อุตุชี้คือเมฆฝนคลุมแดด ตั้งหมื่นบิ๊กแบ๊กป้องตลิ่ง

กรมอุตุฯ แจงปรากฏการณ์ ‘เมฆอาร์คัส’ เมฆดำทะมึน ตอนเช้าตรู่เป็นเมฆฝนฟ้าคะนอง หรือ ‘คิวมูโลนิมบัส’ เกิดจากการเคลื่อนที่ขึ้นลงรุนแรงทำให้เกิดแนวโค้งเหมือนกันชนหน้ารถ กลุ่มเมฆฝนก่อตัวขนาดใหญ่และหนา ทำให้แสงแดดทะลุผ่านไม่ได้ เกิดบรรยากาศมืดเหมือนกลางคืน ปกคลุมไปทั่ว ตั้งแต่ฉะเชิงเทรา เคลื่อน เข้ากรุงเทพฯ ปทุมธานี นนทบุรี และสมุทรปราการ ด้านคลองโผงเผง อ่างทอง น้ำเอ่อตลิ่ง ท่วมบ้านเรือนนอกคันกั้นกว่าครึ่งเมตร ชาวบ้านเร่งอพยพขึ้นที่สูง กทม.-กองทัพบก ระดมวางทรายบิ๊กแบ๊กแนวฟันหลอตลิ่งเจ้าพระยา เร่งขุดคลองรับน้ำบ่า ‘ชัชชาติ’ ขอบคุณกองทัพร่วมช่วยเหลือ รองโฆษกรัฐยัน บิ๊กป้อมห่วงพื้นที่น้ำท่วม สั่งศูนย์ส่วนหน้า 4 ภาคช่วยเหลือด่วน ปภ.แจง 8 จังหวัดยังจมจากหางพายุหมาอ๊อน อีสานพื้นที่เกษตรล่มแล้ว 3.7 แสนไร่ นาจมกว่า 2 แสนไร่

กรมอุตุฯแจงเมฆดำทะมึน
เมื่อวันที่ 29 ส.ค. กรมอุตุนิยมวิทยา ออกเอกสารชี้แจงกรณี ช่วงเช้าวันเดียวกัน เกิดพายุฝนฟ้าคะนอง บริเวณภาคตะวันออก กรุงเทพ มหานครและปริมณฑล เกิดจากลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพฯ และปริมณฑล ทำเกิดฝนตกในภาคตะวันออก กรุงเทพฯ และปริมณฑล

เมฆอาร์คัส – ท้องฟ้ากทม.และใกล้เคียงเกิดเมฆดำทะมึนปกคลุมไปทั่วเมื่อช่วงเช้าวันที่ 29 ส.ค. กรมอุตุฯ ระบุเป็นปรากฏการณ์ ‘เมฆอาร์คัส’ เมฆฝนฟ้าคะนองสีดำขนาดใหญ่ เคลื่อนที่ขึ้นลงอย่างรุนแรง

ส่วนเมฆที่ปรากฏ เป็นเมฆฝนฟ้าคะนอง หรือ “คิวมูโลนิมบัส” เมื่อเช้ามีลักษณะการเคลื่อนที่ขึ้นลงที่รุนแรงทำให้เกิดแนวโค้ง เหมือนเมฆอาร์คัส มีลักษณะโค้งเหมือนกันชนหน้ารถ คล้ายม้วนแบบหลอดและแบบชั้น และเนื่องจากอาร์คัสเป็นส่วนหนึ่งของเมฆฝนฟ้าคะนอง จึงแผ่ออกมาไกลจากตัวเมฆและมองเห็นได้ในหลายพื้นที่และหลายกิโลเมตร

“สาเหตุที่กลุ่มเมฆฝนเป็นสีดำ เนื่องจากกลุ่มเมฆฝนที่ก่อตัวมีขนาดใหญ่และหนา ดังนั้น ทำให้แสงแดดจากพระอาทิตย์ไม่สามารถผ่านทะลุกลุ่มเมฆฝนได้ จึงทำให้กลุ่มเมฆฝนเป็นสีดำ ทำให้บรรยากาศมืดเหมือนกลางคืน เช่น เช้าวันที่ 29 ส.ค.2565 มีกลุ่มเมฆฝนก่อตัวทางทิศตะวันออกของกรุงเทพ มหานคร บริเวณ จ.ฉะเชิงเทรา และเคลื่อนเข้าปกคลุมกรุงเทพฯ ปทุมธานี นนทบุรี และสมุทรปราการ ซึ่งเป็นกลุ่มเมฆฝนที่มีขนาดใหญ่และหนา สำหรับบริเวณที่กลุ่มเมฆฝนก่อตัวจะเกิดทิศตะวันออกของกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นทิศที่พระอาทิตย์ขึ้น และเมื่อกลุ่มเมฆฝนที่ก่อตัวมีขนาดใหญ่และหนา ดังนั้นทำให้แสงแดดจากพระอาทิตย์ไม่สามารถผ่านทะลุกลุ่มเมฆฝนได้ จึงทำให้กลุ่มเมฆฝนเป็นสีดำ และบรรยากาศมืดเหมือนกลางคืน” กรมอุตุฯระบุ

เร่งบิ๊กแบ๊กอุดจุดฟันหลอ
ที่ศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพมหานคร สำนักการระบายน้ำ (สนน.) เขตดินแดง นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. ติดตามสถานการณ์ฝนที่ตกในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยมีนายสมบัติ วรสินวัฒนา รองผอ.สนน. และนายอาสา สุขขัง ผอ.กองสนเทศระบายน้ำ รายงานข้อมูลสถานการณ์ฝน หลังจากเช้าวันเดียวกัน มีฝนตกกำลังปานกลางตกในพื้นที่เขตบางนา พระโขนง และคลองเตย ปัจจุบัน ตรวจวัดปริมาณฝนสูงสุด ได้ 28 มิลลิเมตร และเข้าปกคลุมพื้นที่ฝั่งธนบุรี ทำให้เกิดน้ำท่วมขังในถนนสายหลัก ส่งผลให้การจราจรติดขัดในบางพื้นที่

จากนั้น ที่กรมอู่ทหารเรือ เขตบางกอกน้อย นายชัชชาติได้ลงพื้นที่ตรวจการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์น้ำล้นตลิ่งริมแม่น้ำเจ้าพระยา พร้อมทั้งให้กำลังใจเจ้าหน้าที่จากสนน. กทม. และขอบคุณทหารที่สนับสนุนกำลังพลช่วยในการวางแนวกระสอบทรายเพื่อป้องกันน้ำท่วมบริเวณที่ไม่มีเขื่อนกั้นน้ำถาวร (จุดฟันหลอ) โดยมี นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯกทม. พล.ร.ท.ปกครอง มนธาตุผลิน เจ้ากรมกิจการพลเรือนทหารเรือ พล.ต.ญาณะโชติ ผลฉาย ผอ.สำนักงานกิจการพลเรือน สำนักนโยบายและแผนกลาโหม และนายชยันต์ เมืองสง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ผู้บริหารกทม. ผู้บริหารสนน. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม

นายชัชชาติกล่าวว่า การทำแนวเขื่อนกั้นน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา โดยการบรรจุกระสอบทรายและวางเรียง เป็นความร่วมมือระหว่างกองทัพไทยกับกทม. ตามที่พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้ให้ความช่วยเหลือ ขณะนี้จุดที่สำคัญ 2 จุด คือ การเรียงกระสอบทรายบริเวณอู่ทหารเรือธนบุรี ระยะทางประมาณ 100 เมตร ซึ่งเป็นจุดที่ ฟันหลอ เนื่องจากเป็นจุดที่ต้องนำเรือเข้าออก หากน้ำไหลเข้าจากจุดตรงนี้ได้ก็จะเข้าไปกระทบชุมชนด้านในหลายชุมชน โดยมีกำลังพลจากเจ้าหน้าที่ทหารเรือ 50 นาย มาร่วมกับเจ้าหน้าที่กทม. 50 นาย บรรจุกระสอบทราย 8,000-10,000 ใบ และวางเรียงเพื่อทำแนวเขื่อนกั้นน้ำที่ความสูง + 2.80 ม.รทก. จะแล้วเสร็จในบ่ายนี้ อีกจุดที่บริเวณถนนเจริญกรุง เป็นอีกจุดรูรั่ว มี 2 จุดคือใต้สะพานตากสิน และบริเวณสะพานปลา มีกำลังเจ้าหน้าที่ทหารบกอีก 50 นาย ไปช่วยบรรจุกระสอบทรายให้พร้อมในการจัดเรียง โดยเร่งป้องกันแนวฟันหลอริมเจ้าพระยาในพื้นที่กรุงเทพฯ รวม 76 จุด ซึ่งได้เรียงกระสอบทราบตลอดแนวแล้ว 97% เหลือ 3% ในการเสริมแนวเขื่อนให้สูงขึ้น

กทม.-ทหาร – นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ตรวจสถานการณ์แม่น้ำเจ้าพระยา พร้อมกับให้กำลังใจเจ้าหน้าที่กทม.และกองทัพเรือที่สนับสนุนกำลังพลช่วยวางแนวกระสอบทราย ที่กรมอู่ทหารเรือ เขตบางกอกน้อย เมื่อวันที่ 29 ส.ค.

กทม.-ทหารระดมดันน้ำ
นายชัชชาติกล่าวต่อว่า กทม.กับกองทัพ ได้มีการประสานงานกันมาตลอด ตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้นโยบายมาเมื่อเดือนก.ค.ที่ผ่านมา และติดตามมาตลอด ได้มีความร่วมมือกันในการขุดลอกคลองต่างๆ อนาคตคงมีความร่วมมือกันมากขึ้น เพื่อความมั่นใจและความปลอดภัยของประชาชน ทหารเอง มีกำลังและองค์ความรู้ กรมอุทกศาสตร์ที่ดูน้ำขึ้นน้ำลง รวมถึงเครื่องมือ เช่นเครื่องผลักดันน้ำ แต่ต้องดูทั้งประเทศ อาจมีบางส่วนที่จะขอมาช่วยเรื่องผลักดันน้ำในพื้นที่ กทม.ได้ ทหารเรือเองก็ช่วยดูแลชุมนุมในบริเวณอย่างใกล้ชิดทั้งการเตือนและเข้าไปดูแลปัญหาต่างๆ

สำหรับสถานการณ์น้ำปัจจุบัน น้ำหนือที่ไหลผ่านกรุงเทพมหานคร อยู่ประมาณ 1,400 ลบ.ม.ต่อวินาที ระดับน้ำเฝ้าระวังที่ปากคลองตลาด วานนี้อยู่ที่ 1.86 เมตร ยังอยู่ในระดับที่เขื่อนควบคุมได้ โดยในปีนี้ระดับน้ำที่ปากคลองตลาดจะอยู่ที่ 2.08 เมตร ซึ่งขณะนี้ยัง ไม่เกิน ยังไม่ถึงจุดวิกฤต ปัญหาคือน้ำที่รั่วจากจุดรอยต่อที่เป็นตะเข็บหรือจุดอ่อนที่รั่วผ่านช่องระบายน้ำอื่นขึ้นมา พยายามดูแลภาพรวม ต้องติดตามสถานการณ์โลก เรื่องน้ำก็น่ากลัว ภาวะโลกร้อนที่ทำให้เกิดฝนที่ไม่คาดคิดในหลายพื้นที่ เราก็พยายามเตรียมรับมือไว้ ทั้งการทำเขื่อนและการระบายน้ำ คงต้องช่วยกัน

สำหรับพื้นที่ฝั่งธนบุรีไม่น่าเป็นห่วง ได้มีการขุดลอกคลองไว้ค่อนข้างดี มีแค่คลองทวีวัฒนาที่มีจุดคอขวด ด้านฝั่งตะวันออกที่กังวลคือปริมาณน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ซึ่งจะมีผลกับคลองประเวศบุรีรมย์ และคลองแสนแสบ อาจต้องขอเรือผลักดันน้ำจากกองทัพไปช่วยด้วย

“สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ รายงานว่าในช่วง 4-5 วันนี้ฝนจะเบาลง จะเร่งระบายน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ขออย่าตระหนกกังวลมาก ฝนจะเว้นช่วงไปจนถึงวันที่ 3 ก.ย.นี้ จึงต้องเร่งระบายน้ำออกเพื่อระบายน้ำจากพื้นที่ตอนบน เป็นการทำงานกันอย่าง บูรณาการไร้รอยต่อทุกหน่วยงาน กทม.เป็นหนึ่งในฟันเฟืองที่ช่วยกันแก้ปัญหา หลักการคือกทม.ดูแลชุมชนใกล้เคียง หน่วยไหนใกล้ดูแลชุมชนด้วย สุดท้ายจะเห็นภาพต่อรวมกันทั้งกรุงเทพฯได้ ต้องขอบคุณกองทัพและทุกหน่วยที่ร่วมมือกัน เชื่อว่าการร่วมมือกันจะทำให้ประชาชนมั่นใจและอุ่นใจมากขึ้น ที่ทุกคนร่วมมือกันโดยเอาประชาชนเป็นที่ตั้ง” นายชัชชาติกล่าว

สั่งศูนย์ส่วนหน้า4ภาคช่วยท่วม
ชที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผอ.อำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) สั่งการให้กอนช. ประเมินสถานการณ์น้ำ และติดตามการบริหารจัดการน้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมเน้นย้ำให้ประชา สัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนในการเตรียมรับมือล่วงหน้า หากจำเป็นต้องเพิ่มการระบายน้ำ และเน้นย้ำหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความร่วมมือตามกรอบโครงสร้างและรูปแบบการดำเนินการตั้งศูนย์ส่วนหน้าในพื้นที่ 4 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ โดยเฉพาะในระยะนี้ต้องติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นพิเศษ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์อุทกภัย

“พล.อ.ประวิตรได้กำชับให้มีแผนเผชิญเหตุเพื่อช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ได้ทันท่วงที พร้อมทั้งให้ปรับอำนาจหน้าที่ให้หน่วยงานและภาคเอกชน ที่ไม่ได้อยู่ในศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าฯ เข้ามาบูรณาการการทำงานร่วมกันได้ โดยพล.อ.ประวิตรให้ความสำคัญกับพี่น้องประชาชนทุกจังหวัด ไม่เลือกหรือเฉพาะเจาะจงว่าเป็นจังหวัดใด ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงของแต่ละจังหวัดนั้นมีปัจจัยแตกต่างกัน จึงต้องการเสริมการจัดการในเชิงรุก ดังจะเห็นได้จากการต่อสายตรงถึงนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม.และนายวีระชัย นาคมาศ ผวจ.พระนครศรีอยุธยา โดยไม่ต้องรอให้ผู้ใต้บังคับบัญชาในพื้นที่ร้องขอ แต่พร้อมสนับสนุนผู้ปฏิบัติหน้าที่ให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งถือเป็นวิธีการบริหารในหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง ที่มีความตื่นตัวในการแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชน จึงไม่ใช่เรื่องของการเกาะกระแสใคร เพราะทำด้วยใจที่เป็นผู้นำ และในทางตรงกันข้ามกลับสะท้อนความจริงใจที่มีต่อประชาชน” น.ส.ทิพานันกล่าว

เร่งระบาย-8 จังหวัดยังท่วม
ด้านกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย ในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) รายงานผลกระทบจากพายุโซนร้อน “หมาอ๊อน” (MAON) บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน ส่งผลให้เกิดฝนตกหนักในทุกภาคของประเทศไทย โดยหลายพื้นที่มีปริมาณฝนมากกว่า 150 มิลลิเมตร ส่งผลให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำสายหลัก ลำน้ำสาขามีปริมาณมากในบริเวณลุ่มน้ำป่าสัก ลุ่มน้ำชี ลุ่มน้ำมูน รวมถึงการระบายน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยา 1,500-1,800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง น้ำล้นตลิ่งในพื้นที่เฝ้าระวังระหว่างวันที่ 24-30 ส.ค. ซึ่งในระหว่างวันที่ 24-29 ส.ค. มีสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 24 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย แม่ฮ่อนสอน ลำปาง ลำพูน พิษณุโลก ตาก เพชรบูรณ์ อุบลราชธานี อุดรธานี บุรีรัมย์ ขอนแก่น มหาสารคาม นครราชสีมา เลย จันทบุรี สระแก้ว นครนายก พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง เพชรบุรี ระยอง ปราจีนบุรี กระบี่ และ ภูเก็ต 56 อำเภอ 179 ตำบล 672 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 20,856 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 1 ราย (เชียงราย)

ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์อุทกภัย 8 จังหวัด ได้แก่ ตาก อุบลราชธานี มหาสารคาม นครราชสีมา ปราจีนบุรี นครนายก พระนคร ศรีอยุธยา และอ่างทอง รวม 21 อำเภอ 107 ตำบล 424 หมู่บ้าน

คลองโผงเผงล้น-เร่งอพยพ
ส่วนสถานการณ์ฝนและน้ำท่วมในพื้นที่ต่างๆ ที่หมู่ 1 ต.โผงเผง อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง น้ำในคลองโผงเผงเอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่บ้านเรือนประชาชน ที่ตั้งอยู่ริมตลิ่งนอกคันกั้นน้ำ มีระดับสูงขึ้น 50-60 ซ.ม. และเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ชาวบ้านได้เร่งยกสิ่งของขึ้นที่สูง เพื่อป้องกันความเสียหาย

ด้านสถานการณ์แม่น้ำเจ้าพระยา ที่ไหลผ่านจ.อ่างทอง มีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ที่สถานีโทรมาตร C7A บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัด ระดับน้ำอยู่ที่ระดับความสูง 6.84 เมตร จากระดับตลิ่ง 10 เมตร มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,669 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวินาที

ท่วมทุกที – ถนนพหลโยธินขาออก หน้ามหาวิทยาลัยกรุงเทพ อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี มีน้ำท่วมขังสูง 20-30 เซนติเมตร รถยนต์และรถจักรยานยนต์สัญจร ผ่านไปอย่างยากลำบาก นักศึกษาถึงกับบ่นว่าบริเวณดังกล่าวฝนตกทีไรก็ท่วมทุกครั้ง เมื่อเช้าวันที่ 29 ส.ค.

ส่วนที่จ.ปทุมธานี หลังจากเมื่อช่วงเช้าวันเดียวกันได้มีฝนตกลงมาอย่างหนัก โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ อ.คลองหลวง ทำให้มีน้ำท่วมขังบนถนนพหลโยธินขาออกเป็นจำนวนมาก ซึ่งทางหน้ามหาวิทยาลัยกรุงเทพ ถนนพหลโยธินขาออกช่องทางคู่ขนานก็เช่นกันมีน้ำท่วมขังสูง 20-30 ซ.ม. ทำให้รถยนต์และรถจักรยาน ยนต์สัญจรลำบาก โดยเฉพาะนักเรียนที่ขี่รถจักรยานยนต์มาเรียนช่วงเช้า ซึ่งพ.ต.ท.สิงหา เฟื่องแก้ว สว.จร.สภ.คลองหลวง พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรสภ.คลองหลวง มาคอยอำนวยการจราจรอยู่บริเวณที่เกิดน้ำท่วมขัง

ด้านนายนิติชัย วิริยานนท์ นายอำเภอคลองหลวง ได้มอบหมายให้ นายปวีณวัช ปาระมีศรี ปลัดฝ่ายความมั่นคง และเจ้าหน้าที่แขวงการทางจังหวัดปทุมธานี ลงพื้นที่เร่งแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขัง เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน นักเรียน และนักศึกษาในการใช้เส้นทาง

ขณะที่ปริมาณน้ำในเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน เพิ่มขึ้นเป็น 80% แล้ว หลังจากที่ยังคงมีฝนตกลงมาในพื้นที่ เขต อ.ชาติตระการ และอ.นครไทย จ.พิษณุโลก อย่างต่อเนื่อง ทางกรมชลประทานได้วางแผน พร่อง น้ำในเขื่อนออกไปทางแม่น้ำแควน้อยหน้าเขื่อน เพื่อระบายไปบรรจบกับแม่น้ำน่านที่ ต.ปากโทก อ.เมือง จ.พิษณุโลก โดยปล่อยมากขึ้นจากเดิมเป็นวันละ 24.19 ล้านลบ.ม. เพื่อพร่องให้เหลือพื้นที่รองรับน้ำ หากมีน้ำหลากเข้ามาอีกในช่วงเดือนก.ย. อาจยากแก่การควบคุม ขณะที่มีน้ำไหลเข้าเขื่อนเพิ่มขึ้นเป็น 19.87 ล้านลบ.ม. ทำให้ปริมาณน้ำในเขื่อนแควน้อยยังเพิ่มขึ้นล่าสุดอยู่ที่ 749 ล้านลบ.ม. หรือ ร้อยละ 80 ของความจุอ่าง

อีสานเกษตรล่ม 3.7 แสนไร่
ด้านสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ จิสด้า (GISTDA) เปิดภาพจากดาวเทียม Radarsat-2 (เรดาร์แซท 2) เมื่อวันที่ 28 ส.ค. พบน้ำท่วมขังในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวม 370,522 ไร่ แบ่งเป็นจังหวัดลุ่มน้ำโขงมีพื้นที่เสียหายทั้งสิ้น 84,737 ไร่ โดย 3 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ จ.นครพนม 22,266 ไร่ จ.อุดรธานี 17,994 ไร่ จ.สกลนคร 15,997 ไร่

ขณะที่พื้นที่จังหวัดลุ่มน้ำชี-ลุ่มน้ำมูน เสียหายแล้ว 285,785 ไร่ โดย 3 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ จ.ร้อยเอ็ด 83,023 ไร่ จ.บุรีรัมย์ 29,086 ไร่ จ.สุรินทร์ 26,311 ไร่ ส่วนพื้นที่นาข้าวโดยรวมได้รับความเสียหายแล้วทั้งสิ้น 217,612 ไร่ ส่วนพื้นที่อื่นๆ ตรวจสอบเพิ่มเติมได้ที่ http://flood.gistda.or.th

เตือนน้ำป่า-ดินถล่มซ้ำ
ด้านนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า ทางจังหวัด ได้ประกาศแจ้งเตือนไปยังประชาชนให้ติดตามสถานการณ์น้ำฝนอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะประชาชนที่อาศัยอยู่พื้นที่บริเวณเชิงเขา พื้นที่ อ.ปากช่อง และอ.วังน้ำเขียว ซึ่งตลอดเมื่อคืนถึงเช้าวันเดียวกัน มีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่อง แม้ฝนจะตกไม่หนัก แต่ด้วยสถานการณ์ฝนที่ตกต่อเนื่องมาโดยตลอด อาจทำให้มีปริมาณน้ำฝนสะสมบนพื้นที่เชิงเขา และอาจทำให้ดินเกิดการอิ่มตัวจนทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากและดินโคลนถล่มได้ ส่วนปริมาณน้ำที่บ้านท่ามะปรางค์ อ.ปากช่อง จุดวิกฤต อยู่ที่ 1.60 เมตร แต่ขณะนี้วัดได้ 1 เมตรแล้ว ซึ่งได้สั่งการให้ทางอำเภอและอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ รวมทั้งประชาชนที่อาศัยอยู่ริมฝั่งให้ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ซึ่ง เหลือเพียง 60 ซ.ม.จะถึงจุดวิกฤต ต้องเฝ้าระวัง ซึ่งหากฝนตกต่อเนื่องอาจจะทำให้พื้นที่ อ.ปากช่องประสบปัญหาน้ำป่าเหมือนปีที่ผ่านมา

ขวางถนน – ฝนตกหนักในจ.นครราชสีมาช่วงเช้า ทำต้นไม้ขนาดใหญ่โค่นล้มขวางทางหลวงหมายเลข 304 ขาออกจากตัวเมือง ต.ปรุใหญ่ อ.เมือง ทำจราจรติดขัดยาว เจ้าหน้าที่ต้องเร่งตัดและเคลื่อนย้ายเพื่อเปิดทาง เมื่อวันที่ 29 ส.ค.

แม่โขงหนองคายเอ่อกว่าเมตร
ส่วนสถานการณ์น้ำในแม่น้ำโขง วันเดียวกัน ที่ส่วนอุทกวิทยาหนองคาย วัดระดับน้ำได้ที่ 9.28 เมตร เพิ่มขึ้นจากเมื่อวานตอนเช้า 1.43 เมตร ต่ำกว่าตลิ่ง 2.92 เมตร คาดว่าระดับน้ำยังคงเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากน้ำทางตอนเหนือ โดยเฉพาะที่ อ.เชียงคาน จ.เลย มีระดับที่ เพิ่มขึ้นเช่นกัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากระดับน้ำโขงที่ เพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบทำให้ตลิ่งริมโขงทรุดพัง เสียหาย ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน โดยที่ห้วยค้อ ต.บ้านม่วง อ.สังคม จ.หนองคาย น้ำโขงได้เซาะตลิ่ง ดินพังทลายลงไป เป็นพื้นที่กว้าง เสียหายไปแล้วกว่า 2 ไร่ ชาวบ้านวอนภาครัฐเข้าตรวจสอบและช่วยแก้ไขให้ด้วย เพราะหากปล่อยไว้จะทำให้พื้นที่ริมฝั่งถูกน้ำเซาะหายไปอีกหลายไร่

ส่วนที่จ.ปทุมธานี หลังจากเมื่อช่วงเช้าวันเดียวกันได้มีฝนตกลงมาอย่างหนัก โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ อ.คลองหลวง ทำให้มีน้ำท่วมขังบนถนนพหลโยธินขาออกเป็นจำนวนมาก ซึ่งทางหน้ามหาวิทยาลัยกรุงเทพ ถนนพหลโยธินขาออกช่องทางคู่ขนานก็เช่นกันมีน้ำท่วมขังสูง 20-30 ซ.ม. ทำให้รถยนต์และรถจักรยานยนต์สัญจรลำบาก โดยเฉพาะนักเรียนที่ขี่รถจักรยานยนต์มาเรียนช่วงเช้า ซึ่งพ.ต.ท. สิงหา เฟื่องแก้ว สว.จร.สภ.คลองหลวง พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรสภ.คลองหลวง มาคอยอำนวยการจราจรอยู่บริเวณที่เกิดน้ำท่วมขัง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน