รัฐบาลควรแก้ปัญหาอะไรก่อน จัดต่อเวทีใหญ่พย.-วิเคราะห์ผล

วันนี้โหวต ‘โพลมติชน X เดลินิวส์’ วันสุดท้าย อยากให้รัฐบาลเศรษฐาแก้ปัญหาอะไรก่อน การเมือง-ปฏิรูปโครงสร้างสังคม กับเศรษฐกิจ-ปากท้อง โดยรองนายก อบต.ที่เพชรบูรณ์ ร่วมโหวตส่งท้าย พร้อมเสนอปฏิรูปการเมือง กองทัพ สว. การปกครองส่วนท้องถิ่น ส่วนนายกเทศบาลเมืองแม่โจ้ เชียงใหม่ เรียกร้องกระจายอำนาจท้องถิ่นอย่างแท้จริง หลังครบกำหนดโหวตแล้วจะมีกิจกรรมเจาะลึกเรื่องโพลในเดือนพ.ย.นี้ โดยนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญการเมืองมาร่วมวิเคราะห์

เมื่อวันที่ 30 ต.ค. โพลมติชน X เดลินิวส์ รัฐบาลเศรษฐาควรแก้ปัญหาอะไร ที่เริ่มเปิดให้โหวตตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.เป็นต้นมานั้น ขณะนี้เหลือเวลาโหวตอีกเพียง 1 วันคือวันที่ 31 ต.ค.นี้เท่านั้น โดยกองบรรณาธิการในเครือมติชนและเดลินิวส์ ได้ประมวลชุดคำถามรัฐบาลเศรษฐาควรแก้ปัญหาอะไร แล้วนำมาเปิดให้ประชาชนโหวตผ่านคิวอาร์โค้ดที่อยู่ในสื่อทั้ง 2 เครือ ทั้งหนังสือพิมพ์ 4 เว็บไซต์, เฟซบุ๊ก, เอ็กซ์ (ทวิตเตอร์), ยูทูบ, อินสตาแกรม และติ๊กต็อก

สำหรับคำถามมี 2 หัวข้อใหญ่ คือ 1.เร่งแก้ปัญหาการเมือง-ปฏิรูปโครงสร้างสังคม ประกอบด้วย แก้รัฐธรรมนูญ, ปฏิรูปกองทัพ, กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น, ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม, รัฐสวัสดิการ และปัญหาอื่นๆ 2.เร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจ- ปากท้อง ประกอบด้วย แจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท, แก้ปัญหาหนี้สินครัวเรือน-หนี้สาธารณะ, แก้ปัญหาการเกษตร, เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำและเงินเดือนปริญญาตรี, ลดค่าน้ำ-ค่าไฟ-ค่าน้ำมัน และปัญหาอื่นๆ หลังจากประชาชนโหวตโพลจนครบกำหนดถึงวันที่ 31 ต.ค.แล้ว จะมีกิจกรรมเจาะลึกเรื่องโพลมติชน X เดลินิวส์ในเดือนพ.ย.นี้ โดยเชิญนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญการเมืองมาร่วมวิเคราะห์ผลด้วย

นายเกรตศิลา แซ่หว้า รองนายก อบต.เข็กน้อย อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ ร่วมโหวตโพลพร้อมกล่าวว่าคิดว่าถึงเวลาที่จะต้องปฏิรูปการเมืองใหม่ ที่ผ่านมาเรามองเห็นจุดเด่นหรือจุดด้อยต่างๆ ของหน่วยงานต่างๆ อาทิ การปฏิรูปกองทัพ การแก้ไขระบบ สว. ระบบราชการปกครองท้องถิ่น โดยเฉพาะระดับจังหวัดไม่ใช่ซีอีโอควรมาจากการเลือกตั้งทั่วประเทศ เพราะจะได้ไม่ผูกขาดระบบราชการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านก็ควรถึงเวลาจะต้องปฏิรูปเช่นเดียวกัน

รองนายก อบต.เข็กน้อย กล่าวว่า ปัจจุบันจะเห็นสภาพท้องถิ่นขัดแย้งกัน เอื้อประโยชน์และมีอิทธิพลทางสาธารณะเกิดขึ้น เพราะระบบไม่ได้ถูกแก้ให้ตรงจุด แก้ให้ทันต่อสถานการณ์ มัวแต่ยึดโยงเรื่องฐานและเสียง ไม่ได้มองเห็นปัญหาของประชาชนอย่างแท้จริง ส่วนการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมก็ควรปฏิรูปให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ต้องมีอิสระบังคับใช้กฎหมาย พิจารณาคดีความ และตัดสินคดีความอย่างตรงไปตรงมา โปร่งใส ตรวจสอบได้ ตัวอย่างเช่น ป.ป.ช.ยังมีวาระซ่อนเร้นอีกเยอะ

ขณะที่นายประหยัด ทรงคำ นายกเทศบาลเมืองแม่โจ้ อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ ร่วมโหวตโพลพร้อมกล่าวว่า มีข้อเสนอและข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลเศรษฐา ดังนี้ 1.กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นแท้จริง ทั้งอำนาจ บทบาทหน้าที่ ภารกิจ บุคลากร และงบประมาณอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะงบประมาณต้องสอดคล้องกับโครงสร้าง และภารกิจที่ได้รับมอบหมาย 2.สนับสนุนเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดนำร่องภูมิภาคละ 1 จังหวัด เพื่อเป็นจังหวัดจัดการตนเอง 3.ตั้งกระทรวงท้องถิ่นเพื่อรองรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กว่า 8,000 แห่ง เพราะมีบุคลากรกว่า 400,000 คน เพื่อบริหารจัดการอย่างคล่องตัว

นายประหยัดกล่าวว่า 4.ส่งเสริมความก้าวหน้าข้าราชการส่วนท้องถิ่นเทียบเท่าข้าราชการพลเรือน สามารถแต่งตั้งโยกย้ายสอบเลื่อนระดับสูงขึ้น อาทิ ท้องถิ่นอำเภอ ท้องถิ่นจังหวัด ปลัดจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด จนถึงผู้ว่าราชการจังหวัด ที่เป็นระดับสูงสุดของจังหวัด และ 5.ให้โอนภารกิจและงบค่านมโรงเรียน อาหารกลางวัน เบี้ยผู้สูงอายุกลับคืนต้นสังกัดเดิม เพราะเป็นงานฝากหน่วยงานอื่น ท้องถิ่นไม่สามารถบริหารจัดการเองได้ เป็นเพียงงานธุรการเท่านั้น และท้องถิ่นถูกมองว่าได้รับงบเพิ่มขึ้นตามนโยบายกระจายอำนาจ แต่ในความเป็นจริงได้รับงบเท่าเดิม ดังนั้น อยากให้รัฐบาลเพิ่มงบให้ท้องถิ่นปีละ 1 เปอร์เซ็นต์ เพื่อเพิ่มศักยภาพดูแลประชาชนอย่างทั่วถึงเท่าเทียมกัน ไม่เลือกปฏิบัติ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการรวบรวมสถิติการโหวตผ่านคิวอาร์โค้ดและลิงก์ในช่องทางออนไลน์ต่างๆ ณ เวลา 15.00 น. วันที่ 30 ต.ค. มีจำนวนโหวตสะสมรวม 26,669 โหวต แบ่งเป็นเลือกเร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจ-ปากท้อง 14,945 โหวต คิดเป็น 56 เปอร์เซ็นต์ เร่งแก้ปัญหาการเมือง-ปฏิรูปโครงสร้างสังคม 11,724 โหวต คิดเป็น 44 เปอร์เซ็นต์

เมื่อแยกตามหัวข้อเร่งแก้ปัญหาการเมือง-ปฏิรูปโครงสร้างสังคม ปรากฏว่าอันดับ 1 เร่งแก้รัฐธรรมนูญ 10,647 โหวต หรือ 21.6 เปอร์เซ็นต์, ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม 10,056 โหวต หรือ 20.4 เปอร์เซ็นต์, ปฏิรูปกองทัพ 9,508 โหวต หรือ 19.3 เปอร์เซ็นต์, กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น 8,642 โหวต หรือ 17.6 เปอร์เซ็นต์, รัฐสวัสดิการ 8,221 โหวต หรือ 16.7 เปอร์เซ็นต์ และปัญหาอื่นๆ 2,132 โหวต หรือ 4.3 เปอร์เซ็นต์

ส่วนหัวข้อเร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจ- ปากท้อง ปรากฏว่าอันดับ 1 ลดค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าน้ำมัน 12,043 โหวต หรือ 25.6 เปอร์เซ็นต์, แก้ปัญหาหนี้สินครัวเรือน-หนี้สาธารณะ 10,058 โหวต หรือ 21.4 เปอร์เซ็นต์, แก้ปัญหาการเกษตร 8,118 โหวต หรือ 17.2 เปอร์เซ็นต์, แจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท 7,600 โหวต หรือ 16.1 เปอร์เซ็นต์, เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำและเงินเดือนปริญญาตรี 7,356 โหวต หรือ 15.6 เปอร์เซ็นต์ และปัญหาอื่นๆ 1,900 โหวต หรือ 4.0 เปอร์เซ็นต์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน