บทเรียน ความพ่ายแพ้ สิงหาคม (38) – การสู้รบในแบบเดียวกันนี้ดำเนินติดต่อกันไปจนถึง 16.00 น.ทหารแดงคนหนึ่งจำได้ว่า มีปืนครก 82 ซึ่งยึดได้จากก๊กมินตั๋งกระบอกหนึ่งตั้งทิ้งอยู่มีกระสุนเพียง 3 นัด

2 นัดแรกไม่ทำงานเพราะความชื้น แต่นัดที่ 3 ยิงออกไปได้

ลอยไปตกลงยังกองบัญชาการของข้าศึก เดิมทีก๊กมินตั๋งเข้าใจว่ากองทัพแดงไม่ได้อยู่บนเขาจึงมีความย่ามใจบุกขึ้นไป แต่เมื่อเสียงปืนครกดังสนั่นหวั่นไหวก็ตระหนกตกใจ

คาดหมายกันว่ากำลังหลักของกองทัพแดงกลับมาแล้วก็ไม่กล้าบุกขึ้นไปอีก

ตกตอนกลางคืน ก๊กมินตั๋งอาศัยซึ่งคลุมหนาไปทั้งเขาเชื่อว่ากองทัพแดงคงไม่อาจตามไล่ตีได้จึงแอบถอนตัวหนีกลับไปหลิงเสี้ยน

ขณะที่่ถูกสกัดอยู่ทางหนิงกังก็ไม่กล้าขยับขับเคลื่อนไปไหน

การยุทธ์ที่หวงหยางเจี้ยคราวนี้ทหารก๊กมินตั๋งบาดเจ็บ ล้มตายไปกว่า 300 คน ส่วนทหารกองทัพแดงบาดเจ็บเพียงไม่กี่คน สร้างประวัติการรบที่กำลังน้อยชนะกำลังมาก

กำลังอ่อนแอชนะกำลังเข้มแข็ง

วันที่ 28 กันยายน 1928 เหมาและจูเต๋อก็นำกำลังหลักกลับมาเขาจิ่งกังซาน รับทราบผลการสู้รบพิทักษ์ฐานที่มั่นด้วยความยินดี ดังปรากฏในรายงานที่ส่งไปยังคณะกรรมการกลางพรรค

มีความตอนหนึ่งระบุว่า

ในวันที่ 30 สิงหาคม กองทหารจากหูหนานและเจียงซีส่วนหนึ่งฉวยโอกาสในระหว่างที่กองทหารฝ่ายเราจะกลับจึงเขาแต่ยังไม่ถึงบุกเข้าตีจิ่งกังซาน

กองทหารเราที่อยู่ป้องกันรักษาฐานที่มั่นมีไม่ถึง 1 กองพัน

ได้ทำการต่อต้านอย่างเหนียวแน่นโดยอาศัยชัยภูมิที่เป็นต่อ และได้ตีข้าศึกแตกกระเจิงไป รักษาฐานที่มั่นแห่งนี้ไว้ได้

ถามว่าชัยชนะใน“ศึกหวงหยางเจี้ย”สะท้อนอะไร

ตอบได้ไม่เพียงแต่เพราะกองทัพสันทัดในการสู้รบ ขณะที่มวลชนในฐานที่มั่นให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่และได้อาศัยชัยภูมิที่ดีรับง่ายตียากเท่านั้น ที่สำคัญยังอยู่ที่เหมาได้วางแผนให้อย่างเป็นรูปธรรม

อีกทั้งได้ปลุกระดมความตื่นตัวให้ระมัดระวังอย่าได้ประมาท

ในหนังสือ “ยุทธศิลป์ เหมาเจ๋อตง” บุญศักดิ์ แสงระวี ระบุต่อไปว่า ต้นเดือนพฤศจิกายน 1928 เหมาจัดการประชุมขยายวงของคณะกรรมการพิเศษเขตแดนต่อแดนหูหนาน-เจียงซี ที่ฉือผิงในเจียงซี

ตามการชี้แนะของคณะกรรมการกลาง

จัดตั้งคณะกรรมการสู้ศึกส่วนหน้าของกองทัพแดงที่ 4 ขึ้น ที่ประชุมเลือกเหมาเป็นเลขาธิการ และมีมติให้คณะกรรมการสู้ศึกส่วนหน้านำคณะกรรมการเขตแดนต่อแดน

รวมทั้งคณะกรรมการทหารกองทัพแดงที่ 4 อย่างเป็นเอกภาพด้วย

จากมติของคณะกรรมการพิเศษเขตแดนต่อแดนหูหนาน-เจียงซีเช่นนี้จึงเท่ากับเหมาได้กลับมาเป็นแกนกลางการนำของพรรคและรัฐ

รวมถึงทหารเขตแดนต่อแดนมณฑลหูหนาน เจียงซี โดยตรงอีก

อำนาจการนำอย่างเด็ดขาดอันเหมาได้มาครั้งนี้จึงมิได้เป็นการได้มาอย่างราบรื่น ตรงกันข้าม ต้องผ่านอุปสรรค ผ่านการสูญเสียจากการชี้แนะที่ผิดพลาด

ไม่ว่าจะเป็นในระดับ “มณฑล” ไม่ว่าจะเป็นในระดับ“กรรมการกลาง”

เมื่อหยิบหนังสือ “จากท้องนาเสาซาน สู่เมืองกรุงปักกิ่ง” จากการเรียบเรียงของ บุญศักดิ์ แสงระวี อีกเช่นกัน ได้สรุปสถานการณ์ครั้งนี้ว่าเป็น “ความพ่ายแพ้เดือนสิงหาคม”

โดยเฉพาะการแหลกของกรมที่ 29 และการสูญเสียของกรมที่ 28

เมื่อเหมาออกไปต้อนรับทัพที่ยับเยินกองนี้กลับมา เมื่อพบหน้าจูเต๋อต่างก็จับมือกันไว้แน่นด้วยความรู้สึกที่ขมขื่นเจ็บปวดสุดจะบรรยาย

นี่ก็คือ ความพ่ายแพ้เดือนสิงหาคม 1928

ซึ่งบันทึกอยู่ในประวัติศาสตร์ มันพิสูจน์ในข้อหนึ่งว่า ถ้าไม่สนใจความเห็นของเหมาการปฏิวัติก็จะมีอุปสรรค ขณะเดียวกัน ก็เป็นอุปสรรคอันกลายมาเป็นบทเรียน

เป็นบทเรียนของ “สงคราม” จากการลงมือทำ “สงคราม”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน