ยกนิ้ว‘ไร่สายเพ็ชร’เกษตรอินทรีย์ในหาดทนง – แม้ “คุณจงเจียม สายเพ็ชร” วัย 44 ปี อยู่หมู่ 6 ต.หาดทนง อ.เมือง จ.อุทัยธานี เรียนจบแค่ป.6 แต่ถ้าได้พูดคุยและไปเยี่ยมเยือนไร่สายเพ็ชรของเธอ จะรู้ได้ทันทีว่าสาวใหญ่แม่ลูกสองคนนี้ไม่ธรรมดาเลยทีเดียวโดยเฉพาะมุมมองและวิธีคิดในการทำเกษตรอินทรีย์ ในขณะที่รุ่นพ่อรุ่นแม่และเกษตรกรในย่านนั้นต่างทำเกษตรเคมีกันมาอย่างยาวนาน

ด้วยเหตุนี้เองไร่ดังกล่าวจึงได้รับคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในโครงการศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชนของสำนักงานเกษตรและ สหกรณ์จ.อุทัยธานี ส่งผลให้หน่วยงานและองค์กรต่างๆ ทั้งในจ.อุทัยธานีและจังหวัดอื่นๆเข้ามาศึกษาหาความรู้กัน

ก่อนอื่น นายบุญธรรม ทองพิจิตร นายอำเภอเมืองอุทัยธานี ให้ข้อมูลช่วงที่คณะนักข่าวจาก ส่วนกลางลงพื้นที่จ.อุทัยธานีว่า ขณะนี้กำลังดำเนินงานโครงการ “ฝ่ายปกครองกับภารกิจพิชิตเชื้อโควิด-19 คนอุทัยไม่ทิ้งกัน ดูแล และอยู่ร่วม สร้างสุขอย่างเข้มแข็ง” ซึ่งทางอ.เมืองอุทัยธานีได้จัดเตรียมความพร้อมในการรองรับผู้ป่วยโควิด ทั้งการจัดตั้งศูนย์พักคอยและโรงพยาบาลสนามไว้จำนวนมาก เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการ

สำหรับโครงการโคก หนอง นา โมเดล ในอ.เมืองอุทัยธานี มีเกษตรกรเข้าร่วม 80 ราย หนึ่งในนั้นคือไร่สายเพ็ชร โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากทางพัฒนาชุมชน ซึ่งมีคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกเกษตรกรที่สนใจ จากนั้นส่งไปอบรมเพื่อให้เข้าใจหลักการและวิธีการ รวมทั้งเงื่อนไขที่จะต้องเป็นศูนย์เรียนรู้ต่อไปอีก 5 ปี โครงการนี้ปลูกต้นไม้ระดับสูง กลาง ต่ำ ตามลำดับ และใช้ประโยชน์จากน้ำให้คุ้มค่า ฝนตกก็เก็บกักน้ำจากโคกสู่หนอง และนา โดยทำคลองไส้ไก่เพื่อส่งน้ำไปหล่อเลี้ยงพืชผลต่างๆ ซึ่งบ้านหาดทนงเป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง “อยู่เย็น เป็นสุข” ด้วย

ทีนี้ลองมาฟังผู้ปฏิบัติอย่างคุณจงเจียมกันบ้าง เธอเล่าว่า ตอนจบ ป.6 ออกจากโรงเรียนก็ช่วยพ่อแม่ทำเกษตร แต่ช่วงหลังไปทำงานเป็นแม่บ้านที่ศูนย์โอท็อป ต่อมาลาออกและตัดสินใจมาทำเกษตรอินทรีย์อย่างจริงจังเมื่อ 6-7 ปีที่ผ่านมาในเนื้อที่ 11 ไร่ โดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 เริ่มจากปลูกพืชผักผลไม้ไว้กินเอง จะได้ไม่ต้องไปซื้อ จึงปลูกแบบปลอดภัยเพื่อให้ทุกคนในครอบครัวได้กินกัน อีกอย่างเห็นพ่อแม่ทำเกษตรเคมีแล้วได้รับผลกระทบ แม่เป็นหลายโรคจนเสียชีวิต คิดว่าส่วนหนึ่งมาจากเคมีที่ใช้ทำเกษตร








Advertisement

ในไร่สายเพ็ชร เน้นปลูกฝรั่งกิมจูเพราะมองว่าเป็นผลไม้ยืนต้นที่อยู่ได้หลายปี และเหมาะกับสภาพของพื้นที่ลุ่มต่ำของที่นี่ ทนต่อสภาพน้ำท่วม รวมทั้งทำนา ปลูกกล้วยน้ำว้า กล้วยหักมุก และพืชผักสวนครัว นอกจากนี้ยังเลี้ยงปลา เลี้ยงเป็ด ไก่ชน และหมูหลุม ซึ่งในการทำเกษตรอินทรีย์นี้ทำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยชีวภาพและจุลินทรีย์สังเคราะห์แสงไว้ใช้เอง

การปลูกฝรั่งกิมจูเริ่มจากซื้อกิ่งพันธุ์ตอนจากจ.ราชบุรี กิ่งละ 10 บาท จำนวน 100 ต้น สูงประมาณ 40 ซ.ม. มีรากขึ้นแล้ว ตอนนี้เหลือประมาณ 70 ต้น ก่อนปลูกต้องปรุงดินก่อน ใช้แกลบและปุ๋ยคอก ขุดหลุมประมาณ 50 ซ.ม. เว้นระยะห่างประมาณ 2.5-3 ม. พอปลูกไปได้ 8 เดือนก็ให้ผลผลิต ทางไร่ใช้วิธีการยกร่อง จากนั้นใส่ปุ๋ย เป็นช่วงๆ เดือนหนึ่งจะรดน้ำครั้งหนึ่ง แต่ถ้าช่วงเดือนเมษายนจะรด เดือนละ 2 ครั้ง ขายก.ก.ละ 25 บาท แต่ละวันเก็บฝรั่งขายเป็นหลัก ได้ประมาณวันละ 20 ก.ก. นอกนั้นก็มีผลผลิตต่างๆ ในไร่

กรณีเป็นฝรั่งต้นใหม่ เหลือลูกไว้แค่ 3 ลูกพออายุต้นได้ปีหรือปีครึ่งไว้ลูกได้ 20-30 ลูกศัตรูพืชสำคัญของฝรั่งคือแมลงวันทองต้อง ใช้ขวดน้ำดัก และพอลูกโตเท่าเหรียญ 10 บาทต้องห่อ เพื่อให้ลูกสวยและกันแมลง ในส่วนฝรั่งนั้นมีการตอนไว้ขายด้วย ทำให้มีรายได้เดือนละหลายพันบาท และยังตอนกิ่งเพื่อขยายพื้นที่ปลูกด้านหลังของไร่อีก 100 ต้น

หลายคนคงอยากรู้ว่าเธอเรียนรู้วิธีการทำเกษตรอินทรีย์มาจากไหน เจ้าตัวแจกแจงว่า ศึกษาจากยูทูบ และติดตามการทำเกษตรอินทรีย์จากโจร จันได รวมทั้งนำวิชาความรู้ที่ได้จากการไปอบรมตามที่หน่วยราชการแนะนำ และนำมาประยุกต์ในไร่ของตัวเอง อย่างเช่นการทำจุลินทรีย์สังเคราะห์แสงที่ ทางไร่ทำไว้จำนวนมาก ซึ่งผลผลิตของไร่ได้รับเครื่องหมาย GAP ด้วย แต่ยังไม่ได้ขอการรับรองเกษตรอินทรีย์จากหน่วยงานไหน

ในการทำเกษตรอินทรีย์ของไร่นี้ นอกจากคุณจงเจียมแล้ว สามี คุณเฉลิมพล สายเพ็ชร ถือเป็นกำลังหลักสำคัญ

ที่ผ่านมานอกจากจะปลูกเองแล้ว คุณ จงเจียมยังนำผลผลิตไปขายที่ตลาดเกษตรกร สหกรณ์การเกษตรอ.เมืองอุทัยธานี ทุกวันอังคารและวันศุกร์ และส่งแม่ค้าขายผลผลิตอินทรีย์ด้วย ซึ่งเธอตั้งราคาไว้ไม่แพง อย่างฝรั่งก.ก.ละ 25 บาท ขณะที่ฝรั่งเคมีสวนอื่นขายก.ก.ละ 40 บาท วันหนึ่งมีรายได้จากการขายฝรั่งและพืชผักอื่น 300 บาทเป็นอย่างต่ำ (สนใจผลผลิตติดต่อได้ที่ 08-2764-8150)

“สาเหตุที่ขายฝรั่งแค่กิโลละ 25 บาท เพราะอยากให้ทุกคนมีโอกาสได้กินฝรั่งอร่อยรสชาติดี ไม่ใส่ปุ๋ยเคมี”

เธอย้อนอดีตให้ฟังว่า พอชาวบ้านแถวนั้นรู้ว่าทำเกษตรอินทรีย์ต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่ได้กินแน่นอน เลยบอกไปว่า อยู่ที่ใจและเป็นความชอบส่วนตัว เพราะตั้งใจปลูกให้ครอบครัวกิน ไม่ได้หวังจะไปเปลี่ยนความคิดคนอื่น เอาความคิดของตัวเองเป็นหลัก แต่ถึงวันนี้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าทำได้ จึงมีเกษตรกรบางส่วนเริ่มทำตามอย่างเช่นกำนันต.หาดทนง

นับเป็นเกษตรกรอีกคนที่มุ่งมั่นในการ ทำเกษตรอินทรีย์ เพื่อให้คนปลูกและคนกินปลอดภัย

ภาวิณีย์ เจริญยิ่ง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน