ฝนซาฟ้าสลัว ฝุ่นพีเอ็ม 2.5 กลับมาฟุ้งกระจายปกคลุมภาคเหนือเกินมาตรฐานอีก แม่ฮ่องสอนหนักสุด พร้อมฮอตสปอตจุดความร้อนพุ่งกว่า 1,432 จุด พบมากในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ เผยอุบลราชธานี ก็กลับมามีค่าสูงส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตกลางแจ้งของประชาชน โดยพบเผาในพื้นที่เกษตรมากสุด ผวจ.กำชับจับกุมเด็ดขาด แพทย์แนะใส่หน้ากากป้องกันเวลาอยู่นอกตัวอาคารบ้านเรือน

เมื่อวันที่ 22 มี.ค. ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ กรมควบคุมมลพิษ รายงานสถานการณ์คุณภาพอากาศพื้นที่ทั่วประเทศ คุณภาพอากาศอยู่ในระดับ คุณภาพดีมากถึงมีผลกระทบต่อสุขภาพ ตรวจวัดค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 พบค่าฝุ่นระหว่าง 10-154 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) (ค่ามาตรฐาน ไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม.) พบค่าฝุ่นเกินมาตรฐานรวม 21 พื้นที่ทั่วประเทศ

กรุงเทพฯ และปริมณฑล ตรวจวัดค่าฝุ่นระหว่าง 18-56 มคก./ลบ.ม. พบเกินมาตรฐาน 1 พื้นที่ บริเวณริมถนนกาญจนาภิเษก เขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ

ภาคเหนือ ตรวจวัดค่าฝุ่นระหว่าง 32-154 มคก./ลบ.ม. พบเกินมาตรฐาน 16 พื้นที่ ได้แก่ ต.ช้างเผือก อ.เมือง จ.เชียงใหม่, ต.ศรีภูมิ อ.เมือง จ.เชียงใหม่, ต.ช่างเคิ่ง อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่, ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่, ต.หางดง อ.ฮอด จ.เชียงใหม่, ต.ในเวียง อ.เมือง จ.น่าน, ต.บ้านกลาง อ.เมือง จ.ลำพูน, ต.นาจักร อ.เมือง จ.แพร่, ต.บ้านต๋อม อ.เมือง จ.พะเยา, ต.เวียงพางคำ อ.แม่สาย จ.เชียงราย, ต.ห้วยโก๋น อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน, ต.ลี้ อ.ลี้ จ.ลำพูน, ต.เวียง อ.เชียงของ จ.เชียงราย, ต.แม่คง อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน, ต.เวียงใต้ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน และต.จองคำ อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน ค่าฝุ่น 154 มคก./ลบ.ม. ซึ่งมีค่าฝุ่นสูงสุดในไทยอยู่ในพื้นที่สีแดง กระทบต่อสุขภาพ

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตรวจวัดค่าฝุ่นระหว่าง 33-88 มคก./ลบ.ม. พบเกินมาตรฐาน 4 พื้นที่ ได้แก่ ต.กุดป่อง อ.เมือง จ.เลย, ต.มีชัย อ.เมือง จ.หนองคาย, ต.ในเมือง อ.เมือง จ.อุบลราชธานี, ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครพนม

สำหรับภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ คุณภาพอากาศอยู่ในระดับ คุณภาพดีมากถึงคุณภาพปานกลาง

ทั้งนี้ ประชาชนทั่วไป ควรเฝ้าระวังสุขภาพ ลดเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือใช้อุปกรณ์ ป้องกันตนเองหากมีความจำเป็น ผู้ที่ต้องดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ ควรลดระยะเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเองหากมีความจำเป็น ถ้ามีอาการทางสุขภาพ ควรปรึกษาแพทย์ สำหรับประชาชนที่อยู่บริเวณ พื้นที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ (พื้นที่สีแดง) ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง หรือใช้อุปกรณ์ ป้องกันตนเองหากมีความจำเป็น หากมีอาการทางสุขภาพควรปรึกษาแพทย์ โดยสามารถติดตามสถานการณ์ผ่านทางเว็บไซต์ Air4Thai.com และ airbkk.com แอพพลิเคชั่น Air4Thai และ AirBKK

ด้านสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ จิสด้า (GISTDA) เผยข้อมูลจากดาวเทียมซูโอมิ เอ็นพีพี (Suomi NPP) ของวันที่ 21 มี.ค. 66 ไทยพบจุดความร้อน จำนวน 1,432 จุด ในขณะที่ประเทศลาว จุดความร้อนยังคงนำอยู่ที่ 3,709 จุด ตามด้วยสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา 2,295 จุด กัมพูชา 1,120 จุด เวียดนาม 1,077 จุด และมาเลเซีย 13 จุด








Advertisement

สำหรับจุดความร้อนในประเทศไทย ส่วนใหญ่พบในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 525 จุด พื้นป่าสงวนแห่งชาติ 425 จุด พื้นที่เกษตร 234 จุด พื้นที่เขต ส.ป.ก. 138 จุด พื้นที่ ชุมชนอื่นๆ 103 จุด และพื้นที่ริมทางหลวง 7 จุด ในส่วนของจังหวัดที่พบจุดความร้อนมากที่สุด 3 อันดับ คือ จ.แม่ฮ่องสอน 312 จุด จ.น่าน 121 จุด และจ.กาญจนบุรี 79 จุด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์หมอกควัน จากไฟป่าเริ่มกลับมาสะสมตัวในอากาศ ส่งผล ให้หลายพื้นที่ภาคเหนือ รวมทั้งเชียงใหม่เกินค่ามาตรฐานอีกครั้งเชียงใหม่ ขึ้นเป็นอันดับ 4 ของโลก ขณะที่จุดความร้อนหรือฮอตสปอตภาคเหนือพุ่งสูงขึ้น ส่วนประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งลาว และพม่าที่ติดภาคเหนือฮอตสปอต แดงเถือกหนาแน่นล้อมภาคเหนือไว้หมด

หลังจากที่พายุฝนฟ้าคะนองในช่วงสัปดาห์ ที่ผ่านมา ทำให้วิกฤตหมอกควันในอากาศของภาคเหนือคลี่คลายลงไปได้หลายวัน ล่าสุดหลังจากปริมาณฝนเริ่มลดลง ก็พบว่าเริ่มมี การเผาเกิดขึ้นอีกในพื้นที่ภาคเหนือ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากแผนที่ภาพถ่ายจุดความร้อน หรือฮอตสปอต พบว่าในพื้นที่ภาคเหนือเริ่มมีฮอตสปอตเพิ่มมากขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะที่เชียงใหม่เองก็พุ่งสูงขึ้น

จังหวัดเชียงใหม่พบจุดความร้อน จำนวน 20 จุด ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ 6 จุด และในเขต ป่าอนุรักษ์ 14 จุดด้วยกัน พื้นที่อำเภอเชียงดาวพบมากที่สุด 6 จุดด้วยกัน ขณะเดียวกันภาพรวม พบว่านอกจากพื้นที่ภาคเหนือจะมีฮอตสปอตเพิ่มขึ้นแล้ว ประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดน ติดกับภาคเหนือ ทั้งพม่า และลาว พบว่า ฮอตสปอตเพิ่มขึ้นจนเป็นสีแดงเต็มพื้นที่ โอบล้อมภาคเหนือของไทยไว้หมดแล้ว ซึ่งมีผล กระทบโดยตรงหากกระแสลมพัดพาหมอกควัน เข้ามาสะสมตัวในภาคเหนือของไทยได้โดยง่าย

นอกจากนี้พบว่าหมอกควันในตัวเมืองเชียงใหม่เริ่มกลับมาสะสมตัวจนเกิดค่ามาตรฐาน อยู่ในระดับสีส้ม และสีแดงอีกครั้ง เช้านี้เมื่อเวลา 08.00 น. ที่ศูนย์ราชการตำบลช้างเผือกวัดได้ 64 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ดัชนีคุณภาพอากาศอยู่ที่ 134 AQI ที่ต.ศรีภูมิ อ.เมือง วัดค่า PM 2.5 ได้ 59 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ดัชนีคุณภาพอากาศอยู่ที่ 212 AQI ที่ดอยสุเทพ ยังไม่อัพเดตข้อมูล ที่ต.หางดง อ.ฮอด สูงสุดของเชียงใหม่อยู่ในเกณฑ์สีแดง 111 ไมโครกรัม ต่อลูกบาศก์เมตร ดัชนีคุณภาพอากาศอยู่ที่ 221 AQI ขณะที่ ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว ตอนบนของจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเกิดไฟป่ามากสุดของเชียงใหม่ ค่า PM2.5 วัดได้ 95 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ดัชนีคุณภาพอากาศอยู่ที่ 200 AQI

ตัวเมืองเชียงใหม่มีหมอกควันบางๆ สะสมตัว แต่แสงแดดยังส่องลอดลงมาถึงพื้นดินได้ดีดอยสุเทพเริ่มมีหมอกควันสีขาวบดบังอีกครั้งแต่ยังเป็นได้ลางๆ ส่วนอันดับโลกของเชียงใหม่ ก็พุ่งขึ้นมาติด 10 อันดับหัวตารางอีกครั้ง เว็บไซต์ Iqair.com ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่รายงานคุณภาพอากาศและจัดอันดับเมืองที่มีมลพิษทั่วโลก เมื่อเวลา 08.00 น. อันดับ 1 เป็นของกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน 1409 US AQI ส่วน เชียงใหม่อันดับที่ 4 คุณภาพอากาศอยู่ที่ 163 US AQI

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประชาชนในจังหวัดอุบลราชธานี เริ่มกลับมาได้รับผลกระทบจากค่าฝุ่นจิ๋ว PM2.5 ในช่วง 2-3 วันนี้ โดยค่าฝุ่นวันนี้ อยู่ในระดับ 65 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร หรือระดับสีเหลืองที่มีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตกลางแจ้ง

นายแพทย์ธีระพงษ์ แก้วภมร สาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี เตือนว่า เมื่อต้องออกมาอยู่นอกตัวอาคารบ้านเรือน สำนักงาน ต้องสวม หน้ากากป้องกันฝุ่นละอองไม่ให้เจ็บป่วย จากการสูดดมฝุ่นขนาดเล็กเหล่านี้เข้าไป ถ้ามีอาการไอ หายใจลำบาก ระคายเคืองตา ควรลด เวลาอยู่กลางแจ้งและให้ไปพบแพทย์

ขณะที่จังหวัดพบจุดความร้อนถึง 28 จุดใน 12 อำเภอ โดยเกิดจากการเผาในพื้นที่การเกษตรถึง 21 จุด ที่เหลือเป็นเขตป่าสงวน ทำให้นายชลธี ยังตรง ผู้ว่าฯ อุบลราชธานี ออกประกาศให้ทุกพื้นที่ของจังหวัดเป็นเขตห้ามเผาไปจนถึงวันที่ 31 มีนาคมนี้ โดยผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ผู้นำชุมชน นายอำเภอ นายกเทศมนตรีเทศบาลทั้ง 25 อำเภอ จับตาผู้ฝ่าฝืนและให้ดำเนินคดีต่อผู้ฝ่าฝืนอย่างเด็ดขาด เพราะมีประชาชนร้องเรียนมีการลักลอบเผาขยะและเศษวัชพืชตอนกลางคืนอยู่ในขณะนี้ด้วย

กรมควบคุมมลพิษ ได้สรุปสถานการณ์ ฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่รับผิดชอบของสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 1 (เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน แม่ฮ่องสอน) PM2.5 มีค่าระหว่าง 47-165 มคก./ลบ.ม. คุณภาพอากาศอยู่ในระดับ “ปานกลางถึงมีผลกระทบต่อสุขภาพ”

สำหรับในตำบลจองคำ อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน สถานการณ์หมอกควันไฟป่า อยู่ในระดับ หนาทึบ ปกคลุมเต็มไปทุกพื้นที่ ทัศนวิสัย ในการมองเห็นทางอากาศลดเหลือเพียง 3,000 เมตร หรือ 3 ก.ม. เท่านั้นส่งผลกระทบต่อการสัญจรของยานพาหนะ ขณะที่เริ่มมีผู้ป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจเพิ่มมากขึ้น

ทางด้านเจ้าหน้าที่ ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องในการดับไฟป่า ยังคงต้องทำงานกันอย่างหนักหน่วงเพื่อดับไฟป่าที่เกิดขึ้น แต่เนื่องจากจุดไฟป่า ที่มากเกินที่จะสามารถควบคุมได้ ทำให้หมอกควันจากไฟป่าจึงยังคงหนาแน่นไปทุกพื้นที่ของจังหวัดแม่ฮ่องสอน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน