‘มะเร็ง’ เป็นความท้าทายอีกรูปแบบหนึ่งของระบบสาธารณสุขไทยที่ต้องหาทางออก ทั้งความรุนแรงของโรค การกระจุกตัวของการบริการระบบสาธารณสุขตามโรงพยาบาล อันนำมาสู่ความแออัดในโรงพยาบาล รวมถึงภาระค่าใช้จ่ายของผู้ป่วย และความเสียหายทางเศรษฐกิจที่ผู้ป่วยและผู้ดูแลต้องหยุดงานเพื่อเดินทางมารักษา

ด้วยปัญหาต่างๆ จึงเป็นที่มาของ ‘โครงการดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็งอย่างต่อเนื่องที่บ้าน (Continuum of Personal Home-based Cancer Care)’ โดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ร่วมกับ โรช ไทยแลนด์ ล่าสุดได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อนำร่องความร่วมมือในการดูแลระบบสุขภาพไทยอย่างไร้รอยต่อ

นพ.สกานต์ บุนนาค ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งกล่าวว่า จากข้อมูลรายงานสำรวจเวลาที่ใช้อยู่ในโรงพยาบาล พบว่าผู้ป่วยมะเร็งที่เป็นผู้ป่วยนอกต้องใช้เวลาเฉลี่ยอย่างน้อย 5 ชั่วโมงขึ้นไปต่อการมาพบแพทย์และรอรับยากลับบ้านในแต่ละครั้ง นอกจากนี้ ผู้ป่วยมะเร็งจำนวนมากยังมีความกังวลต่อการสัมผัสกับเชื้อต่างๆ ระหว่างเดินทางหรือภายในโรงพยาบาล เพราะมีภูมิคุ้มกันต่ำ มีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย

ทางสถาบันมะเร็งแห่งชาติจึงได้พัฒนาองค์ความรู้ เทคโนโลยีด้านโรคมะเร็งเพื่อมอบบริการทางการแพทย์ในรูปแบบใหม่ๆ ที่เหมาะสมกับผู้ป่วยมะเร็ง ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่ต้องการการดูแลและได้รับยาอย่างต่อเนื่อง มีโอกาสเข้าถึงการดูแลสุขภาพแบบครบวงจรอย่างไร้รอยต่อ โดยแสวงหาแนวทางปรับ รูปแบบการบริการจากภายในโรงพยาบาล (hospital-based medical service) ไปสู่การดูแลรักษาที่บ้านของผู้ป่วยแต่ละคน (personal home-based medical service) ดังเช่นที่เคยร่วมมือในโครงการให้ยาเคมีบำบัดทางหลอดเลือดดำส่วนกลางที่บ้าน ซึ่งนำร่องไปก่อนหน้านี้แล้ว

โครงการการดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็งอย่างต่อเนื่องที่บ้าน มีวัตถุประสงค์เพื่อรับมือกับอุบัติการณ์ของโรคมะเร็งที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีพ.ศ.2553 และลดปัญหาการ กระจุกตัวของการบริการในระบบสาธารณสุข จึงได้ปรับรูปแบบการดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็งจากในโรงพยาบาลไปสู่ที่บ้านของผู้ป่วยแต่ละราย ซึ่งส่งผลดีทั้งในแง่ช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาล ลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการเดินทางของผู้ป่วยและผู้ดูแล ลดความเสี่ยงที่ ผู้ป่วยมะเร็งซึ่งมีภูมิคุ้มกันต่ำอาจสัมผัสหรือติดเชื้อ สร้างความต่อเนื่องของการได้รับยาตามนัดหมาย รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรของระบบสาธารณสุข

พญ.แทนชนก รัตนจารุศิริ กลุ่มงานเคมีบำบัด สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวต่อว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่กินเวลานานกว่าสองปี ทำให้ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยต้องปรับปรุงแนวปฏิบัติแบบใหม่ เพื่อให้ระบบดูแลสุขภาพและบุคลากรทางการแพทย์ยังคงสามารถดูแลและรักษาผู้ป่วยโรคต่างๆ ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคมะเร็งซึ่งจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง ได้พบแพทย์และรับยาตามรอบนัดหมาย และตามที่สมาคมโรคมะเร็งแห่งสหรัฐอเมริกา (American Society of Clinical Oncology) ได้ออก คำแนะนำในการบริหารจัดการผู้ป่วยมะเร็งในสถานการณ์โควิด เช่น การประเมินอาการผู้ป่วยก่อนการทำนัด การลดการเข้ามาใช้บริการในโรงพยาบาล รวมถึงการใช้เทคโนโลยีในการดูแลและติดตามอาการผู้ป่วยโรคมะเร็ง และการให้ยาอย่างต่อเนื่องในรูปแบบการบริการ ที่บ้าน เพื่อลดความล่าช้าในการให้การรักษา ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคต่อการควบคุมการดำเนินของโรคและอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยมะเร็ง

โครงการการดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็งอย่างต่อเนื่องที่บ้าน เป็นโครงการที่ขึ้นอยู่กับความสมัครใจของผู้ป่วย โดยจะเริ่มนำร่องกับผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่อยู่ในความดูแลของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ และอาจขยายผลไปยังมะเร็งชนิดอื่นๆ ได้ หากมี ผู้ป่วยเข้าเกณฑ์และสมัครใจเข้าร่วมโครงการ คาดว่าโครงการจะเริ่มดำเนินการภายในเดือนพ.ย.นี้ และจะมีผู้ป่วยมะเร็งประมาณ 15-20 ราย จากโครงการนำร่องนี้ เมื่อศึกษาความเป็นไปได้และประโยชน์ของโครงการต่อระบบสาธารณสุขแล้วอาจมีการพิจารณาขยายขอบเขตและปรับปรุงวิธีการให้บริการในลำดับถัดไป

นายฟาริด บิดโกลิ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท โรช ไทยแลนด์ เมียนมา กัมพูชา และลาว กล่าวว่า โรช ไทยแลนด์ ภูมิใจที่ได้นำประสบการณ์การดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็งที่บ้านอย่างไร้รอยต่อจากแพทย์และพยาบาลจากในประเทศสิงคโปร์ ด้านการวางระบบขนส่งเพื่อให้การจัดเตรียมยาและเดินทางไปยังบ้านของผู้ป่วยแต่ละรายเกิดขึ้นได้จริงมาถ่ายทอดให้สถาบันมะเร็งแห่งชาตินำไปประยุกต์ใช้ให้เข้ากับบริบทของระบบดูแลสุขภาพในประเทศไทย เพื่อกระจายการให้บริการทางการแพทย์และการให้ยาแก่ผู้ป่วยมะเร็ง ช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่จำเป็นอย่างต่อเนื่อง ณ สถานที่ของผู้ป่วย โดยในอนาคตเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การดำเนินงานของระบบดูแลสุขภาพของประเทศไทยจะพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยมีโอกาสเข้าถึงการรักษาที่มีประสิทธิภาพ คลายความกังวลใจด้านต่างๆ และ มีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน