เงินเฟ้อพุ่งหนักทุบสถิติรอบ 13 ปี พาณิชย์สุดต้าน ปรับคาดการณ์ใหม่เป็น 4-5% จากเดิม 0.7-2.4% สังเวยราคาพลังงานพุ่งจากศึกรัสเซีย-ยูเครน ด้านกกร.-เวิลด์แบงก์กอดคอหั่นจีดีพีไทย

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผอ.สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคหรืออัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทย เดือนมี.ค.2565 ว่าอยู่ที่ 5.73% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน เป็นอัตราที่สูงสุดในรอบ 13 ปี เป็นผลมาจากสินค้าและบริการในประเทศปรับราคาสูงขึ้นตามต้นทุน พลังงาน วัตถุดิบที่นำเข้า และค่าขนส่ง จากกรณีสงครามรัสเซีย โดยราคาสินค้ากลุ่มพลังงานราคาเพิ่มขึ้น 32.43% โดยเฉพาะน้ำมันเพิ่มขึ้น 31.43%

“เงินเฟ้อ เพิ่มขึ้น 3 เดือนติดต่อกัน และในเดือนเม.ย. ยังเป็น แนวโน้มขาขึ้น หากสถานการณ์ยังเป็นแบบเดิม มีการคว่ำบาตรรัสเซียต่อเนื่อง สนค.จึงปรับคาดการณ์เงินเฟ้อทั้งปี 2565 ใหม่ เป็น 4.0-5.0% หรือเฉลี่ยทั้งปี 4.5% จากเดิม 0.7-2.4% หรือเฉลี่ยทั้งปี 1.5% ถือว่าเป็นตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อที่สูงสุดในรอบ 13 ปี บนพื้นฐานราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ 90-110 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล อัตราแลกเปลี่ยน 32-34 บาทต่อเหรียญสหรัฐ และจีดีพีอยู่ที่ 3.5-4.5%”

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประจำเดือนเม.ย. 2565 ปรับจีดีพีปี 2565 ของไทยอยู่ในกรอบ 2.5-4% ลดลงจากเดิมคาดไว้อยู่ในกรอบ 2.5-4.5% เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังเผชิญความเสี่ยงรอบด้านแต่ยังคาดว่าจะเติบโตได้ ส่วนอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นอยู่ในกรอบ 3.5-5.5% จากเดิมคาดไว้ 2-3% เพิ่มขึ้นจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะสินค้าในหมวดอาหารและพลังงาน

“ยอมรับว่าเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นมากจะเป็นแรงกดดันต่อการฟื้นตัวของอุปสงค์และกำลังซื้อในประเทศ โดยวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน ที่ ส่งผลเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าพลังงาน และสินค้าโภคภัณฑ์สำคัญอื่นๆ เช่น ปุ๋ย สุ่มเสี่ยงที่จะทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบในวงกว้าง ส่งผลให้ภาคธุรกิจต้องเผชิญภาระต้นทุนที่สูงขึ้นส่งผลต่อเนื่องไปยังระดับราคาสินค้า เริ่มกระทบต่อความเชื่อมั่นของทั้งผู้บริโภคและ นักลงทุน”

นางเบอร์กิท ฮานสล์ ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย (เวิลด์แบงก์) เปิดเผยว่า เวิลด์แบงก์ได้ปรับลดจีดีพีในปี 2565 ลดลงเหลือ 2.9% ถือว่าปรับลดลงค่อนข้างมากจากคาดการณ์เดิม ที่ 3.9% โดยประเด็นสำคัญมาจากความเสี่ยงจากภาคต่างประเทศ โดยเฉพาะสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่ส่งผลกระทบต่อราคาพลังงาน ถ้าผลกระทบรุนแรงขึ้น จะส่งผลให้ภาพของจีดีพีไทย ลงไปอยู่ที่ 2.6% ดังนั้น การใช้นโยบายการคลังจะหนุนการบริโภคในประเทศขึ้นมาได้ ถ้าแรงส่งนี้ไม่มีประสิทธิภาพจะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวต่ำกว่าที่คาด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน