ให้สังเกตอาการ เลี่ยงกลุ่มเสี่ยง! สธ.จัดยารองรับ

สธ.หวั่นหลังสงกรานต์ ผู้ติดเชื้อโควิดเพิ่มขึ้นแน่ เตรียมยา-เตียงรองรับเพียงพอ ย้ำสังเกตอาการช่วง 7 วัน เลี่ยงใกล้ชิดสูงอายุ-ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง แนะอย่ารีบตรวจ ATK กรณีไม่มีไข้ เจ็บคอหรือน้ำมูก ศูนย์จีโนมเผยลูกผสม ‘XBB.1.16’ พบในไทยแล้ว 6 ราย แพร่ระบาดเร็วมากในอินเดีย ชี้เป็นลูกหลาน โอมิครอน หลบภูมิได้ดี เจอจุดเด่นเยื่อบุตาอักเสบในเด็ก เตือนกลุ่มเสี่ยงควรฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น

เมื่อวันที่ 15 เม.ย. นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์โควิด-19 หลังเทศกาลสงกรานต์ว่า เป็นไปตามคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ว่า ช่วงสงกรานต์จะพบผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากทำกิจกรรมร่วมกัน มีการเดินทาง จึงมีโอกาสสัมผัสผู้ติดเชื้อได้ เท่าที่รับรายงานตามร.พ.มีเคสผู้ป่วยโควิด เข้ามารักษาเพิ่มขึ้น แต่อาการไม่รุนแรง เมื่อซักประวัติส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนมาแล้ว บางคนเคยติดเชื้อมาแล้ว ทำให้ยังมีภูมิคุ้มกันอาการจึงไม่หนัก อย่างไรก็ตามสัปดาห์หน้าน่าจะเห็นตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มจำนวนมากขึ้นแน่นอน คาดว่าจะมากกว่าช่วงปีใหม่ ที่ผ่านมา

“จากภาพข่าวผ่านสื่อต่างๆ จะเห็นผู้คนออกมาสนุกสนานร่วมกิจกรรมในเทศกาลสงกรานต์จำนวนมาก ใกล้ชิดผู้คนที่ไม่รู้จัก ขณะนี้ก็ผ่อนคลายมาตรการ ไม่ได้มีการตรวจเชื้อก่อนเข้าทำกิจกรรม เป็นความเสี่ยงที่อาจเกิดการติดเชื้อได้ แต่มองในแง่บวกคนที่ออกมาเล่นสงกรานต์ส่วนใหญ่เป็นเด็ก วัยรุ่น วัยทำงาน น่าจะยังมีภูมิคุ้มกันที่ดี” น.พ.โสภณกล่าว

นพ.โสภณกล่าวอีกว่า ข้อแนะนำหลังสงกรานต์ให้เฝ้าระวังสังเกตอาการตัวเองภายใน 7 วัน หลีกเลี่ยงสัมผัสหรือใกล้ชิดกับผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หากเริ่มมีอาการไข้ เจ็บคอ มีน้ำมูก ให้ตรวจ ATK หากผลเป็นบวกให้ปรึกษาแพทย์รักษาตามสิทธิ ไม่แนะนำตรวจ ATK ขณะที่ยังไม่มีอาการ ทั้งนี้จำนวนผู้ติดเชื้อที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น ระบบการรักษาเตรียมพร้อมรองรับแล้ว มียา, เวชภัณฑ์, เตียงเพียงพอ ไม่เกินศักยภาพของร.พ.ที่จะรองรับแน่นอน

นพ.โสภณยังกล่าวถึงกรณีนักวิชาการระบุถึงสายพันธุ์โควิดลูกผสม XBB.1.16 ที่มีการแพร่มากขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะอินเดีย มีสมรรถนะการแพร่สูงขึ้นกว่าสายพันธุ์อื่น ดื้อต่อภูมิคุ้มกัน ว่า XBB.1.16 ยังเป็นลูกหลานโอมิครอน ไม่เหมือนสายพันธุ์ในอดีตที่เป็นตัวต้นตระกูลที่กลายพันธุ์ ทั้งอู่ฮั่น, อัลฟา, เบตา, เดลตา ดังนั้นวัคซีนที่ฉีดยังป้องกันการป่วยหนักได้แน่นอน แม้จะไม่สามารถป้องกันติดเชื้อได้ 100% จึงรณรงค์ให้ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น โดยเฉพาะผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรัง

ด้านศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ ร.พ.รามาธิบดี เปิดเผยว่า จากฐานข้อมูลรหัสพันธุกรรมโควิดโลก หรือ GISAID ล่าสุด มีการรายงานการระบาด XBB.1.16 ในไทย พบผู้ติดเชื้อแล้ว 6 ราย และพบ XBB.1.16.1 ในไทยอีก 1 ราย เป็นสายพันธุ์ที่แตกแขนงจาก XBB.1.16 ที่เริ่มพบการแพร่ระบาดในอินเดีย ส่วนทั่วโลกรายงาน XBB.1.16 จำนวน 887 คน พบที่อินเดียมากที่สุด 539 คน XBB.1.16 มีการกลายพันธุ์บริเวณหนามของไวรัสเพิ่มเติม 3 ตำแหน่งคือ E180V, K478R และ S486P ทำให้เกาะติดและติดเชื้อในเซลล์มนุษย์ได้ดีกว่าทุกสายพันธุ์ที่ระบาดทั่วโลก การกลายพันธุ์ในตำแหน่ง K478R อาจทำให้สายพันธุ์นี้เอาชนะแอนติบอดีจากการติดเชื้อตามธรรมชาติ และวัคซีนเข็มกระตุ้น

ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาพบว่า XBB.1.16 มีความได้เปรียบในการเติบโตเหนือกว่า XBB.1.5 ถึงร้อยละ 159 ส่วนอาการของ XBB.1.16 จะแตกต่างจากโควิดก่อนหน้านี้ โดยจะมีไข้สูง ไอ และเยื่อบุตาอักเสบตาแดง ลักษณะคล้ายตาแดง มีผื่นคัน ส่วนใหญ่อาการนี้จะพบได้ในเด็กมากขึ้น กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิคุ้มกันจากอินเดีย สังเกตเห็นอาการจากการติดเชื้อ XBB.1.16 ที่แพร่ระบาดระลอกใหม่ในอินเดียในกลุ่มเด็กทารก พบมีอาการไข้สูง หวัด และไอ








Advertisement

จากนั้นพบอาการเด่นคือมีเยื่อบุตาอักเสบ คันตา ขี้ตาเหนียว ทำให้ลืมเปลือกตาไม่ขึ้น แต่ไม่ได้เป็นหนอง ซึ่งไม่เคยพบในโอมิครอนสายพันธุ์อื่น แม้จะมีผู้ติดเชื้อ XBB.1.16 เพิ่มขึ้น ถือเป็นม้ามืดที่แพร่เร็ว แต่จำนวนผู้ที่ต้องเข้ารักษาในร.พ. ยังไม่เพิ่มขึ้นตามจนเกินขีดความสามารถระบบสาธารณสุขในแต่ละประเทศจะรองรับได้ จึงต้องติดตามเฝ้าระวัง เป็นการตระหนักแต่ไม่ตระหนก

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน