ชูไทยสู่ศก.ดิจิทัล สส.ก้าวไกลโผล่ ให้กกต.ชี้ปมโฉ่

‘เศรษฐา’ถกผู้บริหารไมโครซอฟท์-กูเกิ้ล ก่อนเซ็นเอ็มโอยูตอนไปประชุมเอเปคที่สหรัฐกลางพ.ย. หวังดันไทยสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล ‘ภูมิธรรม’ โชว์เคลียร์ใจ ‘ธรรมนัส’ จบ หลัง รมช.ไชยาโวยโดนข้ามหัว ในกระทรวงเกษตรฯ ด้านผู้กองซัดแค่ รมต.ใหม่ไม่เข้าใจวิธีบริหาร ขู่ยึดคืนกรมใหญ่มาดูเอง นายกฯ ปัดเอาใจทหาร ไม่ยุบ กอ.รมน. ‘ธนกร’ดักคอก้าวไกลชงร่างกฎหมายยุบทิ้ง เพื่อล้างคดีที่ถูก กอ.รมน.ฟ้องหรือไม่ ‘ไชยามพวาน’ สส.ก้าวไกลฝั่งธนฯ แถลง ครั้งแรกโต้คุกคามทางเพศ โยน กกต.ตัดสิน ลั่นถ้าผิดพร้อมลาออก จับตาวันนี้วงประชุม สมช.ชงชื่อ‘บิ๊กรอย’ข้ามห้วยจากรอง ผบ.ตร.นั่งเลขาฯ สมช.

‘เศรษฐา’ถกไมโครซอฟท์-กูเกิ้ล
เมื่อวันที่ 1 พ.ย. เวลา 09.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ได้หารือผู้บริหารไมโครซอฟท์ นำโดยนาย Ahmed Mazhari-President Microsoft Asia

นายเศรษฐา เปิดเผยว่า ได้พูดคุยกับหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง ด้านการลงทุนของบริษัทยักษ์ใหญ่ สำนักไอทีหรือไมโครซอฟท์ เพื่อเตรียมการ ที่จะไปพูดคุยกันต่อในการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค 2023 ระหว่างวันที่ 11-17 พ.ย.ที่ซานฟราน ซิสโก สหรัฐ ทางไมโครซอฟท์เห็นศักยภาพ ในประเทศไทย ทั้งด้านความพร้อมของ Clean energy และสิทธิประโยชน์ในการลงทุน ซึ่งได้มีการพูดคุย ถึงการนำเอไอมาเพิ่มผลผลิตของภาครัฐ การลงทุนเกี่ยวเนื่อง และการเพิ่มทักษะ โดยเฉพาะ AI Skill ของคนไทย ทางไมโครซอฟท์ เชื่อว่าเอไอ จะทำให้นโยบายต่างๆ ของรัฐบาลสามารถมีข้อมูลเชิงลึกที่มากขึ้นได้ และสร้างผลกระทบให้กับประชาชนได้จริงๆ “ขอให้ทุกคนรอติดตามฟังข่าวช่วงกลางเดือนพ.ย.นี้”

นายเศรษฐายังทวีตข้อความผ่าน X ว่า วันเดียวกันนี้ได้พบปะกับทีม Google(กูเกิ้ล) เพื่อหารือการเตรียมความพร้อมสำหรับการประชุมเอเปค และการเตรียมลงนามเอ็มโอยูที่กำลังจะมาถึงนี้ จากการพูดคุย Google มีความตั้งใจที่จะเดินหน้าให้การสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านประเทศไทยสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล และความต้องการใช้เอไอที่เกิดขึ้น ในหลายภาคส่วน จะทำให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจอีกมหาศาล สุดท้ายนี้ ผมเชื่อว่าประเทศไทยเองก็มีความพร้อมที่จะรองรับการลงทุนจาก Google เช่นกัน ขอให้ทุกท่านติดตามความคืบหน้าได้เร็วๆ นี้

ถกไมโครซอฟท์ – นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง หารือผู้บริหารไมโครซอฟท์ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 1 พ.ย. ก่อนพูดคุยรายละเอียดในการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค 2023 ที่สหรัฐอเมริกากลางเดือนนี้

เดินหน้าปราบยา-แก้หนี้โหด
เวลา 09.45 น. นายเศรษฐาได้เรียกพล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะรักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปราม ยาเสพติด (ป.ป.ส.) พล.ต.อ.ชินภัทร สารสิน ที่ปรึกษาของนายกฯ รวมถึงผู้แทนจากสำนักงาน ตำรวจแห่งชาติ(ตร.) เข้าหารือที่ตึกไทยคู่ฟ้า

นายเศรษฐาเปิดเผยถึงการหารือว่า ได้มีการพูดคุยเกี่ยวกับปัญหายาเสพติด เรื่องการกำหนดการครอบครองจำนวนเม็ดยาเสพติด เรื่องดังกล่าวจะมีการพูดคุยกัน ภายในอีกครั้งว่าควรกำหนดจำนวนเท่าไรจึงจะเหมาะสม และการบริหารจัดการต่อไปจะเป็นอย่างไร อีกทั้งตนได้พูดคุยกับพล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รองผบ.ตร. ถึงปัญหาหนี้ครัวเรือนที่มีสูง ในประชาชนในต่างจังหวัด ซึ่งตรงนี้ต้องอาศัย หน่วยงานฝ่ายความมั่นคงเข้ามาช่วยดูแลประชาชนที่ประสบปัญหาหนี้นอกระบบ ขณะที่ผู้ที่ปล่อยเงินกู้นอกระบบอาจจะทำ ไม่ถูกกฎหมาย เพราะคิดอัตราดอกเบี้ยที่แพง จากที่ประชาชนจ่ายเงินต้นไปแล้วหลายรอบ จะต้องมีการพูดคุยกัน ทั้งฝ่ายความมั่นคงและฝ่ายปกครอง รวมถึงนายอำเภอด้วย








Advertisement

นบข.เบรกงบดูแลข้าว 1.2 แสนล้าน
เวลา 10.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบาย และบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ครั้งที่ 1/2566

รายงานข่าว เปิดเผยว่า ที่ประชุมยังไม่อนุมัติวงเงิน มาตรการบริหารจัดการข้าวเปลือก นาปี 2566/67 จำนวน 6.9 หมื่นล้านบาท ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ แม้ว่าที่ประชุมจะเห็นด้วยกับแนวทางการชะลอการขายข้าวของเกษตรกร ในช่วงที่ผลผลิตข้าวนาปี ออกสู่ตลาดจำนวนมากในช่วงปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้าก็ตาม ในส่วนของแนวทางการทำมาตรการทั้ง 4 ข้อได้แก่ สินเชื่อชะลอการ ขายข้าว สินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่ม การชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการ เก็บสต๊อก รวมทั้งมาตรการสนับสนุนค่าบริหาร จัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกร ผู้ปลูกข้าว ที่ประชุมมีมติให้ไปปรับปรุงมาตรการ และนำมาเสนอให้ที่ประชุม นบข.ใหม่อีกครั้งในเดือนถัดไป

สำหรับมาตรการสนับสนุนค่าบริหารจัดการ และพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว โดยช่วยไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ หรือครัวเรือนละ 20,000 บาท วงเงินประมาณ 5.63 หมื่นล้านบาท ที่ประชุมยังไม่ได้อนุมัติ โดยให้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูเรื่องการลดต้นทุนการปลูกข้าวของชาวนา จาก 3 ฝ่าย คือ กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงพาณิชย์ และตัวแทนสมาคมชาวนาไทย เพื่อดูว่าจะสามารถลดต้นทุนการผลิตข้าวได้เท่าไหร่ หากมีความจำเป็นต้องใช้มาตรการนี้ให้เสนอกลับมา ที่ประชุม นบข.ในครั้งถัดไป ซึ่งรวมงบ 2 มาตรา เป็นเงิน 1.253 แสนล้านบาท

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบแต่งตั้ง คณะอนุกรรมการ 3 คณะ เพื่อสนับสนุน การปฏิบัติงานของนบข. ประกอบด้วย 1.คณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติด้านการผลิต มีรมว.เกษตรฯ เป็นประธาน 2.คณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติด้านการตลาด มีรมว.พาณิชย์ เป็นประธาน 3.คณะอนุกรรมการติดตามกำกับดูแลการบริหารจัดการข้าวระดับจังหวัด มีผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธาน

‘เสี่ยอ้วน’กาวใจ‘ธรรมนัส-ไชยา’
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนการประชุม นบข.นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ได้เข้าหารือกับนายกฯ

นายภูมิธรรม เผยว่า เข้าไปรายงานนายกฯ ก่อนเข้าประชุมนโยบายคณะกรรมการนโยบาย และบริหารข้าวแห่งชาติ ไม่มีสถานการณ์พิเศษอะไร ผู้สื่อข่าวถามถึงปัญหาภายในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระหว่าง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรฯ กับ นายไชยา พรหมา รมช.เกษตรฯ เรื่องการทำงานและการแต่งตั้งบุคลากรในกระทรวงที่นายไชยาไม่พอใจที่ถูกข้ามหัว นายภูมิธรรมกล่าวว่า “คุยกับธรรมนัสแล้ว”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังแถลงผลประชุม นบข.ร่วมกัน นายภูมิธรรมได้โอบหลัง ร.อ.ธรรมนัส ให้สัมภาษณ์ด้วยสีหน้ายิ้มแย้มว่าเรื่องในกระทรวงได้คุยเรียบร้อยไม่มีปัญหา เป็นเรื่องธรรมดาของการทำงาน ที่อาจมีเรื่องนี้ บ้างในแต่ละครั้งแต่ละตอน พร้อมหันไปถาม ร.อ.ธรรมนัสว่า ถูกหรือไม่ โดยร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า “ครับ” นายภูมิธรรมจึงกล่าวกับสื่อว่า ยืนยันเรื่องนี้จบนะ และต่างฝ่ายต่างยกมือไหว้ ก่อนแยกย้ายกัน

‘ผู้กอง’ซัดแค่รมช.บางคนมึน
ด้านร.อ.ธรรมนัสให้สัมภาษณ์ว่า เมื่อวันก่อน ประชุมครม. นายไชยาได้มาแจ้งให้ตนทราบว่า ได้ให้สัมภาษณ์ข่าวเรื่องในกระทรวง แต่ไม่ได้เจตนาพาดพิงถึงตน ตนก็ไม่ได้คิดว่าจะมีเรื่องมีประเด็น แต่เมื่อมีประเด็นขึ้นมา ตนได้พูดคุย กับผู้บริหารพรรคเพื่อไทย (พท.) แล้ว ท่านได้ เข้าใจแล้ว จึงได้ไปพูดคุยกับนายกฯ และได้หารือกับนายภูมิธรรม ประเด็นจริงๆ แล้วไม่มีอะไรเลย เป็นเพียงฤดูกาลปรับย้ายข้าราชการระดับสูงและระดับต้น คงจะมีข้าราชการ มาเรียนนายไชยา เมื่อสื่อมวลชนไปถามประเด็นนี้ นายไชยาเลยตอบ เมื่อเป็นข่าวไปแล้ว นายไชยาได้โทร.มาในช่วงค่ำอีกรอบหนึ่ง ขอโทษที่เป็นประเด็น

อยากเรียนสื่อมวลชนว่าเรื่องนี้ไม่เป็นประเด็นอะไรในกระทรวงเกษตรฯ ที่สำคัญเวลาจะถามเรื่องการมอบหมาย ให้ดูแลเรื่องงบประมาณและบุคคล ไม่มีกระทรวงไหนทำ เพราะเวลามีปัญหา คนรับผิดชอบคือรัฐมนตรีว่าการ ซึ่งเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ สมัยตนเป็นรัฐมนตรีช่วยเกษตรฯ ก็ปฏิบัติแบบนี้ เช่นเดียวกัน แต่เราสามารถทำงานได้ภายใต้กรอบงานที่ได้รับมอบหมาย ดังนั้นเป็นปัญหาที่รัฐมนตรีใหม่ๆ หลายคนยังไม่เข้าใจ เรื่องงบประมาณและการบริหารบุคคล

ขู่ยึดคืนกรมใหญ่ดูเอง
ผู้สื่อข่าวถามว่า ถือว่าปัญหานี้จบแล้ว ใช่หรือไม่ ร.อ.ธรรมนัสกล่าวว่า เพราะไม่มีประเด็นจึงไม่ใช่เรื่องของจบหรือไม่จบ ต่อข้อถามว่า หากนายไชยายังออกมาพูดอีก จะต้องทำอย่างไร ร.อ.ธรรมนัสกล่าวว่า “ผมได้คุยกับผู้ใหญ่ถึงระดับนายกฯ แล้ว ถ้ายังไม่เข้าใจอีก คงมีมาตรการในการเปลี่ยนแปลง ผู้ดูแลกรมต่างๆ” ผู้สื่อข่าวถามว่าที่บอกว่าเปลี่ยนแปลงหมายถึงอย่างไร ร.อ.ธรรมนัสกล่าวว่า จะดูว่าอันไหนที่เป็นกรมใหญ่จะเอามาดูเอง เมื่อถามว่า นายกฯ ว่า อย่างไรบ้าง ร.อ.ธรรมนัสกล่าวว่า ท่านบอกว่าไม่มีประเด็น อะไร

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับกระทรวงเกษตรฯ มีรมช. 2 คือ นายไชยา จากพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นรัฐมนตรีครั้งนี้ครั้งแรก และนายอนุชา นาคาศัย จากพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) เคยเป็นรมต.ประจำสำนักนายกฯ สมัยรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

รัฐเปิดขรก.ยื่นรับเงิน 2 งวด
นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงความคืบหน้าการจ่ายเงินเดือนข้าราชการ 2 รอบ ตามนโยบาย นายเศรษฐา เพื่อบรรเทาทุกข์ข้าราชการชั้นผู้น้อย และเพิ่มสภาพคล่องทางการเงิน พัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ให้แก่ข้าราชการว่า กรมบัญชีกลาง จะปรับแก้กฎหมาย และปรับระบบจ่ายเงินเดือนค่าจ้าง e-Payroll ให้สอดคล้องกับเรื่อง ดังกล่าว สรุปเงื่อนไขการจ่ายเงินเดือนข้าราชการ ดังนี้

แบบสมัครใจสามารถเลือกได้ว่าจะรับ 1 รอบ ต่อเดือน หรือ 2 รอบต่อเดือน ครอบคลุมส่วนราชการ 230 หน่วยงานที่อยู่ในระบบ e-Payroll ของกรมบัญชีกลาง หน่วยงานอื่นที่ไม่อยู่ในระบบ e-Payroll ของกรมบัญชีกลาง เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) จะไม่เข้าเงื่อนไข

โดยข้าราชการที่สนใจสามารถยื่นแบบเลือกรับเงินเดือน 2 รอบ ได้ตั้งแต่วันที่ 1-15 ธ.ค. 2566 หากไม่ยื่นแบบจะรับเงินเดือน 1 รอบต่อเดือนเหมือนเดิม หากประสงค์จะรับเงินเดือน 2 รอบ ต้องกรอกแบบฟอร์ม ยื่นแสดงความประสงค์ และสามารถเปลี่ยนใจ ได้ว่าจะรับรอบเดียวหรือ 2 รอบ ปีละ 1 ครั้งเท่านั้น ส่วนข้าราชการบรรจุใหม่สามารถเลือก ได้ว่าจะรับเงินเดือน 1 หรือ 2 รอบ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในเวลา 13.00 น. ที่ปรึกษานายกฯ รวมทั้งที่ปรึกษาของนายกฯ นำโดย นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง จะร่วมประชุม หารือถึงการทำงานเพื่อนำเสนอให้นายกฯ ได้พิจารณา ซึ่งมีเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจ เรื่องการท่องเที่ยว รวมถึงเรื่องอีสปอร์ต เป็นต้น

เริ่มจ่ายม.ค.67-ลูกจ้างประจำมี.ค.
สำหรับระบบการจ่ายเงินเดือน 2 รอบ รอบแรกจ่ายวันที่ 16 ของทุกเดือน ถ้าวันที่ 16 ตรงกับวันหยุดจะเลื่อนมาเป็นวันทำการ รอบ 2 วันทำการก่อน 3 วันสุดท้ายของเดือน

กลุ่มข้าราชการที่ขอรับเงินเดือน 2 รอบ จะเริ่มตั้งแต่ ม.ค.2567 ส่วนกลุ่มลูกจ้างประจำรับเงินเดือน 2 รอบ ตั้งแต่ มี.ค.2567 ส่วนผู้รับบำนาญ ยังไม่ร่วมในโครงการนี้ ยังจ่ายเงินเดือนรอบเดียวเหมือนเดิม

ในส่วนการหักเงินเดือนสมทบกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพสำหรับลูกจ้างประจำ จะหักจ่าย 2 รอบ หรือครึ่งหนึ่งของเงินที่หักจากการจ่ายเงินเดือนรอบเดียว โดยกรมบัญชีกลางจะคำนวณให้หมด ส่วนหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อ การศึกษา (กยศ.) หนี้ธนาคาร หนี้บุคคลที่ 3 หักจ่ายรอบเดียวเดือนละครั้ง

“การจ่ายเงินเดือนข้าราชการเป็นเดือนละ 2 รอบ เพื่อเป็นทางเลือกให้ข้าราชการที่มีปัญหาภาระด้านการเงิน ให้มีสภาพคล่อง ทางการเงินมากขึ้น ซึ่งเป็นแบบสมัครใจ ไม่ใช่ภาคบังคับ ข้าราชการสามารถเปลี่ยนความต้องการระบบการจ่ายเงินได้ปีละ 1 ครั้ง” นายคารมกล่าว

เร่งจัดที่ทำกิน-ชงโฉนดดิจิทัล
นายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง กล่าวถึงการประชุม คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ครั้งที่ 3/2566 เมื่อวันที่ 31 ต.ค.ที่ผ่านมา ว่า คณะกรรมการโดยมีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯและรมว.พาณิชย์ เป็นประธาน ได้ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการที่ดินของประเทศ เพื่อให้นโยบาย ในการดำเนินงานโดยยึดหลักว่า “ประชาชน ต้องมีที่ดินและที่ทำกินอย่างพอเพียง” ซึ่งเป็นไปตามนโยบายการจัดสรรที่ดินทำกิน 50 ล้านไร่ ตามคำแถลงของนายกฯที่ได้กล่าวต่อรัฐสภา เมื่อวันจันทร์ที่ 11 ก.ย.66 ซึ่งจะครอบคลุมทั้ งพื้นที่ในเขต ส.ป.ก.และพื้นที่ป่าไม้ ที่เป็นภารกิจที่ต้อง บูรณาการหลายกระทรวง ได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงมหาดไทย เป็นต้น โดยให้ศึกษาผลกระทบให้รอบด้าน ตลอดจนแนวทาง ในการแก้ไขข้อกฎหมายต่างๆ ที่เป็นข้อจำกัดอยู่ เพื่อให้ สามารถจัดสรรที่ดินทำกินให้กับพี่น้องประชาชนได้ตามที่ให้คำมั่นสัญญาไว้

การเร่งรัดให้ประชาชนมีสิทธิ์มีที่ดินทำกินมิใช่เพียงการให้อาชีพ ให้โอกาสในการสร้างรายได้ สร้างความมั่นคงในชีวิต ให้กับพี่น้องประชาชนเท่านั้น แต่รัฐบาลยังมุ่งหวังให้สามารถ ใช้เอกสารสิทธิหรือหนังสืออนุญาตที่รัฐ ออกให้เหล่านี้ เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน ในการเข้าถึงแหล่งทุนให้ได้จริง เพื่อต่อยอดเป็นทุนในการประกอบอาชีพได้ด้วย

“ที่ประชุมยังมีข้อสั่งการให้สำนักงาน คณะกรรมการที่ดินแห่งชาติ ศึกษาแนวทาง ในการทำ “โฉนดดิจิทัล” เชื่อมต่อกับระบบแผนที่ One-Map เพื่อให้ใช้ฐานข้อมูลที่ดินออนไลน์กลาง แทนการแนบแผนที่แนบท้ายในรูปแบบกระดาษของหน่วยงานต่างๆ โดยประสานการใช้ประโยชน์จากข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมธีออส 2 (THEOS-2) ที่จะทำให้ การทำงานของภาครัฐมีความแม่นยำ รวดเร็ว ลดต้นทุน ค่าใช้จ่าย และภาคประชาชนสามารถ เข้าถึง ข้อมูลได้อย่างสะดวกมากขึ้น ตามหลักคิดของนโยบายรัฐบาลดิจิทัล” นายชนินทร์

‘นิด’ปัดเอาใจทหาร
วันเดียวกัน นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ได้ทวีต X ตอบผู้แสดงความคิดเห็นรายหนึ่งที่วิจารณ์ว่า “ขอไม่เห็นด้วย กับที่ประกาศเอาใจทหาร ไม่มีแนวคิด ยุบหน่วยงาน มิหนำซ้ำยังไปเพิ่มบทบาท ที่ซ้ำซ้อนกับหน่วยงานราชการอื่นๆ”

โดยนายเศรษฐากล่าวว่า “ไม่ได้เอาใจทหารครับ เอาผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชน เป็นที่ตั้ง ผมก็พูดไปแล้วว่าการทำงานของหน่วยงานนี้จะต้องเน้นเรื่องการพัฒนา ไม่ใช่แค่ป้องกันอย่างเดียวตามที่ได้เสนอข่าวไป”

‘ธนกร’ค้านยุบกอ.รมน.
นายธนกร วังบุญคงชนะ อดีตรมต.ประจำสำนักนายกฯ สส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรค รวมไทยสร้างชาติ ให้สัมภาษณ์กรณีพรร ก้าวไกล (ก.ก.) เชิญชวนประชาชนแสดงความเห็นต่อร่างพ.ร.บ.ยกเลิกพ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 หรือร่างกฎหมาย ยุบ กอ.รมน.ว่า ตนขอคัดค้าน ไม่เห็นด้วย เนื่องจากกอ.รมน. เป็นหน่วยงาน ที่มีบทบาทสำคัญในการปกป้อง รักษาความมั่นคงภายในประเทศ จากภัยคุกคามต่างๆ เช่น การก่อความไม่สงบ อาชญากรรมข้ามชาติ ภัยพิบัติธรรมชาติ เป็นต้น หากยุบ กอ.รมน.ไป อาจทำให้ประเทศไทยสูญเสียความสามารถในการรับมือกับภัยคุกคาม เหล่านี้ได้

การทำงานของ กอ.รมน.ที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2551 ได้บูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงาน ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งตอบสนองนโยบายรัฐบาล กระทรวงกลาโหม และแก้ ปัญหา ให้ประชาชนในสถานการณ์ภัยพิบัติต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญกอ.รมน. คือหน่วยงานประสานการทำงานในลักษณะองค์กรผสม 3 ฝ่าย คือ พลเรือน-ตำรวจ-ทหาร มี 6 ศูนย์ประสานการปฏิบัติ มีศูนย์ 1 รับผิดชอบด้านยาเสพติด, ศูนย์ 2 แรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง, ศูนย์ 3 การก่อการร้าย และอาชญากรรมข้ามชาติ, ศูนย์ 4 ด้าน ความมั่นคงพิเศษ อาทิ ชาวม้งลาว, การค้ามนุษย์, การฟอกเงิน, บุกรุกป่าไม้, ภัยพิบัติระดับชาติ ฯลฯ, ศูนย์ 5 ด้านความมั่นคงเฉพาะพื้นที่ คือจังหวัดชายแดนภาคใต้และศูนย์ 6 โครงการ อันเนื่องมาจากพระราชดำริและการส่งเสริมสถาบัน

ฟาดก.ก.หวังลบล้างคดีความ
หากยุบกอ.รมน. ไปอาจทำให้หน่วยงาน ต่างๆ ทำงานแยกส่วนกัน ประสิทธิภาพ การบูรณาการ การประสานงานด้านต่างๆ ลดลง ตนเห็นด้วยกับนายเศรษฐา และนายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม ที่ไม่มีแนวคิดจะยุบ กอ.รมน. แต่จะปรับแนวทางการทำงานให้มีประสิทธิภาพให้มีการทำงาน ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อช่วยพี่น้องประชาชนได้มากขึ้น

ผู้สื่อข่าวถามว่า การล่ารายชื่อของพรรคก้าวไกลจะมีผลต่อการยื่นร่างกฎหมายนี้ ต่อสภาหรือไม่ นายธนกรกล่าวว่า การเสนอ กฎหมายเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ตามรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อยื่นวาระเข้าสภาแล้ว ถือเป็นสิทธิ์ของสมาชิกสภาที่จะพิจารณาถึงประโยชน์สูงสุดต่อประเทศและประชาชน เชื่อว่าทุกคนจะยึดหลักประโยชน์ส่วนรวม มากกว่าส่วนตน มากกว่าพวกพ้อง หรือพรรคใดพรรคหนึ่ง การตัดสินใจว่าจะยุบกอ.รมน. หรือไม่นั้น ควรพิจารณาถึงข้อดีและข้อเสียอย่างรอบคอบ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติ และการทำงานเพื่อประชาชนเป็นสำคัญ

“ผู้ที่สนับสนุนให้ยุบกอ.รมน. อาจมองว่า กอ.รมน. มีอำนาจมากเกินไปอาจนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชน และถูกมองว่าเป็นหน่วยงานที่ซ้ำซ้อนกับหน่วยงานอื่นที่มีอยู่ ในปัจจุบันนั้น ผมขอตั้งข้อสังเกตว่า การให้เหตุผลเหล่านี้ อาจมีเรื่องอื่นแฝงอยู่หรือไม่ เนื่องจากที่ผ่านมาผู้ที่เสนอร่างพ.ร.บ.ยุบ กอ.รมน. รวมถึงพรรคดังกล่าวนั้น ถูกกอ.รมน.แจ้งความ เอาผิดในคดีความมั่นคง มาวันนี้จึงเสนอกฎหมายเพื่อให้ยุบหน่วยงาน ที่เป็นคู่กรณี ของตนเองหรือไม่ จึงขอฝากประชาชนติดตาม ข่าวสารอย่างมีข้อมูลที่รอบด้าน เพื่อจะได้ทราบถึงที่มาที่ไป และเหตุผลของการขับเคลื่อน ล่ารายชื่อในการยื่นกฎหมายดังกล่าวในครั้งนี้” นายธนกรกล่าว

ก้าวไกลจี้นายกฯ เซ็นเข้าสภา
ที่รัฐสภา นายรอมฎอน ปันจอร์ สส.บัญชีรายชื่อ และนายเชตวัน เตือประโคน สส.ปทุมธานี พรรคก้าวไกล ร่วมแถลงโดยนายรอมฎอน กล่าวว่า ในนามพรรคก้าวไกล ตนเป็นตัวแทนยื่นร่างกฎหมายยุบกอ.รมน. เรียกว่าเป็นกฎหมายชุดแรกของพรรคก้าวไกลที่ยื่น ต่อสภาเมื่อวันที่ 18 ก.ค. โดยร่างพ.ร.บ. การยกเลิก กอ.รมน. เป็น 1 ใน 5 ร่างกฎหมายเปลี่ยนประเทศ หัวใจสำคัญคือการพยายามเสนอให้มีการปฏิรูปกองทัพและระบบ ความมั่นคงในประเทศ เราต้องการสร้าง หลักการประชาธิปไตยที่รัฐบาลพลเรือน เป็นใหญ่และพยายามทำให้กองทัพอยู่ห่างจากการเมืองมากที่สุด

กอ.รมน. เป็นสมบัติตกทอดจากสงครามเย็น มองประชาชนเป็นภัยคุกคาม พรรคก้าวไกลได้ติดตามตรวจสอบการทำงานของหน่วยงานความมั่นคงมาโดยตลอด ซึ่ง กอ.รมน.เป็นหน่วยงานที่ถูกจับตาอย่างหนัก ทั้งเรื่องงาน ข่าวสาร พบว่าการพยายามด้วยค่ามลทิน ส่งผลให้คนไม่เชื่อมั่นต่ออำนาจรัฐ ส่งผลไปถึง การเมืองที่พยายามโน้มน้าว จัดสรรผลประโยชน์ มีการสร้างจุดมุ่งหมายต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งมุมมองที่เกี่ยวข้องกับด้านความมั่นคงจะถูกผูกขาดโดย กอ.รมน. และพยายามจัดวางให้ผู้คิดต่าง เป็นศัตรูคู่อาฆาต

“มีคนกล่าวหาโจมตีผมเป็นผู้แบ่งแยก ดินแดนด้วยซ้ำ ถ้าเรื่องนี้เราปล่อยให้หน่วยงาน ที่มีกรอบคิดแบบนี้ทำงานอยู่ เราจะตัดโอกาสของสังคมไทยในการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้ง เราอาจจะต้องมองความขัดแย้งเป็นโอกาสที่เราจะสามารถ ใช้ปัญญาในการถกเถียงกัน ปัจจุบันนี้ตัวร่างกฎหมายฉบับนี้ถูกวินิจฉัยตีความโดยประธานรัฐสภาว่า เป็นร่างว่าด้วยเกี่ยวกับการเงิน ตามมาตรา 133 ของรัฐธรรมนูญ ต้องให้นายกฯ ให้คำรับรอง หากนายกฯ ไม่เปิดโอกาสให้กลไกรัฐสภา ที่ได้รับการรับรองจากรัฐธรรมนูญได้มีการ ถกเถียง อาจทำให้ภาพลักษณ์รัฐบาลพลเรือนที่มีอำนาจเหนือกว่ากองทัพดูมัวหมองไป” นายรอมฎอน กล่าว

นายเชตวันกล่าวว่า จากการที่รับฟังคำสัมภาษณ์ของนายกฯ และนายสุทิน มองว่า จะเป็นการขยายบทบาทของกองทัพ ในการยุ่มย่ามกับงานสาธารณะ ทั้งที่นายสุทิน เคยออกมายอมรับว่ากองทัพมีการใช้ไอโอ ดังนั้น หากมองว่าเพื่อนร่วมชาติเป็นข้าศึก เป็นคอมมิวนิสต์ แต่รอบนี้ไม่มีคอมมิวนิสต์ แล้ว เรากลับมีข้อกล่าวหาเรื่องชังชาติหรือล้มสถาบัน

โค้งขอโทษ – นายไชยามพวาน มั่นเพียรจิตต์ สส.กรุงเทพฯ เขตจอมทอง พรรคก้าวไกล แถลงกรณีถูกกล่าวหาคุกคามทางเพศ ยืนยันไม่มีพฤติกรรมดังกล่าว ยินดีรับการตรวจสอบและการลงโทษ พร้อมโค้งขอโทษที่เงียบหายไปและทำให้ทุกคนลำบากใจ ที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 1 พ.ย.

‘ปูอัด’โผล่-โยนกกต.ชี้ปมหื่น
เวลา 17.00 น. ที่รัฐสภา คณะกรรมการบริหาร (กก.บห.) พรรคก้าวไกล นัดประชุมกรรมการบริหารร่วมกับ สส.ของพรรคก้าวไกล เพื่อพิจารณาความรับผิดของ 2 สส.ก้าวไกล ที่ถูกร้องคุกคามทางเพศ คือ นายไชยามพวาน มั่นเพียรจิตต์ สส.กทม. ฝั่งธนบุรี และนายวุฒิพงศ์ ทองเหลา สส.ปราจีนบุรี ซึ่งจนถึงเวลา 22.00 น. การประชุมยังไม่แล้วเสร็จ

ก่อนการประชุมนายไชยามพวาน ให้สัมภาษณ์ พร้อมโค้งขอโทษว่า ต้องขอโทษประชาชน ที่ไม่ได้ออกมาชี้แจงด้วยเหตุผลว่า อาจกระทบทีมงานที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมา รวมถึงส่งผลต่อพรรค และหลักฐานหลายอย่างมาจากช่องแช็ตส่วนตัว ตนทราบว่าเมื่อเราเงียบจะทำให้หลายๆ ฝ่ายลำบาก ซึ่งกระบวนการที่กำลัง จะเข้าต่อไปคือคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เนื่องจากมีผู้ยื่นร้องให้ตรวจสอบคุณสมบัติ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หากพรรคตัดสินเบาหรือหนักก็จะเป็นข้อครหา หากให้ กกต.เป็นคนกลางมาตัดสิน ตัวผู้ร้องจะได้มีความมั่นใจมากขึ้น ยืนยันว่าตนไม่มีพฤติกรรมคุกคามทางเพศทั้ง 3 ข้อร้องเรียน

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะทำอย่างไรต่อหากพรรค ตัดสินว่าเข้าข่ายผิดวินัยร้ายแรง นายไชยามพวาน กล่าวว่า วันนี้จะมาขอหลักฐานที่เป็นเอกสารและนำมาสื่อสารกับประชาชน และพร้อม จะออกทุกรายการและทุกช่องทาง ขอยืนยันว่า จะไม่ฟ้องผู้ร้องแน่นอน ต่อข้อถามว่า หากพรรค มีมติขับออกจากพรรคก็น้อมรับหรือไม่ นายไชยามพวานกล่าวว่า ยืนยันว่าวันนี้ตั้งใจมาชี้แจง และลงไปหาสื่อมวลชนก็หาไม่เจอ หากเข้าสู่กระบวนการ กกต.แล้วบอกว่าผิด ตนก็พร้อมลาออกจากพรรคก้าวไกล

ต่อข้อถามว่า การที่โยนให้ กกต.ตัดสินแปลว่าพรรคไม่เป็นกลางใช่หรือไม่ นายไชยามพวาน กล่าวว่า ตนไม่เคยพูดอะไรแบบนั้น แค่บอกว่าการเข้าสู่กระบวนการของ กกต.ทุกฝ่ายจะได้รับความเป็นธรรมมากที่สุด ผู้สื่อข่าวถามว่าเป็นการส่งสัญญาณให้พรรครอคำตัดสินของ กกต.หรือไม่ นายไชยามพวาน กล่าวว่า ไม่ใช่ แต่กระบวนการดังกล่าวคือการทำให้ทุกฝ่ายได้รับความเป็นธรรม เมื่อถามว่ามองว่าเป็นการดิสเครดิตบุคคลและพรรค หรือไม่ นายไชยามพวานกล่าวว่า อย่างที่เห็นว่ามีกระบวนการดิสเครดิตทั้งตนและพรรค ตนไม่อยากพูดอะไรเพราะมีหลักฐานอยู่ และอยากพิสูจน์ข้อเท็จจริงกับ กกต.ก่อนนำไปสู่ การพิสูจน์ว่าการพยายามดิสเครดิตเป็นเรื่องจริง

จับตาชง‘บิ๊กรอย’นั่งเลขาฯสมช.
เมื่อวันที่ 1 พ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในวันที่ 2 พ.ย. เวลา 09.00 น.ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง เป็นประธาน มีวาระเพื่อทราบ 2 วาระ เรื่องแรกเป็นภารกิจสมช. และการติดตามสถานการณ์ในอิสราเอล และวาระพิจารณาแต่งตั้งเลขาธิการสมช.คนใหม่ แทน พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม ที่เกษียนอายุราชการ 30 ก.ย.ที่ผ่านมา

มีรายงานว่า รายชื่อที่จะเสนอพิจารณา ประกอบด้วย พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รองผู้บัญชาการ ตำรวจแห่งชาติ (รองผบ.ตร.) เป็นเลขาธิการสมช. ส่วนรองเลขาธิการสมช. 3 คน คือ นายฉัตรชัย บางชวด นายรัชกรณ์ นภาพรพิพัฒน์ และนายวรนัฐ คงเมือง โดยมีการจับตา ไปที่ชื่อของพล.ต.อ.รอย ที่ถูกเสนอข้ามห้วยนั่งตำแหน่งดังกล่าว ซึ่งนับตั้งแต่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ มีการแต่งตั้งเลขาธิการสมช. จากคนนอกมาตลอด

นายเศรษฐาให้สัมภาษณ์ว่า ตำแหน่งเลขาธิการสมช. น่าจะลงตัวแล้ว แต่ขอให้คอยขั้นตอนสักนิดนึง หวังว่าการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 7 พ.ย. จะสามารถเข้าสู่การพิจารณาได้ ไม่มีปัญหาใดๆทั้งนั้น ผู้สื่อข่าวถามว่า เลขาธิการสมช.จะมาจากลูกหม้อในสมช.หรือไม่ นายเศรษฐากล่าวว่า เดี๋ยวขอพูดคุยอีกทีนึง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน