อ่วมแล้ว4อำเภอ โคราชแล้งหนักข้าวยืนต้นตาย

สตูลยังระทม น้ำท่วมขยายวงพื้นที่ 4 อำเภอ 8 ตำบล 20 หมู่บ้าน ชาวบ้านเดือดร้อน 340 หลังคาเรือน ผู้ว่าฯ สั่งเตือนเฝ้าระวัง ระดมช่วยเหลือชาวบ้านเหยื่อน้ำท่วม โลกโซเชี่ยลชื่นชมคณะลิเกฮีโร่ช่วยเหลือเด็ก 3 คนที่ถูกน้ำเชี่ยวซัดร่างลอยกลางแม่น้ำที่สังขละบุรีจนรอดชีวิต ส่วนเหนือ-อีสานแล้งหนัก จากพิษฝนทิ้งช่วงเกือบ 2 เดือน โคราชนาข้าวยืนต้นตาย มันสำปะหลังนับพันไร่เสียหาย ส่วนที่ปากช่องต้องทำพิธีขอฝน ด้านเกษตรกรกำแพงเพชรโอดไร่มันสำปะหลังเจ๊งยับเพราะแล้งหนัก วอนหน่วยงานรัฐช่วยเหลือด่วน

เมื่อวันที่ 16 ส.ค. นายไพศาล ขุนศรี หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสตูล เปิดเผยว่า ตามที่เกิดฝนตกหนักในพื้นที่ จ.สตูล ระหว่างวันที่ 14-15 ส.ค.2566 ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำท่วมขัง พื้นที่ได้รับผลกระทบเบื้องต้น 4 อำเภอ 8 ตำบล 20 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 340 ครัวเรือน ไม่มีรายงานผู้บาดเจ็บหรือสูญหาย ประกอบด้วย 1.อ.ทุ่งหว้า 1 ตำบล 2 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่ที่ 9 และ 10 ต.ทุ่งหว้า 2.อ.ควนกาหลง 2 ตำบล 3 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 15 ครัวเรือน ได้แก่ หมู่ที่ 2 ต.อุใดเจริญ หมู่ที่ 5 และ 9 ต.ควนกาหลง 3.อ.เมืองสตูล 3 ตำบล 8 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 240 ครัวเรือน ได้แก่ หมู่ที่ 1, 3, 4, 5, 6 และ 7 ต.คลองขุด หมู่ที่ 1 ต.บ้านควน หมู่ที่ 3 ต.เกตรี และ 4.อ.ท่าแพ 2 ตำบล 7 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 85 ครัวเรือน ได้แก่ หมู่ที่ 3, 4, 5, 6, 8 และ 9 ต.ท่าแพ หมู่ที่ 1 ตำบลแป-ระ

สำหรับสถานการณ์ปัจจุบันในพื้นที่ จ.สตูลมีฝนตกน้อยลง หลายพื้นที่สถานการณ์คลี่คลาย แต่ยังต้องเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำล้นตลิ่งในพื้นที่ อ.เมืองสตูล คาดว่าหากไม่มีฝนตกลงมาอีก จะกลับเข้าสู่สภาวะปกติโดยเร็ว ส่วนการช่วยเหลือ ทางอำเภอที่ได้รับผลกระทบจัดกำลัง อส. ฝ่ายปกครอง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าสำรวจความเสียหายและช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบใน เบื้องต้นแล้ว ขณะที่สำนักงานป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสตูลสนับสนุนเรือในพื้นที่เสี่ยงเพื่อเตรียมรับมือสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นต่อไปอีก อย่างไรก็ตาม สภาวะฝนยังคงตกหนักถึงหนักมากบางแห่งต่อไปอีก จึงต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง 24 ช.ม.และติดตามการพยากรณ์ทางกรมอุตุนิยม วิทยาอย่างใกล้ชิดต่อไป

ส่วนกรณีมีผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อว่า Nisa Channetr โพสต์คลิปเหตุการณ์ขณะที่เด็ก 3 คนถูกกระแสน้ำป่าในลำห้วย ซองกาเรีย อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี พัดร่างลอยออกไปกลางลำห้วยและ ผู้โพสต์พยายามเข้าช่วยเหลือโดยโยนห่วงยางลงจากสะพานให้เด็กทั้ง 3 คนเกาะ ก่อนจะมีพลเมืองดีลงไปช่วยขึ้นมาได้ทัน

ทั้งนี้ผู้โพสต์ยังระบุว่า เกือบช็อค! เหตุการณ์ระทึกระหว่างถึงน้ำตกซอง กาเรีย มีน้องๆ 3 คน หลุดไหลตามน้ำถือว่าน้องๆ โชคดีมีพลเมืองพร้อมกับพวกเราไปช่วยไว้ได้ทัน

ล่าสุด น.ส.นิสา จันทร์เนตร อายุ 40 ปี ช่างแต่งหน้าของคณะลิเก คณะ 2 เทพบุตรสุดที่รัก ซึ่งเป็นผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์และถ่ายคลิปช่วงเกิดเหตุเล่าว่า ในวันดังกล่าว ตนพร้อมน้องชายและคนในคณะลิเกไปเที่ยวที่ อ.สังขละบุรี หลังจากไปเที่ยวที่บริเวณสะพานมอญ ได้ขับรถมาที่บริเวณจุดเล่นน้ำซองกาเรีย อ.สังขละบุรี เพื่อจะนั่งพักทานอาหารและลงเล่นน้ำคลายร้อน แต่เมื่อมาถึงจุดเล่นน้ำดังกล่าว พบว่าน้ำในลำห้วย ซองกาเรียไหลเชี่ยวแรง และในกลุ่มของตนมีเด็กเล็กอยู่ด้วย หากลงไปเล่นน้ำ เกรงว่าอาจจะไม่ปลอดภัย จึงตัดสินใจสั่งอาหารมานั่งทานที่ริมลำห้วยแทน หลังจากนั้นประมาณ 15 นาที เกิดเหตุการณ์ตามในคลิปขึ้น น.ส.นิสากล่าวต่อว่า ตนสังเกตเห็นเด็ก 2 คนที่เล่นน้ำอยู่ห่างจากจุดที่ตนนั่งประมาณ 100 เมตรถูกกระแสน้ำที่ไหลเชี่ยวพัดร่างจากริมฝั่งออกไปกลางแม่น้ำ จากนั้นเด็กอีก 1 คนที่ยืนอยู่ริมฝั่งก็ถูกน้ำซัดออกไปด้วย ตนจึงตะโกนขอความช่วยเหลือจากนักท่องเที่ยวและชาวบ้านที่อยู่บริเวณจุดเกิดเหตุ โดยน้องชายของตนหยิบห่วงยางวิ่งขึ้นไปบนสะพานเหนือลำห้วยซองกาเรีย พร้อมโยนห่วงยางไปให้เด็กที่ถูกกระแสน้ำพัดร่างไปได้เกาะไว้ ส่วนชาวบ้านอีกคนที่อยู่ใกล้จุดเกิดเหตุก็กระโดดขึ้นห่วงยางลอยตามน้ำไปช่วยคว้าร่างของเด็ก ทั้ง 3 คนเอาไว้ได้อย่างปลอดภัย หลังจากช่วยเด็กทั้ง 3 คนขึ้นมาจากน้ำได้แล้ว พวกตนจึงนำอาหารที่สั่งไว้ทั้งหมดให้กับพลเมืองดีที่ช่วยกันช่วยชีวิตเด็กได้ทาน เพื่อจะได้หายเหนื่อย ส่วนพวกตนก็ขึ้นรถเดินทางกลับทันที

“ส่วนที่ตัดสินใจนำเอาคลิปวิดีโอที่ถ่ายช่วงเกิดเหตุไว้ไปลงในติ๊กต็อก เพียงแค่ต้องการเตือนภัยให้กับพ่อแม่ ผู้ปกครองที่พาบุตรหลานอายุน้อยๆ ไปเล่นน้ำ ให้สังเกตดูน้ำในแม่น้ำให้ดีก่อนจะตัดสินใจให้ลูกหลานลงไปเล่น หากสังเกตเห็นน้ำในแม่น้ำไหลเชี่ยวแรงและมีสีน้ำขุ่นผิดปกติ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนได้ว่าอาจจะเป็นน้ำป่าและอาจจะเป็นอันตรายกับบุตรหลานที่ลงเล่นน้ำได้ หลังจากนำคลิปดังกล่าวโพสต์ลงใน ติ๊กต็อก ก็ไม่คิดว่าจะมีกระแสตอบรับดีมาก มีคนเข้ามาแสดงความคิดเห็น ชื่นชมการช่วยชีวิตเด็กทั้ง 3 คนครั้งนี้จำนวนมาก ทำให้รู้สึกปลาบปลื้มใจ และดีใจกับเสียงชื่นชมที่ได้รับมาและฝากขอบคุณผู้ที่เข้ามาชื่นชมและให้กำลังใจพวกเราด้วย” น.ส.นิสากล่าว








Advertisement

ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยารายงานว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญจะเริ่มส่งผล กระทบมากยิ่งขึ้น ทำให้สภาพอากาศแปรปรวน ฝนตกลงมาน้อยกว่าเกณฑ์ปกติ ทั้งที่เป็นช่วงฤดูฝน ขณะเดียวกันโครงการชลประทานนครราชสีมารายงานสถานการณ์น้ำเก็บกักในพื้นที่ จ.นครราชสีมา ว่า ปริมาณน้ำเหลือค่อนข้างน้อย แต่ยังไม่มีการประกาศพื้นที่ประสบภัยแล้ง และยืนยันว่าสามารถบริหารจัดการน้ำให้ผ่านหน้าแล้งนี้ไปได้ ซึ่ง 4 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ได้แก่ อ่างเก็บน้ำลำตะคอง อ.สีคิ้ว, อ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง อ.ปักธงชัย, อ่างเก็บน้ำมูลบน อ.ครบุรี และอ่างเก็บน้ำลำแชะ อ.ครบุรี นั้น

ล่าสุด มีปริมาตรน้ำเก็บกักรวมเหลืออยู่ที่ 352.69 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 39.83% และเป็นน้ำใช้การได้ 315.25 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 37.17% เท่านั้น ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 23 แห่ง มีปริมาตรน้ำเก็บกักรวม เหลือ 126.74 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 38.26% และเป็นน้ำใช้การได้ 101.70 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 33.21% เท่านั้น รวมปริมาตรน้ำเก็บกักในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง 27 แห่ง มีปริมาตรน้ำเก็บกักรวม 479.43 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 39.40% เป็นน้ำใช้การได้ 416.95 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 36.12% เท่านั้น จึงแจ้งเตือนประชาชนให้ใช้น้ำอย่างประหยัดและรู้คุณค่า เพื่อเก็บสำรองน้ำไว้อุปโภค-บริโภคเป็นหลัก ส่วนภาคการเกษตรในเขตชลประทานจะจ่ายน้ำให้ตามแผน แต่พื้นที่เกษตรนอกเขตชลประทาน ให้อาศัยน้ำฝนเพาะปลูกในช่วงนี้

วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สภาพอากาศที่ จ.นครราชสีมา แปรปรวนหนัก หลายพื้นที่ฝนทิ้งช่วงไม่ตกนานกว่า 2 เดือน เกิดปัญหาภัยแล้งรุนแรง เริ่มส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตร และคาดว่าจะขยายวงกว้างเพิ่มมากขึ้น จากฝนทิ้งช่วงนาน ทำให้นาข้าวยืนต้นแห้งตาย กลายเป็นทุ่งหญ้ากว้าง ผลผลิตเสียหาย ชาวนาหลายรายได้รับผลกระทบอย่างหนัก โดยเฉพาะที่ อ.บัวใหญ่ จ.นครราชสีมา

นายอัครเดช รามนอก อายุ 41 ปี ชาวนาหมู่ 8 ตำบลด่านช้าง อ.บัวใหญ่ เปิดเผยว่า ขณะนี้ในพื้นที่เจอปัญหาฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานาน ทำให้นาข้าวทั้งตำบลและพื้นที่ใกล้เคียงแห้งเหี่ยว ยืนต้นตายแทบทั้งหมด

ตั้งแต่เกษตรกรเริ่มหว่านข้าวหอมมะลิเมื่อปลายเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา แต่กลับมีฝนตกเพียงเล็กน้อย พอข้าวเริ่มยืนต้นก็มาเจอปัญหาฝนทิ้งช่วงยาวนานอีก ทำให้ต้นข้าวทนสภาพแล้งหนักไม่ไหว ยืนต้นตาย มีต้นหญ้าและวัชพืชอื่นๆ ขึ้นปกคลุมแทน เกษตรกรต้องยอมรับชะตากรรม เพราะต้นเหตุเกิดจากภัยธรรมชาติ แม้ว่าจะเป็นฤดูฝนที่เกษตรกรเริ่มเพาะปลูก แต่มาเจอสภาพอากาศแปรปรวน ฝนตกน้อยแบบนี้ เกษตรกรหลายคนต้องยอมตัดใจ นำต้นข้าวที่แห้งตายไปให้วัว-ควายกิน เพราะไม่มีน้ำมาทำนา แถมแหล่งน้ำต่างๆ ที่มีอยู่ในพื้นที่ก็แห้งขอดจนเกือบหมด เดือดร้อนกันจริงๆ

เมื่อเวลา 09.00 น.วันเดียวกัน นายคณัสชนม์ ศรีเจริญ นายอำเภอปากช่อง จ.นครราชสีมา เป็นประธานพิธีขอฝนจากองค์โป๊ยเซียนโจวซือ ณ มูลนิธิสว่างวิชชาธรรมสถาน อ.ปากช่อง โดยมี ว่าที่ ร.ต.พรสรร อุ่นบันเทิง ปลัดอาวุโสอำเภอปากช่อง นายศิริวัฒก์ ภัทรวิเศษพันธ์ ปลัดอำเภอฝ่ายความมั่นคง เจ้าหน้าที่อำเภอ, นายวิชัย มณีรัตนะกุล ประธานมูลนิธิสว่างวิชชาธรรมสถาน นายเทอดศักดิ์ ลาภจิตรกุศล คณะกรรมการ ร่วมกับคณะกรรมการมูลนิธิ และภาคประชาชน เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เข้าร่วมขอฝน แบบประเพณีชาวจีนกว่า 100 คน

นายคณัสชนม์กล่าวว่า สืบเนื่องมาจากว่าในพื้นที่ อ.ปากช่อง ประสบปัญหาฝนทิ้งช่วงมานาน ถึงแม้จะเป็นช่วงฤดูฝนก็ตาม แต่ฝนตกลงมาไม่ทั่วถึงและไม่ต่อเนื่องในบางพื้นที่ โดยปากช่องมีพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์กว่า 30,000 ไร่ ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรที่ทำไร่ข้าวโพดอย่างมาก ซึ่งมีหลายรายที่ทำการปลูกข้าวโพดรุ่นที่ 2 ประสบปัญหาไม่มีฝนทำให้ข้าวโพดเหี่ยวเฉาตาย

โดยนายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าฯ นครราชสีมา สั่งการให้อำเภอปากช่องประสานงานไปยังผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือขอรับการสนับสนุนในการทำฝนหลวงในพื้นที่อำเภอปากช่องในช่วงนี้ ซึ่งเป็นความเชื่อของชาวจีนดั้งเดิมที่สืบทอดกันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เพื่อเป็นสิริมงคล จากเทพเทวดาฟ้าดิน เทพเจ้าองค์โป๊ยเซียนโจวซือแบบประเพณีจีน เพื่อดลบันดาลอำนวยชัยให้ฝนตกลงมา ให้ความชุ่มฉ่ำกับพืชพันธุ์ของพี่น้องเกษตรกร ซึ่งจะได้เป็นกำลังใจเกษตรกรที่ประสบปัญหาในช่วงนี้โดยไม่ขอลมพายุขอฝน

วันเดียวกัน นายบรรจบ เข็มทอง ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนมันสำปะหลังตำบลสุรนารี อ.เมือง จ.นครราชสีมา เปิดเผยว่า ตอนนี้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังเริ่มได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญกันบ้างแล้ว กรณีของตน ปีนี้ลงทุนปลูกมันสำปะหลังบนพื้นที่ 80 ไร่ไปเมื่อช่วงเดือนก.พ. แต่ต้นพันธุ์ไม่ค่อยงอกเพราะขาดน้ำ ต้องลงทุนหาซื้อต้นพันธุ์มาปลูกใหม่ในรอบที่ 2 เมื่อช่วงกลางเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ตอนนี้ยังลุ้นว่าจะรอดหรือไม่ เพราะพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังใน ต.สุรนารี ต้องรอน้ำฝนเพียงอย่างเดียว ไม่มีแหล่งน้ำธรรมชาติและไม่มีน้ำจากอ่างเก็บน้ำส่งมาช่วย เมื่อฝนไม่ตก บวกกับสภาพอากาศร้อนจัด ต้นพันธุ์มันที่ปลูกไว้จะเปื่อย ทำให้ไม่งอก เพราะไม่มีน้ำมาหล่อเลี้ยง รอบแรกจึงได้รับความเสียหายทั้งหมด ต้องลงทุนปลูกใหม่เป็นรอบที่ 2

“ส่วนสมาชิก 93 รายในกลุ่มวิสาหกิจชุมชนมันสำปะหลังตำบล สุรนารี รวมพื้นที่ปลูก 2,000 ไร่กำลังประสบปัญหาลักษณะเดียวกัน อีกทั้งยังเจอปัญหาท่อนพันธุ์มันสำปะหลังราคาแพงมาก ปกติซื้อต้นพันธุ์มาตันละ 500 บาท แต่ตอนนี้ขายอยู่ที่ต้นละ 5-10 บาท เกษตรกรหลายรายไม่สามารถหาเงินไปลงทุนซื้อท่อนพันธุ์มันมาปลูกใหม่ได้ จำใจปล่อยไร่มันทิ้งร้างเอาไว้ สาเหตุที่ต้นพันธุ์มันพุ่งสูง เพราะสภาพอากาศแปรปรวน ปีที่แล้วฝนตกหนักทำให้มันเน่า พอมาปีนี้กลับเจออากาศแล้ง ท่อนพันธุ์ไม่สามารถจะปลูกและเจริญงอกงามได้ แถมยังเป็นโรคใบหงิกใบงอ-ใบด่างด้วย จึงไม่สามารถนำไปทำท่อนพันธุ์ไว้เพาะปลูกได้ ต้องซื้อจากแหล่งอื่น มีเพียงเกษตรกรไม่กี่รายเท่านั้นที่พอจะมีเงินทุนและมีสระกักเก็บน้ำในไร่มัน หรือขุดเจาะบ่อบาดาลดึงน้ำใต้ดินมาใช้ จึงสามารถลงทุนปลูกมันฯ รอบที่ 2 ได้ จะหวังรอให้รัฐบาลมาช่วยก็คงยาก” นายบรรจบกล่าว

ส่วนสถานการณ์ภัยแล้ง และฝนทิ้งช่วงในพื้นที่ จ.กำแพงเพชร เริ่มสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังในเขตพื้นที่ตำบลทรงธรรม อ.เมือง จ.กำแพงเพชร ที่เริ่มเกิดการระบาดของตัวไรแดงที่ลงกัดกินไร่มันสำปะหลังเสียหาย ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังได้รับความเดือดร้อน

นางชลอ อ่องละออ อานุ 57 ปี เล่าว่า ตนทำมันสำปะหลังจำนวน 53 ไร่ ตอนนี้มีเพลี้ยลงเกือบจะทั้งแปลงแล้ว ตอนนี้เกษตรกรประสบกับปัญหาฝนแล้งก็แย่พอแล้ว ยังต้องมาเจอกับศัตรูพืชอีก ตอนนี้ฉีดยากำจัดศัตรูพืชไปแล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถควบคุมปัญหาได้ คาดว่าภายในหนึ่งสัปดาห์ถ้ายังไม่สามารถหยุดการแพร่ระบาดของเพลี้ยได้ อาจจะทำให้มันสำปะหลังของตนได้รับความเสียหายทั้งหมด จึงอยากวอนขอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยเหลือดูแลเกษตรกร ผู้ปลูกมันสำปะหลังทั้งในเรื่องของน้ำแล้ง และแมลงศัตรูพืชระบาดอย่างหนักทั้ง ต.ทรงธรรม และตำบลใกล้เคียง

ด้านนายวีรยุทธ สมป่าสัก หัวหน้ากลุ่มอารักขาพืช สำนักงานเกษตรจังหวัดกำแพงเพชร กล่าวว่า ขณะนี้เกษตรกรประสบปัญหาภัยแล้ง และแมลงศัตรูพืชระบาด ซึ่งส่วนใหญ่ที่พบในพื้นที่นี้จะเป็นไรแดง ซึ่งปกติจะมีการแพร่ระบาดทุกปี แต่หากมีฝนตกลงมาก็จะช่วยลดการแพร่ระบาดของไรแดงลงได้ ซึ่งต้องทำความเข้าใจกับพี่น้องเกษตรกรว่าเมื่อพบปัญหาการระบาดของศัตรูพืชอย่างไรแดง เกษตรกรมักเข้าใจว่าศัตรูพืชชนิดนี้คือเพลี้ยไฟ เมื่อไปซื้อยากำจัดศัตรูพืชก็มักจะซื้อยากำจัดเพลี้ยไฟ ซึ่งไม่สามารถกำจัดไรแดงได้ ดังนั้น จึงต้องเลือกใช้ผลิตภัณฑ์กำจัดศัตรูพืชให้ตรงกับชนิดที่ระบาดอยู่ด้วย และให้เกษตรกรมันสำรวจแปลงมันสำปะหลังของตนเอง เพื่อจะได้หาทางป้องกันและแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของศัตรูพืชหรือโรคพืชอย่างสม่ำเสมอ และหากมีปัญหาสามารถขอรับปรึกษาได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอ หรือสำนักงานเกษตรจังหวัดกำแพงเพชร

วันเดียวกัน เวลา 10.00 น. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) โดยที่ประชุมเห็นชอบร่างมาตรการรับมือฤดูฝนปี 2566 เพิ่มเติมเพื่อรองรับสถานการณ์ “เอลนีโญ” ประกอบด้วย 3 มาตรการที่สำคัญ ได้แก่ 1.การจัดสรรน้ำให้เป็นไปตามลำดับความสำคัญที่คณะกรรมการลุ่มน้ำกำหนด เกี่ยวกับการวางแผนการระบายน้ำ มาตรการที่ 2 ให้ควบคุมการเพาะปลูกข้าวนาปีต่อเนื่อง (ตลอดช่วงฤดูฝน) และให้ประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ให้กับเกษตรกร และมาตรการที่ 3 ให้เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ (ตลอดช่วงฤดูฝน) ได้แก่ การใช้น้ำภาคการเกษตร เช่น การปลูกพืชใช้น้ำน้อย การปรับปรุงระบบการให้น้ำพืช และการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการน้ำ เป็นต้น รวมถึงการประหยัดน้ำของทุกภาคส่วน ส่งเสริมให้โรงงานอุตสาหกรรมใช้ระบบ 3R เพื่อลดการใช้น้ำจากแหล่งต่างๆ และการลดการสูญเสียน้ำในระบบประปา และระบบชลประทาน

โดยที่ประชุม กอนช.รับทราบสถานการณ์จากอิทธิพลของปรากฏการณ์ เอลนีโญที่เกิดขึ้นในขณะนี้ และรัฐบาลได้มีความห่วงใยต่อพี่น้องประชาชนในพื้นที่ที่กำลังประสบปัญหาเป็นอย่างมาก สืบเนื่องจากปริมาณฝนที่ตกน้อยในหลายพื้นที่ และแหล่งน้ำมีปริมาณน้ำจำกัดโดยเฉพาะน้ำอุปโภคบริโภค แม้ว่าปัจจุบันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้ดำเนินการตาม “12 มาตรการรับมือฤดูฝน” อย่างต่อเนื่องและเต็มที่ จึงยังคงต้อง เฝ้าระวังพื้นที่ที่มีความเสี่ยงขาดแคลนน้ำ ซึ่งอาจส่งผลกระทบและก่อให้เกิดปัญหาภัยแล้งอย่างรุนแรงได้ และขณะเดียวกันปรากฏการณ์เอ็นโซ่ (ENSO) อยู่ในสภาวะเอลนีโญ และจะมีแนวโน้มที่มีความรุนแรงมากขึ้นในช่วงเดือน ต.ค.-ธ.ค.66 ทำให้ประเทศไทยช่วงเดือน ก.ค.-ก.ย.66 จะมีปริมาณฝนต่ำกว่าปกติ

พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ขอให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และหน่วยงานต่างๆ เร่งประชาสัมพันธ์ สร้างความเข้าใจให้ประชาชน รับทราบสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างทั่วถึง ทันเวลา เพื่อเตรียมความพร้อมและจัดลำดับความสำคัญในการใช้น้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภคอย่างเพียงพอของประชาชนเป็นอันดับแรก น้ำที่เหลือจึงใช้เพื่อการอื่นๆ รวมถึงพื้นที่ EEC ที่มีความสำคัญด้วยต่อไป พร้อมรณรงค์ขอให้ประชาชน เกษตรกรและทุกภาคส่วนร่วมกันใช้น้ำอย่างประหยัด และคุ้มค่า

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน