สธ.ประกาศหลักเกณฑ์อายุครรภ์12-20สัปดาห์ แพทย์ต้องเห็นชอบด้วย ตั้งหน่วยบริการปรึกษา ให้ข้อมูลอย่างรอบด้าน

สธ.ออกประกาศแล้ว ผู้หญิงทำแท้งได้ ไม่ผิดกฎหมาย กำหนดอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์ ต้องได้รับความเห็นชอบจาก แพทย์ แจ้งความประสงค์ได้ที่หน่วยบริการทางเลือกตามที่ประกาศ ทั้งเข้ารับคำปรึกษา ไม่ตีตรา หรือตัดสินการกระทำ ไม่โน้มน้าว ไม่บีบบังคับ รักษาเป็นความลับ เพื่อสร้างความมั่นใจต่อบุคลากรทางการแพทย์ในการให้บริการยุติการตั้งครรภ์โดยสมัครใจ ลดแรงจูงใจทำแท้งผิดกฎหมาย

เมื่อวันที่ 27 ก.ย. น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องการตรวจและรับคำปรึกษาทางเลือกในการยุติการตั้งครรภ์ ตามมาตรา 305 (5) แห่งประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ.2565 โดยเผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อที่ 26 ก.ย.2565 และจะมีผลบังคับเมื่อพ้น 30 วันนับแต่วันประกาศ โดยประกาศฉบับนี้วางแนวปฏิบัติกำหนดให้หญิงที่มีอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์ สามารถยุติการตั้งครรภ์ได้โดยไม่ถือเป็นความผิดทางอาญา แต่หญิงนั้นต้องได้รับคำปรึกษาจากผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมและผู้ประกอบวิชาชีพอื่นตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่รมว.สาธารณสุขประกาศกำหนด โดยคำแนะนำแพทยสภาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้หญิงนั้นได้รับข้อมูลที่รอบด้านก่อนการตัดสินใจยุติการตั้งครรภ์

น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า ตามประกาศดังกล่าวกำหนดขั้นตอนการเข้ารับคำปรึกษาทางเลือก โดยหญิงที่มีอายุครรภ์ตามกำหนดสามารถแจ้งความประสงค์ต่อหน่วยบริการปรึกษาทางเลือก ซึ่งกรมอนามัยจะประกาศรายชื่อให้ทราบต่อไป เพื่อเข้ารับคำปรึกษา โดยจะแจ้งผ่านช่องทางใดช่องทางหนึ่งก็ได้ ทั้งแจ้งด้วยตนเอง หนังสือ โทรศัพท์ หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หากหน่วยบริการตรวจวินิจฉัยแล้ว 1.อายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์ ให้ดำเนินการให้คำปรึกษาทางเลือก 2.อายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ หากยืนยันจะยุติการตั้งครรภ์ ให้ดำเนินการเพื่อให้หญิงได้รับการยุติการตั้งครรภ์ตามข้อบังคับแพทยสภา และ 3.อายุครรภ์เกิน 20 สัปดาห์ ให้หน่วยบริการดำเนินการเพื่อให้ได้รับการดูแลช่วยเหลือ หรือได้รับการจัดสวัสดิการสังคมที่เหมาะสมแก่การตั้งครรภ์และเลี้ยงดูบุตรต่อไป

รองโฆษกรัฐบาลกล่าวอีกว่า ประกาศยังวางหลักการให้คำปรึกษา เช่น รับฟังปัญหาของหญิงตั้งครรภ์ด้วยความใส่ใจและเป็นมิตร การไม่ตีตรา หรือตัดสินเกี่ยวกับการกระทำ หรือพฤติการณ์ต่างๆ ของหญิงตั้งครรภ์ การให้ข้อมูลทางการแพทย์เบื้องต้น ข้อมูลการยุติการตั้งครรภ์แบบองค์รวม การให้อิสระ ไม่โน้มน้าว และไม่บีบบังคับ การรักษาความลับ ซึ่งการให้คำปรึกษาต้องดำเนินการโดยเร็ว และคำนึงถึงอายุครรภ์ไม่ให้เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ซึ่งการให้คำปรึกษาทางเลือกในการยุติการตั้งครรภ์ ถือเป็นการส่งเสริมการคุ้มครองสิทธิของผู้หญิงและชีวิตของทารกในครรภ์ อีกทั้งสร้างความมั่นใจต่อบุคลากรทางการแพทย์ ในการให้บริการยุติการตั้งครรภ์โดยสมัครใจ ลดแรงจูงใจของผู้หญิงในการทำแท้งผิดกฎหมาย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อมูลจากสมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทย ระบุว่า การยุติการตั้งครรภ์โดยการทำแท้งเถื่อน เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อมได้รับบาดเจ็บ และอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่ปลอดภัย จากรายงานสถานการณ์และสถิติการยุติการตั้งครรภ์ในประเทศไทย พบว่ามีการยุติการตั้งครรภ์ปีละ 300,000 คน และผู้หญิง 300 คนต่อ 100,000 คนได้รับอันตรายจากการยุติการตั้งครรภ์ ในปีพ.ศ.2552 ประมาณการว่ามีค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลผู้ที่มีภาวะแทรกซ้อนจากการยุติการตั้งครรภ์ จำนวน 123.3 ล้านบาท ซึ่งยังไม่รวมความสูญเสียทางจิตใจ

ขณะที่นพ.พีระยุทธ สานุกูล ผอ.สำนักส่งเสริมสุขภาพ กรมอนามัย กล่าวว่าประเด็นสำคัญของประกาศกระทรวงสาธารณสุข กรณีอายุครรภ์มากกว่า 12 สัปดาห์แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์ ที่จะยุติการตั้งครรภ์ ต้องปรึกษาแพทย์และมีทางเลือกให้มารดาว่าจะทำ หรือตั้งครรภ์ต่อ มีการคุยถึงวิธีการทำ และดูแลหลังการทำ รวมถึงกรณีเด็กนักเรียนที่ต้องได้รับการดูแลจากโรงเรียนต่อ กรณีผู้ที่เปลี่ยนใจและตั้งครรภ์ต่อ ก็จะเข้าไปสู่กระบวนการตามนโยบาย คือเด็กตั้งครรภ์ต้องได้เรียน ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขมีระบบทำให้เด็กจบตามกำหนด ร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เข้ามาดูแลเด็กเดือนละ 2,000 บาท

นพ.พีระยุทธกล่าวว่าหากเป็นการละเมิดทางเพศ กระทรวงยุติธรรมต้องเข้ามาดูแล ที่ผ่านมาการยุติการตั้งครรภ์ในประเทศไทยมีมาก แต่มักทำใต้ดิน ซึ่งอันตราย กรณีที่เข้าสู่กระบวนการให้คำปรึกษา พบว่ากว่า 50 เปอร์เซ็นต์ เลือกที่จะตั้งครรภ์ต่อจนคลอด ผู้ที่จะยุติการตั้งครรภ์ต้องไปพบแพทย์ ได้รับคำแนะนำ ทางเลือก คำปรึกษาจากผู้ที่ถูกกำหนด เช่น พยาบาล นักสังคมสงเคราะห์ก่อน จึงจะเข้าสู่กระบวนยุติการตั้งครรภ์ได้ แต่คนไข้ 80 เปอร์เซ็นต์ที่ยุติการตั้งครรภ์ จะมาก่อนอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ ส่วนอีก 20 เปอร์เซ็นต์ มาหลังอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ ส่วนใหญ่ตอนแรกตั้งใจจะตั้งครรภ์ แต่เปลี่ยนใจ เช่น สามีทิ้งไปตอนอายุครรภ์ 3-4 เดือนแล้ว

ต่อข้อถามถึงอายุครรภ์ที่กำหนด เพื่อรองรับหญิงตั้งครรภ์ไม่พร้อมหรือไม่ นพ.พีระยุทธกล่าวว่าใช่สำหรับอายุครรภ์ไม่เกิน 20 สัปดาห์ ไม่ใช่มาตัดสินใจไม่พร้อมตอนอายุครรภ์ 6-7 เดือนแล้ว แบบนี้ไม่ได้ มีความอันตรายในการยุติการตั้งครรภ์ ฉะนั้นอายุครรภ์ยิ่งน้อยยิ่งปลอดภัย สภาพของทารกในครรภ์ช่วง 12-20 สัปดาห์ เป็นตัวเป็นคนแล้ว อย่างเด็กอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ ความยาวเกือบ 6 เซนติเมตรแล้ว น้ำหนักประมาณขีดกว่าๆ ส่วนเด็กอายุครรภ์ 20 สัปดาห์ก็หนักเกือบ 3 ขีด จึงต้องมาชั่งเรื่องสังคม เศรษฐกิจ ว่าจะสามารถเลี้ยงลูกได้หรือไม่

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน