เมื่อวันที่ 30 ต.ค. นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า เภสัชกรเป็นหนึ่งในผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพ ที่ร่วมดูแลประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพ ส่วนหนึ่งประจำอยู่ในร้านยา ทั้งนี้ ร้านยาชุมชนอบอุ่น เป็นร้านขายยาแผนปัจจุบัน (ขย.1) ที่ร่วมเป็นหน่วยบริการที่รับส่งต่อเฉพาะด้านเวชกรรมในระบบบัตรทอง โดยปีงบประมาณ 2566 สปสช.ร่วมกับสภาเภสัชกรรมขยายการให้บริการบัตรทองที่ร้านยาชุมชนอบอุ่นเพิ่มเติม โดยเพิ่มบริการเภสัชกรรมปฐมภูมิ เพื่อดูแลประชาชนผู้มีสิทธิบัตรทองกรณีมีอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย (Common Illness) 16 กลุ่มอาการตามแนวทางและมาตรฐานการให้บริการเภสัชกรรมปฐมภูมิโดยสภาเภสัชกรรม ได้แก่

1.อาการปวดหัว เวียนหัว 2.ปวดข้อ 3.เจ็บกล้ามเนื้อ 4.ไข้ 5.ไอ 6.เจ็บคอ 7.ปวดท้อง ท้องเสีย ท้องผูก 8.ถ่ายปัสสาวะขัด 9.ปัสสาวะลำบาก 10.ปัสสาวะเจ็บ 11.ตกขาวผิดปกติ 12.อาการทางผิวหนัง 13.ผื่น คัน 14.บาดแผล 15.ความผิดปกติต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับตา และ 16.ความผิดปกติต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับหู

ทั้งนี้ จะติดตามอาการหลังรับยา 3 วัน ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เนื่องจาก สปสช. เหมาจ่ายในอัตรา 180 บาทต่อครั้ง คาดว่าระบบจะพร้อมและให้บริการได้เร็วๆ นี้ พร้อมกันทั่วประเทศ โดยร้านยาชุมชนอบอุ่นที่ร่วมให้บริการ จะต้องผ่านการอบรมและควบคุมโดยสภาเภสัชกรรม ขณะนี้มีกว่า 500 แห่ง

สำหรับขั้นตอนเข้ารับบริการ เช็กรายชื่อร้านยาผ่านสายด่วน สปสช. 1330 หรือเว็บไซต์ สปสช. หรือสังเกตสติ๊กเกอร์ติดหน้าร้านยา ภายใต้ชื่อ ร้านยาคุณภาพของฉัน ให้บริการเจ็บป่วยเล็กน้อย เมื่อผู้ป่วยมาที่ร้านยา เภสัชกรจะคัดกรองสิทธิ หากมีสิทธิก็รับการดูแล คำแนะนำและยารักษาตามอาการ หรือให้พบแพทย์หากต้องได้รับการรักษาจากแพทย์ หลังรับยาเภสัชกรจะติดตามอาการผู้ป่วยในวันที่ 3 หากดีขึ้นจะสิ้นสุดการดูแล หากแย่ลงจะมีระบบส่งต่อ ทั้งนี้เชื่อว่าจะลดช่องว่างการเข้าถึงบริการปฐมภูมิ เพิ่มความสะดวก ลดความแออัดที่ร.พ.

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน