ยกระดับแปลงใหญ่ฯวังม่วง – ในบรรดานโยบายของกระทรวงเกษตรฯ ต้องบอกว่าโครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด เป็นโครงการที่ดีเพราะเป็นการส่งเสริมตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ โดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วยพร้อมกับการทำตลาด ตัดตอนพ่อค้าคนกลางออกไป ทำให้เกษตรกรได้ค่าตอบแทนเต็มเม็ดเต็มหน่วย โครงการนี้ต่อยอดมาจากโครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ ซึ่งดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2559

วันก่อน นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร นำสื่อมวลชนลงพื้นที่ดูความคืบหน้าโครงการยกระดับแปลงใหญ่ฯ ใน อ.วังม่วง จ.สระบุรี เริ่มกันที่แปลงใหญ่มันสำปะหลัง ต.วังม่วง อ.วังม่วง ที่สามารถพัฒนากระบวนการผลิตมัน โดยไม่มีวัสดุทางการเกษตรเหลือทิ้ง (zero waste) ด้วยการใช้ประโยชน์จากทุกส่วน ได้แก่ 1.การนำใบและยอดมาหมักเพื่อใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตอาหาร TMR สำหรับโคนม 2.นำหัวมันสดมาแปรรูปเป็นมันเส้นสะอาดและหัวมันหมัก 3.นำส่วนของเหง้ามันมาเผาเป็นถ่านด้วยเตาเผาถ่านชีวมวล และ 4.เก็บต้นมันเป็นท่อนพันธุ์สำหรับการปลูกในครั้งต่อไป

แปลงใหญ่มันสำปะหลัง กลุ่มนี้ มีนางอนันท์ญา จันทร์น้อย อายุ 53 ปี ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 9 ต.วังม่วง เป็นประธาน ได้รับเงินสนับสนุนจากกรมส่งเสริมการเกษตรเกือบ 3 ล้านบาท หลักๆ ใช้ไปซื้อรถแทรกเตอร์ พร้อมใบดันและเครื่องพ่นอเนกประสงค์ 1 คัน เครื่องตัดใบมัน โดรน 1 ลำ และเครื่องชั่งรถบรรทุก โดยมีรายได้จากการให้บริการสมาชิก ในกลุ่มและนอกกลุ่ม สามารถลดต้นทุนการผลิตอย่างชัดเจน

นางอนันท์ญาให้ข้อมูลว่า เริ่มตั้งกลุ่มแปลงใหญ่ปี 2560 มีสมาชิก 76 คน รวมพื้นที่ทั้งหมด 2,392 ไร่ จุดเด่นของกลุ่มอยู่ที่การนำทุกส่วนของต้นมันมาแปรรูปและขาย เน้นให้สมาชิกผลิตมันให้ได้คุณภาพตามที่ตลาดต้องการคือ หัวใหญ่ เปอร์เซ็นต์แป้งสูง และผลิตมันเส้นสะอาด เก็บเกี่ยวมันอายุ 8 เดือนขึ้นไป

สมัยก่อนปลูกตามธรรมชาติได้เพียงไร่ละ 3-4 ตันเท่านั้น แต่ปัจจุบันได้ 7-14 ตันต่อไร่ แล้วแต่การบำรุงรักษา ถือว่าเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากมีการปรับเปลี่ยนเวลาปลูก จากที่เคยปลูกเดือนมี.ค.-เม.ย. ขุดเดือนก.ค.-ส.ค. ซึ่งเป็นช่วงหน้าฝนมักเจอปัญหาหัวมันเน่าเสีย จึงปลูกเดือนธ.ค.-ม.ค.แทน และใช้ระบบน้ำหยด พร้อมกับดูแลใส่ปุ๋ยอย่างดี โดยใช้น้ำหมักนม เพราะสมาชิกส่วนใหญ่เลี้ยงโคนมควบคู่กับการเพาะปลูกพืชไร่อย่างมัน อ้อยและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไปด้วย

นอกจากนี้กลุ่มยังรับซื้อผลผลิตมันสดของสมาชิก โดยให้ราคาสูงกว่าท้องตลาดตันละ 100 บาท เพื่อนำมาแปรรูปเป็นมันเส้นสะอาด ทางกลุ่มรับซื้อหัวมันก.ก.ละ 2.50 บาท เกษตรกรได้ไร่ละ 25,000 บาท หักค่าใช้จ่ายเหลือขั้นต่ำ 15,000 บาท เกษตรกรอยู่ได้ ถ้าเทียบกับชาวนาได้เพียงไร่ละ 6,000 บาท

หลังซื้อหัวมันสดมาแล้วทางกลุ่มนำมาแปรรูปเป็นมันเส้นขายก.ก.ละ 7.30 บาท ตันละ 7,300 บาท และยังมีรายได้จากการขายเหง้ามันตันละ 500 บาท รวมๆ แล้วเกษตรกรมีรายได้ไร่ละ 30,800 บาท หักค่าใช้จ่าย 13,000 บาท เหลือไร่ละ 17,800 บาท แต่ละคนมีที่ดินทำกินคนละ 10-100 ไร่ อีกทั้งพอปลูกและขุดมันเสร็จก็ปลูกข้าวโพดต่อได้เลย ซึ่งได้ประโยชน์มากเพราะดินร่วนซุย

“ดิฉันมีที่ดิน 100 กว่าไร่ และยังเลี้ยงวัวอีก 40 ตัว แต่ก่อนปลูกมันได้ผลผลิตแค่ไร่ละ 5 ตัน ขาดทุนเพราะไม่มีน้ำ พอมาทำแปลงใหญ่และปรับเปลี่ยนวิธีการปลูก พร้อมทำระบบน้ำหยด ไม่ขาดทุน แถมหน่วยงาน รัฐยังให้ความช่วยเหลือหลายอย่าง ในส่วนธ.ก.ส.ให้กู้ดอกเบี้ยราคาถูก ‘ล้านละร้อย’ และยังได้งบฯ ขุดเจาะ น้ำบาดาล สมาชิกก็ได้รับเงินปันผล ปีหนึ่งปลูกพืช 2 ชนิด คำว่าจนไม่มีแน่ ปีหนึ่งมีรายได้ไร่ละหลาย แสนบาท รู้แบบนี้ทำมานานแล้ว ถ้าไม่มีแปลงใหญ่ก็ไม่มีวันนี้”

ขณะที่แปลงใหญ่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ต.วังม่วง มีนางมะยม สมบูรณ์ เป็นประธาน มีสมาชิก 49 คน รวมเนื้อที่ทั้งหมด 870 ไร่ กรมส่งเสริมการเกษตรจัดสรรงบประมาณให้เกือบ 3 ล้านบาท และซื้อรถเกี่ยวข้าวโพดมาใช้

เธอว่า เดิมได้ผลผลิตต่อไร่แค่ 600-800 ก.ก. แต่พอเปลี่ยนมาใช้ระบบน้ำหยด บวกกับน้ำฝน และใช้ปุ๋ยหมักผสมปุ๋ยสั่งตัด ทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นเป็นไร่ละ 800-1,700 ก.ก. ในครอบครัวมีที่ดิน 100 กว่าไร่ แบ่งเป็นปลูกข้าวโพด 60 ไร่ มัน 40 ไร่ ที่เหลือปลูกหญ้าเนเปีย เพาะเลี้ยงวัวนมไว้ 226 ตัว รีดนมได้ 80 กว่าตัว วันหนึ่งได้ 1.4 ตัน ขายได้ก.ก.ละ 18 บาท ในส่วนข้าวโพดนั้นปลูกได้ทั้งปี ใช้เวลา 4 เดือนก็สามารถเก็บผลผลิตได้แล้ว

“การรวมทำแปลงใหญ่ดีมาก หลวงสนับสนุนหมด ทั้งเครื่องมืออุปกรณ์ เพื่อให้เกษตรกรอยู่ได้ด้วยตัวเองเป็นการร่วมกันผลิต ร่วมกันใช้ และร่วมกันขาย ตอนนี้ชีวิตดีขึ้นมากเลย มีรายได้เดือนละ 6-7 แสนบาท หักค่าใช้จ่าย 3 แสนกว่าบาท มีลูกน้อง 5 คน และช่วยกันทำในครอบครัว 4 คน”

อีกกลุ่มที่ได้ไปดู คือ “กลุ่มผู้เลี้ยงปลาดุกแปลงใหญ่ อ.วังม่วง” ที่มีนายประเทือง มานะกุล เป็นประธาน รวมกลุ่มเป็นแปลงใหญ่ปี 2562 ได้รับงบฯ สนับสนุน 3 ล้านบาท ในการจัดซื้อรถขุดไฮดรอลิก รถเทรลเลอร์ลากจูง และอาคารแปรรูปสัตว์น้ำ มีสมาชิก 45 ราย รวมพื้นที่ 105.47 ไร่ เลี้ยงปลาดุกบิ๊กอุย และปลาดุกรัสเซีย

นอกจากนี้ยังนำมาแปรรูปทำเป็นปลาดุกแดดเดียว ปลาดุกสวรรค์ และปลาดุกเส้นปรุงรส อยู่ระหว่างการขอเครื่องหมายอย. ซึ่งสมาชิกทั้งหมดได้รับมาตรฐานฟาร์มการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของกรมประมง (GAP กรมประมง) และที่นี่ยังเปิดเป็นศูนย์เรียนรู้ด้วย

นายประเทืองเล่าว่า แต่ก่อนได้ผลผลิตไร่ละ 5 ตัน แต่ตอนนี้ ได้ไร่ละ 12 ตัน และต้นทุนการผลิตลดลง โดยรวมกลุ่มซื้อเกลือ อาหาร ทำให้ได้ราคาถูกลงเนื่องจากซื้อในปริมาณมากสามารถต่อรองราคาได้ อีกทั้งสมาชิกสามารถเช่ารถขุดสำหรับขุดลอกบ่อปลาดุก เครื่องมือ/อุปกรณ์จับปลา ได้ในราคาถูกกว่าปกติ ส่วนป้องกัน ศัตรูของปลาที่มีทั้งกลางวันและกลางคืนนั้น จะใช้วิธีกางตาข่ายป้องกันนก

ทั้งหมดนี้คงทำให้ได้เห็นกันแล้วว่า แปลงใหญ่ส่งผลให้ชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรดีขึ้น มีรายได้เป็นกอบเป็นกำ โดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่มาช่วย จนได้ผลผลิตที่มีคุณภาพและมีปริมาณมากขึ้นกว่าเดิม

ภาวิณีย์ เจริญยิ่ง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน