มหาจุฬาฯวิจัยวิปัสสนากัมมัฏฐานพบสุขภาพจิตดีช่วยลดภาวะเครียด-ซึมเศร้า – นางตวงเพชร สมศรี เลขานุการหลักสูตรพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาพระพุทธศาสนา ภาคเสาร์-อาทิตย์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เปิดเผยว่าขณะนี้อยู่ในช่วงการสอบป้องกันดุษฎีนิพนธ์ของนิสิตระดับปริญญาเอก โดยพบว่ามีงานวิจัยที่น่าสนใจคือ การปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานที่ส่งผลต่อการพัฒนาสุขภาพจิตของบุคคล ของพระปลัดสมภาร สมภาโร (ทวีรัตน์) ซึ่งดำเนินการวิจัยเรื่องดังกล่าวเพื่อ 1.ศึกษาหลักปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานในพระไตรปิฎกเพื่อการพัฒนาสุขภาพจิต 2.ศึกษาแนวคิดทฤษฎีการพัฒนาสุขภาพจิต และรูปแบบ วิธีการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานตามหลักสติปัฏฐานในประเทศไทย 3.ศึกษาประสิทธิผลของการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานที่มีต่อสุขภาพจิตของบุคคล โดยวิจัยแบบผสมผสานประกอบด้วยการวิจัยเชิงปริมาณกึ่งทดลอง และการวิจัยเชิงคุณภาพ ใช้แบบสอบถามแบบวัดสุขภาพจิตในคนไทยเฉพาะ 3 ด้าน คือ 1.อาการทางกายเนื่องจากความผิดปกติทางจิต 2.ภาวะซึมเศร้า 3.ความวิตกกังวล เพื่อประเมินระดับสุขภาพจิตก่อนและหลังการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน เป็นเวลา 7 คืน 8 วัน ในกลุ่มตัวอย่าง 50 คน ที่เข้าปฏิบัติธรรมที่ศูนย์วิปัสสนายุว พุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย เฉลิมพระเกียรติ (ศูนย์ 2) จ.ปทุมธานี วันที่ 5-12 ก.พ.2563

นางตวงเพชรกล่าวต่อไปว่า ผลการวิจัยเชิงปริมาณกึ่งทดลองในกลุ่มตัวอย่าง 50 คน พบว่า ค่าเฉลี่ยของภาวะสุขภาพจิตด้านอาการทางกายเนื่องจากความผิดปกติทางจิตและอาการวิตกกังวลมีค่าเฉลี่ยลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value = 0.004) และ (p-value = 0.031) ตามลำดับ ส่วนค่าเฉลี่ยของระดับสุขภาพจิตด้านภาวะซึมเศร้าลดลงอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value = 0.072) แต่พบว่ามีแนวโน้มลดลง ส่วนผลการเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยภาวะสุขภาพจิตก่อนและหลังการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน

จากการสัมภาษณ์เชิงลึกพบว่า ก่อนการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน กลุ่มตัวอย่างมีภาวะสุขภาพจิตด้านอาการซึมเศร้าและอาการวิตกกังวลสูงถึงขั้นมีปัญหาสุขภาพจิต แต่หลังการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน ค่าคะแนนของภาวะสุขภาพจิตลดลงถึงเกณฑ์ปกติ ซึ่งแปลความหมายได้ว่า ระหว่างการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน ผู้ปฏิบัติได้พัฒนาสติโดยกำหนดรู้ในฐานทั้ง 4 คือ กาย เวทนา จิต และธรรม สติต่อเนื่องนำไปสู่ความสงบและความตั้งมั่นของจิต (สมาธิ) ที่ประกอบด้วยสัมปชัญญะ ทำให้เกิดปัญญาที่มองเห็นสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริงว่า รูปและนามมีลักษณะเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เกิดขึ้นและดับไป (อนิจจัง), เป็นทุกข์ (ทุกขัง), ไม่มีตัวตนและบังคับบัญชาไม่ได้ (อนัตตา) ความรู้จากประสบการณ์ตรงของผู้ปฏิบัติ ทำให้จิตสงบ เกิดการปล่อยวาง (อุเบกขา) คลายความยึดมั่น ถือมั่น มีปีติ มีภาวะสุขภาพจิตดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน