‘หมูแพง’ลามแพงทั้งแผ่นดินความรับผิดชอบ‘2อธิบดี’สัตวแพทย์-ส.เลี้ยงไก่ช่วยชี้ทาง

ทะลุคนทะลวงข่าว

วิกฤตอาหารและสินค้ายกโขยงกันขึ้นราคาอย่างครึกโครมในยามนี้

ต้นตอมาจากหมูแพง อันเกิดจากการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยมากกว่า 2 ปีแล้ว

ส่งผลให้หมูตายนับล้านตัว เกิดปัญหาเนื้อหมูขาดตลาด

แต่กลับมีการปกปิดข้อมูล กลัวถูกขึ้นบัญชีดำ ห้ามส่งออกเนื้อหมูชำแหละ

แม้ตอนแรก สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ออกมาปฏิเสธยังไม่พบเชื้อ ASF ในสุกร ยืนยันไม่มีการปกปิดโรค

แต่สุดท้ายก็ต้องเปิดปากยอมรับ พร้อมกับขอเวลาแก้ไข 8-12 เดือน








Advertisement

มั่นใจทุกอย่างจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

กรมปศุสัตว์เสียงอ่อนยอมรับ หลังจากภาคีคณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ ซึ่งประกอบด้วยคณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ในประเทศทั้ง 14 สถาบัน นำโดย น.สพ.ดร.คงศักดิ์ เที่ยงธรรม ประธานภาคีคณบดี ออกแถลงการณ์ทำหนังสือยืนยันพบเชื้อ ASF ในสุกรจริง

ขอให้กรมปศุสัตว์ดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อควบคุมโรคอย่างเร่งด่วนจริงจัง

เพื่อมิให้เกิดความเสียหายรุนแรงมากขึ้นแก่เกษตรกรและอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรในประเทศ

โดยภาคีฯ พร้อมสนับสนุนทางวิชาการร่วมหาทางแก้ปัญหา

จากโรค ASF ลามหมูแพง ไปจนถึง อาหารอื่นๆ ทั้งไข่ เนื้อไก่ และสินค้าอุปโภคบริโภค ต่างขยับราคาสูงขึ้นตามไปด้วย

ทำให้ วัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรม การค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ในฐานะกำกับดูแลราคาสินค้า

รีบสั่งเบรกการขึ้นราคาเนื้อไก่ออกไปอีก 6 เดือน ตรึงราคาช่วยประชาชน

พร้อมกับชะลอราคาไข่ไก่ หลังสมาคม ผู้เลี้ยงขอปรับ 20 สตางค์ต่อฟอง เหมาะสมหรือไม่

กระทั่ง ฉวีวรรณ คำพา นายกสมาคม ส่งเสริมการเลี้ยงไก่แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ส่งเสียงสะท้อนถึงรัฐบาล

แม้ยอมรับว่าเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ทั่วประเทศ รับอานิสงส์หลังผู้บริโภคหันกินเนื้อไก่ทดแทนเนื้อหมูเพิ่มมากขึ้น

แต่ภาครัฐควรส่งเสริมเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ฟื้นตัวหลังอุตสาหกรรมชะลอตัวยาวช่วง โควิด

พร้อมกับแนะนำทางแก้เนื้อสัตว์ไม่ว่าไก่หรือหมูราคาแพงอย่างรู้จริง โดยให้รัฐลดต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่เพิ่มขึ้น 30-40% ด้วยการลดภาษีนำเข้าลงโดยด่วน

สรวิศ ธานีโต

อธิบดีกรมปศุสัตว์ อายุ 59 ย่าง 60 ปี

สัตวแพทยศาสตรบัณฑิต จากมหา วิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ลูกหม้อกรมปศุสัตว์ ตั้งแต่เดือนส.ค.2531 ยาวนาน 33 ปี

นายสัตวแพทย์ 4 กองวิชาการ กรมปศุสัตว์

ต.ค.2536 ย้ายไปประจำสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็น นายสัตวแพทย์ 6

ผอ.เฉพาะด้านนายสัตวแพทย์ 7-8

ปี 2543 ขึ้นเป็นปศุสัตว์จังหวัดพัทลุง

จากนั้นย้ายไปสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดราชบุรี และสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดนครปฐม

ผอ.สำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์

ปี 2557 รองอธิบดีกรมปศุสัตว์

ปี 2560 ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

7 พ.ค.2561 เป็นอธิบดีกรมปศุสัตว์

ผลงานเด่น บริหารงานเยี่ยมนำกรมปศุสัตว์รับรางวัลเลิศรัฐระดับดีเยี่ยม ปี 2561 และปี 2564, รางวัลเลิศรัฐ ประจำปี 2560 ระดับดีเด่น

ปี 2559 ได้รับการคัดเลือกเป็นสัตวแพทย์ตัวอย่าง สายงานเผยแพร่วิชาชีพและบริการสังคม จากสัตวแพทยสมาคมแห่งประเทศ ไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

นายกสัตวแพทยสมาคมแห่งประเทศ ไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ วาระประจำปี 2557-2558 และวาระประจำปี 2559-2560 เลือกตั้งจากสมาชิกสัตวแพทย์ทั่วประเทศ

เหลืออายุราชการอีก 8 เดือนก่อนเกษียณ

วัฒนศักย์ เสือเอี่ยม

อธิบดีกรมการค้าภายใน

ปริญญาตรี บริหารธุรกิจสาขาการตลาด มหาวิทยาลัยรังสิต

ปริญญาโท Business Administration Majoring in Marketing Dominican University, USA.

เริ่มรับราชการกรมการค้าภายใน

ปี 2557-61 เป็นผู้อำนวยการสำนัก ส่งเสริมการแข่งขันทางการค้า

ปี 2561-62 ผู้อำนวยการระดับสูง

ปี 2562-63 รองอธิบดีกรมการค้าภายใน

ต.ค.2563 ขยับขึ้นเป็น อธิบดีกรม การค้าภายใน

คงศักดิ์ เที่ยงธรรม

ประธานภาคีคณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์

สัตวแพทยศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

วิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต (เทคโน โลยีชีวภาพเกษตร) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (เทคโนโลยีชีวภาพเกษตร) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

มี.ค.2559 รองคณบดีคณะสัตวแพทย ศาสตร์ กำแพงแสน คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์บางเขน

ต.ค. 2560-ปัจจุบัน คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน

ประธานภาคีคณบดีคณะสัตวแพทย ศาสตร์แห่งประเทศไทย

ฉวีวรรณ คำพา

นายกสมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่แห่งประเทศไทยฯ

ชาวสีชัง ชลบุรี

ศึกษาต่อในตัวเมือง และเป็นครูโรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชา

สมรสกับ สมพงษ์ คำพา

ยึดอาชีพแม่พิมพ์ของชาติ ควบคู่กับการช่วยสามีทำธุรกิจซื้อ-ขายที่ดิน

ปี 2528 กำเนิดธุรกิจฟาร์มเลี้ยงไก่เจ้าแรกของชลบุรี

ลาออกมาดำเนินธุรกิจเต็มรูปแบบ เริ่มก่อตั้งบริษัท ฉวีวรรณฟาร์ม จำกัด ขยายฟาร์มเลี้ยงไก่ไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศทั้ง นครสวรรค์ พิษณุโลก จังหวัดภาค ตะวันออก

ตั้งบริษัท ซี.เอฟ.แฮทเชอรี่ จำกัด บริษัท ไทยโพลทรีย์กรุ๊ป จำกัด, บริษัท ซีเอฟ ฟาร์ม จำกัด, บริษัท ทีพีจี ฟิดมิลล์ จำกัด และบริษัท ฉวีวรรณ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เพื่อดำเนินธุรกิจผลิตไก่ครบวงจรในภาคตะวันออก

เป็นผู้ส่งออกไก่สุกรายใหญ่ของประเทศ

ประธานบริษัท ฉวีวรรณ ฟาร์ม

นายกสมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่แห่งประเทศไทยฯ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน