เร่งดัน-เป๋าเงินดิจิทัลอัดฉีดไปถึงประชาชนควบคู่มาตรการอื่นๆ นักวิชาการดังร่วมชี้สะท้อนสภาพชีวิตจริง

นายกฯ ดันสุดตัว แจก 1 หมื่นดิจิทัลวอลเล็ตแก้ปากท้อง ขานรับผลโพลมติชน x เดลินิวส์ ประชาชนสะท้อนถึงรัฐบาลต้องการให้แก้เป็นอันดับแรก รวมถึงผลักดันเรื่องสำคัญอื่นๆ ทั้งแก้หนี้ครัวเรือน ยกระดับ 30 บาทรักษาทุกโรค บริหารจัดการน้ำให้เพียงพอ ด้านนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ชี้ผลโพลยืนยันชัดกับชีวิตจริงของประชาชน

ภายหลังจากเปิดผลโพลมติชน x เดลินิวส์ สะท้อนเสียงประชาชนทุกภูมิภาคทั่วประเทศกว่า 42,848 โหวต ต้องการให้รัฐบาลเศรษฐาแก้ปัญหาเศรษฐกิจ-ปากท้องก่อนเรื่องอื่น คิดเป็นร้อยละ 60.2 แบ่งเป็นผู้ชายมากที่สุดถึงร้อยละ 63.7 โดยคนกทม.ร่วมโหวตมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 29.3 นับเป็นโพลประวัติศาสตร์ที่สะท้อนความต้องการของประชาชนส่งไปถึงรัฐบาลให้เร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจ-ปากท้องมากที่สุด

เมื่อวันที่ 4 พ.ย. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ให้สัมภาษณ์กรณีสื่อ 2 สำนักใหญ่ มติชน x เดลินิวส์ ทำโพลสำรวจประชาชนส่งเสียงสะท้อนไปถึงรัฐบาลเรื่องเศรษฐกิจปากท้องเป็นสิ่งสำคัญ ดิจิทัลวอลเล็ตก็เป็นเรื่องสำคัญในการแก้ปัญหาปากท้อง นอกจากนี้ ยังมีเรื่องหนี้ครัวเรือนซึ่งตนได้ประชุมไปแล้วเรื่องหนี้ครัวเรือน โดยเรียกนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมาหารือ และตนเป็นรมว.คลังด้วย เห็นว่าเรื่องนี้สำคัญ รวมถึง 30 บาทรักษาทุกโรค มีหลายเรื่องสำคัญ ทุกเรื่องเป็นเดิมพันหมด แม้แต่เรื่องการบริหารจัดการน้ำก็เป็นเรื่องสำคัญ เพราะเกษตรกร 30-40 ล้านคนรอเรื่องนี้อยู่ ภาคอุตสาหกรรมและเรื่องอีอีซีก็เป็นเดิมพัน ไม่มีเรื่องอะไรที่ตนจะด้อยค่า ซึ่งต้องทำเรื่องเหล่านี้อย่างจริงจัง

ผู้สื่อข่าวถามว่านายกฯ มาจากนักธุรกิจ ทำให้ประชาชนคาดหวังสูงในเรื่องเศรษฐกิจปากท้องจะดีขึ้น นายกฯ มีความตั้งใจแบบนั้นหรือไม่ว่าภายในกี่เดือนประชาชนจะยิ้มอย่างมีความสุข นายเศรษฐากล่าวว่าขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย แต่ความตั้งใจของตนอยากให้ยิ้มทุกวัน อยากให้ยิ้มเร็วๆ ตนกระตือรือร้น มีความอยากจะทำ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะทำไม่ได้ นิสัยของตนไม่ใช่คนแบบนั้น อยากทำให้ได้ ทุกคนรู้ดีมันไม่ได้อยู่ที่ตนคนเดียว ซึ่งมีปัญหาต่างๆ เข้ามาและมีปัจจัยภายนอกรุมเร้าเยอะ

ต่อมาเวลา 16.20 น. ที่นิคมอุตสาหกรรม ดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 2 (WHA ESIE 2) อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี นายเศรษฐาให้สัมภาษณ์อีกครั้งถึงโพล 2 สื่อใหญ่สำรวจประชาชน อยากให้รัฐบาลแก้ปัญหาเรื่องปากท้อง โดยเฉพาะการลดค่าน้ำ ค่าไฟเป็นลำดับหนึ่ง ขณะที่ปัญหาการเมือง อยากให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า ผลสำรวจแบ่งออกเป็น 2 เรื่อง คือ เศรษฐกิจและเรื่องการเมือง โดยข้อเสนอเรื่องการลดค่าน้ำ ค่าไฟรวมถึงค่าน้ำมัน รัฐบาลได้ดำเนินการจัดการแล้ว เราทำอยู่ และจะทำอีก แต่เรื่องที่ใหญ่กว่านั้น คือ ปัญหาหนี้สิน โดยตนได้ประชุมเรื่องนี้เบื้องต้นไปแล้วกับฝ่ายความมั่นคง กระทรวงการคลัง และฝ่ายปกครอง โดยจะมีมาตรการเรื่องนี้ออกมาในเร็วๆ นี้ ขณะที่โครงการเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท ก็จะเป็นอีกมาตรการหนึ่ง รวมถึงผลักดันให้ นักลงทุนต่างประเทศเข้ามาลงทุนเพื่อสร้างงาน และห่วงโซ่อุปทาน ทำให้ธุรกิจในประเทศไทยเบ่งบานขึ้นได้

นายเศรษฐากล่าวต่อว่า ส่วนข้อเสนออยากให้แก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการจัดทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่าง ในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพ.ศ. 2560 ได้เขียนไทม์ไลน์ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้อย่างชัดเจนแล้ว โดยพัฒนาไปในทิศทางที่ดี

“โพลที่ออกมา ไม่ได้เป็นที่แปลกใจ เราทำงานอย่างเต็มที่” นายกฯ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าการแก้ไขปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ ยังจะต้องทำควบคู่ไปกับเรื่องของปัญหาการเมืองหรือไม่ นายเศรษฐากล่าวว่า บางเรื่องที่คนพูดน้อยไม่ใช่ว่าไม่สำคัญ เช่น เรื่องของสมรสเท่าเทียม รวมถึงสิทธิเสรีภาพในการประกอบอาชีพ สิ่งเหล่านี้ต้องยกระดับขึ้นมา ขอย้ำว่าต้องทำไปพร้อมกันทุกอย่าง

ขณะที่นายสุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในส่วนของผลโพลที่ให้รัฐบาลแก้ปัญหาปากท้องก่อนนั้นสะท้อนให้เห็นว่าประชาชนมองความสำคัญของเศรษฐกิจปากท้องมาก่อน ส่วนที่ว่าจะแยกย่อยให้แก้ในส่วนลดค่าพลังงาน แก้รัฐธรรมนูญ แก้หนี้ครัวเรือน ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ที่ว่ามีสัดส่วนใกล้เคียงนั้นคงไม่สะท้อนอะไรได้มากนัก เพราะปัญหาหลักคือคำตอบใหญ่ของ โพลนั้นคือปัญหาปากท้อง

นายสุรชาติกล่าวต่อว่า แต่คำตอบยิบย่อยนี้อาจทำให้รัฐบาลได้เห็นว่าประชาชนคิดเห็นอย่างไรกับปัญหาเหล่านี้มากกว่า และก็เป็นโอกาสหนึ่งที่รัฐบาลจะได้รู้ผลโพลนี้ ถือว่าได้เห็นทั้งคำตอบใหญ่และคำตอบยิบย่อย

“เชื่อว่าคำตอบในโพลนั้นชัดกับชีวิตจริงของผู้คนในสังคมแล้ว เรื่องจะให้แก้ปัญหาปากท้องก่อนการเมือง เพราะนับตั้งแต่วิกฤตโควิดมาจนถึงสงครามยูเครน และยังมาสู่สงครามอิสราเอลกับฮามาสนั้น ปัญหาเศรษฐกิจได้ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนปัจจุบันล่าสุดที่มีกลุ่มคนขับรถโดยสารไปเรียกร้องถึงปัญหาราคาค่าแก๊สที่เพิ่มขึ้นก็ถือเป็นตัวอย่างของปัญหาปากท้อง อีกทั้งมีปัญหาเสียงเรียกร้องเรื่องค่าครองชีพเพิ่มขึ้น สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยที่มีการตอบโพลนี้ด้วยว่าทำไมปากท้องสำคัญกว่าโครงสร้าง” นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์กล่าว

นายสุรชาติกล่าวด้วยว่า ส่วนรัฐบาลจะเห็นโพลนี้แล้วคิดจะหยิบนำเอาไปจัดอันดับความสำคัญของปัญหาหรือไม่นั้นคงขึ้น อยู่ที่รัฐบาลเท่านั้น เราคงไม่สามารถไปตอบแทนได้

ทางด้านรศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย รองศาสตราจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวถึงผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน ผ่านโพล 2 สื่อใหญ่ ซึ่งพบว่า 67.59% ต้องการให้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจ-ปากท้อง และ 32.41% ต้องการให้เร่งแก้ไขปัญหาการเมือง-ปฏิรูปโครงสร้างสังคม ว่า ผลที่ออกมาจากกลุ่มตัวอย่างที่เยอะ กว้างขวาง สิ่งที่สะท้อนออกมาจะเห็นว่า ปัญหาเศษฐกิจเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ซึ่งแน่นอนว่าเพราะมีความสอดคล้องกับวิถีชีวิตของผู้คน โดยเฉพาะการลดค่าน้ำค่าไฟ แก้ปัญหาหนี้สิน ตามต่อด้วยนโยบายรัฐบาล เงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท สะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจวันนี้ ส่งผลกระทบต่อชีวิตของคนเยอะ ซึ่งก็เป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลที่สอดรับกันพอดี

รศ.ดร.ยุทธพรกล่าวต่อว่า อีกประการหนึ่งที่น่าสนใจ คือกลุ่มตัวอย่างที่ตอบคำถาม และให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างที่น้อยกว่าการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ตรงนี้คงสอดรับกับกลุ่มประชากรที่ส่วนใหญ่จะเป็นเจน X เจน Y อายุประมาณ 40-50 ปี ขณะที่เจน Z อายุประมาณ 20 กว่าๆ คนกลุ่มนี้เป็นสัดส่วนที่น้อยในการสำรวจครั้งนี้ จึงไม่น่าแปลกใจว่า มุมมองเรื่องการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างแบบที่คนรุ่นใหม่มักจะพูดถึง ไม่ได้กลายมาเป็นประเด็นหลัก ขณะเดียวกัน เรื่องของรายได้ของกลุ่มตัวอย่าง ส่วนใหญ่มีรายได้อยู่ที่ประมาณ 10,000-20,000 บาท ซึ่งกลุ่มนี้แน่นอนว่า ได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจ และผลกระทบจากราคาสาธารณูปโภคที่สูง ทั้งค่าน้ำ ค่าไฟ ต่างๆ ซึ่งเป็นเศรษฐกิจในชีวิตประจำวันของเขา ผลการสำรวจที่ออกมาจึงเห็นได้ว่า เน้นไปที่เรื่องเศษฐกิจมากกว่า

เมื่อถามว่าความต้องการของประชาชนที่สะท้อนผ่านโพล กับการทำงานของรัฐบาล นับตั้งแต่ที่เข้ามาบริหารงานมีความสอดรับกัน หรือมีรูปธรรมอะไรบ้าง รศ.ดร.ยุทธพร กล่าวว่า อย่างค่าน้ำ ค่าไฟ ก็มีมติ ครม. ว่าให้ลดค่าสาธารณูปโภคเหล่านี้อยู่ ซึ่งเป็นเรื่องเร่งด่วนที่รัฐบาลก็กำลังทำอยู่ ส่วนตัวคิดว่าตอบโจทย์อยู่พอสมควร ส่วนเรื่องทางการเมือง การแก้รัฐธรรมนูญก็จะเห็นว่า มีการตั้งคณะทำงานแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขับเคลื่อนกันอยู่ ดังนั้นตนเห็นว่า สิ่งที่รัฐบาลทำมาในช่วง 2 เดือน ก็ตอบโจทย์อยู่พอสมควร แต่แน่นอน เราปฏิเสธไม่ได้ว่า ต้องมีการแก้ไขปัญหาในระยะยาวด้วย การแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ สังคม การสร้างโอกาส ปัญหาการกระจายรายได้ การผูกขาด เป็นต้น ส่วนการลดค่าน้ำ ค่าไฟ นั้น เป็นเพียงมาตรการระยะสั้นของการแก้ปัญหาเท่านั้น

“คิดว่า ในแง่การแก้ปัญหาเศรษฐกิจเฉพาะหน้า สามารถตอบสนองได้ในระดับหนึ่ง เช่น ลดค่าน้ำ ค่าไฟ การแก้ราคาสินค้า ควบคุมราคาสินค้าบางประเภท เช่น น้ำตาล รวมถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นจากการท่องเที่ยว กระทั่งดิจิทัลวอลเล็ตที่สะดุดอยู่นั้น ต้องเร่งขับเคลื่อน เพราะเป็นความหวังของคนส่วนหนึ่ง เพราะจากผลสำรวจที่ออกมา แม้ว่าจะไม่ได้อยู่ในอันดับต้นๆ ก็จริง แต่ยังอยู่ในสิ่งที่ประชาชนอยากได้ อยากเห็น ดังนั้นสิ่งที่ยังเป็นปัญหาอุปสรรคอยู่ ทั้งในเชิงกฎหมาย เชิงโครงสร้างการบริหารเหล่านี้ ก็ต้องดำเนินการปลดล็อก เพื่อ ขับเคลื่อนนโยบายครบถ้วนตามที่ได้รับปากประชาชนเอาไว้” รศ.ดร.ยุทธพร กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน