พระราชภาวนาวชิรญาณ
วัดมเหยงคณ์ พระนครศรีอยุธยา

มงคลข่าวสด

เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.2566 เว็บไซต์ราชกิจจา นุเบกษา เผยแพร่พระบรมราชโองการ ประกาศพระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์ ระบุว่า

พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดพระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์ พระภาวนาเขมคุณ วิ. (สุรศักดิ์ เขมรังสี) เป็น พระราชาคณะชั้นราช ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ที่ พระราชภาวนาวชิรญาณ ไพศาลวิปัสสนาวรกิจ มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี พระราชาคณะชั้นราช ฝ่ายวิปัสสนาธุระ สถิต ณ วัดมเหยงคณ์ จ.พระนครศรีอยุธยา มีฐานานุศักดิ์ตั้งฐานานุกรมได้ 4 รูป

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 31 พ.ค.2566 ประกาศ ณ วันที่ 1 มิ.ย.2566 เป็นปีที่ 8 ในรัชกาลปัจจุบัน

พระราชภาวนาวชิรญาณ (สุรศักดิ์ เขมรังสี) พระเถระที่ชาวกรุงเก่าเลื่อมใสศรัทธา ด้วยความเป็นสมณะที่มีวัตรปฏิบัติดีงาม เปี่ยมด้วยเมตตาธรรม เป็นที่พึ่งทางใจ

ปัจจุบัน สิริอายุ 72 ปี พรรษา 48 ดำรงตำแหน่ง เจ้าอาวาสวัดมเหยงคณ์ ต.หันตรา จ.พระนครศรีอยุธยา และที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 2

มีนามเดิมว่า สุรศักดิ์ เพ็งอาทิตย์ เกิดเมื่อวันที่ 3 ธ.ค.2494 ที่เรือนแพ ริมแม่น้ำป่าสัก ต.นครหลวง อ.นครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา บิดา-มารดา ชื่อ นายบัวขาวและนางมณี เพ็งอาทิตย์

เมื่อเจริญวัย ได้เข้าศึกษาในโรงเรียนในเขต อ.นครหลวง เป็นผู้เอาใจใส่การเรียนเป็นอย่างดี ได้รับคำชมเชยจากครูบาอาจารย์ที่สอนอยู่เสมอ แต่เมื่อเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ประสบอุบัติเหตุบาดเจ็บร้ายแรง ถึงขั้นต้องหยุดพักการเรียนไปช่วงหนึ่ง และตัดสินใจหยุดเรียนมาช่วยบิดาทำงาน

อายุ 24 ปี เข้าพิธีอุปสมบท เมื่อวันที่ 6 ก.ค.2518 ที่พัทธสีมา วัดพร้าวโสภณาราม ต.นครหลวง อ.นครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา มีพระครูอดุลย์ธรรมประกาศ เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอธิการป่วน โสภโณ เป็นพระ อนุสาวนาจารย์ และพระครูสำเริง เป็นพระอนุสาวนาจารย์

ได้รับนามฉายาว่า เขมรังสี มีความหมายว่า ประทีปธรรมนำความสงบ และหลุดพ้น

มุ่งมั่นศึกษาด้านพระปริยัติธรรมแผนกธรรม พ.ศ.2522 สามารถสอบได้นักธรรมชั้นเอก

ต่อมาลองไปปฏิบัติกัมมัฏฐาน ที่สำนักวิปัสสนานครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา โดยการแนะนำจากญาติฝ่ายบิดา ในช่วงเวลานั้นท่านได้พบกับความสงบร่มเย็นแท้จริงของชีวิต และรู้สึกลึกซึ้งในคุณค่าของพระธรรมมากยิ่งขึ้น จนทำให้เปลี่ยนความตั้งใจจากเดิม ที่คิดว่าจะบวชเพียงพรรษาเดียว เพื่อทดแทนคุณบิดามารดา เป็น ตั้งมั่นที่จะอยู่ในร่มกาสาวพัสตร์ต่อไป เพื่อค้นคว้าศึกษาหลักธรรมให้แตกฉานยิ่งขึ้น

กาลต่อมา มีโอกาสเข้ากราบนมัสการพระครูสังวรสมาธิวัตร (ประเดิม โกมโล) พระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนากัมมัฏฐาน แห่งวัดเพลงวิปัสสนา เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ เมตตารับไว้เป็นศิษย์ ทั้งยังได้แนะนำให้เข้ารับการอบรมในสำนักปฏิบัติกัมมัฏฐาน

จนมีศรัทธาแรงกล้าศึกษาในพระอภิธรรมคัมภีร์ จึงได้ไปสมัครเรียนที่อภิธรรมโชติกวิทยาลัย ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณวัดมหาธาตุ ยุวราชรังสฤษฎิ์ กรุงเทพฯ

ใช้ความเพียรในการศึกษาพระอภิธรรมคัมภีร์จนมีความรู้แตกฉาน สอบได้คะแนนสูงสุดเป็นที่หนึ่งของประเทศ จึงได้รับความไว้วางใจ แต่งตั้งให้เป็นครูสอนพระอภิธรรม ซึ่งในขณะนั้นท่านมีอายุพรรษาเพียง 3 พรรษาเท่านั้น แต่ต้องเป็นทั้งครูสอนและนักเรียนศึกษาในชั้นสูงต่อไปด้วย

นอกจากนี้ ยังได้ศึกษาหาความรู้จากครูบาอาจารย์ต่างๆ และค้นคว้าศึกษาในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา พร้อมทั้งหาโอกาสออกไปสู่ความวิเวกตามป่าเขาลำเนาไพร ฝึกฝนปฏิบัติกัมมัฏฐานอยู่เสมอเป็นนิจ

ลำดับงานปกครอง พ.ศ.2529 ได้รับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดคูบางหลวง อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปุทมธานี พ.ศ.2546 ได้รับแต่งตั้งเป็น เจ้าอาวาสวัดมเหยงคณ์ จ.พระนครศรีอยุธยา

ลำดับสมณศักดิ์ พ.ศ.2534 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นโท ในราชทินนามที่ พระครูเกษมธรรมทัต

พ.ศ.2540 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร เจ้าอาวาสวัดราษฎร์ชั้นเอก ในราชทินนามเดิม

พ.ศ.2550 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร เจ้าอาวาสวัดราษฎร์ชั้นพิเศษ ในราชทินนาม

ล่าสุดวันที่ 1 มิ.ย.2566 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นราช ในราชทินนามที่ พระราชภาวนาวชิรญาณ วิ.

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน