เมื่อวันที่ 9 พ.ค. นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด 19 ในประเทศไทย ว่า สองสัปดาห์ก่อนองค์การอนามัยโลก (WHO) ปรับชนิดสายพันธุ์ที่ติดตามใกล้ชิด โดยเพิ่ม XBB.1.16 เป็นสายพันธุ์ที่เฝ้าระวัง (VOI) ร่วมกับ XBB.1.5 ล่าสุดต้นเดือนพ.ค.2566 องค์การอนามัยโลกปรับเพิ่ม XBB.1.9.2 เป็นสายพันธุ์ที่ต้องจับตามอง (VUM) เป็นตัวที่ 7

ทั้งนี้สถานการณ์สายพันธุ์ทั่วโลกอ้างอิงจากฐานข้อมูลกลาง GISAID รอบสัปดาห์วันที่ 10-16 เม.ย.2566 พบสัดส่วนของสายพันธุ์แตกต่างจากรอบ 1 เดือนก่อนหน้า คือ XBB.1.5 รายงานจาก 106 ประเทศ คิดเป็น 46.7% ลดลงจากเดิมคือ 49.3%, XBB.1.16 รายงานจาก 40 ประเทศ คิดเป็น 5.7% เพิ่มขึ้นจาก 2%, XBB, XBB.1.9.1 และ XBB.1.9.2 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ขณะที่ BA.2.75, CH.1.1, BQ.1และ XBF มีแนวโน้มลดลง

สำหรับสถานการณ์ล่าสุดในไทยรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา วันที่ 1-7 พ.ค. 2566 มีการถอดรหัสพันธุกรรมเชื้อโควิด 372 ราย พบเป็นสายพันธุ์ลูกผสม 323 ราย คิดเป็น 86.8% โดยพบผู้ติดเชื้อกระจายทุกเขตสุขภาพ สัดส่วนในสัปดาห์นี้ พบสายพันธุ์ลูกผสมมากกว่า 74% ในทุกเขตสุขภาพ ยกเว้นเขตสุขภาพที่ 5 ที่มีตัวอย่างส่งตรวจน้อย พบมากที่สุดเป็นสายพันธุ์ XBB.1.16 คิดเป็น 27.7% รองลงมาคือ XBB.1.5 คิดเป็น 22% ขณะที่ BN.1 ซึ่งเคยเป็นสายพันธุ์หลักในไทยตั้งแต่ช่วงสิ้นปี 2565 มีสัดส่วนลดลง

“ตามที่ WHO ประกาศยุติภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขโลกของโควิดที่ใช้มานานกว่า 3 ปี หลังพบตัวเลขผู้เสียชีวิตลดลงและผู้คนกลับมาใช้ชีวิตปกติ แต่ยังย้ำว่ายังคงเฝ้าระวังโควิดสายพันธุ์ใหม่ที่เป็นอันตรายต่อสถานการณ์สาธารณสุขโลกต่อไป รวมทั้งไทยเองยังคงมีมาตรการรับมือโควิดเช่นเดิม สำหรับประชาชนแนะนำให้ระมัดระวังในการปฏิบัติตัว ล้างมือ สวมหน้ากากอนามัยหากต้องไปร่วมกิจกรรมที่มีคนจำนวนมากหรือไปในที่สาธารณะ และฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นยังจำเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางหรือกลุ่มเสี่ยง 608 จะช่วยลดอาการหนักและเสียชีวิตได้ ทั้งนี้ ขอให้ ร.พ.ทั่วประเทศส่งตัวอย่างผู้ป่วยโควิด-19 ทั้ง ชาวไทยและต่างชาติมาตรวจสายพันธุ์เพิ่มขึ้น” นพ.ศุภกิจกล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน