เอเอฟพีรายงานวันที่ 3 ธ.ค. ถึงความคืบหน้าหลังจากประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย โทรศัพท์หารือกับนายกรัฐมนตรีโอลาฟ ชอลซ์ ผู้นำเยอรมนี นานร่วมชั่วโมงเมื่อ วันที่ 2 ธ.ค. ว่า นายชอลซ์เรียกร้องให้นายปูตินใช้การทูตแก้วิกฤตสงครามในยูเครนโดยเร็ว รวมถึงถอนกองกำลังรัสเซียออกจากพื้นที่ขัดแย้ง เพื่อให้เกิดการเจรจายุติความสูญเสียที่ยืดเยื้อเข้าสู่เดือนที่สิบ อย่างไรก็ตาม ผู้นำรัสเซียเรียกร้องให้รัฐบาลเยอรมันพิจารณาหาแนวทางอื่น และกล่าวหาว่าชาติตะวันตกต่างหากที่ดำเนินนโยบายทำลายล้างในยูเครน จากการระดมความช่วยเหลือทั้งทางการเมืองและการเงินที่ส่งผลให้ทางการยูเครนปฏิเสธแนวคิดในการเจรจาโดยสิ้นเชิง ทั้งยังระบุว่าการโจมตีโครงสร้างพื้นฐานในยูเครนเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

ขณะที่นายดมิทรี เปสคอฟ โฆษกประธานาธิบดีปูตินแถลงว่าผู้นำรัสเซียไม่อยู่ในอารมณ์ที่จะหารือเรื่องยูเครน ภายหลังนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา กล่าวว่ายินดีจะคุยหากต้องการยุติสงครามจริงๆ “อะไรคือสิ่งที่ประธานาธิบดีไบเดนพูดจริงๆ เขาพูดว่าการหารือมีความเป็นไปได้แค่ในกรณีที่ท่านปูตินถอนทัพออกจากยูเครน” นายเปสคอฟกล่าว และว่ารัสเซียยังไม่พร้อมจะยอมรับเงื่อนไขดังกล่าว ด้านทำเนียบขาวของสหรัฐแถลงในเวลาต่อมาว่าประธานาธิบดีไบเดนยังไม่อยากหารือใดๆ กับนายปูตินในตอนนี้ แต่ย้ำว่าพร้อมคุยในประเด็นอื่น แม้จะผิดหวังที่รัสเซียปฏิเสธการหารือกรณีควบคุมการใช้อาวุธนิวเคลียร์ก็ตาม

วันเดียวกันกลุ่มจี 7 กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก และสหภาพยุโรป (อียู) เห็นชอบเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาให้ตรึงราคาน้ำมันดิบจากรัสเซียที่ 60 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 2,080 บาทต่อบาร์เรลเพื่อผลักดันให้รัสเซียส่งน้ำมันหมุนเวียนเข้าสู่ตลาดโลก และจำกัดรายได้ที่จะเป็นเงินทุนในการทำสงครามของนายปูติน แม้ผู้เชี่ยวชาญบางส่วนไม่เห็นด้วยกับมาตรการนี้เพราะเกรงว่ารัสเซียอาจยกเลิกการส่งน้ำมันและจะส่งผลให้ราคาน้ำมันโลกพุ่งสูงขึ้นอีกครั้ง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน