ผู้ว่ากกท.วิ่งวุ่น หาเพิ่มพันล้าน ก้าวไกลขู่ฟ้อง ‘ศาลปกครอง’ โพลกองเชียร์ ชี้บราซิลแชมป์

‘กสทช.’อนุมัติงบ 600 ล้านจากกองทุน กทปส.ซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดบอลโลกครบ 64 แมตช์ฟรีทุกแพลตฟอร์ม ผู้ว่าฯ กกท.หนักใจเงินไม่พอ ยังขาดอีก 1 พันล้าน เร่งเจรจาภาคเอกชนดึงร่วมสนับสนุนเพิ่ม ‘ก้าวไกล’อัดกสทช.ใช้เงินซื้อลิขสิทธิ์ บอลโลก ไม่ตรงวัตถุประสงค์ ยันใช้โมเดลถ่ายทอดโอลิมปิกไม่ได้ ขู่ฟ้องศาลปกครอง พร้อมยื่นเรื่องให้ป.ป.ช.ตรวจสอบ ขณะที่ โพลมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยชี้บราซิล ซิวแชมป์ แต่คนไทยเชียร์อังกฤษมากสุด ระบุมีถ่ายทอดสดบอลโลกคึกคัก เงินสะพัด 7.5 หมื่นล้าน

กสทช.เท600ล.ซื้อสิทธิ์บอลโลก
เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 9 พ.ย.65 ที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีการประชุมคณะกรรมการ กสทช. (บอร์ดกสทช.) ในระเบียบวาระการประชุม และมีวาระเพิ่มเติมเรื่องการขอรับการสนับสนุนงบประมาณในการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย 2022 ตามที่การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ขอรับงบประมาณสนับสนุนจาก กสทช. โดยมีนายก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการ กกท. เข้ามาชี้แจงถึงการขอการงบประมาณดังกล่าว พร้อมยังเชิญสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) เข้าพบเพื่อพูดคุย เสนอความคิดเห็นกับกสทช.ด้วย

สำหรับวาระสำคัญในการประชุมพิจารณา บอร์ดกสทช. จะพิจารณานำเงินกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) มาซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดฟุตบอลโลก 2022 ได้หรือไม่ หรือหากสามารถทำได้ การอนุมัติจะให้กรอบ งบประมาณเท่าไหร่

หลังการประชุมบอร์ดกสทช. นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการกสทช.กล่าวว่า ที่ประชุมกสทช. โดยกรรมการเสียงข้างมาก มีมติอนุมัติสนับสนุนเงินงบประมาณแก่กกท. เพื่อซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย ตามจำนวนค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงภายใต้กรอบวงเงิน งบประมาณ 600 ล้านบาท โดยให้คณะ กรรมการบริหารกทปส. และสำนักงาน กสทช. ดำเนินการตามระเบียบต่อไป

ทั้งนี้ กรณีการสนับสนุนงบประมาณเพื่อให้มีการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 ทั้ง 64 นัด ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 20 พ.ย.-18 ธ.ค. 2565 ที่กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ ที่ประชุม กสทช. ได้พิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว เห็นว่าการดำเนินการดังกล่าวเป็นการดำเนินการเพื่อให้ประชาชนได้รับบริการด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมอย่างทั่วถึง ตามมาตรา 52(1) แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ พ.ศ.2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และเป็นการดำเนินการเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของคนพิการและคนด้อยโอกาสให้เข้าถึงหรือ รับรู้และใช้ประโยชน์จากรายการของกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ได้อย่างเสมอภาคกับบุคคลทั่วไป ตามมาตรา 36 และมาตรา 52 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 ซึ่งกสทช.สามารถดำเนินการได้ และสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของกองทุน กทปส. ตามพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติม อีกทั้งการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย เป็น 1 ใน 7 รายการที่กสทช. กำหนดไว้ในประกาศกสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์สำคัญที่ให้เผยแพร่ได้เฉพาะในบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป พ.ศ.2555 (Must Have)

“กสทช.โดยกรรมการเสียงข้างมาก อนุมัติเงินจากกองทุนกทปส. 600 ล้านบาท รวมภาษีและอากรอื่นใด เพื่อให้คนไทยทุกคนสามารถรับชมการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 ทั้ง 64 นัด ผ่านฟรีทีวีทุกแพลตฟอร์ม เพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของคนพิการ ผู้มีรายได้น้อย และคนด้อยโอกาสให้เข้าถึงหรือรับรู้และใช้ประโยชน์จากรายการของกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ได้อย่างเสมอภาคกับบุคคลทั่วไป” นายไตรรัตน์กล่าว

‘กกท.’โอดต้องหาเพิ่มอีกพันล้าน
ด้านดร.ก้องศักดกล่าวว่า ได้รับทราบแล้วและตอนนี้ได้เรียกทีมงานประชุมเพื่อหารือว่าจะดำเนินการอย่างไรกันต่อไปกับเงินที่ได้รับมา 600 ล้านบาท ยอมรับว่าค่อนข้างหนักใจกับจำนวนเงินที่ยังขาดอยู่ เพราะตอนแรกคาดว่าจะได้มากกว่านี้ อย่างไรก็ตาม จะพยายามทำอย่างเต็มที่ในการหาเงินมาเพิ่มเติมให้ครบตามจำนวน ภายในช่วงระยะเวลาที่เหลืออยู่ไม่กี่วัน เพื่อที่จะให้คนไทยได้รับชมฟุตบอลโลก ก่อนหน้านี้มีการพูดคุยกับหน่วยงานเอกชนบางแห่งเอาไว้บ้างแล้ว แต่ก็คงต้องมารอดูกันว่าจะมีใครสนับสนุนได้เท่าไหร่บ้าง








Advertisement

สำหรับฟุตบอลโลก 2022 ที่ประเทศ กาตาร์ จะเปิดฉากฟาดแข้งนัดแรก ในคืน วันที่ 20 พ.ย. โดยคู่เปิดสนามเป็นการพบกันระหว่างเจ้าภาพ กาตาร์กับเอกวาดอร์ ที่ อัล บายต์ สเตเดียม เวลา 23.00 น. เท่ากับว่าเหลือเวลาอีกเพียงสัปดาห์เศษเท่านั้นในการซื้อลิขสิทธิ์ของประเทศไทยก่อนที่ฟุตบอลโลกจะเริ่มขึ้น

‘ก้าวไกล’ยื่นฟ้องศาลปกครอง
วันเดียวกัน ที่รัฐสภา น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ฝ่ายนโยบาย กล่าวถึงกรณีกสทช.เตรียมใช้เงินกองทุนกทปส. ซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกเป็นเงินกว่า 1,600 ล้านบาทว่า สาเหตุที่เราต้องคัดค้าน ไม่ใช่ต้องการขัดลาภแฟนบอล แต่เห็นว่ากสทช. ไม่ควรทำผิดกฎหมาย เพียงเพื่อทำตามใบสั่งของใครบางคน เพราะวัตถุประสงค์ของ กทปส. ไม่ได้อนุญาตให้นำเงินไปใช้ในการซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด และเงินจำนวน 1,600 ล้านบาท แทบจะแพงที่สุดในโลก ทั้งที่เวียดนามและมาเลเซียจ่ายเงินไม่ถึง 1,000 ล้านบาท ดังนั้น ถ้าวันนี้กสทช.มีมติให้ใช้เงินของกทปส. จะเป็นการบิดเบือนเพื่อทำในสิ่งที่กฎหมายไม่อนุญาตให้ทำ และก่อนหน้านี้ ทางกสทช.ที่มีอำนาจเต็ม ก็ยังไม่ทำตามกฎหมายกรณีการควบรวมทรู-ดีแทค จึงเป็น การย้อนแย้งกัน

น.ส.ศิริกัญญากล่าวต่อว่า หากบอกว่าการถ่ายทอดฟุตบอลเป็นประโยชน์กับเยาวชน ก็ควรใช้เงินจากกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ส่วนการที่บอกว่าการถ่ายทอดสดเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจกว่า 40,000 ล้านบาท ก็อยากจะให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติงบกลางกันไปเลย และไม่ควรจะไปล้วงเอาเงินที่ตัวเองไม่ได้มีอำนาจตามกฎหมายมาใช้ ตนจึงคิดว่าการอนุมัติเป็นเรื่องของใบสั่งจากคนในรัฐบาลอย่างแน่นอน โดยเฉพาะพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่ถึงกับกล่าวเองว่าไม่อยากรบกวนเงินของเอกชน

น.ส.ศิริกัญญากล่าวด้วยว่า ตนขอเรียกร้องไปยังกสทช. ให้ทำงานอย่างตรงไปตรงมา และไม่ทำตามใบสั่งของใคร เพื่อหาเสียงในช่วงการเลือกตั้ง หรือทำในสิ่งที่ตัวเองไม่มีอำนาจ โดยในวันที่ 10 พ.ย. เวลา 09.09 น. ตนจะไปยื่นฟ้องที่ศาลปกครองให้เพิกถอนมติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และในวันที่ 11 พ.ย. จะไปยื่นเรื่องร้องเรียนต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

“อยากเสนอให้กสทช.ทบทวนกฎ เพื่อให้เอกชนสามารถทำกำไรจากการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกได้ เพื่อไม่ให้เป็นการเปลืองเงินภาษีประชาชน ซึ่งการแก้กฎอาจจะไม่ทันการเริ่มการถ่ายทอดสดตั้งแต่เริ่มต้น เพราะการแข่งขันคู่สำคัญที่ประชาชนเฝ้าจับตาดูจะอยู่รอบลึกๆ หรือรอบสุดท้ายของฟุตบอลโลก ดังนั้นถ้าพลาดในช่วงต้นอาจจะยังพอ ทำเนาได้” น.ส.ศิริกัญญากล่าว

เล็งยื่นกระทู้ถามในสภา
น.ส.ศิริกัญญาให้สัมภาษณ์อีกครั้งภายหลังกสทช.อนุมัติเงินกองทุนกทปส. 600 ล้านบาทให้กกท.ซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 รอบสุดท้ายว่า ฟังจากเหตุผลมีการอ้างว่า กองทุนกทปส.ใช้เพื่อวัตถุประสงค์ตามมาตรา 52(1) โดยมาตราดังกล่าวมีเนื้อหาเพื่อช่วยคนพิการ หรือผู้ด้อยโอกาส ให้ได้มีการเข้าถึงการกระจายเสียงของวิทยุโทรทัศน์เสมือนบุคคลทั่วไป หากเราใช้สามัญสำนึกพิจารณาเรื่องนี้ จะพบว่ามันไม่เข้ากับวัตถุประสงค์ แต่ก็ยังมีการตีความที่จะบิดเบือนกฎหมายเพื่อให้กสทช.อนุมัติ

น.ส.ศิริกัญญากล่าวด้วยว่า มูลค่าที่การกีฬาแห่งประเทศไทยขอสนับสนุน 1,600 ล้านบาท แต่กสทช.อนุมัติเพียง 600 ล้านบาท ต้องจับตาดูว่าเงินอีก 1,000 ล้านจะหามาจากที่ไหน อาจจะใช้โมเดลเช่นเดียวกับการถ่ายทอดกีฬาโอลิมปิกที่มีการสมทบกันระหว่างกสทช. กับกองทุนพัฒนากีฬา ซึ่งตนเข้าใจว่ากีฬาโอลิมปิกมีความจำเป็น และมีการเข้าถึง ประชาชนจริงๆ เนื่องจากมีคนไทยเข้าร่วม แต่สำหรับฟุตบอลโลกไม่ได้มีเงื่อนไขแบบนี้ และด้วยกฎมัสต์แฮฟ (Must Have) และ มัสต์แคร์รี่ (Must Carry) ที่จำเป็นต้องมีการถ่ายทอดสดผ่านฟรีทีวียังคงเป็นปัญหา

น.ส.ศิริกัญญายังกล่าวถึงงบประมาณของกองทุนพัฒนากีฬาว่า จากที่ตนไปติดตามล่าสุดปี เพียงแค่ปี 2562 ที่เหลือ 4-5 พันล้านบาท ที่เพิ่งส่งเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีปลายปี 2565 ทำให้ไม่ทราบว่าขณะนี้เหลือเงิน เท่าไหร่ และจะพอสมทบกับทางกสทช.หรือไม่ ซึ่งเราต้องติดตามทักท้วงว่าการทำเช่นนี้ถูกวัตถุประสงค์หรือไม่ ยืนยันว่าตามข้อกฎหมายถือว่ามีความผิดอย่างแน่นอน และขอย้ำว่ากรณีดังกล่าวนี้ไม่ใช่ลักษณะเดียวกับกีฬาโอลิมปิก ซึ่งก็ต้องยอมรับว่ากสทช.เป็นองค์กรอิสระและตรวจสอบได้ยาก แต่เรื่องนี้เราไม่นิ่งนอนใจ ตนและพรรคก้าวไกลจะตั้งกระทู้ถามไปยังรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง รวมถึงยื่นเรื่องร้องเรียนคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ต่อไป

โพลชี้‘บราซิล’ซิวแชมป์โลก
วันเดียวกัน นางอุมากมล สุนทรสุรัติ ผู้ช่วยผอ.ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลการสำรวจพฤติกรรมและการใช้จ่ายผลกระทบด้านธุรกิจและสังคมไทยในช่วงฟุตบอลโลก 2022 ฟุตบอลโลกภายใต้เงื่อนไขไทยมีการถ่ายทอดสดว่า จากการสำรวจตัวอย่างทั่วประเทศ จำนวน 1,257 ตัวอย่าง พบว่าคนส่วนใหญ่ 35.6% สนใจบอลโลกระดับปานกลาง, 30% สนใจมาก, 11.7% สนใจน้อย, 9.9% สนใจน้อยมาก, 6.5% สนใจมากที่สุด และ 6.3% ไม่สนใจ โดยส่วนมาก 91.8% ติดตามผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ แบ่งออกเป็นเฟซบุ๊ก 59.6%, ติ๊กต็อก 39.4%, อินสตาแกรม 38.4%, ทวิตเตอร์ 24.6%, ไลน์ 23%

โดยทีม 5 อันดับแรกที่มีคนเชียร์สูงสุด ได้แก่อังกฤษ 22% รองลงมาคือฝรั่งเศส 17.2%, บราซิล 12%, เยอรมนี 10.4% และอาร์เจนตินา 10.1% ส่วนทีมที่คาดว่าจะได้แชมป์ 25.6% ตอบ บราซิล, 18.7% ตอบ ฝรั่งเศส, 13.1% ตอบ อังกฤษ, 11.5% ตอบสเปน และ 9.9% ตอบ เยอรมนี

ส่วนพฤติกรรมการใช้จ่ายส่วนใหญ่ จะมีการสังสรรค์ จัดและจัดเลี้ยง เฉลี่ย 3,077 บาท รองลงมาคือ ส่งเอสเอ็มเอสชิงรางวัล, ตัดคูปองหนังสือพิมพ์, ติดตั้งอินเตอร์เน็ต ทานข้าวนอกบ้าน, ซื้อสินค้าและของที่ระลึก โดยเมื่อเทียบการใช้จ่ายบอลโลกปีนี้กับบอลยูโรช่วงปี 2020 พบว่า 59.9% ตอบว่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น, 33.7% ตอบว่าใช้เท่าเดิม และ 6.3% ใช้จ่ายลดลง

นอกจากนี้ ยังสำรวจพฤติกรรมการเล่นพนันบอล พบว่าคนส่วนใหญ่ 51% ไม่เล่นพนัน, 29.5% เล่นเฉพาะทีมที่ชอบ, 16% เล่นทุกนัด และ 3.5%เล่นบางนัด โดยใช้เงินเล่นพนัน เฉลี่ย 1,416 บาท/นัด และคาดว่าจะได้รับเงินพนันเฉลี่ย 5,745 บาท/นัด ส่วนช่องทางการเล่นพนัน 70.9% เล่นผ่านเว็บไซต์ออนไลน์, 17.4% โต๊ะบอล, 5.9% คนรู้จัก และ 5.8% อื่นๆ เมื่อเปรียบเทียบการเล่นพนันบอลโลกปีนี้ กับบอลยูโร 2020 พบว่าส่วนใหญ่ 42.7% เล่นพนันเพิ่มขึ้น, 21.6% เล่นเท่าเดิม, 17.3% เล่นลดลง และ 18.4% ไม่แน่ใจ

คาดเงินสะพัดพุ่ง 7.5 หมื่นล้าน
ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า หากมีการถ่ายสด คาดการว่าบอลโลกปีนี้จะคึกคัก ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงปลายปีได้ เพราะจะมีเม็ดเงินสะพัดในระบบเศรษฐกิจ 18,561 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22.1% เมื่อเทียบกับฟุตบอลยูโร 2020 และคาดว่าจะมีเม็ดเงินนอกระบบ หรือเม็ดเงินจากการพนันเข้ามาเพิ่มอีก 57,253 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 24.9% เมื่อเทียบกับบอลยูโรที่ผ่านมา ทำให้ภาพรวมการใช้จ่ายบอลโลกปีนี้จะพุ่งสูงถึง 75,815 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากบอลยูโร 24.2%

“หากมีการถ่ายทอดบอลโลกจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจปลายปีได้มาก เพราะครั้งนี้มีการถ่ายทอดยาวเกือบ 1 เดือน จะมีเงินสะพัดในระบบมากถึง 1.8 หมื่นล้านบาท เพราะคนจะออกมาสร้างสรรค์ ใช้จ่าย ซื้อสินค้าและอาหารมากขึ้น ช่วยกระตุ้นการ ฟื้นตัวธุรกิจร้านอาหาร ท่องเที่ยว สินค้าที่ระลึก โทรศัพท์มือถือ และอีกหลายธุรกิจ แต่หากไทยไม่มีการถ่ายทอดสด คาดว่าเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจจะหายไป 5,000-10,000 ล้านบาท” นายธนวรรธน์ กล่าว

นายธนวรรธน์กล่าวต่อว่า ส่วนตัวมองว่าการลงทุนซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดบอลโลกของรัฐบาล 1,600 ล้านบาทหากมองในแง่เศรษฐกิจถือว่าคุ้มค่ากับการลงทุน เพราะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ ทั้งด้านท่องเที่ยว การค้าขาย ทำให้ธุรกิจในประเทศฟื้นตัวมีรายได้เพิ่มขึ้น ขณะที่รัฐบาลจะได้รับประโยชน์จากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีรายได้นิติบุคคลที่เพิ่มขึ้น ซึ่งรวมๆ แล้วมากกว่า 1,600 ล้านบาทที่ลงทุนไปแน่นอน ส่วนตัวมองว่ารัฐสามารถดำเนินการได้ เพื่อคืนความสุขให้กับประชาชน เนื่องจากเป็นโครงการที่เหมือนกับโครงการเราเที่ยวด้วยกับ ช็อปดีมีคืน คนละครึ่ง ที่รัฐบาลได้ดำเนินการอยู่แล้ว แต่ทั้งนี้กสทช.จะต้องกลับไปพิจารณาช่องทางการใช้เงินในรอบคอบต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน