นักวิชาการดังวิเคราะห์ชี้เป็นโจทย์ใหญ่รัฐบาลต้องรีบนำไปแก้ปัญหา

เครือมติชน-เดลินิวส์จัดเสวนาระดมนักวิชาการผ่าผลโพล ‘อยากให้รัฐบาลเศรษฐา แก้ปัญหาอะไร?’ โดยมีเลขานุการเอกสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ขอเข้าร่วมรับฟังด้วย ด้าน ‘ปราปต์-มติชน’ วิเคราะห์จำนวนผลโพล ลดลง มีนัยยะเชื่อมโยงที่มาของรัฐบาล ชี้ผลโพล เป็นโจทย์ใหญ่ของรัฐบาลให้แก้ปัญหาต่อ ด้าน ‘ปารเมศ-เดลินิวส์’ อยากให้คนทุกรุ่นสนใจทำโพล เป็นประโยชน์กับประเทศ ขณะที่ ‘ผศ.อัครพงษ์’ ระบุผลโพลสะท้อนสัดส่วนประชากรได้จริง แนะรัฐต้องให้ความสำคัญแก้ปัญหาทั้งสองเรื่อง ด้าน ‘อรรถจักร์’ ชี้ผลโพลสะท้อนคนอยากเห็นการแก้ปัญหาโครงสร้าง-ความเหลื่อมล้ำ ชี้แก้ปากท้องรัฐบาลได้แต้มแค่ช่วงสั้นๆ ระบุคนไม่ว้าว ‘เงินหมื่นดิจิทัล’ เพราะกู้มาแจกประชาชนมองถูกหลอก แนะนายกฯ เป็น ‘รัฐบุรุษ’ ได้ถ้ากล้าแตกหัก ส่วน ‘อนุสรณ์’ แนะผ่าตัดประเทศ แก้ปัญหาโครงสร้าง อย่าให้แค่ยา แก้ปวด ดึง ‘ก้าวไกล’ ร่วมรัฐบาล เอาพรรคอื่นออกจะแก้ปัญหาโครงสร้างได้

มติชน-เดลินิวส์จัดผ่าผลโพล
เมื่อเวลา 13.30 น.วันที่ 13 พ.ย. ที่ห้องประชุมใหญ่ อาคารสำนักงานหนังสือพิมพ์ข่าวสด ถ.เทศบาลนิมิตใต้ ผู้บริหารเครือ มติชนและหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ จัดเสวนาวิเคราะห์โพลมติชนxเดลินิวส์ : รัฐบาลเศรษฐา ควรแก้ปัญหาอะไร? โดยมีนายปราปต์ บุนปาน รองกรรมการผู้จัดการสายเทคโนโลยีและดิจิทัลมีเดีย บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) พร้อมนายปารเมศ เหตระกูล กรรมการบริหารหนังสือพิมพ์เดลินิวส์และเดลินิวส์ออนไลน์ และผศ.อัครพงษ์ ค่ำคูณ อดีตคณบดี วิทยาลัยนานาชาติปรีดีพนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมวิเคราะห์ผลโพล ดำเนินรายการโดย นายเอกภัทร์ เชิดธรรมธร พิธีกรมติชนทีวี

โดยมี น.ส.ปานบัว บุนปาน กรรมการ ผู้จัดการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) นายสุริวงค์ เอื้อปฏิภาน รองกรรมการผู้จัดการมติชนฝ่ายสื่อออนไลน์ และบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ข่าวสด นายนฤตย์ เสกธีระ บรรณาธิการหนังสือพิมพ์มติชน และนายวุฒิเทพ เตชะภัทร บรรณาธิการบริหารหนังสือพิมพ์ ข่าวสดร่วมรับฟัง นอกจากนี้ นายโอโมริ สึคาสะ เลขานุการเอก สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น ประจำประเทศไทย ก็เข้าร่วมรับฟังด้วยเช่นกัน

ผ่าผลโพล – น.ส.ปานบัว บุนปาน กรรมการผู้จัดการมติชน นายปราปต์ บุนปาน รองกรรมการผู้จัดการสายเทคโนโลยีและดิจิทัลมีเดียมติชน นายปารเมศ เหตระกูล กรรมการบริหารเดลินิวส์ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารสองสื่อใหญ่และนักวิชาการ ร่วมเวทีเสวนาวิเคราะห์ผลโพล มติชนxเดลินิวส์ ที่ห้องประชุมใหญ่ข่าวสด เมื่อวันที่ 13 พ.ย.

ปราปต์ชี้เป็นโจทย์ใหญ่รัฐบาล
นายปราปต์กล่าวว่า ผลโพลมติชน X เดลินิวส์ รัฐบาลเศรษฐาควรแก้ปัญหาอะไร แม้การมีส่วนร่วมไม่เท่ากับผลโพลการเลือกตั้ง ที่มีจำนวนโหวตกว่า 8 หมื่นคน ในครั้งนี้ลดลง เหลือครึ่งหนึ่ง คือ ประมาณ 4 หมื่นกว่าคน ในฐานะคนทำโพลต้องวิเคราะห์ว่าเกิดจากอะไร แต่จำนวนผลโพลถือว่าไม่เหนือความคาดหมาย เพราะในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ข่าวการเมืองที่เคยเป็นที่นิยมมากในช่วงต้นปีจนถึงการเลือกตั้ง แต่ปัจจุบันกลับกลายมีคนติดตามข่าวการเมืองน้อยลง สิ่งที่น่าคิดและเห็นชัดคือ ความขัดแย้งของกระบวนการจัดตั้ง รัฐบาล การได้มาซึ่งรัฐบาลที่ไม่ได้รับความเห็น ด้วยจากคนส่วนใหญ่ในสังคม ทำให้ตัวเลขคนทำโพลครั้งนี้มี 2 นัยยะเชื่อมโยงกับที่มาของรัฐบาล คือ จากความรู้สึกไม่สนับสนุนวิธีการจัดตั้งรัฐบาล จึงอาจไม่เข้าร่วมแสดงความเห็น แต่ไม่ว่าโจทย์เป็นอย่างไร สุดท้ายจะเป็นโจทย์ใหญ่ของรัฐบาล เพราะเป็นรัฐบาล หลังรัฐบาลประยุทธ์ และใช้ต้นทุนไปหมด และอีกนัยยะ คือ กระแสคนอ่านข่าวการเมืองที่ยังไม่ได้รู้สึกมีส่วนร่วมกับรัฐบาลชุดนี้

‘ปารเมศ’ชี้อยากให้ลดต้นทุน
ด้านนายปารเมศกล่าวว่า คนเข้ามาแสดงความเห็นจากโพลครั้งนี้มีหลากหลายหน้าตา ถ้าพูดถึงดาราเป็นผลบวกของประชาชน เพราะประชาชนทั่วไปที่ได้รับเห็นรับชม จากดาราจะเข้ามาร่วมโหวต แต่ถ้าเป็น นักการเมือง จะมีทั้งชอบนักการเมืองรายนั้น หรือไม่ชอบก็ไม่สนใจโพลนี้เลย ทั้งนี้หากดูจากโพลเห็นว่าคนอายุมากกว่า 30 ปีขึ้นไป มีถึง 80% ให้ความสนใจ แต่ขณะที่อายุน้อยลงมาให้ความสนใจน้อย สะท้อนว่ากระแสการเมืองหากไม่ใช่รัฐบาลที่ตัวเองชื่นชอบ ก็ไม่สนใจ ซึ่งส่วนตัวอยากให้คนอีกรุ่นเข้ามามีส่วนร่วมมากกว่านี้จะส่งผลดีต่อประเทศชาติ โดยการทำโพลถ้ายิ่งมีส่วนร่วมมากและยิ่งอายุน้อยจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศ

นายปารเมศกล่าวอีกว่า จากโพลมีทั้ง คนอยากให้แจกปลาแต่ส่วนหนึ่งเขาอยากได้อุปกรณ์ส่งเสริมให้จับปลาง่ายขึ้น ตอนนี้ คนมองเรื่องการตัดค่าใช้จ่าย ชาวนาต้องการรัฐบาลลดต้นทุน เป็นจุดสำคัญ ชาวนาชาวสวน เป็นพลเมืองประชาชนหลักของประเทศไทย อยากให้รัฐบาลช่วยลดต้นทุน ทุกรัฐบาลพูดว่า จะทำแต่ไม่เห็นที่จะทำจริงจัง

อัครพงษ์ระบุให้ช่วยลดรายจ่าย
ด้านนายอัครพงษ์กล่าวว่า โพลมติชน x เดลินิวส์ เป็นการสำรวจความคิดเห็นกว่า 40,000 คนถือว่าเยอะมาก เพราะที่ผ่านมาสำรวจวิจัยต่างๆ 2,000 คน โพลนี้มากกว่ามาตรฐานเยอะ แต่ช่วงโพลเลือกตั้ง 80,000 คน เพราะคนอยากจะส่งเสียง โดยบรรยากาศเลือกตั้งกับหลังเลือกตั้งแตกต่าง และเห็นจากการหาเสียงพรรคการเมือง เน้นไปที่แก้ เชิงโครงสร้าง ปฏิรูปนั้นนี่ส่วนใหญ่ แต่พอหลังเลือกตั้งมาถึงโลกความเป็นจริง คีย์เวิร์ด คือ ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ อย่างไร ทำให้โพลนี้ จะสะท้อนให้เงินในกระเป๋าไม่น้อยลงและเติมมากขึ้น

ขณะที่จำนวนคนโหวต 40,000 คน สะท้อนเรื่องสัดส่วนประชากรจริงได้พอสมควร โดยถ้าดูเรื่องเพศผู้ชายสัดส่วน 60% หญิง 33% และกลุ่ม LGBT 5% ซึ่งส่วนใหญ่ต้องการ ให้เร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจ-ปากท้องมากถึง 60.23% มากกว่าแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง โดยส่วนใหญ่มี 25% ต้องการลดค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าน้ำมัน, มี 21% ต้องการแก้ปัญหาหนี้สินครัวเรือน หนี้สาธารณะ, 17% แก้ปัญหาการเกษตร, มีถึง 16% ต้องการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท, 15% เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำและเงินเดือนปริญญาตรี และ 6% ปัญหาอื่นๆ

กทม.-ภาคกลางต้องการดิจิทัลฯ
นายอัครพงษ์กล่าวต่อว่าทั้งนี้ ความน่าสนใจ คนกรุงเทพ คนภาคกลางคือภาคที่ต้องการ เงินดิจิทัลวอลเล็ตมากกว่าแก้ปัญหาเกษตร แต่ภาคอื่นๆ ต้องการแก้หนี้สิน ลดค่าน้ำค่าไฟ และเพศหญิงให้ความสนใจการเพิ่มค่าแรงมากกว่าดิจิทัลวอลเล็ต ขณะที่กลุ่มอายุที่ 51 ปีต้องการลดค่าน้ำมัน, กลุ่มคนอายุ 31-40 ปีคนวัยกลางคนต้องการเพิ่มค่าแรงมากกว่าดิจิทัลวอลเล็ต ในขณะที่เพิ่งทำงานใหม่ ต้องการเพิ่มค่าแรงมากกว่าแก้ปัญหาหนี้สิน นอกจากการให้ลดค่าน้ำค่าไฟ สุดท้ายเป็นกลุ่ม นักศึกษาที่มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งครั้งแรก ต้องการเงินเดือนค่าตอบแทนมากกว่า และต้องการเงินดิจิทัลมากกว่าแก้ปัญหาหนี้สิน

สำหรับประเภทการศึกษา กลุ่มปริญญาตรี ต้องการเพิ่มรายได้มากกว่าดิจิทัลวอลเล็ต แต่ต่ำกว่าปริญญาตรีต้องการดิจิทัลวอลเล็ต มากกว่าแก้ปัญหาเกษตร ส่วนปริญญาโทต้องการเพิ่มรายได้มากกว่าดิจิทัลวอลเล็ต เช่นเดียวกับปริญญาเอก ต้องการลดปัญหานี้สิน ลดค่าน้ำค่าไฟ ส่วนกลุ่มอาชีพทุกคนเห็นเหมือนกัน ยกเว้นนักเรียนนักศึกษาที่ต้องการเงินเดือนและลดค่าน้ำค่าไฟและดิจิทัลวอลเล็ต ถ้าดูระดับรายได้คนต้องการดิจิทัลวอลเล็ตอยู่ในกลุ่มของเงินเดือนไม่เกิน 10,000 บาท และกลุ่มเด็กจบใหม่ต้องการเพิ่มรายได้ตนเองด้วย

“เรื่องพวกนี้เป็นเรื่องพื้นฐานที่รัฐบาล ต้องทำ อยู่ทางสองแพร่ง ต้องการแก้ปัญหาชีวิตประจำวัน และมีเกือบ 40% อยากแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง เป็นปัญหาระยะยาว ถ้าโครงสร้างดี การลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ จะเห็นชัดเจนอยู่แล้ว รัฐบาลในการบริหารประเทศจึงต้องให้ความสำคัญกับทั้ง 2 เรื่อง” ผศ.อัครพงษ์ กล่าว

‘อรรถจักร์’ชี้ทุกข์เรื่องปากท้อง
จากนั้น มีการเสวนา ในหัวข้อ : รัฐบาลเศรษฐาควรแก้ปัญหาอะไร? โดยมีดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมด้วยรศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ กรรมการวิทยาลัยนานาชาติปรีดีพนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และนายศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการ- คอลัมนิสต์ มติชนสุดสัปดาห์ ร่วมเสวนา

นายอรรถจักร์กล่าวว่า โพลนี้มีความสำคัญแม้จำนวนคนที่ทำโพลจะลดลงครึ่งหนึ่ง จากการทำโพลเดลินิวส์xมติชนครั้งแรก คือจาก 8 หมื่นคนเหลือ 4 หมื่นคน แต่เป็น 4 หมื่นคนที่มีความตั้งใจในการทำโพลเพื่อชี้ให้เห็นความปรารถนาที่แท้จริงของประชาชน ของคนที่ไม่เคยมีเสียง หรือเสียงไม่ดัง ที่ทุกคน ต้องรับฟัง ลึกลงไปในความปรารถนานี้ ผลโพลทั้ง 2 ด้าน คือเศรษฐกิจปากท้อง และโครงสร้าง จึงสะท้อนให้ผู้คนรับรู้ถึงปัญหาและจัดวางตัวเองในเงื่อนไขของปัญหา ซึ่งในเรื่องของปัญหาปากท้อง ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมัน ตนคิดว่าราคาน้ำมันเป็นเรื่องใหญ่สุด โพลจึงสะท้อนการรับรู้การวางตำแหน่ง แห่งที่ของผู้คนในสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลงในฐานะพลเมือง เป็นภาพที่ผู้คนรับรู้ถึงปัญหาและตระหนักถึงความเหลื่อมล้ำที่เป็นปัญหาสำคัญ

ความเหลื่อมล้ำโครงสร้างอำนาจ
นายอรรถจักร์กล่าวว่า ตนเชื่อว่าโพลนี้ เป็นตัวแทนคนไทยที่ต้องการสะท้อนความเหลื่อมล้ำโครงสร้างทางอำนาจ ซึ่งประชาชนต้องการเครื่องมือจับปลา เขาไม่ต้องการให้คุณมา ให้ปลา ปัญหาความเหลื่อมล้ำชัดเจนขึ้น ในสังคมไทย ถ้าเกิดรัฐบาลนี้ พรรคฝ่ายค้าน หรือรัฐบาลหน้ามองเห็นปัญหาจึงต้องคิด ในรายละเอียดให้มากขึ้น เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหา เช่น ปฏิรูปกองทัพต้องทำอย่างไรบ้าง ไม่ใช่แค่การยุบ กอ.รมน. หรือแก้ปัญหาราคาน้ำมันต้องทำอย่างไร ถ้าคิดถึงการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและปัญหาเศรษฐกิจไปด้วยกัน รัฐบาลนั้นจะกลายเป็นรัฐบุรุษ ยกตัวอย่างนโยบาย 30 บาทที่เป็นการเปลี่ยนความสัมพันธ์ เชิงอำนาจ ดังนั้นโพลนี้จึงสะท้อนความปรารถนาของประชาชนที่อยากมีส่วนร่วมและอยากให้รัฐบาลแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ อย่างไรก็ตามการที่กระแสเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาทไม่ขึ้น เพราะคนจำนวนหนึ่งรู้สึกว่าถ้าคุณกู้มาเมื่อไร พวกฉันและลูกฉันก็ต้องจ่ายด้วย

นายอรรถจักรกล่าวต่อไปว่า อยากฝากรัฐบาลว่าอย่าไปคิดแค่แก้ปัญหาปากท้อง อย่างเดียว พี่น้องประชาชนเขาตระหนักว่า มันมีความเหลื่อมล้ำอยู่มากมาย การแก้ปัญหาค่าน้ำ ไฟฟ้า น้ำมัน โดยคิดว่าเป็นการแก้ความเหลื่อมล้ำ รัฐบาลอาจจะได้แต้มในช่วงสั้นๆ ในตอนนี้ แต่ประชาชนยังรู้สึกว่ามันไม่ใช่ แค่นั้น มันต้องไปไกลกว่านั้น เขาอยากให้รัฐบาล สร้างแนวทางไปสู่เรื่องอื่นๆ มากกว่า ถ้ารัฐบาล ยังแก้แบบนี้ซึ่งอาจทำได้ไม่นานนัก ราคาน้ำมันจะแก้ได้กี่เดือน ตนคิดว่ายากมาก ค่าไฟก็คงจะยาก คะแนนก็ไม่ได้ คนจะรู้สึกว่า ถ้ารัฐบาลทำแค่นี้ก็เท่ากับหลอกประชาชน ส่วนเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท ที่กำหนดเงื่อนไขรายได้ไม่เกิน 7 หมื่นบาท เงินฝากในบัญชี ไม่เกิน 5 แสนบาทนั้น ตัวนี้คนหัวเราะก๊ากเลย และประชาชนมองว่าถูกหลอกอีกแล้ว ผมคิดว่า โอกาสที่จะเปรี้ยงปร้างอย่างที่เขาหวังคงไม่ได้ เพราะสำหรับประชาชนคงไม่ได้อะไรเท่าไร ท้ายที่สุดแล้วคนที่ได้คือร้านค้าใหญ่ ลองดู ถ้าเขาออกเป็น พ.ร.บ.เงินกู้ได้ คิดว่าเดือนแรกก็จะได้เห็นเลยว่ามันจะเปรี้ยงหรือไม่เปรี้ยง

“โดยเงื่อนไขของรัฐบาลนี้คือเป็นโครงสร้าง ของรัฐบาลพิเศษ เขาขึ้นมาเพื่อลดกระแส เขาทำได้แค่นี้ เราแนะนำว่าเขาต้องปฏิรูปโครงสร้าง แต่หันซ้าย หันขวา หันไปข้างบน ก็เจอแต่กลุ่มทุนเจออะไร ดังนั้นเขาก็คงจะมีแพะไว้สำหรับให้โบ้ยไปว่าเรื่องต่างๆ ล้มเหลว ไปเพราะอะไร เช่น เงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท ล้มเหลวเพราะคนนั้นคนนี้ ท้ายที่สุดก็คาดเดาว่าต้องยุบสภา อยากฝากรัฐบาลชุดนี้ว่ามัน ก็อาจจะมีจังหวะ หรือโอกาส อาจจะไม่ใช่นายเศรษฐา แต่อาจจะเป็นใครก็ได้ คุณมีโอกาส เป็นรัฐบุรุษ ถ้าคุณกล้าตัดสินใจ สมมติ นายเศรษฐาอยากแตกหักก็ไปหา สส. มาเป็นพรรคพวกจำนวนหนึ่ง เพื่อที่จะแตกหัก ในบางเรื่อง ก็มีโอกาสที่จะเป็นรัฐบุรุษได้ แต่ดูแนวโน้มแล้วคงยากมากที่เขาจะทำ คงยากที่เราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง และเราคนจะทนอยู่แบบนี้ เซ็งๆ และปกครองไปอีก 2 ปี แล้วยุบสภา โดยหวังว่าการให้ยาแก้ปวดมันจะทำให้เสียงโหวตเขามา สิ่งเดียวที่จะทำให้เขาคิดได้ก็คือเสียงของประชาชน ที่ดังขึ้นแรงขึ้น จนเขารู้สึกว่ามันขวางไม่ได้ อย่างไรก็ตามรัฐบาลนี้และรัฐไทยเป็นตัวจรรโลง และค้ำยันความเหลื่อมล้ำ และปัญหาของสังคมทั้งหมดเกิดขึ้นจากความเหลื่อมล้ำนี้” นายอรรถจักร์กล่าว

‘อนุสรณ์’ชี้ชาวบ้านตื่นรู้มากขึ้น
ด้านรศ.ดร.อนุสรณ์กล่าวว่า ผลโพลไม่มีอะไรน่าประหลาดใจ ที่ต้องการให้ลดค่าครองชีพ ค่าพลังงาน ค่าน้ำ ค่าไฟ ต้องการรายได้เพิ่มขึ้น ต้องการแก้ปัญหาหนี้สิน แต่ความน่าสนใจ อยู่ที่รายละเอียด อยู่ที่กลุ่มคน รายได้ พื้นที่ การศึกษาที่ต่างกัน สิ่งหนึ่งที่สะท้อนให้เห็น คือ ประชาชนมีความตื่นรู้มากขึ้น เกี่ยวกับปัญหาโครงสร้างการเมือง แม้จะไม่ใช่อันดับหนึ่งที่ต้องการให้แก้ปัญหาก็ตาม ประชาชนส่วนใหญ่เริ่มมองเห็นปัญหาเฉพาะหน้าที่มาจากปัญหาโครงสร้างที่มีความเชื่อมโยงกันมากขึ้น ประชาชนเห็นว่า

“การแก้ปัญหาที่สำคัญ คือ การแก้ระบบกฎหมายและรัฐธรรมนูญ ประเทศนี้ไม่ยุติธรรม เพราะไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายได้ มีหลายมาตรฐาน ส่วนปัญหาเศรษฐกิจ ที่น้ำมันแพง มีหนี้สิน ไม่ใช่เพราะพวกเขาไม่ขยัน หรือไม่มีวินัยทางการเมือง แต่ปัญหาที่แท้จริงคือ รัฐบาลต้องทำงานด้านโครงสร้างมากขึ้น จะให้ยาแก้ปวดอย่างเดียวไม่ได้ ต้องผ่าตัด เพราะระบบทุนนิยม ความไม่เท่าเทียม ความเหลื่อมล้ำ อำนาจทุนผูกขาด เป็นที่มาของความไม่ใช่ประชาธิปไตย ดังนั้นจึงต้องแก้โครงสร้างเศรษฐกิจที่ไม่เป็นธรรม อำนาจผูกขาด แต่ถ้าเราอยู่ในโครงสร้างเศรษฐกิจแบบนี้ ไม่มีทางเป็นประชาธิปไตยได้” รศ.ดร.อนุสรณ์ระบุ

รศ.ดร.อนุสรณ์กล่าวอีกว่า สิ่งที่เป็น ความหวังของผลโพล คือ ประชาชนตื่นรู้ถึงความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์ ต้องเบาลง แต่ไม่ได้ หมดไป การทำงานแบบอุปถัมภ์ไม่สามารถทำงานได้เหมือนเดิม รัฐบาลต้องทำมากกว่าการให้ยาแก้ปวด แต่ก็ต้องให้ ไม่ให้ก็อยู่ลำบาก ส่วนการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท สิ่งสำคัญคือประเมินภาวะเศรษฐกิจ ในมุมของเศรษฐศาสตร์ การกู้เงินมาแจกยิ่งไม่มีความจำเป็น แต่ก็เข้าใจว่าเป็นนโยบายหาเสียง ของรัฐบาล หากกู้เงิน 5 แสนล้านบาท หนี้สาธารณะของไทยก็ยังไม่เกิน 70 % ของจีดีพี แต่ถ้าเกิดภาวะเสี่ยงด้านวินัยการคลัง ก็ต้องนำไปพิจารณา ซึ่งน่าจะขัดกับหลักนิติศาสตร์ ดังนั้นรัฐบาลจึงออกเป็นพ.ร.บ. เพราะต้องผ่านด่านสภา ถ้าทำไม่ได้รัฐบาล ก็ลอยตัว เพราะพยายามทำแต่ขัดต่อกฎหมายจึงทำไม่ได้ แต่ถ้าทำได้ก็ต้องระวังความเสี่ยง สิ่งที่ทำได้คือ ลดขนาด พร้อมมีมาตรการเสริม แปลงเป็นการลงทุน การประกอบอาชีพ แบบนี้จะยั่งยื่น เพราะตอนนี้เงินที่จะได้ส่วนใหญ่ นำไปบริโภค

ระบุเสียง 250 สว.แยกพท.-กก.
รศ.ดร.อนุสรณ์กล่าวต่อว่าอย่างไรก็ตามหลักเศรษฐศาสตร์มหภาคจึงไม่จำเป็นมาก แต่ถ้ารัฐบาลอยากทำก็ทำไป เพราะหาเสียง มาแล้ว แต่เมื่อดูภาวะเศรษฐกิจในขณะนี้เริ่มมีการเติบโต นักท่องเที่ยวขยายตัว ส่งออก เริ่มมีสัญญาณเป็นบวก ภาคการลงทุนทยอยฟื้นตัว ในขณะที่ยังมีตัวแปรเกี่ยวกับเศรษฐกิจ เช่น สงครามอิสราเอล ระดับรายได้ประชาชาติ รายจ่ายภาคเอกชน อัตราแลกเปลี่ยน ระดับอัตราดอกเบี้ย รวมทั้งจุดเปลี่ยนระบบการเงิน ทั้งบทบาทของทองคำ ดอลลาร์สหรัฐอเมริกา ผลของการแตกตัวของโลกาภิวัตน์ เป็นต้น และนี่คือสิ่งสำคัญจากปัญหาระบบใหญ่ ที่กระทบกับทุกคน

รศ.ดร.อนุสรณ์ ย้ำว่า ส่วนตัวอยากให้พรรคก้าวไกลจับมือกับพรรคเพื่อไทย ตั้งรัฐบาล แต่ในความเป็นจริงทำไม่ได้ เพราะมีเสียงสว. 250 เสียง ทุกคนก็ต้อง ช่วงชิงกัน แต่ถ้าเป็นพรรคเพื่อไทยก็ควรเอาก้าวไกลเข้าร่วมรัฐบาล ถ้าต้องการเปลี่ยนแปลง ทางโครงสร้าง เอาก้าวไกลเข้ามา เอาพรรคอื่นออก เพราะตอนนี้หากดูคนคุมกระทรวงพลังงาน ไม่มีทางปฏิรูปอะไรได้ รวมทั้งกระทรวง กลาโหม แต่พรรคก้าวไกลจะมีพลังในการ ขับเคลื่อนที่แรงมาก ผลโพลที่ถามประชาชน เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่มีปัญหาโครงสร้างซ่อนอยู่ การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ มันเป็นการตอบโจทย์ความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ แต่ก็อาจมีการชะลอให้นานที่สุด ค่าแรงงานขั้นต่ำ 600 บาทไม่มีทางเป็นไปได้ แต่หากมีการทำอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคม และสิทธิในการรวมตัวและเจรจาต่อรอง ร่วมนั้น เจ้าของที่มีประชาธิปไตย ต้องชอบ เพราะเรามีปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจเยอะมาก ลูกจ้างไม่มีปากเสียง แต่ถ้ามีอนุสัญญาตัวนี้ ลูกจ้างจะเข้มแข็ง ผู้ประกอบการจะทำแบบเดิมกับลูกจ้างไม่ได้ มิติแรงงานเป็นส่วนหนึ่งของความไม่เป็นธรรมและความเหลื่อมล้ำ

รศ.ดร.อนุสรณ์กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับบทบาทของกลุ่มเจ้าสัว ตนเคยทำงานกับ เจ้าสัว ในช่วงทำงานใหม่ๆ สิ่งที่ตนเห็น คือ เจ้าสัวปรับตัว แม้มีสายสัมพันธ์กับทางการเมือง แต่เมื่อมีการแข่งขันด้านการตลาด เจ้าสัวกลุ่มนี้จะอยู่รอด แต่มีกลุ่มทุนบางกลุ่มก็อยู่ไม่ได้ เพราะหลายคนไม่ได้มีความเชื่อทางการเมืองที่ชัดเจน กลุ่มชนชั้นสูงของสยามประเทศ ปรับตัวได้ดีที่สุดหากดูในประวัติศาสตร์สยามหรือประเทศไทย กลุ่มจารีตปรับตัวได้เก่งที่สุด โดยภูมิหลังจะเป็นนักปฏิรูป สยามไม่เคย เปลี่ยนแปลงโครงสร้างที่รุนแรง มีแต่การเปลี่ยนแปลงแบบผ่อน คือ ค่อยๆ ปรับ ทั้งนี้ขึ้นอยู่แล้วกลุ่มชนชั้นสูงจะลุแก่อำนาจหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ทุกคนควรต่อสู้อยู่ในระบบรัฐสภา ไม่ใช่ท้องถนน กลุ่มอนุรักษนิยม ล้าหลังก็ตั้งพรรคการเมืองมาสู้กัน คนส่วนน้อย กุมศาล กุมกองทัพ แต่ประชาชนส่วนใหญ่ กุมระบบเลือกตั้ง เพราะผลการเลือกตั้งปี 66 ประชาชนต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ในระดับโครงสร้างทางสังคม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน