10 ประเด็นเกาะติดโลก 2022

หาก 2021 เป็นปีที่โลกหันหน้าต่อสู้โรคระบาดอย่างโควิด-19 จากการพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 เอ็มอาร์เอ็นเออย่างรวดเร็วที่เปรียบเสมือน “ทางสว่าง”

2022 จะเป็นปีที่โลกจำเป็นต้องปรับตัวเข้ากับสภาพความเป็นจริงใหม่ๆ ทั้งในส่วนที่เปลี่ยนโฉมใหม่จากวิกฤต เช่น โลกใหม่ของการทำงาน และอนาคตของการเดินทาง และส่วนที่เป็นแนวโน้มเดิมที่มีความเข้มข้นขึ้น เช่น การผงาดขึ้นมาของจีน และการเร่งของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ

ทอม สแตนเดจ บรรณาธิการ นิตยสาร The World Ahead 2022 ของ ดิ อีโคโนมิสต์ ทำนาย 10 หัวข้อและแนวโน้มของโลกที่น่าจับตาในปีใหม่นี้

1.ประชาธิปไตย VS อัตตาธิปไตย

จีนต้องการโอ้อวด “ความดีงาม” ของอัตตาธิปไตย เหนือประชาธิปไตยของสหรัฐอเมริกา ในการประชุมสมัชชาแห่งชาติ พรรคคอมมิวนิสต์จีน ครั้งที่ 20 ตรงวาระครบรอบ 10 ปี ที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เป็นผู้นำสูงสุด และอาจเป็นการชี้ด้วยว่า นายสีตั้งใจอยู่ในอำนาจอีกนานแค่ไหน หลังการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่อยู่ไปได้ตลอด

การประชุมสมัชชาแห่งชาติ ครั้งที่ 20 น่าจะจัดในช่วงเดือนต.ค.-พ.ย. 2022 ไล่เลี่ยกับการเลือกตั้งกลางวาระของสหรัฐในเดือนพ.ย. ผลการสำรวจคนอเมริกันชี้ว่า พรรคเดโมแครตของประธานาธิบดี โจ ไบเดน จะพ่ายแพ้

หากเป็นความจริง จีนจะเกทับให้โลกเห็นว่าแดนมังกรมีระเบียบและความรุ่งเรืองด้วยระบอบพรรคเดียว ขณะที่ระบอบประชาธิปไตยอเมริกันนำมาแต่ความโกลาหล ความบกพร่อง และความเสื่อมถอย

2.โควิดจากโรคระบาดสู่โรคประจำถิ่น

ในปี 2022 โควิด-19 ไม่ได้สูญพันธุ์ แต่แค่จางหายไป และจะมีการระบาดฉับพลันในท้องถิ่นและตามฤดูกาลโดยเฉพาะอย่างยิ่งในหลายประเทศที่ยังไม่ได้รับวัคซีน นักระบาดวิทยาจะยังต้องระวังสายพันธุ์ใหม่ๆ ที่อาจสามารถเอาชนะภูมิคุ้มกันที่ได้รับจากวัคซีนได้ แต่ถึงอย่างนั้นอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เมื่อโควิดกลายเป็นโรคประจำถิ่นเหมือนไข้หวัดใหญ่หรือไข้หวัดธรรมดา ชีวิตส่วนใหญ่ทั่วโลกมี แนวโน้มที่จะกลับมาสู่ปกติ

ขณะที่คนจะเสียชีวิตจากโควิดมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากเป็นผู้สูงอายุ ทุพพลภาพ ไม่ได้รับวัคซีน หรือไม่สามารถซื้อยาได้ และอีกหลายคนโดยเฉพาะในประเทศที่กำลังพัฒนาจะยังไม่ได้ฉีดวัคซีนหรือยายาวถึงปี 2022 แม้ว่าบางคนจะยังเสี่ยงเพียงเพราะปฏิเสธ วัคซีนซึ่งเป็นความล้มเหลวของการให้ความรู้เกี่ยวกับสาธารณสุข แต่ถึงอย่างนั้น วัคซีนยังถูกชาติร่ำรวยกักตุนอยู่ดี

3.ความกังวลภาวะเงินเฟ้อ

ห่วงโซ่อุปทานที่ชะงักและความต้องการพลังงานที่พุ่งสูงขึ้น ผลักดันให้ราคาดังกล่าวพุ่งสูงขึ้นตามไปด้วย แม้ว่าธนาคารกลาง หลายประเทศในยุโรปและนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่บอกว่า ปัจจัยที่ทำให้ภาวะเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นและการเติบโตทางเศรษฐกิจชะลอตัวลงจะอยู่แค่ชั่วคราว แต่ไม่มีใครเชื่อเลย

ภาวะเงินเฟ้อจะยังสูงในช่วงต้นปี 2022 หลายประเทศผ่อนปรนทางการเงินเพื่อฟื้นเศรษฐกิจ แต่เหนือสิ่งอื่นใด การระบาดของ โควิด-19 ยังไม่จบสิ้น และสามารถทำลายเศรษฐกิจได้อีกครั้ง หากภูมิคุ้มกันลดลงและเชื้อกลายพันธุ์ใหม่ๆ ดื้อยา หากเศรษฐกิจไม่กลับมาเป็นปกติในปี 2022

อีกทางเลือกคือปรับตัวทางเศรษฐกิจที่บอบช้ำนี้

4.อนาคตของการทำงาน

ตอนนี้งานสามารถทำได้อย่างยืดหยุ่นหรือจากทางไกลได้อย่าง เต็มที่ ประกอบกับเทคโนโลยีเข้ามาช่วยลดค่าใช้จ่ายลงอย่างมาก แต่พนักงานหลายคนที่มีทักษะสูงและนายจ้างส่วนใหญ่ต่างชอบการทำงานแบบ “ผสมผสาน” ระหว่างการทำงานทางไกลและการทำงานในบริษัทมากกว่า

แต่นั่นอาจทำให้ความไม่เท่าเทียมที่มีหนักอยู่แล้วมากขึ้นไปอีก เพราะพนักงานมีความชอบแตกต่างกัน เมื่อเลือกได้ ผู้หญิง ชนกลุ่มน้อย และพ่อแม่ที่มีลูกน้อย จะใช้เวลาในบริษัทน้อยลง แต่จะต้องแลกกับการไม่ได้ขึ้นค่าจ้างและเลื่อนตำแหน่ง เนื่องจากนายจ้างมักให้ความสำคัญโดยไม่รู้ตัวกับคนมาทำงานในบริษัท

ดังนั้น ในปี 2022 นายจ้างจำเป็นต้องออกแบบการทำงาน เพื่อสร้างความเป็นธรรมระหว่างคนทำงานทางไกลและคนมาทำงานในบริษัท นอกจากนี้ การตัดสินใจจ่ายเงินเดือนและการเลื่อนตำแหน่งต้องมีความชัดเจนและวัดผลได้

5.วิกฤตภูมิอากาศ

เศรษฐกิจที่ฟื้นตัวจากโควิดในช่วงกลางปี 2021 ผลักดันความต้องการพลังงานจนราคาเชื้อเพลิงฟอสซิลสูงขึ้นจากปี 2020 ถึง ร้อยละ 95 และการขาดแคลนเชื้อเพลิงฟอสซิลที่คิดเป็นร้อยละ 83 ของการใช้พลังงานต้นกำเนิดเป็นสัญญาณเตือนว่าเงินเฟ้อทั่วโลกจะสูงกว่าร้อยละ 5 และราคาน้ำมันโลกทะลุ 80 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล

ในปี 2022 แนวโน้มจึงน่าจะเปลี่ยนมาเป็นการทำให้ระบบพลังงานสร้างความเสียหายน้อยลง โดยใช้ไฟฟ้าฐานคุณภาพดีและไม่ใช่เชื้อเพลิงถ่านหิน มาเสริมโครงข่ายไฟฟ้าที่ใช้พลังงานหมุนเวียนที่ไม่ต่อเนื่อง เช่น แสงแดดและลม ส่วนก๊าซธรรมชาติจะกลับมาเป็น ที่นิยม และหลายประเทศจะใช้พลังงานนิวเคลียร์ซึ่งจะไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก ส่วนราคาพลังงานหากยังสูงขึ้นจะมีการประท้วงทางตรงบนถนนและทางอ้อมที่หีบบัตรเลือกตั้ง แต่หากแก้ไขได้อาจมีนโยบายพลังงานบนรากฐานที่มีความมั่นคงยิ่งขึ้น

โอกาสที่โลกจะไปถึงเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์จะอีกยาวไกล แต่การออกแบบโครงข่ายไฟฟ้า การสร้างแรงจูงใจในการลงทุนด้านพลังงาน และการวางแผนทางการเงินอาจปรับเปลี่ยนในรูปแบบที่ดีขึ้น

6.สกุลเงินคริปโตร้อนแรง

สกุลเงินคริปโต (Cryptocurrencies) เป็นหนึ่งใน “เทคโนโลยีพลิกโลก” (Disruptive technologies) ที่สั่นคลอนระบบทางการเงินแบบเดิม เนื่องจากเป็น การกระจายอำนาจทางการเงิน (DeFi) จึงถูกจับตาจากหน่วยงานกำกับดูแล และธนาคารกลางหลายประเทศกำลังหาทางเปิดตัวสกุลเงินดิจิตอลของตัวเองแบบรวมศูนย์อำนาจ

แม้ว่า DeFi จะมีสารพัดข้อดีเหนือระบบทางการเงินแบบเดิม เช่น ความรวดเร็ว และความโปร่งใสด้วย บล็อกเชน (Blockchain) ที่ไม่มีใครยุ่มย่ามได้ แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า หลายคนยังใช้ DeFi เพื่อความสะดวกและประโยชน์จากการเก็งกำไรสกุลเงินดิจิตอล

ปี 2022 อาจมี 3 ความเปลี่ยนแปลงที่จะทำให้ DeFi ควบคู่กับ เศรษฐกิจที่แท้จริง (Real economy) หรือภาคธุรกิจที่ผลิตสินค้าและบริการ 1.แทนระบบทางการเงินสถาบัน เช่น เอลซัลวาดอร์ ที่ให้ บิตคอยน์ (Bitcoin) เป็นเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย แต่เป็นเรื่องยากในประเทศที่เสถียรและพัฒนาแล้ว 2.ผนวกเข้ากับการเงินแบบเดิม ย้ายสินทรัพย์มาสู่ระบบบล็อกเชน 3.ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่แท้จริง เช่น การผลิตดิจิตอลคอนเทนต์ จากเดิมเผยแพร่ทางแพลตฟอร์มออนไลน์ยักษ์ใหญ่แบบรวมศูนย์อำนาจ แต่ตอนนี้เริ่มเผยแพร่บนบล็อกเชนแบบกระจายอำนาจ

7.กระแสตีกลับบิ๊กเทค

รัฐบาลจีนนำหน้าตะวันตกในการปราบปรามบริษัทเทคโนโลยีอย่างดุเดือดในช่วงครึ่งแรกของปี 2021 หลังพรรคคอมมิวนิสต์จีนออกแผน 5 ปี มุ่งเปลี่ยนโฉมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีจีน เศรษฐกิจจีนจะได้รับผล กระทบจำนวนมากจากกฎระเบียบใหม่เพื่อป้องกันการผูกขาดและการใช้ข้อมูลเพื่อครอบงำตลาด

หลายบริษัทในจีนจึงต้องทบทวนกันใหม่ว่าจะทำเงินและจัดการกับข้อมูลอย่างไรดี

ในปี 2022 จีนจะเผชิญการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ 2 ประการ ประการแรกจะทำให้ความสามารถในการทำกำไรของภาคเทค โนโลยีลดลง ส่วนประการที่สองจะเป็นเปลี่ยนวิธีการระดมทุนของบิ๊กเทคจีนจากตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์กที่มีการประเมินมูลค่าสูงกว่าจากความต้องการของนักลงทุนชาวอเมริกัน มาเป็นตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงแม้จะมีการประเมินมูลค่าต่ำ

เนื่องจากทั้งจีนและสหรัฐไม่ต้องการให้บริษัทจีนเปิดตัวในสหรัฐ และจีนต่อต้าน “การขยายทุนอย่างไม่เป็นระเบียบ” ของบิ๊กเทค

8.ปัญหาการเดินทาง

องค์การการท่องเที่ยว (World Travel Organisation) ของสหประชาชาติ ระบุว่า ในปี 2020 คนเดินทางต่างประเทศลดลงเกือบ 75% ด้วยจำนวนน้อยกว่า 1,000 ล้านคน ส่วนตัวเลขปี 2021 ไม่น่าจะดีขึ้นมากนัก แต่ แนวโน้มในปี 2022 ดูจะซบเซาน้อยลง การเดินทางระหว่างประเทศจะไม่ฟื้นตัวถึงระดับก่อนโควิดระบาด (ก่อนปี 2019) จนกว่าจะถึงปี 2023 เป็นอย่างเร็วที่สุด และมีแนวโน้มมากขึ้นที่จะลากยาวไปถึงปี 2024 เนื่องจาก ข้อจำกัดในการเดินทางระหว่างประเทศยัง เข้มงวดและผ่อนคลายไปอย่างช้าๆ

ขณะที่การเดินทางภายในประเทศในชาติขนาดใหญ่กลับมาคึกคัก เช่น สหรัฐที่เข้าใกล้ระดับก่อนปี 2019 และจีนที่แซงหน้าไปแล้ว

ส่วนการเดินทางในยุโรป สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) คาดว่า อาจกลับมาอยู่ที่ร้อยละ 80 ของระดับก่อนปี 2019 ในปี 2022 ทว่าการฟื้นตัวของเอเชียจะเป็นไปอย่างช้าๆ และอาจยังล่าช้าไปทั่วโลก

การเดินทางไกลจะยังอยู่ในระดับต่ำ จนกว่าการฉีดวัคซีนขยายกว้างขึ้นและกฎระเบียบและข้อบังคับต่างๆ ผ่อนคลายมากขึ้น

9.การแข่งขันทางอวกาศ

2022 จะเป็นปีแรกที่มีคนจ่ายเงินไปอวกาศมากกว่าพนักงานรัฐเสียอีก สเปซ แอดเวนเจอร์ส (Space Advengers) ผู้จัดทัวร์อวกาศสหรัฐ ระบุว่า บริษัททัวร์อวกาศคู่แข่งอย่าง บลู ออริจิน (Blue Origin) และ เวอร์จิน กาแลกติก (Virgin Galactic) ที่เคยประเดิมเที่ยวบินท่องอวกาศด้านล่างวงโคจรในปี 2021 จะเร่งพัฒนาเที่ยวบินท่องอวกาศสมบูรณ์ขึ้นในปีนี้ แต่บลู ออริจิน น่าจะมีความปลอดภัยล้ำหน้ากว่า

2022 ยังมีภารกิจอวกาศมากมาย เช่น องค์การอวกาศยุโรป (ESA) ที่จะส่งยานอวกาศ จูซ (juice) สำรวจดวงจันทร์น้ำแข็งดาวพฤหัสบดี ส่วนครึ่งปีหลังจะมีโครงการ เอ็กโซมาร์ส (ExoMars) ที่พลาดไปเมื่อปีก่อน ด้วยความร่วมมือกับ องค์การอวกาศรัสเซีย (RosCosMos) ส่งยานสำรวจไปดาวอังคาร ทั้งสองล้วนเป็นโครงการไขเบาะแสการมีอยู่ของสิ่งมีชีวิตบนดาวนอกโลก

สำหรับดวงจันทร์ของโลก ญี่ปุ่น อินเดีย รัสเซีย และเกาหลีใต้ วางแผนส่งยานดวงจันทร์ขึ้นไป ส่วน องค์การบริหารการบินและอวกาศ (NASA) ของสหรัฐสนับสนุน 18 ภารกิจในโครงการ อาร์เตมิส (Artemis) ที่มนุษย์กลับสู่ดวงจันทร์

ด้านสถานีอวกาศเทียนกงของจีน ตามรายงานข่าวกรองสหรัฐจากปี 2021 จะเปิดตัวอย่างเต็มรูปแบบในปี 2022 ถือเป็นความพยายามของจีนที่จะ “ตีเสมอหรือแซงหน้า” อำนาจทางทหารสหรัฐ ที่โดดเด่นของจีน คืออาวุธต่อต้านดาวเทียม

10.การเมืองแทรกกีฬา

ในปี 2022 จีนเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูหนาว แต่รายงานอาชญากรรมต่อมนุษยชาติกับชาวอุยกูร์จุดกระแสเรียกร้องยกเลิกการแข่งขันหรือย้ายสถานที่ ทั้งนักเคลื่อนไหว วิ่งเต้นให้สปอนเซอร์ถอนตัว กลุ่มสิทธิ มนุษยชนขนานนามเป็น “โอลิมปิกแห่งการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” และทั่วโลกหารือถึงการ คว่ำบาตร ซึ่งมีแล้วอย่างน้อย 8 ชาติ ได้แก่ ลิทัวเนีย สหรัฐ นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร แคนาดา โคโซโว และญี่ปุ่น

อย่างไรก็ตาม จีนจะไม่อนุญาตให้คนนอกประเทศเดินทางเข้ามาชมกีฬาในสนาม เนื่องจากการแข่งขันจะจัดใน “ระบบปิด” เพื่อป้องกันโควิด-19 ที่มีความเข้มงวดกว่าโอลิมปิกฤดูร้อน 2020 ในกรุงโตเกียวของญี่ปุ่น แต่ไม่ได้ห้ามผู้นำทั่วโลกที่ได้รับเชิญจากจีน สื่อต่างชาติที่ได้รับการรับรองจากจีน และจีนไม่น่าจะออกวีซ่าแก่ผู้สื่อข่าวตะวันตก นอกเหนือจากผู้ทำข่าวเฉพาะการแข่งขันกีฬา

ดังนั้น นักกีฬาเองจึงมีโอกาสมากที่สุด อย่าแปลกใจหากนักกีฬาเหรียญทองหาญกล้าจะแสดงออกเชิงสัญลักษณ์แม้จะเสี่ยงที่พรรคคอมมิวนิสต์จะ “กริ้ว”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน