วันศุกร์ที่ 3 ก.พ.2566 น้อมรำลึกวันคล้ายวันมรณภาพ ครบ 81 ปี “พระครูวิเวกพุทธกิจ” หรือ “หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล” พระภิกษุฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ชาวจังหวัดอุบลราชธานี บูรพาจารย์สายพระป่า และอาจารย์ของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต

เมื่อกล่าวถึงพระป่าสายวิปัสสนากรรมฐานแล้ว หลวงปู่เสาร์นับเป็นพระ อริยสงฆ์ผู้ปฏิบัติชอบรูปหนึ่งแห่งยุค

นามเดิมชื่อ เสาร์ พันธ์สุรี เกิดเมื่อวันที่ 2 พ.ย.2402 ที่บ้านข่าโคม ต.ปะอาว อ.เมือง จ.อุบลราชธานี

เมื่ออายุ 15 ปี บรรพชา ณ วัดใต้ พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ อ.เมือง จ.อุบลราชธานี

อายุ 20 ปี อุปสมบทที่วัดใต้พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ และพำนักอยู่ที่วัดใต้ ซึ่งเป็นคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย

พรรษา 10 ศึกษาเล่าเรียนจนได้เป็น ญาคู คือ ครูสอนหมู่คณะทั้งพระภิกษุและฆราวาส ชาวบ้านเรียกว่า ญาคูเสาร์

ต่อมาได้ไปฝากตัวเป็นศิษย์ของท่านเทวธัมมี (ม้าว) พระเถระฝ่ายธรรมยุติกนิกาย สำนักวัดศรีทอง และได้ขอทัฬหิกรรม ญัตติบวชใหม่เป็นพระภิกษุฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ณ อุโบสถวัดศรีทอง (ปัจจุบันคือวัดศรีอุบลรัตนาราม อ.เมือง จ.อุบลราชธานี) โดยมี พระครูทา โชติปาโล ซึ่งต่อมาได้รับสมณศักดิ์ที่พระครูสีทันดรคณาจารย์ เป็นพระอุปัชฌาย์ และพระอธิการสีทา ชยเสโน เป็นพระกรรมวาจาจารย์

ทั้งนี้ ยังได้นำคณะสงฆ์พระภิกษุสามเณรในวัดใต้ ทั้งหมดญัตติกรรม เป็นคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ด้วยเหตุนี้ วัดใต้หรือวัดใต้พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ จึงกลายเป็นวัดในสังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุต นับแต่นั้นเป็นต้นมา

หลังจากญัตติเป็นพระสงฆ์ฝ่ายธรรมยุตแล้ว ท่านได้ศึกษาธรรมและข้อวัตรปฏิบัติจากท่านเทวธัมมี (ม้าว) พระเถราจารย์ฝ่ายวิปัสสนาธุระแห่งเมืองอุบลราชธานีในขณะนั้น และรีบเร่งประกอบความเพียรในด้านวิปัสสนาธุระ ยึดมั่นในหลักธุดงควัตร 13 บำเพ็ญเพียรสมณธรรม

เมื่อมีความรู้ความเข้าใจขึ้นเป็นลำดับ จุดประกายให้เกิดความคิดว่า การที่ปฏิบัติภาวนา แม้ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ แต่ทางที่ดีควรจะออกไปอยู่ป่าดง หาสถานที่สงบ จิตใจคงจะสงบยิ่ง

ดังนั้น จึงออกธุดงค์มุ่งสู่ป่าเขาลำเนาไพร ภายหลังจากหลวงปู่เสาร์ไปอยู่ป่าดงฝึกจิต ฝึกใจ เจริญศีล สมาธิ ปัญญา ท่ามกลางสิงสาราสัตว์ ในหุบเขาได้หลายพรรษา เป็นเวลาอันสมควรแล้ว ท่านกลับมาเปิด “สำนักปฏิบัติธรรม วัดเลียบ อ.เมืองอุบลราชธานี”

พ.ศ.2439 หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต อุปสมบทและมาจำพรรษา ณ วัดเลียบ และถวายตัวเป็นศิษย์เรียนพระกรรมฐานกับหลวงปู่เสาร์

หลวงปู่เสาร์กับหลวงปู่มั่นออกธุดงค์มุ่งปฏิบัติเพื่ออรรถธรรม ด้วยศีลาจารวัตรอันงดงาม และพระธรรมที่ปฏิบัติในศีล สมาธิ ปัญญา

ให้กำเนิดศาสนทายาทไว้มากมาย พระป่าสายกรรมฐาน ต่างนิยมชมชอบในแบบอย่างของบูรพาจารย์ทั้งสอง ต่างเข้าหาฝากตัวเป็นศิษย์ เพื่อศึกษาหาความรู้ อาทิ พระอาจารย์สิงห์ ขันตยาโม, หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี, หลวงปู่หลุย จันทสาโร, หลวงปู่ฝั้น อาจาโร, หลวงปู่ขาว อนาลโย, หลวงปู่แหวน สุจิณโณ, หลวงปู่ชา สุภัทโท ฯลฯ

หลวงปู่เสาร์ละสังขารอย่างสงบ เมื่อ วันที่ 3 ก.พ.2485 ที่อุโบสถวัดอำมาตยาราม นครจำปาสัก (ปัจจุบันคือส่วนหนึ่งของแขวงจำปาสัก ประเทศลาว) สิริอายุ 82 ปี พรรษา 62 คณะศิษย์ได้นำสรีระของท่านกลับมา ณ วัดบูรพาราม อ.เมือง จ.อุบลราชธานี

ออกพรรษา พ.ศ.2486 คณะศิษย์จึงได้จัดพิธีฌาปนกิจ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน