ค้นพบพืชวงศ์ขิง8+1ชนิดใหม่โลก – นับเป็นข่าวดีต้อนรับวันสากลแห่งความหลากหลายทางชีวภาพ (International Day of Biological Diversity) ซึ่งตรงกับ วันที่ 22 พ.ค.ของทุกปี

ปีนี้มีนักวิชาการไทยค้นพบพืชวงศ์ขิง 8 ชนิดใหม่ของโลก และมีการรายงานใหม่ในประเทศไทยอีก 1 ชนิด

รศ.ดร.สุรพล แสนสุข นักวิจัยสถาบันวิจัยวลัยรุกขเวช และ ผศ.ดร.ปิยะพร แสนสุข นักวิจัยภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส) ซึ่งได้รับทุนวิจัยจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เพื่อดำเนินโครงการองค์ความรู้พื้นฐานโครโมโซมของพืชวงศ์ขิงในประเทศไทย

รศ.ดร.สุรพลกล่าวว่า การค้นพบพืชตระกูลขิงชนิดใหม่ของโลกทั้ง 8 ชนิด ประกอบด้วย ชนิดที่ 1 ขมิ้นน้อย หรือ “Khamin-Noi” มีชื่อวิทยาศาสตร์คือ Curcuma chantaranothaii Boonma & Saensouk พบทางเป็นพืชป่าจาก จ.นครนายก ที่นำมาปลูกเป็นไม้ประดับทั่วประเทศไทย

ชื่อวิทยาศาสตร์พืชชนิดนี้ตั้ง เป็นเกียรติแก่ “ศาสตราจารย์ ดร.ประนอม จันทรโณทัย” ซึ่งเป็นนักพฤกษศาสตร์ไทยที่มีชื่อเสียงในแวดวงพฤกษศาสตร์ของประเทศไทยและของโลก ชนิดที่ 2 กระเจียวรังสิมา หรือ “Krachiao Rangsima” หรืออีกชื่อคือ “บุษราคัม หรือ Bussarakham” มีชื่อวิทยาศาสตร์คือ Curcuma rangsimae Boonma & Saensouk

พบใน จ.นครนายก สระบุรี ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา และนครราชสีมา ชื่อวิทยาศาสตร์พืชชนิดนี้ตั้งเป็นเกียรติแก่ “คุณรังสิมา ตัณฑเลขา” ผอ.โปรแกรมอาวุโส โปรแกรมการบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพและการใช้ประโยชน์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติบุคคลที่อยู่เบื้องหลังและสนับสนุนงานวิจัยด้านความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทยมาอย่างยาวนาน

ชนิดที่ 3 ขมิ้นพวงเพ็ญ หรือ “Khamin-Puangpen” มีชื่อวิทยาศาสตร์คือ Curcuma puangpeniae Boonma & Saensouk พืชชนิดนี้อยู่ในกลุ่มเดียวกันกับพวกขมิ้นหรือกระเจียว พืชชนิดนี้พบที่จ.ราชบุรีได้ตั้งชื่อวิทยาศาสตร์พืชชนิดนี้เป็นเกียรติแก่ “ศาสตราจารย์พวงเพ็ญ ศิริรักษ์” ซึ่งเป็นคนไทยคนแรกที่ศึกษาพืชวงศ์ขิงในประเทศไทย

ชนิดที่ 4 กระเจียวจรัญ หรือ “Krachiao Charan” มีชื่อวิทยาศาสตร์คือ Curcuma charanii Boonma & Saensouk อยู่ในกลุ่มเดียวกันกับพวกขมิ้นหรือกระเจียว พืชชนิดนี้พบที่จ.ลพบุรี ได้ตั้งชื่อวิทยาศาสตร์พืช ชนิดนี้เป็นเกียรติแก่ “ดร.จรัญ มากน้อย” ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญพืชวงศ์ขิง โดยเฉพาะสกุล Curcuma ในประเทศไทย

ชนิดที่ 5 พญาว่าน หรือ “Phraya Wan” มีชื่อวิทยาศาสตร์คือ Curcuma phrayawan Boonma & Saensouk พบที่จังหวัดนครนายก และปลูกเป็นพืชสมุนไพรทั่วไทย ได้ตั้งชื่อวิทยาศาสตร์พืชชนิดนี้ตามชื่อ พื้นเมืองที่ใช้กันอย่างแพร่หลายคือ “พญาว่าน” ชนิดที่ 6 กระเจียวม่วง หรือ“อเมทิสต์” มีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Curcuma purpurata Boonma & Saensouk พบที่จ.ศรีสะเกษ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ได้ตั้งชื่อวิทยาศาสตร์พืชชนิดนี้ตามสีม่วงของดอกพืช

รศ.ดร.สุรพลกล่าวต่อว่า สำหรับพืชวงศ์ขิงที่พบเพิ่มเติมแต่อยู่ใน สกุลเปราะ (Kaempferia) 2 ชนิด คือ ชนิดที่ 7 นิลกาฬ หรือ Nillakan มีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Kaempferia nigrifolia Boonma & Saensouk พืชชนิดใหม่ของโลก

นิลกาฬนี้ได้ตั้งขึ้นตามลักษณะเด่นของพืชคือ ใบมีสีดำ พบทางภาคกลางของประเทศไทย ได้ศึกษาโดยตน นายธวัชพงศ์บุญมา และ ผศ.ดร.ปิยะพร ชื่อพื้นเมืองคือ นิลกาฬ หรือ Nillakan ตั้งขึ้นตามลักษณะเด่นของพืชคือ ใบมีสีดำ

ดังนั้น ลักษณะเด่นคือ ใบสีดำและดอกสีม่วง และชนิดที่ 8 ว่านกระชายดำเทียม มีชื่อวิทยาศาสตร์คือ Kaempferia pseudoparviflora Saensouk and P. Saensouk ลักษณะเด่นของพืชคือ ใบมีใบเดียว ก้านช่อดอกสั้น และช่อดอกอัดแน่น พบทางภาคเหนือของประเทศไทยได้ศึกษาโดยตนและผศ.ดร.ปิยะพร ชื่อพื้นเมืองคือ ว่านกระชายดำเทียม

และชนิดสุดท้าย เป็นพืชวงศ์ขิงที่มีการรายงานใหม่ในประเทศไทย 1 ชนิดคือ ว่านหัวน้อย มีชื่อวิทยาศาสตร์คือ Curcuma peramoena Souvann. & Maknoi พบครั้งแรกที่สปป.ลาว และมีการพบในประเทศไทยที่จังหวัดอุตรดิตถ์ ลักษณะเด่นช่อดอกอัดแน่น ดอกสีขาวปนสีชมพูอ่อน กลีบปากมีแถบสีเหลือง

“การค้นพบพืชวงศ์ขิงชนิดใหม่ของโลกทั้ง 8 ชนิดนี้ ถือเป็นสัญญาณที่ดีของประเทศไทยที่แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพ เพราะพืชวงศ์ขิงนี้ถือเป็นพืชที่มีประโยชน์ทั้งสรรพคุณของสมุนไพรไทย เป็นพืชผักพื้นบ้าน เป็นไม้ดอกไม้ประดับ และยังมีความสวยงามของต้นและดอกสีสันสดใส ควรค่าแก่การอนุรักษ์ รักษา” รศ.ดร.สุรพลกล่าว

จากนี้คณะผู้วิจัยกำลังมีแนวทางในการขยายพันธุ์จากเหง้าและขยายพันธุ์โดยเทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ รวมทั้งถ่ายทอดความรู้ที่เกิดจากงานวิจัย ถ่ายทอดลงสู่ชุมชนนักเรียน นิสิต นักศึกษา รวมทั้งผู้สนใจทั่วไป เพื่ออนุรักษ์สายพันธุ์ต่างๆ ในระยะยาวต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน