา เปิดเผยว่า สำหรับน้ำไหลบ่าจากลำห้วยแอก ทางโครงการชลประทานนครราชสีมา, โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามูลกลาง และสำนักงานชลประทานที่ 8 ได้วางแผนระบายน้ำจาก ลำสะแทดเพื่อรองรับน้ำจากลำห้วยแอกเอาไว้ โดยการเปิดบานประตูระบายน้ำทั้งหมด ทุกอาคาร จนถึงลำน้ำมูน ที่ อ.พุทไธสง จ.บุรีรัมย์ รวมทั้งจะเพิ่มจุดการติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ เพื่อเร่งการระบายน้ำให้ลดลงเป็นปกติโดยเร็ว

อ่างแตก – เจ้าหน้าที่เร่งซ่อมอาคารระบายน้ำพังและสันอ่างเก็บน้ำลำตะโคง อ.แคนดง จ.บุรีรัมย์ ที่ถูกน้ำเซาะขาด ทำให้ปริมาณน้ำจำนวนมากทะลักไหล พร้อมสั่งเตรียมพร้อมอพยพชาวบ้าน 4 หมู่บ้าน หากน้ำท่วมฉับพลัน เมื่อวันที่ 27 ส.ค.

บุรีรัมย์วุ่น-อ่างฯแตก
นายเกรียงไกร ภาคพิเศษ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 8 พร้อมด้วยนายสมศักดิ์ ธิมา ผอ.โครงการชลประทาน จ.บุรีรัมย์ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ตรวจสภาพอาคารระบายน้ำล้นอ่างเก็บน้ำลำตะโคง อ.แคนดง จ.บุรีรัมย์ ที่ถูกน้ำกัดเซาะพังเสียหาย รวมถึงบริเวณสันอ่างที่ถูกน้ำเซาะขาดยาวกว่า 10 เมตร กว้างประมาณ 6 เมตร ทำให้น้ำในอ่างที่มีมากกว่า 10 ล้านลบ.ม. ซึ่งเกินระดับกักเก็บไหลทะลักออกตรงบริเวณที่สันอ่างขาดอย่างรวดเร็วและเชี่ยวแรง ไปตามลำน้ำก่อนจะไหลลงสู่แม่น้ำมูน

จากการสำรวจพบว่ามวลน้ำที่ไหลทะลักออกจากอ่างฯ ยังไม่ได้ส่งผลกระทบกับบ้านเรือนราษฎรแต่อย่างใด มีเพียงคอกสัตว์ และนาข้าวของเกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำถูกน้ำท่วมไปแล้วบางส่วนเท่านั้น ซึ่งก็จะได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสำรวจช่วยเหลือตามระเบียบหลักเกณฑ์ต่อไป แต่เพื่อความปลอดภัยทางอำเภอจึงได้ประกาศแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ใต้อ่างฯ และใกล้ทางน้ำไหลผ่าน 4 หมู่บ้าน ประกอบด้วย บ้านปอแดง ตลาด ตะแบง และบ้านโนนสำราญ เตรียมอพยพทั้งคนและทรัพย์สิน หากเกิดภาวะน้ำท่วมฉับพลันเพื่อป้องกันอันตรายและความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น

ส่วนการดำเนินการซ่อมแซมระดมทั้งเครื่องจักรและกำลังคนเร่งทำการติดตั้งเสาเหล็กเข็มพืด ชีตไพล์ลงไปยังจุดสันอ่างฯ ที่ขาด วางกล่องเกเบี้ยนหรือกล่องลวดตาข่ายบรรจุหินกว่า 1,000 กล่อง พร้อมทั้งถุง บิ๊กแบ๊ก บรรจุหินและทรายอีกกว่า 1,000 ลูก เป็นทำนบกั้นน้ำชั่วคราว คาดเสร็จภายใน 3 วัน ส่วนสาเหตุเนื่องจากปีนี้ปริมาณน้ำได้เกินระดับกักเก็บของอ่างฯ มาแล้วถึง 3 ครั้ง ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 4 และน้ำไหลมาสมทบอย่างต่อเนื่องด้วย ประกอบกับอาคารระบายน้ำ แห่งนี้สร้างตั้งแต่ปี 2520 อายุเกือบจะ 50 ปีแล้ว กรมชลประทานได้รับการถ่ายโอนมาจากกรมส่งเสริมการเกษตรอีกทอดหนึ่งทำให้ไม่ทราบว่าโครงสร้างเดิมเป็นอย่างไร แต่มีการตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง แต่บางจุดอยู่ใต้ผิวน้ำอาจจะมองเห็นไม่ทั้งหมด หลังจากเกิดปัญหาจะให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวทำการตรวจสอบทั้งอาคารระบายน้ำ และสันอ่างฯ อย่างละเอียดอีกครั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นซ้ำอีก ส่วนการแก้ไขปัญหาระยะยาวก็จะได้หารือกับหลายภาคส่วนอีกครั้ง

สระแก้วน้ำปริ่ม
นายปริญญา โพธิสัตย์ ผวจ.สระแก้ว พร้อมด้วย จนท.ปภ.จังหวัดสระแก้ว ลงพื้นที่สำรวจปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำคลองพระสะทึง ซึ่งอยู่ในพื้นที่ อ.วังสมบูรณ์ และอยู่ติดกับเขตพื้นที่ จ.จันทบุรี พบปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำคลองพระสะทึงในขณะนี้มีอยู่ประมาณ 44 ล้านลบ.ม.เท่านั้น และยังสามารถรับปริมาณน้ำเพิ่มได้อีก โดยเจ้าหน้าที่ประจำอ่างฯ ระบายน้ำออกจากอ่างฯ บ้าง โดยจะไม่ส่งผลกระทบต่อบริเวณท้ายอ่างฯ ส่วนปริมาณน้ำจำนวนมากในคลองพระสะทึงที่ไหลผ่านพื้นที่ อ.เขาฉกรรจ์ และ อ.เมืองสระแก้ว บางส่วนเป็นมวลน้ำสะสมจากฝนตกติดต่อกันมาหลายวัน คาดว่าจะเข้าสู่สภาวะปกติในเร็วๆ นี้หากไม่มีฝนตกลงมาอีก แต่เพื่อความไม่ประมาท เจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเตรียมความพร้อมสำหรับรับมือสถานการณ์น้ำท่วมอยู่ตลอดเวลา

นายสมหวัง ประดิษฐ์ รอง ผอ.อ่างเก็บน้ำคลองพระสะทึง เปิดเผยว่า ภายในอ่างเก็บน้ำมีปริมาณความจุน้ำ ณ ปัจจุบันนี้ประมาณ 44 ล้านลบ.ม. โดยอ่างเก็บน้ำคลองพระสะทึงสามารถเก็บน้ำได้ประมาณ 65 ล้านลบ.ม. ระบายออกไปบ้างเพราะมีมวลน้ำจากบางส่วนในพื้นที่ จ.จันทบุรี และในพื้นที่ของ อ.วังสมบูรณ์ เกิดจากฝนตกติดต่อกันมาหลายวันไหลเข้ามาวันละประมาณ 1 ล้านกว่าลบ.ม. ต้องระบายออก 1.8 ล้านลบ.ม. เฉลี่ยแล้วเท่ากับ 24 ลบ.ม.ต่อวินาที

ส่วนมวลน้ำทาง อ.สอยดาว จ.จันทบุรี ยังไม่ไหลมาที่อ่างเก็บน้ำคลองพระสะทึงมากนัก โดยปกติแล้วมวลน้ำจากเทือกเขาสอยดาวจะไหลเข้ามาที่อ่างเก็บน้ำคลอง พระสะทึงในช่วงกลางเดือนก.ย.-ต.ค. ส่วนน้ำในอ่างคลองพระสะทึงนั้นเป็นน้ำฝนและน้ำจากเขาสิบห้าชั้น เขาอ่างฤๅไน ซึ่งในระยะนี้เริ่มพร่องน้ำลงคลองพระสะทึงเป็นเวลา 3 วันแล้ว โดยจะพร่องน้ำไปประมาณ 10 วัน และถ้าไม่มีฝนตกลงมาอีกก็จะหยุดพร่องน้ำไว้ก่อนโดยเปิดตามปกติ

เตือนล้นตลิ่งแก่งคอย
นายพิษณุ รัตนปริคณน์ หัวหน้าฝ่าย ส่งน้ำฯ ที่ 1 โครงการชลประทานสระบุรี แจ้งสถานการณ์อ่างเก็บน้ำบ้านดง ต.ชำผักแพรว อ.แก่งคอย จ.สระบุรี จากฝนที่ตกในพื้นที่อย่างต่อเนื่องทำให้ปริมาณน้ำในอ่างเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันปริมาณน้ำในอ่างมีมากกว่าร้อยละ 90 ของความจุ และมีความเสี่ยงที่จะเกิดเหตุการณ์น้ำล้นออกจากทางระบายน้ำล้น จึงรบกวนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยประชาสัมพันธ์ ประชาชนที่มีบ้านเรือนตั้งอยู่ริมฝั่งลำน้ำบ้านดง อ.แก่งคอย เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด

วันเดียวกัน บริเวณสะพานบึงไม้ ม.5 ต.ชะอม อ.แก่งคอย จ.สระบุรี แต่ชาวบ้านจะเรียกว่าสะพานมิตรภาพไทย-ลาว ด้วยเป็นสะพานข้ามธารน้ำใสที่ไหลมาจากเทือกเขาใหญ่ เป็นเขตติดต่อสองหมู่บ้าน มีบ้านบึงไม้ ชาวบ้านใช้ภาษาไทย และอีกบ้านหนึ่งคือ บ้านหินตั้ง ม.8 ชาวบ้านหินตั้งใช้ภาษาลาวในการสื่อสาร เมื่อมีการสร้างสะพานข้ามธารน้ำใสนี้จึงเรียกสะพานนี้ว่าสะพานมิตรภาพไทย-ลาว บริเวณนี้ปกติจะเป็นสถานที่เล่นน้ำ พักผ่อนหย่อนใจ โดยเฉพาะวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ สองฝั่งมีร้านค้าและมีอาหาร เครื่องดื่มขาย มีซุ้มนั่งพัก แต่วันนี้ลงเล่นน้ำไม่ได้เพราะน้ำป่าไหลหลากลงจากเขาใหญ่แรงมาก

กรุงเก่าจม – พระครูสมุห์พอเจตน์ ชาตวีโร เจ้าอาวาสวัดตะกู อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา ขับเรือท้องแบนพาพระลูกวัดไปรับกิจนิมนต์ หลังบริเวณวัดและถนนเข้าออกถูกน้ำจากคลองบางหลวง ล้นตลิ่งท่วมสูงจนสัญจรไม่ได้ เมื่อวันที่ 27 ส.ค.

พระกรุงเก่าแจวเรือแล้ว
สถานการณ์น้ำที่จ.พระนครศรีอยุธยา หลังจากเขื่อนเจ้าพระยายังคงระบายน้ำลงสู่ท้ายเขื่อนอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้คลองสาขาต่างๆ รวมถึงแม่น้ำน้อยที่รับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยามีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นอีก 0-50 เซนติเมตร โดยที่บริเวณโบราณสถานวัดไชยวัฒนาราม อ.พระนครศรีอยุธยา ตั้งอยู่ติดกับแม่เจ้าพระยาตั้งแนวบังเกอร์กันน้ำท่วมอย่างแข็งแรง พร้อมติดตั้งเครื่องสูบรับมือกับปริมาณน้ำท่วมที่ เพิ่มสูงขึ้นเสมอกับแนวตลิ่งชั้นแรกของโบราณสถานวัดไชยวัฒนารามแล้ว

ขณะที่แม่น้ำน้อยซึ่งรับน้ำมาจากแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วงไหลผ่าน อ.บางไทร ชาวบ้านต้องเร่งขนย้ายเก็บข้าวของที่อยู่บริเวณใต้ถุนบ้านที่น้ำท่วมสูงจากพื้นประมาณ 30 เซนติเมตรขึ้นเอาไว้ที่สูง ก่อนที่จะได้รับความเสียหาย ส่วนที่วัดตะกู ต.วัดตะกู อ.บางบาล ริมคลองบางหลวงที่รับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา น้ำล้นตลิ่งไหลเข้าท่วมพื้นที่วัด ถนนที่ใช้เดินทางเข้าวัดยาวกว่า 700 เมตรถูกน้ำท่วมสูง พระสงฆ์ที่จะเดินทางเข้าออกวัดต้องใช้เรือในการสัญจรแทน เพราะเส้นทางจากวัดไปสู่ถนนใหญ่คันคลองชลประทานถูกน้ำท่วมสูงกว่า 60 เซนติเมตร

พระครูสมุห์พอเจตน์ ชาตวีโร เจ้าอาวาสวัดตะกู พร้อมพระลูกวัดจากวัดไปรับกิจนิมนต์ ต้องใช้เรือท้องแบนลำใหญ่ โดย เจ้าอาวาสต้องลงมือขับเรือเอง วัดตะกูแห่งนี้ตั้งติดลำน้ำและไม่มีคันล้อมป้องกันน้ำท่วม โดยเมื่อปี 2564 เคยถูกน้ำท่วมสูงนานกว่า 3 เดือน เสียหายอย่างหนัก เวลาผ่านมาได้ 9 เดือนเท่านั้น น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยากลับท่วมวัดตะกูอีกครั้งในปีนี้

น้ำเชี่ยวเรือลากชนแพ
วันเดียวกันมีผู้เผยแพร่คลิปภาพเหตุการณ์ ขณะที่เรือยนต์ลากจูงเรือบรรทุกสินค้าผ่าน บริเวณสามแยกวัดพนัญเชิงวรวิหาร จุดบรรจบแม่น้ำป่าสักและแม่น้ำเจ้าพระยา ด้วยกระแสน้ำที่ไหลเชี่ยว ทั้ง 2 แม่น้ำทำให้เกิดเป็นวังน้ำวน จนเรือลากจูงเกือบพุ่งชนแพให้อาหารปลา ท่าน้ำหน้าวัดพนัญเชิงวรวิหาร นักท่องเที่ยวที่อยู่ในแพต่างพากันวิ่งขึ้นจากแพกันจ้าละหวั่น แต่คนขับเรือยนต์ลากจูงสามารถบังคับเรือไม่ให้พุ่งเฉียดแพไปได้อย่างหวุดหวิด

นอกจากนี้ยังพบว่ามีผู้โพสต์ภาพคลิปวิดีโอเหตุการณ์เดียวกันคนละฝั่งแม่น้ำ บริเวณโบราณสถานป้อมเพชร เป็นภาพเรือยนต์ลากจูง 6 ลำ ลากเรือบรรทุกสินค้า 4 ลำ เมื่อถึงจุดเกิดเหตุเกิดวังน้ำวนน้ำไหลเชี่ยวทำให้เรือยนต์ลากจูงต้องเร่งเครื่องเพื่อลากเรือบรรทุกสินค้าให้ผ่านบริเวณนี้ให้ได้ จนเรือยนต์ลากจูงได้พุ่งเข้าไปชนแพของชาวบ้านบริเวณใกล้กับโบราณสถานป้อมเพชร

นายสนัน วิกสิต อายุ 71 ปี เจ้าของร้านอาหารเจ้าพระยาป่าสัก เผยว่า ขณะนั้นกำลังทำงานอยู่บนแพ มีเรือยนต์ลากจูงเรือบรรทุกสินค้าขึ้นมาทวนน้ำ จังหวะนั้นเรือยนต์ลากจูง 2 ลำที่ลากอยู่ข้างหน้าเกิดเสียหลัก เรือเอียงแล้วหวิดจมจนทำให้คนที่อยู่บนเรือตัดเชือกเพื่อให้เรือหลุดออกมา จากนั้นเรือเฉี่ยวแพของตนเองจนแพหลุดลอยออกมา อยากฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยกวดขันเรือลากจูงไม่ให้ลากจูงเรือสินค้ายาวติดต่อกันถึง 4 ลำ ขอให้เหลือแค่ 3 ลำก็พอ เพราะช่วงนี้หน้าน้ำ ไม่เช่นนั้นอาจจะเกิดเหตุเหมือนอย่างปีที่แล้วที่เรือลากจูงพลิกคว่ำจนทำให้คนบนเรือเสียชีวิต 2 ราย

รายงานข่าวแจ้งว่า บริเวณสามแยกแม่น้ำหน้าวัดพนัญเชิงวรวิหารจุดเกิดหตุ เมื่อวันที่ 29 ก.ย. 64 เคยเกิดเหตุรถยนต์ลากจูงเสียหลักล่มกลางแม่น้ำทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย

ล้นตลิ่ง – แม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณท่าน้ำวัดเทียนถวาย ต.บ้านใหม่ อ.เมือง จ.ปทุมธานี ระดับน้ำขึ้นสูงจนล้นตลิ่ง ทะลักเข้าท่วมพื้นที่ริมฝั่งแล้ว ทางวัดต้องเร่งนำกระสอบทรายมาสร้างแนวป้องกันน้ำท่วม ขณะที่ลักษณะน้ำมีสีแดงขุ่นเนื่องจากฝนตกชุก ทำให้ดินโคลนไหลปะปนลงสู่แม่น้ำ เมื่อวันที่ 27 ส.ค.

บิ๊กป้อมส่งทหารช่วยกรุง
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รักษาการนายกรัฐมนตรี โทรศัพท์พูดคุยกับนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ถึงการช่วยเหลือเตรียมการป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่ กทม. ในฐานะที่พล.อ.ประวิตร ดูแลรับผิดชอบเรื่องการบริหารจัดการน้ำของประเทศ และเนื่องจากเป็นฤดูฝน ประกอบกับเป็นช่วงที่มีฝนตกชุก ว่า รัฐบาลมีความห่วงใยประชาชน ชาวกทม. ยินดีช่วยเหลือ กทม.ในทุกเรื่อง และสามารถต่อโทรศัพท์สายตรงถึงตนเองได้ทันที พร้อมได้ให้หมายเลขติดต่อโดยตรงไว้ด้วย

สำหรับรายละเอียดที่พล.อ.ประวิตรจะสนับสนุนกทม.ในการรับมือปัญหาน้ำท่วม จะเริ่มต้นวันจันทร์ที่ 29 ส.ค. โดยจะส่งทหาร 50 นาย แบ่งเป็น 2 จุด จุดละ 25 นาย มาเสริมกำลัง หน่วยงานกองระบบท่อระบายน้ำ สำนักการระบายน้ำ กทม. ดำเนินการบรรจุกระสอบทรายและเรียงแนวกระสอบทราย

ในจุดที่ 1 พื้นที่กรุงเทพใต้ จะบรรจุกระสอบทราย เพื่อใช้ในงานป้องกันน้ำหนุนและน้ำเหนือไหลหลาก โดยใช้สถานที่สวนสาธารณะใต้สะพานตากสิน โดยขอใช้พื้นที่ของกรมทางหลวงชนบท เริ่มดำเนินการ 09.30 น. จำนวนทราย 100 ลบ.ม. บรรจุกระสอบได้ประมาณ 16,000 ใบ ได้มีการประสานงานฝ่ายโยธา เขตสาทร ให้แจ้ง ผู้บังคับบัญชาหน่วยงาน ของ พล.ม.พัน 3 ที่ดูแลพื้นที่ ให้ช่วยสนับสนุนจนท.ทหาร ในการช่วยบรรจุกระสอบทราย ในจุดนี้จะมีจนท.สำนักการระบาย 20 คนร่วมกันทำงาน

ในจุดที่ 2 พื้นที่ธนบุรี เพื่อเรียงแนวกระสอบทรายป้องกันน้ำหนุน บริเวณภายในกรมอู่ทหารเรือ ถนนอรุณอมรินทร์ ดำเนินการในวันจันทร์ที่ 29 ส.ค.เช่นกัน ตั้งแต่เวลา 09.30 น. ความยาวทั้งหมดประมาณ 100 เมตร ใช้กระสอบทรายใช้ประมาณ 8,000-10,000 ใบ ทั้งนี้ พล.อ.ประวิตรมอบหมายให้ เจ้าหน้าที่ประสานงานกับกทม.ต่อไป

ขณะที่แม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณท่าน้ำวัดเทียนถวาย ต.บ้านใหม่ อ.เมือง จ.ปทุมธานี ระดับน้ำขึ้นสูงจนล้นตลิ่ง ทะลักเข้าท่วมพื้นที่ริมฝั่งแล้ว ทางวัดต้องเร่งนำกระสอบทรายมาสร้างแนวป้องกันน้ำท่วม ขณะที่ลักษณะน้ำมีสีแดงขุ่นเนื่องจากฝนตกชุก ทำให้ ดินโคลนไหลปะปนลงสู่แม่น้ำ เช่นเดียวกับพื้นที่ จ.นนทบุรี ช่วงริมแม่น้ำเจ้าพระยาชาวบ้านต่างพากันยกของขึ้นที่สูง เพราะระดับน้ำปริ่มตลิ่งและมีสีขุ่นโคลน รวมถึงกระแสน้ำยังมีความเชี่ยว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน