เลขาฯ กพฐ. เสนอรื้อใหญ่ระบบสอบครู หลังวงสัมมนา ผอ.สนง.พื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ ชี้มุ่งแก้ปัญหาสอบครูผู้ช่วยผ่านต่ำกว่าเกณฑ์ ส่งผลให้เกิดภาวะขาดแคลนครู เร่งสรุปผลเด็กสอบผ่านครูผู้ช่วยน้อย ขอก.ค.ศ.เป็นหน่วยงานกลางจัดสอบภาคก-ข ปีละสองครั้ง แบบก.พ. ชี้ควรมีคลังข้อสอบที่มหา’ลัยต่างๆ มาร่วมกันออกอย่างมีมาตรฐาน สุ่มเลือกข้อสอบ-จัดสอบโดยหน่วยงานกลาง เขตพื้นที่การศึกษาไหนมีอัตราว่าง ให้นำคะแนนไปยื่นสมัครสอบสัมภาษณ์ภาค-ค ได้เลย เชื่อเกิดความโปร่งใส เป็นธรรม แก้ปัญหาได้ทั้งระบบ เร่งหาข้อสรุป แต่งตั้งครูให้ทันเปิดเทอม อุดรอยรั่วโรงเรียนขาดครู

เมื่อวันที่ 11 ก.ค. ที่สวนนงนุช จ.ชลบุรี นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนา ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา(สพท.) ทั่วประเทศ โดยมีผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯ ผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) เข้าร่วมกว่า 500 คนว่า การประชุมครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการให้ผู้บริหารเขตพื้นที่ฯ ได้มาดูระบบบริหารจัดการ การจัดทำแหล่งเรียนรู้ของสวนนงนุช ว่ามีวิธีคิด และวิธีปฏิบัติอย่างไร เพื่อนำความรู้นี้ไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่ของตัวเอง รวมถึงอยากให้หาวิธีเปิดโอกาสให้นักเรียน โดยเฉพาะกลุ่มที่ด้อยโอกาสได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้ เพื่อเปิดวิสัยทัศน์ นอกจากนี้ จะเป็นการติดตามการดำเนินการ โดยเฉพาะระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน ซึ่งก่อนเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2566 สพฐ.ได้ประกาศให้เดือนมิ.ย. เป็นเดือนแห่งการเยี่ยมบ้านนักเรียน ให้ครูและโรงเรียนเข้ามาดูแลช่วยเหลือนักเรียน ทั้งด้านอารมณ์ สังคม สุขภาพร่างกาย เพื่อให้เด็กมีต้นทุนที่พร้อมในการเรียนรู้ โดยเฉพาะหลังสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่เกิดปัญหาต่างๆ ขึ้นมากมาย

นายอัมพรกล่าวต่อว่า เมื่อนักเรียนมีความพร้อมแล้ว สิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการ คือ การ เตรียมครูผู้สอนให้พร้อม ซึ่งทางเขตพื้นที่ฯ จะต้องวางแผนการบริหารจัดการอัตรากำลังทั้งในเรื่องของการสรรหา บรรจุแต่งตั้งครูและผู้บริหารสถานศึกษา รวมถึงการบริหารจัดการบุคลากรภายในโรงเรียน ที่บางแห่งจำนวนเด็กลดลง แต่อัตราครูยังมีอยู่เท่าเดิม ก็ต้องไปดูว่าจะเกลี่ยอัตราในส่วนที่เกิน ไปในตำแหน่งใดได้บ้าง ตรงนี้เป็นเรื่องการบริหารจัดการคน รวมถึงเรื่องบริหารจัดการงบประมาณ ซึ่งต้องเร่งรัดเบิกจ่ายให้ทันภายใน 3 เดือนก่อนสิ้นปีงบประมาณ 2566 และสุดท้าย เป็นเรื่องวิชาการ ที่ผ่านมา มีการพูดคุยเรื่อง การเรียนรู้ในรูปแบบแอ๊กทีฟ เลิร์นนิ่ง ในช่วง 1-2 ปีหลังสถานการณ์ แพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 พูดถึงปัญหา เลิร์นนิ่งลอส หรือภาวะการเรียนรู้ถดถอย พูดถึงการใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือไอซีที เข้ามาจัดการการเรียนรู้ ดังนั้น สุดท้ายแล้วจะต้องมาสรุปว่าวิธีการเติมเต็มความรู้ให้กับเด็กนั้น ควรมีกี่วิธี และแต่ละกลุ่มจะมีวิธีการเติมเต็มอย่างไร โดยมี เป้าหมายหลักคือ คุณภาพผู้เรียน

นายอัมพรกล่าวถึงการสอบครูผู้ช่วยที่ผ่านมาพบว่า มีครูสอบผ่านได้น้อยนั้นว่า เรื่องนี้อยู่ในขั้นตอนการวิเคราะห์สาเหตุที่ทำให้มี ผู้สอบไม่ผ่านจำนวนมาก เพื่อดูว่ามหาวิทยาลัยฝ่ายผลิตเองจะต้องปรับระบบการเรียนการสอนอย่างไร รวมถึงจะต้องส่งข้อมูลให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(ก.ค.ศ.) ไปพิจารณาด้วยว่า ควรต้องปรับหลักเกณฑ์ การสอบแข่งขันในส่วนใด เพื่อให้ผู้เข้าสอบสามารถสอบบรรจุได้มากขึ้น

“วันนี้หลายฝ่ายยังสับสน แม้แต่ก.ค.ศ.เองก็ออกมาระบุว่า สพฐ.ไม่อยากให้ส่วนกลางออกข้อสอบ ซึ่งความจริงไม่ใช่ และหากเป็นไปได้ ในอนาคต ผมอยากให้สำนักงานก.ค.ศ. เป็นหน่วยงานกลางดำเนินการจัดสอบ ภาค ก และภาค ข ปีละ 2 ครั้ง คล้ายกับการสอบ คัดเลือกข้าราชการของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.) รวมถึงควรจะต้องมีคลังข้อสอบ ที่มหาวิทยาลัยต่างๆ มาร่วมกันออกอย่างมีมาตรฐาน หากหน่วยงานใดจะจัดสอบ ก็สุ่มเลือกข้อสอบและจัดสอบโดยหน่วยงานกลาง และถ้าเขตพื้นที่ฯ ใดมีอัตราว่าง ก็นำคะแนนไปยื่นสมัคร เพื่อสอบสัมภาษณ์ ภาค ค ได้ทันที ตรงนี้จะทำให้การจัดสอบมีความโปร่งใส เป็นธรรมสามารถแก้ปัญหาได้ทั้งระบบ ขณะเดียวกันหากมีบัญชีที่สอบไว้ เหมือนก.พ. ก็ไม่ต้องกังวล เรื่องปัญหาการ โยกย้าย เพราะครูสามารถเลือกโรงเรียน ด้วยความสมัครใจ ไม่เหมือนกับปัจจุบันที่ ไม่สามารถควบคุมเรื่องการโยกย้ายได้” นายอัมพรกล่าว

นาอัมพรกล่าวว่า ปัญหาทั้งหมดไม่อยากให้เป็นการแก้แบบย้อนกลับไปกลับมา อยากให้ถอดบทเรียนและแก้ไขไปข้างหน้า เพราะการให้ส่วนกลางจัดสอบและออกข้อสอบก็เคยดำเนินการมาแล้ว โดยสพฐ.ก็จ้างมหาวิทยาลัยสวนดุสิต(มสด.) ออกข้อสอบ ตอนนั้นก็บอกว่า ไม่ดี ไม่กระจายอำนาจ แต่พอปรับมา กระจายอำนาจให้เขตพื้นที่ฯ ดำเนินการ ก็กลับอยากให้ส่วนกลางจัดสอบอีก ซึ่งในมุมมองของผมเห็นว่าการกระจายอำนาจเป็นสิ่งที่ดี แต่มหาวิทยาลัยต้องไปดูเรื่องการออกข้อสอบ ให้คัดเลือกคนมาเป็นครูได้อย่างเหมาะสม จากนี้ต้องดูว่าต่อไปจะทำอย่างไรให้ดีกว่าเดิม คุ้มค่ากับงบประมาณ รวมถึงสามารถบรรจุแต่งตั้งครูได้ทันก่อนเปิดภาคเรียน

นายอัมพรกล่าวอีกว่า ทั้งหมดนี้ตนได้มอบเป็นข้อเสนอกับที่ประชุมผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯ แล้ว ส่วนแนวทางแก้ปัญหา โรงเรียนที่ยังมีครูไม่ครบ เพราะมีผู้สอบผ่านได้น้อยนั้น เบื้องต้นจะใช้อัตราจากการสอบคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย (ว16) กรณีที่มีความจำเป็น หรือมีเหตุพิเศษ สังกัด สพฐ.ซึ่งจะเปิดรับสมัครวันที่ 21-27 ก.ค. สอบข้อเขียนภาค ก ความรอบรู้และความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความประพฤติและการปฏิบัติของวิชาชีพครู และสอบภาค ข ความรู้ความสามารถที่ใช้เฉพาะตำแหน่ง วันที่ 19 ส.ค. สอบสัมภาษณ์ วันที่ 20 ส.ค. และประกาศผลสอบภายในวันที่ 24 ส.ค. มาชดเชยอัตรากำลังที่ขาดก่อน หากยังไม่ เพียงพอ จะให้มีการขอใช้บัญชีข้ามเขต ในพื้นที่ที่มีการสอบขึ้นบัญชีไว้เกินกว่าอัตราที่เปิดรับ อาทิ พื้นที่ที่จัดสอบโดยมสด. ซึ่งมี ผู้สอบผ่านได้มาก หรือหากขอใช้บัญชีแล้วยังวิกฤตอยู่ก็ค่อยมาดูว่า จะเป็นต้องจัดสอบ อีกรอบหรือไม่ ทั้งหมดนี้ต้องหาข้อสรุป หลังจากมีข้อมูลที่เพียงพอในการจัดสินใจ เพื่อเสนอให้คณะกรรมการก.ค.ศ. และมหาวิทยาลัย ฝ่ายผลิตร่วมกันตัดสินใจ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน