ติดจาก‘กาตาร์’เตือนไวรัสใหม่

ไทยพบป่วยฝีดาษลิงรายที่ 11 หนุ่มวัย 40 ปีทำงานนวด ที่กาตาร์ เริ่มมีอาการ มีไข้ ผื่น ที่สะโพก มือและแขน จึงเดินทางกลับไทย สธ.เร่งสอบสวนโรค ส่วนผู้ป่วย 10 รายก่อนหน้านี้รักษาหายหมดแล้ว กลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 59 ราย ครบระยะเฝ้าดูอาการ 21 วันแล้วไม่มีผู้ติดเชื้อเพิ่ม อยู่ระหว่างติดตามอาการอีก 10 ราย ‘หมอมนูญ’โพสต์เตือนช่วงหมดฝนเข้าฤดูหนาว ไวรัส RSV เริ่มระบาดในเด็กเล็กและผู้สูงอายุ ชี้คนสูงวัยเสี่ยงอาการมากกว่าเด็ก และหนักกว่าโควิด ขณะที่สถานการณ์โควิดขาลงทั่วโลก ยันยังไม่พบผู้ป่วยสายพันธุ์ BQ.1.1 พันธุ์ย่อยโอมิครอนในไทย อย่าตื่นตระหนก สิงคโปร์พบสายพันธุ์ XBB

เมื่อวันที่ 17 ต.ค. นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า ได้รับรายงานพบผู้ป่วยโรคฝีดาษวานรรายใหม่ เป็นชายชาวไทย อายุ 40 ปี ไปประกอบอาชีพให้บริการนวดที่กาตาร์ เริ่มป่วยเมื่อวันที่ 8 ต.ค.2565 มีไข้ และมีผื่นที่บริเวณสะโพก มือ แขน ตั้งแต่ก่อนเดินทางกลับถึงไทยในวันที่ 15 ต.ค. จากนั้นเข้ารับการตรวจที่ ร.พ.เอกชนแห่งหนึ่ง ใน จ.ปทุมธานี แพทย์วินิจฉัยเบื้องต้นเข้าข่ายผู้ป่วยฝีดาษวานร จึงประสานส่งตัวมารักษาที่สถาบันบำราศนราดูร ผลทางห้องปฏิบัติการยืนยันพบเชื้อ ถือเป็นผู้ป่วยยืนยันรายที่ 11 ของไทย ขณะนี้อยู่ระหว่างการสอบสวนโรคเพิ่มเติม

สถานการณ์โรคฝีดาษวานรทั่วโลก ข้อมูลวันที่ 13 ต.ค.2565 พบผู้ติดเชื้อยืนยัน จำนวน 72,198 ราย พบใน 109 ประเทศ โดยพื้นที่การแพร่ระบาดส่วนใหญ่อยู่ในแถบยุโรป ประเทศที่มีผู้ป่วยสูง 5 ลำดับแรก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา 26,594 ราย บราซิล 8,461 ราย สเปน 7,239 ราย ฝรั่งเศส 4,043 ราย และสหราชอาณาจักร 3,654 ราย มีผู้เสียชีวิต 28 ราย จากประเทศไนจีเรีย 7 ราย กานา 4 ราย บราซิล 5 ราย สเปน 2 ราย แคเมอรูน 2 ราย สหรัฐอเมริกา 2 ราย เบลเยียม 1 ราย เอกวาดอร์ 1 ราย อินเดีย 1 ราย ซูดาน 1 ราย คิวบา 1 ราย และเช็กเกีย 1 ราย

นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีคร. กล่าวว่า ขณะนี้ผู้ป่วยยืนยันของไทยรักษาหายแล้ว 10 ราย อยู่ระหว่างการรักษาและติดตามอาการ 1 รายคือรายนี้ จากการติดตามผู้สัมผัสเสี่ยงสูงของผู้ป่วยยืนยัน จนครบกำหนด 21 วันแล้ว รวมจำนวน 59 คน ไม่พบผู้ป่วยเพิ่มเติม และได้ตรวจหาเชื้อซ้ำ ผลตรวจไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ และอยู่ระหว่างการติดตามอาการผู้สัมผัส 10 ราย ทั้งนี้ ขอความร่วมมือทุกร.พ.เตรียมพร้อมกรณีที่พบ ผู้สงสัยติดเชื้อหรือผู้มีอาการเข้าข่าย ทำการเก็บตัวอย่างส่งตรวจยืนยัน รวมถึงห้องแยกกักกันโรค จนกว่าผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการจะออก เพื่อการป้องกันการแพร่ของเชื้อ

ด้าน นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ หัวหน้าโรคระบบทางเดินหายใจ ร.พ.วิชัยยุทธ โพสต์ เฟซบุ๊ก หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC ระบุ ถึงสถานการณ์โรคไวรัส RSV ที่กำลังระบาดอยู่ว่า ช่วงปลายฝนต้นหนาวปีนี้ โรคไวรัส RSV กำลังแพร่ระบาดในเด็กเล็ก และคนสูงอายุ โดยจากการตรวจผู้ป่วยหญิงอายุ 93 ปี เป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ เดือนก.พ.2565 ป่วยเป็นโรคโควิด-19 เมื่อวันที่ 30 ก.ย. เริ่มมีไข้ต่ำๆ ไอ 3 วัน ไม่เจ็บคอ ไม่มีน้ำมูก เด็กในบ้านอายุ 4 ขวบ ป่วยเป็นหวัด ไอ มีน้ำมูก อยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย ตรวจร่างกาย มีไข้ต่ำๆ อุณหภูมิ 37.7 องศา ระดับออกซิเจนที่ปลายนิ้ว 97% ฟังปอดปกติ เจาะเลือด เม็ดเลือดขาวปกติ 3,960 เอกซเรย์ปอดปกติ (ดูรูป) แยงจมูกส่งตรวจรหัสพันธุกรรมเชื้อ 22 สายพันธุ์ พบไวรัส RSV สรุปวินิจฉัยเป็นโรคติดเชื้อไวรัส RSV ติดเชื้อจากเด็กเล็กในบ้าน ให้ยาตามอาการ ยาแก้ไอ ยาละลายเสมหะ ยาพ่นขยายหลอดลม

นพ.มนูญกล่าวต่อว่า 4 วันต่อมา ยังมีไอ ไม่มีไข้ ระดับออกซิเจนที่ปลายนิ้ว 96% เอกซเรย์ปอดเริ่มพบฝ้าขาวที่บริเวณปอดข้างซ้าย 10 วันต่อมา ยังไอต่อเนื่อง มีเสมหะ ไม่มีไข้ ไม่เหนื่อย ระดับออกซิเจนที่ปลายนิ้ว 95% เอกซเรย์ปอดมีฝ้าขาวเพิ่มขึ้นทั้ง 2 ข้าง ให้ยา สเตียรอยด์ขนาดต่ำ 5 วัน 15 วันต่อมา ไอดีขึ้น เสมหะน้อยลง ไม่มีไข้ ระดับออกซิเจนที่ปลายนิ้ว 97% เอกซเรย์ปอดกลับมาเป็นปกติ

“คนสูงอายุเวลาติดเชื้อ RSV จะป่วยมากกว่าเด็กเล็กหลายเท่า อาการป่วยของผู้ป่วยรายนี้จากการติดเชื้อไวรัส RSV หนักกว่าการติดเชื้อโควิค-19 เมื่อต้นปีเสียอีก เพราะผู้ป่วยได้รับวัคซีนโควิด-19 ครบโดสและได้วัคซีนเข็มกระตุ้นแล้ว ขณะนี้ยังไม่มียาฆ่าเชื้อไวรัส RSV ที่มีประสิทธิภาพ โลกกำลังรอวัคซีนตัวใหม่ ลดการป่วยหนักจากไวรัสนี้ การป้องกันไม่ให้คนสูงอายุติดเชื้อ RSV จึงมีความสำคัญ ใส่หน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือให้สะอาด และอย่าให้เด็กเล็กที่ป่วยเป็นหวัดเข้าใกล้คนสูงอายุ” นพ.มนูญกล่าว

วันเดียวกัน นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าวการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด-19 ว่า ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาวันที่ 8-14 ต.ค. มีการตรวจสายพันธุ์ 128 ตัวอย่าง เป็นสายพันธุ์โอมิครอนทั้งหมด ส่วนใหญ่เป็น BA.4/BA.5 จำนวน 126 ราย และ BA.2 จำนวน 2 ราย ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกยังไม่ระบุสายพันธุ์ที่น่าห่วงกังวลสายพันธุ์ใหม่ เพียงแต่โอมิครอนมีการแตกลูกหลาน ก็จะมีสายพันธุ์ที่อยู่ภายใต้การติดตามอย่างใกล้ชิดที่ขอให้แต่ละประเทศช่วยกันติดตาม เช่น ลูกหลาน BA.5 อย่าง BF.7 BF.14 หรือ BQ.1, ลูกหลานของ BA.2.75 อย่าง BJ.1 หรือ BA.4.6, สายพันธุ์ลูกผสม XBB

นพ.ศุภกิจกล่าวต่อว่า เวลานี้มีการกลายพันธุ์ของโอมิครอนไปมากมาย ยิ่งกลายพันธุ์ตำแหน่งมากเท่าไร โอกาสที่จะเพิ่มจำนวนหรือแพร่ก็ยิ่งเยอะขึ้น หากกลายพันธุ์มากกว่า 6 ตำแหน่งขึ้นไป เทียบกับตัวเดิมอาจจะเร็วกว่าเป็น 100% หรือมากกว่า 7 ตำแหน่งสำคัญอาจเร็วกว่า 297% นักวิทยาศาสตร์จึงนำมากำหนดว่าจะสนใจตัวไหนมากน้อยกว่ากัน และมีการแบ่งระดับด้วย อย่างระดับ 4 เช่น BA.4.6, BF.7 ระดับ 5 เช่น BA.2.75.2, BQ.1 ก็จะเยอะไปอีก และระดับ 6 เช่น BQ.1.1 หรือ XBB ก็จำนวนยิ่งเพิ่มขึ้นเร็ว” นพ.ศุภกิจกล่าว

นพ.ศุภกิจกล่าวว่า สำหรับ BA.2.75 ในไทยรายงาน GISAID ซึ่งวิเคราะห์และยืนยันแล้ว 19 ราย ส่วนอีก 11 ราย GISAID ยังต้องวิเคราะห์ ถ้าใช่ทั้งหมดก็คือไทยมีประมาณ 30 ราย เมื่อเทียบกับ BA.5 ถือว่ายังไม่เยอะ ส่วนสายพันธุ์ลูกผสม XBB พบในไทย 2 ราย คือ รายแรก เป็นหญิงต่างชาติอายุ 60 ปี เดินทางมาจากฮ่องกง เมื่อป่วยมา ร.พ.เอกชนแห่งหนึ่ง ไม่มีอาการอะไรมาก หายดีแล้วหลังกักตัวครบ กรมควบคุมโรคจะไปสอบสวนโรคต่อว่าใครกลุ่มเสี่ยง และรายที่สองพบใกล้เคียงกัน เป็นคนไทยอายุ 49 ปี กลับมาจากสิงคโปร์ ไป ร.พ.เดียวกัน มีอาการไอ คัดจมูก อาการไม่มากหายดีแล้ว

นพ.ศุภกิจกล่าวว่า BF.7 ที่พบในแล็บมากขึ้นในอังกฤษและสหรัฐอเมริกานั้น เมื่อเทียบ BA ทั่วไป เติบโตมีจำนวนเพิ่มขึ้นเร็วกว่า ก็ต้องจับตาดูว่าจะมาแทนที่หรือไม่ เป็นลูกหลาน BA.5.2.1 บ้านเรา 2 ราย คือ รายแรกเป็นชายอายุ 16 ปี ไม่ได้เดินทางต่างประเทศ เจอใน กทม. เก็บตัวอย่างส่ง GISAID ต้นเดือนก.ย. แต่ตอนนั้นระบุเป็น BA.5 เพิ่งมาจัดเป็น BF.7 และรายที่สอง เป็นหญิงไทยอายุ 62 ปี บุคลากรทางการแพทย์ ไม่ทราบว่าติดใน ร.พ.หรือที่อื่น เก็บตัวอย่างตั้งแต่ต้น ก.ย. ส่งไป GISAID วันที่ 4 ต.ค. เพิ่งถูกจัดชั้นเป็น BF.7 ทั้งคู่อาการไม่รุนแรง แม้รายที่สองจะเป็นกลุ่ม 608 จึงยังไม่ต้องตกใจ แม้มี BF.7 บ้านเรากี่ราย ถ้าอาการไม่รุนแรงก็ไม่มีปัญหา ทั่วโลกรายงาน BF.7 ประมาณ 1.3 หมื่นราย พวกนี้เป็นตระกูลโอมิครอน พื้นฐานคือแพร่เร็วแต่ไม่รุนแรง

“ตามปกติเมื่อประเทศไทยถอดรหัสพันธุกรรมเสร็จส่งไปยัง GISAID ซึ่งเมื่อรับไปตอนแรกอาจจะบอกว่าเป็น BA.5 แต่เมื่อเวลาผ่านไป มีข้อมูลทั่วโลกมากขึ้น วิเคราะห์แล้วปรากฏว่าไม่ใช่ ก็เรียกเป็นตัวอื่น ก็จะกำหนดเรียกสิ่งที่เราส่งไปเป็นตัวใหม่ บางทีเราส่งไปเดือนที่แล้ว ทำไมเพิ่งมาประกาศว่าเพิ่งมีในประเทศไทย จริงๆ ไม่ใช่ เพราะตอนนั้นเขากำหนดเป็นอย่างอื่น ถือเป็นพลวัตที่มีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอด” นพ.ศุภกิจกล่าว

นพ.ศุภกิจกล่าวว่า เรายังเจอ BN.1 ซึ่งก็คือ BA.2.75.5.1 ในไทย ซึ่ง GISAID ยืนยันแล้ว 3 รายแรก ส่วนอีก 4 รายกำลังวิเคราะห์ สำหรับ BQ.1.1 ยังไม่มีในประเทศไทย ที่น่าสนใจคือตัวนี้เพิ่มจำนวนค่อนข้างเร็ว อาจเป็นปัญหาในอนาคต ซึ่งถือเป็นน้องใหม่ เป็นลูกหลานรุ่นล่าสุด ทั่วโลกยังรายงานแค่พันกว่ารายใน GISAID ทั้งนี้ ไม่ว่าจะมีสายพันธุ์ใหม่อะไรก็ตาม อย่าเพิ่งไปตกใจ เพราะยังไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์เรื่องความรุนแรง อย่างสิงคโปร์ที่รายงานสายพันธุ์ XBB จำนวนมากก็ยืนยันว่า คนไข้หนักที่เพิ่มในสิงคโปร์ยังเป็นไปตามสัดส่วนผู้ป่วยที่เยอะขึ้น หมายถึงตัวมันไม่ได้รุนแรงขึ้น

สำหรับเรื่องของการหลบภูมิคุ้มกัน ที่กังวลมากที่สุด คือ XBB เป็นตัวแรก รองลงมาคือ BQ.1.1 ตามด้วย BN.1 และ BF.7 อย่างไรก็ตาม เป็นการสันนิษฐานตามจำนวนที่รายงานกับตำแหน่งกลายพันธุ์ ยังต้องติดตามสถานการณ์ในความเป็นจริง ทั้งนี้ เริ่มมีสายพันธุ์ย่อยปรากฏให้เห็นจำนวนหนึ่ง อย่าเพิ่งไปตกใจอะไร ตระกูลโอมิครอนไม่ค่อยมีความรุนแรง แม้อาจติดเชื้อเพิ่มขึ้น จำนวนอาจเพิ่มมากขึ้น หากมีอาการขอให้ตรวจ จะได้ระวังตัวเองไม่ไปแพร่เชื้อ เพราะการแพร่เชื้อเยอะจะมีโอกาสกลายพันธุ์สูงขึ้น มาตรการที่มียังใช้ได้ เข้มงวดใส่หน้ากากเวลาไปพบปะผู้คน ไปในชุมชนที่อยู่ใกล้ชิด ดูแลมือให้สะอาดเสมอ ประเทศเราทำมาตรการค่อนข้างเยอะเมื่อเทียบกับประเทศอื่น อยากให้ทำต่อไปเป็นสุขอนามัยที่ช่วยป้องกันติดเชื้อ วัคซีนยังมีพอ ขอให้กลุ่ม 608 ที่ยังไม่ฉีดหรือยังไม่ได้เข็มสามมารับ เพราะคนเสียชีวิตยังมีจากการไม่รับเข็มกระตุ้น หรือหากฉีดเข็มสามและสี่นานเกิน 4-6 เดือน ก็มารับเพื่อยกระดับภูมิคุ้มกันให้สูงขึ้น

ด้านนพ.อาชวินทร์ โรจนวิวัฒน์ ผอ.สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ช่วงปลายฝนต้นหนาวเจอคนคล้ายอาการไข้หวัดมากขึ้น เบื้องต้นถ้ามีอาการให้ตรวจ ATK ก่อนพบแพทย์ จะได้รักษาอย่างถูกต้อง ส่วนขณะนี้แม้เราตรวจ RT-PCR ลดลง แต่ระบบเฝ้าระวังสายพันธุ์ไม่ได้ลดความเข้มข้น เราขอความร่วมมือ ร.พ.ผ่านเครือข่ายศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ 14 แห่ง ให้ประสานงาน เลือกเก็บกลุ่มตัวอย่างเพื่อตรวจ RT-PCR และสายพันธุ์ คือ ผู้ที่มีอาการรุนแรงเสียชีวิต กลับจากต่างประเทศแล้วป่วย ระบาดเป็นกลุ่มก้อน ภูมิต้านทานบกพร่อง รับยากดภูมิต้านทานหรือโรคภูมิต้านทานตนเอง เช่น SLE เป็นต้น กลุ่มที่รับวัคซีนช่วง 3 เดือนแล้วป่วยโควิด และบุคลากรทางการแพทย์ที่เสี่ยงต่อการสัมผัสรับเชื้อปริมาณมาก

ขณะที่ นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผอ.กองระบาดวิทยา คร. กล่าวว่า ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาทั่วโลกแนวโน้มโรคโควิด-19 หลายประเทศลดลง แต่บางประเทศเพิ่มขึ้น โดยทวีปยุโรปเข้าสู่ฤดูหนาว เริ่มพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น แต่อัตราป่วยนอน ร.พ.ไม่ได้สูงขึ้นมาก เนื่องจากสายพันธุ์โอมิครอนติดเชื้ออาการรุนแรงน้อย คนมีภูมิคุ้มกันมากพอสมควร โดยวันนี้ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อใหม่ 2 แสนกว่าคน เสียชีวิต 400 กว่าคน ถือว่า ลดลงต่อเนื่อง เช่นเดียวกับฝั่งเอเชียก็เริ่มลง แต่สิงคโปร์พบมากขึ้น ซึ่งข้อมูลที่ได้รับเป็นผู้ติดเชื้อ ส่วนการป่วยนอน ร.พ.ไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก หลายประเทศตรวจพบสายพันธุ์ XBB มากขึ้น เช่น ฮ่องกง และสิงคโปร์

นพ.จักรรัฐกล่าวต่อว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2565 เราปรับรายงานผู้ป่วยโควิด-19 เป็นรายสัปดาห์ เน้นผู้ป่วยนอนรักษาใน ร.พ. ซึ่งช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา คือ วันที่ 9-15 ต.ค. มีผู้ป่วยนอนใน ร.พ. 2,234 ราย เฉลี่ยวันละ 319 ราย เสียชีวิต 53 ราย เฉลี่ยวันละ 7 ราย แนวโน้มทั้งผู้ป่วย ผู้เสียชีวิต ผู้ป่วยปอดอักเสบ และใส่ท่อช่วยหายใจ ยังมีแนวโน้มลดลง สำหรับผู้เสียชีวิต 53 ราย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม 608 ถึง 98% และไม่ได้รับวัคซีนหรือรับเข็มเดียว 61% จึงต้องรณรงค์กลุ่ม 608 ที่ยังไม่ได้เข็มกระตุ้นไปรับวัคซีนเพิ่มเติม ส่วนอัตราครองเตียงก็ลดลงถือว่าน้อยมาก

“ตอนนี้หลายประเทศปรับเข้าสู่ระบบปกติ ใช้ชีวิตปกติ ซึ่งไทยเองก็ใช้ชีวิตเหมือนปกติแล้ว แต่สวมหน้ากาก ยังเป็นมาตรการส่วนบุคคลที่จำเป็น ไม่เฉพาะโควิด แต่โรคอื่นก็ช่วยด้วย รามีการคาดการณ์สถานการณ์โดยใช้ปัจจัยในการคำนวณทั้ง ลักษณะการระบาดคล้ายไข้หวัดใหญ่เป็นฤดูกาลคือหน้าหนาวและหน้าฝน มาตรการป้องกันโรค ที่มีทั้งผ่อนคลายลงบางส่วน ทั้งการสวมหน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง เรื่องวัคซีน สายพันธุ์กลายพันธุ์ที่หลบภูมิคุ้มกัน ซึ่งหากพิจารณาขณะนี้สถานการณ์ป่วยนอนใน ร.พ.ต่ำกว่าที่คาดไว้ แต่ช่วงที่นักท่องเที่ยวเข้ามา อาจพบผู้มีอาการมากขึ้นไปนอน ร.พ.มากขึ้นได้ ส่วนเสียชีวิตก็อยู่ในเกณฑ์ที่คาดการณ์ และต่ำกว่าที่คาดการณ์เล็กน้อย แสดงว่ามาตรการ DMHT ของไทยยังสร้างประสิทธิภาพป้องกันโรคอย่างดี” นพ.จักรรัฐกล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน